xs
xsm
sm
md
lg

ฉากสุดท้าย“สมัคร สุนทรเวช” บทพิสูจน์ธาตุแท้ “นช.ทักษิณ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมัคร สุนทรเวช
….เช้าวันที่ 24 พ.ย.52

ข่าวการเสียชีวิตของ “นายสมัคร สุนทรเวช” นายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของไทย ก็ปรากฏขึ้นตามสื่อต่างๆ และกลายเป็นข่าวที่ได้รับความสนใจจากคนไทยทั้งประเทศ เพราะต้องยอมรับว่า นายสมัครนั้นเป็นคนที่สร้างสีสันและตำนานให้กับการเมืองไทยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรมที่ดุเด็ดเผ็ดร้อน รวมทั้งเส้นทางการเมืองที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าติดตาม

1 ปีเต็มๆ ที่ต้องต่อสู้กับโรคร้าย ในที่สุดนายสมัครผู้ที่ไม่เคยยอมแพ้ใคร ก็ต้องยอมแพ้ให้กับโรคมะเร็งตับและสิ้นใจอย่างงบเมื่อเวลา 08.48 น.ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ สิริอายุรวม 74 ปี

คำถามสำคัญยิ่งภายหลังการเสียชีวิตของนายสมัครก็คือ ใครหรืออะไรเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้นายสมัครอาการทรุดอย่างรวดเร็ว กระทั่งเสียชีวิตในที่สุด เพราะแม้จะเป็นที่รับรู้กันว่า นายสมัครป่วยเป็นมะเร็ง แต่น่าจะมีปัจจัยบางประการที่ทำให้นายสมัครอาการทรุดเร็วขึ้น

การเมืองใช่หรือไม่

และการเมืองที่ว่านั้น เป็นผลมาจากการทรยศหักหลักในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 ใช่หรือไม่

ไขปมปริศนา ฉากสุดท้าย“สมัคร”

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ไม่มีใครคาดคิดว่า นายสมัคร สุนทรเวช จะสามารถก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของไทยได้ เพราะไม่ว่าจะพิจารณาแง่มุมไหนก็มองไม่เห็นทาง พรรคประชากรไทยที่เขาปั้นมากับมือที่อ่อนระโหยโรยแรงทางการเมืองไปเป็นลำดับ แถมอายุอานามก็มากขึ้นทุกที

แต่แล้วเขาก็ฟื้นคืนชีพอีกครั้งด้วยการลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี 43 โดยคนกรุงเทพฯ ออกมาลงคะแนนให้ถึง 1,016,096 คะแนน ชนะนางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยไดัรับคะแนนเสียงเพียง 521,184 คะแนน พร้อมทั้งก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้เป็นผลสำเร็จ

หลังจากพ้นจากจวนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครบวาระ 4 ปี นายสมัครตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งอีก หันมาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร ในการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ปี 49ได้รับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา ด้วยคะแนนเสียง เป็นอันดับสองของประเทศ แต่ก็ต้องถูกยกเลิก เนื่องจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.49 ทำให้นายสมัครต้องพ้นจากตำแหน่ง โดยไม่มีโอกาสได้ทำหน้าที่ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา

หลายคนเชื่อว่า ชีวิตทางการเมืองของนายสมัครน่าจะหยุดลงอยู่แค่นั้น

แต่อุบัติเหตุทางการเมืองก็เกิดขึ้นได้เสมอ

เมื่อพรรคไทยรักไทยถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ถูกยุบในวันที่ 30 พ.ค.50 นช.ทักษิณตัดสินใจครั้งสำคัญด้วยการเลือกนายสมัครรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ดังขรมทั่วทั้งแผ่นดินว่า เขาคือ“นอมินี” ของ นช.ทักษิณ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคพลังประชาชนได้รับเลือกตั้งด้วยเสียงข้างมากและสามารถจัดตั้งรัฐบาลสมปรารถนา นายสมัครก็ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 ของไทย พร้อมทั้งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้สำเร็จ

ในครั้งนั้น มีการวิเคราะห์กันว่า นช.ทักษิณหลอกใช้นายสมัครให้เข้ามาช่วยกอบกู้สถานการณ์ของพลังพลังประชาชน เนื่องจากขณะนั้นในพรรคยังไม่มีใครมีบารมีพอที่จะบริหารจัดการได้ ชื่อของนายสมัครจึงถูกหยิบขึ้นมา

