xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่:การลดค่าเงิน (Devaluation)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในระบบเศรษฐกิจการเงินโลกปัจจุบันมีระบบอัตราแลกเปลี่ยนหลักๆที่ประเทศต่างๆใช้อยู่ด้วยกัน 2 ระบบ คือ ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว (Floating exchange Rate System) และระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ (Fixed Exchange Rate System) ซึ่งประเทศอุตสาหกรรมส่วนใหญ่จะใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวที่ค่าเงินจะถูกกำหนดโดยความต้องการและปริมาณของเงินสกุลเงินตราต่างประเทศในประเทศนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ยังมีบางประเทศที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ เช่น ประเทศจีน เวียดนาม ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น สำหรับประเทศที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่นี้ อัตราแลกเปลี่ยนจะเป็นเครื่องมือสำคัญทางการเงิน โดยทางการจะใช้การเพิ่มค่าเงิน (Revaluation) หรือ ลดค่าเงิน (Devaluation) ในการดูแลเศรษฐกิจของประเทศให้อยู่ในภาวะที่เหมาะสมหรือเป็นไปในทิศทางที่ต้องการ

ถามว่าภายใต้สถานการณ์ไหนที่ประเทศจะมีการลดค่าเงิน? เหตุผลที่ทางการของประเทศที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่จะประกาศลดค่าเงินมักเกิดจากแรงกดดันจากตลาด กล่าวคือ เมื่อมีความต้องการเงินตราสกุลต่างประเทศเป็นจำนวนมากในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศ โดยการที่ประเทศจะบริหารระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ประเทศนั้นๆต้องมีปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศเพียงพอที่จะสามารถขายในการรักษาค่าเงินให้คงที่อยู่ได้ หากประเทศนั้นๆไม่สามารถทำได้ก็จะเป็นเหตุให้ต้องมีการตัดสินใจลดค่าเงินให้ไปอยู่ที่ระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ นอกจากนี้การลดค่าเงินก็อาจจะมีเหตุผลทางด้านนโยบายได้ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ การลดค่าเงินจะทำให้ค่าเงินของประเทศนั้นๆถูกกว่าโดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ซึ่งจะมีผล คือ 1) ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้นจากการส่งออกสินค้าและบริการที่ถูกลงโดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เป็นการส่งเสริมการส่งออกสินค้าและบริการ และสำหรับการนำเข้าสินค้าและบริการจะมีราคาแพงขึ้นซึ่งจะเป็นการช่วยลดการนำเข้าได้ 2) ทำให้ประชาชนจะหันมาซื้อสินค้าในประเทศมากขึ้นเป็นการช่วยกระตุ้นความต้องการของสินค้าและบริการในประเทศ ช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจและยังเป็นการช่วยลดปัญหาการว่างงานอีกด้วย

ผลข้างเคียงของการลดค่าเงินคืออะไร? 1) การที่การนำเข้าสินค้าและบริการมีราคาสูงขึ้นและความต้องการสินค้าภายในประทศที่มีมากขึ้นนี้ อาจเป็นตัวเร่งให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อในประเทศขึ้นได้ ซึ่งบางประเทศก็จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2) การลดค่าเงินเป็นสัญญาณของความอ่อนแอทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ การลดค่าเงินจะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและมีผลต่อการลงทุนของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้ และ 3) หากประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งของประเทศนั้นๆ ลดค่าเงินตามจากความเป็นกังวลต่อการส่งออกของประเทศของตน ผลของนโยบายที่ทางการคาดไว้อาจได้รับผลกระทบได้

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมาประเทศเวียดนามได้มีการประกาศ ลดค่าเงินด่องลงประมาณร้อยละ 5 มาอยู่ที่ประมาณ 17,961 ด่องต่อดอลลาร์สรอ. ประเทศเวียดนามเป็นประเทศหนึ่งที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ซึ่งการลดค่าเงิน (Devaluation) นั้นก็ถือว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ประเทศเวียดนามมีปัญหาการขาดดุลการค้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายนปีนี้ประเทศเวียดนามขาดดุลการค้าอยู่ที่ประมาณ 6.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อก็มีการคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 6 ในสิ้นปีนี้ พอจะมองได้ว่าเวียดนามพยายามที่จะจัดการกับปัญหาการขาดดุลการค้าด้วยการลดค่าเงินเพื่อเป็นการกระตุ้นการส่งออกและลดปริมาณการนำเข้าที่อยู่ในระดับที่สูง ในขณะเดียวกันปัญหาเงินเฟ้อที่สูงก็เป็นประเด็นที่ทางการต้องกังวล จึงเป็นสาเหตุให้ทางปรับอัตราดอกเบี้ยทางการขึ้นร้อยละ 1 ด้วย ทั้งนี้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังเป็นที่มองว่าจะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาทางด้านเสถียรภาพของค่าเงินด่องได้ด้วย

สำหรับประเด็นเรื่องการลดค่าเงินหรือเพิ่มค่าเงินนี้ คงเป็นเรื่องสำหรับประเทศที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ สำหรับประเทศไทยเราก็จะพูดกันแต่เรื่องการที่ค่าเงินบาทแข็งขึ้น (Appreciation) หรือค่าเงินบาทอ่อนค่าลง (Depreciation) เพราะเราใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ประเทศเราเคยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ในช่วงก่อนวิกฤตปี 2540 และได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอบตัวตั้งแต่วันที่ 2 กรกฏาคม 2540 ในเรื่องผลกระทบของการลดค่าเงินด่องต่อการส่งออกของไทยคงต้องมีบ้างไม่มากก็น้อย เพราะจะทำให้สินค้าเวียดนามถูกลงในสายตาของผู้นำเข้าสินค้าที่ไทยแข่งขันกับเวียดนาม อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อของเวียดนามที่สูงก็มีผลต่อราคาสินค้าเวียดนามเช่นกัน การดูการได้เปรียบเสียเปรียบว่ามีมากมีน้อยอย่างไร คงต้องดูทั้งค่าเงินและอัตราเงินเฟ้อโดยเปรียบเทียบกันครับ

surachit@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น