xs
xsm
sm
md
lg

65 กิจการมาบตาพุดเคว้งส่อหยุดเกิน 1 ปีฉุด ศก.วูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-เอกชนมองอนาคต 65 กิจการเคว้งส่อหยุดกิจการยาวมากกว่า 14 เดือน ฝันทำHIA ควบคู่กับการก่อสร้างผ่าทางตัน ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจพังแน่เม็ดเงินลงทุน 2.5 แสนล้านวูบ รายได้สูญปีละ 2.6 หมื่นลบ. รับเหมา ลูกค้า   แบงก์ อ่วมแน่ เล็งเสนอรัฐหามาตรการเยียวยาว แบงก์ชาติแจง 65 โครงการที่ถูกระงับ หากเป็นเอ็นพีแอลกระทบเงินกองทุนแค่ 0.1 “มาร์ค”เตือนเอกชนฟ้องรัฐ ทำเรื่องยืดเยื้อ วอนทุกฝ่ายร่วมมือแก้ไขปัญหา ด้านกระทรวงแรงงานพร้อมช่วยเหลือคนตกงาน

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังการหารือถึงผลกระทบคำสั่งศาลปกครองสูงสุดเกี่ยวกับมาบตาพุดวานนี้(4ธ.ค.) ว่า เอกชนมีความกังวลว่า 65 กิจการจะต้องหยุดการดำเนินกิจการมากกว่า 14 เดือน แม้จะมีการเร่งรัดการออกประกาศของกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายใน 2สัปดาห์ แต่เมื่อพิจารณาการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) จะต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 14 เดือน ดังนั้นจึงต้องการให้ภาครัฐพิจารณาการจัดทำEIA และ HIA ควบคู่ไปกับก่อสร้างโครงการ

“เราคิดว่าโครงการจะต้องหยุดมากกว่า 14 เดือนเพราะEIAใหม่เข้มงวดขึ้น และยังต้องทำHIA แต่สำคัญไทยยังขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านการทำ HIA เพราะจะต้องทำโดยบุคคลที่ 3 ที่ผ่านการรับรองที่ขณะนี้มีน้อยมาก หากว่าทั้ง 65 กิจการต้องทำพร้อมๆ กันบุคคลกรนี้ไม่พอแน่”นายพยุงศักดิ์กล่าว

นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า จะเสนอให้ภาครัฐหามาตรการเยียวยาวผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากความเสียหายโดยเฉพาะอาจเกิดการฟ้องร้องจากผู้รับเหมา หรือลูกค้าที่อาจรับสินค้าไม่เป็นไปตามสัญญาที่ผูกพัน ภาระทางด้านการเงินที่โครงการล่าช้าแต่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ฯลฯ ซึ่งแนวทางดังกล่าวคงจะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากสถาบันการเงินของรัฐที่ควรจะผ่อนปรนเรื่องภาระดอกเบี้ย

สำหรับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นคือ เม็ดเงินลงทุนต้องถูกชะลอออกไปประมาณ 2.5 แสนล้านบาท รวมถึงเงินรายได้ที่ประเมินทั้งหมดว่าจะสูญหายไปอีกปีละ 2.6 หมื่นล้านบาท ผลกระทบต่อการจ้างงานโดยเฉพาะรับเหมาก่อสร้างทั้งตรงและรับช่วงอีกเกือบ 5 หมื่นคน รวมเป็นเงินที่แรงงานเหล่านี้จะได้รับค่าจ้างเฉลี่ยปีละหมื่นล้านบาท

“ที่หารือกันก็มีบางบริษัทเกรงว่าทางผู้ร่วมทุนเขาจะฟ้องร้องกรณีผิดเงื่อนไขการรักษาผลประโยชน์ ส่วนหากเกิดความเสียหายแล้วเอกชนก็มีโอกาสจะฟ้องต่อภาครัฐ เพราะถือว่าปฏิบัติตามกติกาของราชการถูกต้องแต่ต้องหยุดจนเสียหายได้แต่เอกชนถ้าไม่จำเป็นเขาก็คงไม่อยากทำจึงต้องพยายามหารือกับทุกฝ่าย ปัญหานี้ทำให้เรามองอนาคตแทบไม่เห็นเลย ล่าสุดโครงการเล็กที่เป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำที่จะต่อยอดลงทุนหลายบริษัทรวมมูลค่าลงทุน 3-4 หมื่นล้านบาท เขาก็ถอดใจไม่ลงทุนแล้ว ที่เหลืออีกที่เราเองก็ไม่แน่ใจ”นายพยุงศักดิ์กล่าว