และว่ากันว่าเหตุผลประการเดียวที่นช.ทักษิณเลือกนายสมัครก็เพราะนายสมัครกล้าชนกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

แต่นายสมัครก็อยู่ในตำแหน่งได้เพียงแค่ 7 เดือน(29 ม.ค.51-9 ก.ย.51) หลังจากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ความเป็นนายกฯของนายสมัครสิ้นสุดลง เนื่องจากรับเป็นพิธีกรกิตติมศักดิ์ของรายการ "ชิมไปบ่นไป" และ "ยกโขยง 6 โมงเช้า" ซึ่งคณะตุลาการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียง เห็นว่านายสมัครกระทำต้องห้ามขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 เรื่องคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตาม ความหวังของนายสมัครที่จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีรอบที่ 2 ก็ยังไม่หมดไป เพราะก่อนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเพียงวันเดียว กลุ่มแกนนำคนสำคัญของพรรคร่วมรัฐบาล "โปรยยาหอม" ให้นายสมัครคึกคักขึ้นมาอีกครั้งว่า หากศาลรัฐธรรมนูญชี้นายสมัครผิดจริง ยังจะหนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก

เพียงเท่านี้เอง ทำให้นายสมัครมีอาการลืมตายจนไปประกาศบนเวทีปราศรัย จังหวัดอุดรธานีว่า "ไม่ยุบ ไม่ลาออก"เป็นครั้งสุดท้าย

ทว่า เอาเข้าจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น

วันที่ 12 ก.ย.51เป็นวันที่ทำให้นายสมัครเจ็บปวดที่สุด เพราะหลังการประชุมสภาเพื่อ"โหวต"เลือกนายกรัฐมนตรีเริ่มขั้น ปรากฏว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลเปิดเกมเล่นกันเอง ทำให้การประชุมสภาล่มเสียงไม่พอ จึงเลื่อนไปประชุมวัน 17 ก.ย. 51เพราะมีใบสั่งจากนายใหญ่ว่า ไม่ต้องการให้ "นายสมัคร"เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก และขอให้สนับสนุน “นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์” น้องเขยขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

นายสมัครถูก นช.ทักษิณหักหลักอย่างเจ็บปวดรวดร้าวที่สุด ในวันนั้นนายสมัครเดินลงมาขึ้นรถคนเดียวด้วยอาการเศร้าสร้อย ไม่ยอมให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม ได้ให้สัมภาษณ์ถึงเหตุการณ์ขณะนั้นว่า

“ในวันนัดลงคะแนนเสียงเลือกนายกฯ วันที่ 12 ก.ย.51 เวลา 09.00 น. พวกตนยังได้รับโทรศัพท์จากนายใหญ่ให้สนับสนุนนายสมัครทุกวิถีทาง ในขณะที่ทางลึกกลับมีการประสานงานกับพรรคร่วมรัฐบาลที่จะไม่เอานายสมัคร มีการสั่งการไม่ให้ ส.ส.เข้าร่วมประชุมใ ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยไปกราบไหว้นายสมัครให้มาต่อสู้แทน แต่สุดท้าย นายสมัครก็ถูกทรยศ”

และในเย็นวันเดียวกัน นายธีรพล นพรัมภา เลขาธิกาการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นนำข้อความจากนายสมัครมาบอกกับนักข่าวว่า “ท่านฝากบอกแมสเสจสั้นๆ ว่า ได้ทำหน้าที่รักษาประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุดแล้ว หลังจากนี้ไปเป็นภาระของพลังพรรคประชาชนที่จะดำเนินการต่อไป

อีก 5 วันถัดมาคือวันวันที่ 17 ก.ย.51นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และผลปรากฏว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้ 298 คะแนน และก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 ของไทย

เป็นมะเร็งตับข่าวลือที่กลายเป็นข่าวจริง

หลังพ้นถูกหักหลังอย่างเจ็บแสบจาก “นช.ทักษิณ” ไม่ให้นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีรอบ 2 พร้อมส่งนายสมชายยึดเก้าอี้เอาไว้แทน ข่าวคราวของนายสมัครก็เงียบหายไปจากสังคมไทยทีละน้อย ทีละน้อย

นายสมัครเริ่มหันหลังให้การเมือง และเลิกยุ่งเกี่ยวกับพรรคพลังประชาชนในทุกตำแหน่ง ตั้งแต่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน จนถึง ส.ส.ระบบสัดส่วน

บ้างก็ว่า เขาเจ็บปวดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนยากจะทนทานได้ และตัดสินใจวางมือทางการเมือง

ขณะที่บางกระแสก็บอกว่า นายสมัครป่วยเป็นมะเร็งที่ตับ ทำให้ต้องเข้ารับการรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ พร้อมมีกระแสข่าวตามมาอีกด้วยว่า การที่นายสมัครถูกหักหลังเรื่องการกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรอบ 2 ทำให้เกิดความเครียดและส่งผลทำให้อาการป่วยของเขาทรุดหนัก

ทว่า ก็ไม่มีใครรู้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจน

หลังจากนั้นไม่นานนัก นายสมัครมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรงจนต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กระแสข่าวเรื่องนายสมัครป่วยเป็นมะเร็งก็เริ่มแพร่กระจายไปสู่วงกว้าง

ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา ความชัดเจนก็เกิดขึ้น เมื่อ “นายกฤษณะ ไชยรัตน์” ได้เดินทางไปเยี่ยมนายสมัครที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

นายสมัครพูดกับนายกฤษณะถึงข่าวลือว่า “ยืนยันผมป่วยจริง เป็นมะเร็งที่ขั้วตับ ตอนแรกก็ไม่รู้ เคยไปหาหมอตรวจ แต่หมอก็ไม่พบสาเหตุ หลังจากพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงตัดสินใจไปตรวจสุขภาพอย่างละเอียดอีกครั้ง เนื่องจากก่อนหน้านี้มีอาการเจ็บภายในท้องตลอด จนพบว่าเป็นมะเร็งที่ขั้วตับ”

“เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ตัดสินใจเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อย่างเป็นทางการ โดยแพทย์ได้ผ่าตัดด้วยเลเซอร์ และผลการผ่าตัดก็ผ่านไปด้วยดี จึงขอฝากบอกไปยังคนที่อ่านข่าว และคนที่เป็นห่วงด้วยว่า สบายดี ไม่ต้องเป็นห่วง การผ่าตัดเรียบร้อยดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการพักฟื้น ทำกายภาพบำบัดทุกเช้า กลางวัน และเย็น ตามตารางแพทย์ที่จัดไว้ คาดว่า หลังวันที่ 25 ต.ค.นี้ แพทย์จะให้กลับไปพักฟื้นที่บ้านได้”

“ใครไม่รู้ก็คิดว่าผมอาการหนัก ความจริงไม่ถึงขนาดนั้น แพทย์ผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว ไม่มีปัญหา แต่ถ้าภายหลังมีปัญหาก็จะเชิญแพทย์จากสหรัฐฯ มาผ่าตัดให้อีกครั้ง ขณะนี้เตรียมตัวกลับบ้านไปพักฟื้น ผมอยากกลับบ้าน ตลอดเวลาที่อยู่โรงพยาบาลเบื่อมาก รบเร้าหมอขอกลับบ้าน แต่หมออยากให้พักฟื้นที่โรงพยาบาลก่อน จึงจำใจอยู่โรงพยาบาลไปก่อน”

แม้นายสมัครจะให้สัมภาษณ์ว่า ตัวเองอาการไม่หนัก แต่ในความเป็นจริงน่าจะไม่ใช่เช่นนั้น เพราะถ้าไม่ได้เป็นอะไรมาก นายสมัครคงไม่ต้องเดินทางไปรับการรักษาตัวที่สถาบันมะเร็งฮุสตัน รัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 5 พ.ย.51 และภาพที่ปรากฏสู่สายตาของสาธารณชนก็คือ นายสมัครมีรูปร่างที่ผ่ายผอมจากที่เคยเห็นพอสมควร

21 ม.ค.52 นายสมัครเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกาและมาพักฟื้นที่บ้านพัก จากนั้นก็ไม่ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนไม่มีข่าวความเคลื่อนไหว หรือการรักษาตัวแต่อย่างใด ก่อนเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์อีกครั้งเมื่อวันที่ 5 ก.ย.52

กว่า 2 เดือนของการอยู่ที่ รพ.บำรุงราษฎร์เพื่อรักษาตัวก่อนที่จะเสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 พ.ย.52 ถือเป็นช่วงเวลาที่ยาวนานพอสมควรสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งคณะแพทย์ก็ได้ออกแถลงการณ์ว่า การเสียชีวิตของนายสมัครเป็นผลมาจากตับไม่ทำงานจนกระทั่งร่างกายรับไม่ไหว โดยการรักษาในระยะหลัง ทางโรงพยาบาลทำให้แค่เพียงประคับประคองตามอาการเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม คณะแพทย์ยืนยันว่า ก่อนเสียชีวิตนายสมัครสามารถพูดคุยกับคนในครอบครัวได้ดี โดยครอบครัวอยู่กับนายสมัครตลอดเวลา และนายสมัครเพิ่งจะไม่รู้สึกตัวเมื่อไม่นานมานี้

หลังนายสมัครสิ้นใจ นช.ทักษิณ ผู้ที่ทำให้เขาเจ็บปวดที่สุดได้ติดต่อสื่อสารกับบรรดาแฟนคลับกลุ่มคนเสื้อแดงผ่านการส่ง SMS ว่า “ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของท่านสมัคร สุนทรเวช ขอวิญญาณจงไปสู่สุคติ”

แต่หากดวงวิญญาณของนายสมัครได้อ่านข้อความที่ นช.ทักษิณได้เขียนลงบนทวิตเตอร์ นายสมัครคงต้องเจ็บช้ำเป็นครั้งที่ 2

ข้อความที่ นช.ทักษิณเขียนถึงก็คือ “ผมและครอบครัวของแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการจากไปอย่างไม่มีวันกลับของ ฯพณฯ สมัคร สุนทรเวช มา ณ ที่นี้ดวยครับ และไม่สามารถไปร่วมงานด้วยตัวเอง ใดๆ ในโลกล้วอนิจจัง พระพุทธเจ้าสอนไว้ แต่นักการเมืองไทยไม่คิด มีแต่เรื่องของอำนาจและผลประโยชน์เอาเป็นเอาตายกัน ทั้งๆ หลักคือมาเสียสละ”

ชีวิตของชายชื่อ “สมัคร”

นายสมัคร สุนทรเวชเป็นบุตรของ เสวกเอก พระยาบำรุงราชบริพาร (เสมียน สุนทรเวช) กับ คุณหญิงบำรุงราชบริพาร (อำพัน จิตรกร) เป็นหลานลุงของ มหาเสวกตรี พระยาแพทย์พงศาวิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) นายแพทย์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นหลานตาของ มหาเสวกตรี พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) จิตรกรประจำสำนัก

นายสมัครเป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้อง 6 คน ดังนี้ ได้แก่ 1.พ.อ. (พิเศษ) พ.ญ.มยุรี พลางกูร 2.นางเยาวมาลย์ ราชวังเมือง 3.พล.อ.อ.สมมต สุนทรเวช(ถึงแก่กรรมแล้ว) 4.นายสมัคร สุนทรเวช 5.นายมโนมัย สุนทรเวชและ6.นายสุมิตร สุนทรเวช

นายสมัคร สมรสกับ คุณหญิงสุรัตน์ สุนทรเวช ที่ปรึกษาด้านการเงินของบริษัทใน เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีบุตรสาวฝาแฝด คือ กานดาภาและกาญจนากร ปัจจุบันสมรสแล้วทั้งคู่ นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้กันว่า นายสมัครรัก "แมว" เป็นชีวิตจิตใจ

สำหรับเส้นทางชีวิตของนายสมัคร ในเวทีการเมืองโดดเด่นไม่แพ้ใครไม่ว่าจะสวมหัวโขนอะไรก็ได้รับความสนใจ นายสมัครเริ่มทำงาน เป็นสื่อมวลชนสายการเมือง หลังจบนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ โดยเขียนบทความ และความคิดเห็น ทางการเมืองแบบไม่ประจำใน หนังสือพิมพ์สยามรัฐ, สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ และชาวกรุง ตั้งแต่ พ.ศ. 2500 จนถึง 2516 เขียนบทความ การเมืองในหนังสือพิมพ์ประชาไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 จนถึง 2520 และเขียนบทความในคอลัมน์ประจำ "มุมน้ำเงิน" หนังสือพิมพ์เดลิมิเร่อร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2521 จนถึง 2537

หลังเสพเรื่องการเมืองผ่านคอลัมน์ นายสมัครเริ่มต้นชีวิตการเมืองโดยเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2511 ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลกรุงเทพมหานครในปี 2514 จากนั้นในปี 2518 ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งแรก และได้รับตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลผสมของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช


จากนั้นในปี 2519 ได้รับเลือกเป็น ส.ส.อีกสมัย และได้ตำแหน่ง รมว.มหาดไทย สมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับลาออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อมาก่อตั้งพรรคประชากรไทย ในปี 2522 โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

นายสมัครนำพรรคประชากรไทยได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.มาหลายสมัย และตัวเขาเองได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เช่น รมว.คมนาคม สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร, นายบรรหาร ศิลปอาชา และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

กระทั่งปี 2546 เขาได้ลาออกจากพรรคประชากรไทย และเบนเข็มมาลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นถึง 1,016,096 คะแนน ก่อนพ้นตำแหน่ง ปี 2547 พร้อมกับมีคดีการทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงติดตัว

จากนั้นนายสมัครหันมาจัดรายการโทรทัศน์ ดำเนินรายการอาหาร "ชิมไป บ่นไป" แต่ที่ฮือฮาคือ รายการ "สมัคร-ดุสิต คิดตามวัน" ที่จัดรายการร่วมกับ ดุสิต ศิริวรรณ อดีต รมต.ประจำสำนักนากยฯ โดยทั้งคู่ได้กล่าวโจมตี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

ต่อมา ลงเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ปี 2549 ใน กทม. ได้คะแนนเสียงเป็นลำดับที่ 2 รองจาก ร.ต.อ.นิติภูมิ นวรัตน์ แต่ยังไม่ทันที่จะปฏิบัติหน้าที่ใดๆ การเลือกตั้งวุฒิสภาก็ถูกยกเลิก เนื่องจากเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ขึ้น
ชื่อของเขากลับมาโดดเด่นอีกครั้ง เมื่อเปิดตัวเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน โดยคำเชื้อเชิญของ นช.ทักษิณ ชินวัตร และในที่สุด นายสมัครก็ได้เป็นนายกฯคนที่ 25ของประเทศไทย


“ทักษิณ-ชวลิต-เฉลิม” ป่วย ข่าวลือหรือข่าวจริง

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากนายสมัคร สุนทรเวชแล้ว ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้ปรากฏข่าวเกี่ยวกับการป่วยของอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยอีก 2 คน

คนแรกคือ นช.ทักษิณ ชินวัตร

คนที่สองคือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

กล่าวสำหรับ นช.ทักษิณนั้น มีกระแสข่าวลือว่า เขากำลังป่วยด้วยโรคเดียวกับนายสมัคร เพียงแต่จุดเกิดขึ้นเป็นคนละจุดกับนายสมัคร โดยนายสมัครอยู่ที่ตับแต่นายใหญ่แห่งดูไบอยู่ที่ “ต่อมลูกหมาก” ซึ่งที่ผ่านมามีข้อมูลออกมาว่า มีการออร์เดอร์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้จากโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในเมืองไทยเพื่อไปดูแลรักษาเขาถึงที่ดูไบ

ทั้งนี้ ผู้ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ชัดๆ ก็คือ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.ประชาธิปัตย์

ส่วน พล.อ.ชวลิตนั้นมีกระแสข่าวเข้ามาเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ภายหลังปรากฏข่าวการเข้าไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลพระมงกุฏ และมีเสียงลือออกมาว่า ไม่ใช่แค่การตรวจสุขภาพธรรมดาๆ หากแต่มีปัญหาเกิดขึ้นที่บริเวณลำไส้ใหญ่

นอกจากนี้ อีกคนหนึ่งที่กำลังเป็นที่จับตาก็คือ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” เพราะหลังจากที่เขาเข้ารักษาตัวด้วยอาการ “หูดับ” ที่รพ.พระมงกุฎฯ เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา ข่าวคราวและการให้สัมภาษณ์ของเขาก็เงียบหายไป จนมีการโจษขานกันว่า ร.ต.อ.เฉลิมไม่ใช่มีอาการแค่หูดับเท่านั้น หากแต่มีอาการป่วยอื่นผสมอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตาม ข่าวเรื่องของสุขภาพของทั้ง 3 คนจะเป็นความจริงหรือไม่เพียงใด กาลเวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์

กำลังโหลดความคิดเห็น