**เล็งยื่นศาลฯตีความ 8 กิจการ

นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้แต่ละบริษัทไปพิจารณาว่ามีกิจการใดที่เข้าข่ายเหมือนกับ 11 โครงการหรือไม่ หากพบว่ามีก็จะได้สามารถยื่นคำร้องให้ยกเว้นการระงับกิจการต่อศาลฯเป็นรายๆ ไป ขณะเดียวกันจากการพิจารณาตามคำสั่งศาลปกครองกลางก่อนหน้าที่ระบุว่าโครงการที่ได้รับอนุมัติก่อนรัฐธรรมนูญปี 2550  บังคับใช้ให้สามารถเดินหน้าได้นั้นพบว่ามี 8กิจการ ซึ่งเป็นเครือปตท. 3 กิจการ เครือซิเมนต์ไทย 1 กิจการที่เหลือเป็นรายอื่นๆ แต่ยังมีปัญหาคำว่าอนุมัติให้ยึดหลักการใด ซึ่งหากยึดหลักจากการผ่านEIA ของเอกชนก็จะมี 8 กิจการดังนั้นจึงจะทำหนังสือเพื่อสอบถามไปยังศาลปกครองกลางเร็วๆ นี้

**แบงก์ปล่อยกู้มาบตาพุดกระทบ 7.8 หมื่น ล.

นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ได้ปล่อยสินเชื่อให้แก่โครงการลงทุนในพื้นที่เขตมาบตาพุด 76 โครงการ มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนนี้ผู้ลงทุนในโครงการดังกล่าวได้มีการเบิกใช้ยอดสินเชื่อไปแล้ว 9.5 หมื่นล้านบาท แต่หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุดได้มีการระงับการลงทุนส่วนใหญ่จำนวน 65 โครงการ ล่าสุดธปท.ได้ทำการสำรวจในเบื้องต้น พบว่า ธนาคารพาณิชย์ได้เบิกจ่ายยอดสินเชื่อไปแล้วเฉพาะโครงการที่ระงับคิดเป็นมูลค่า 7.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลข ณ สิ้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา

"ผลกระทบทางตรงต่อธนาคารพาณิชย์ไทย คือ วงเงินที่ผู้ลงทุนที่เอาเงินไปแล้วคิดเป็นมูลค่า 7.8 หมื่นล้านบาท แต่ผลกระทบทางอ้อมขณะนี้ยังไม่มีตัวเลขที่แน่นอน อย่างไรก็ตาม หากวงเงินที่แบงก์ปล่อยกู้ไปแล้วเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ทั้งก้อนในจำนวน 7.8 หมื่นล้านบาทนี้ ก็จะกระทบให้เงินกองทุนแบงก์ในระบบหดไปแค่ 0.1% ทำให้เงินกองทุนจาก 15.9% ในปัจจุบันเหลือ 15.8% และเม็ดเงินที่เบิกจ่ายไปแล้วนั้นมีสัดส่วนแค่ 1.15%ของสินเชื่อรวมทั้งระบบเท่านั้น ถือว่ากระทบไม่มากนัก"

ทั้งนี้ จากการสอบถามไปยังแต่ละธนาคารถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังมีเม็ดเงินลงทุนจากโครงการอื่นหมุนเวียนมาช่วยอยู่ จึงยังไม่สะดุดในการชำระหนี้ ขณะเดียวกันวงเงินที่ปล่อยกู้ไปแล้วแต่ละโครงการก็ยังมีการชำระหนี้ตามปกติอยู่ ประกอบกับการงตั้งสำรองที่เพียงพอ จึงไม่น่าเป็นห่วงฐานะของธนาคารพาณิชย์ที่ยังมีความมั่นคงอยู่

สำหรับกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต้องการให้ขยายเวลาหรือเงื่อนไขการชำระหนี้สำหรับโครงการที่ระงับนั้น ธปท.มองว่าเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เมื่อธนาคารพาณิชย์แห่งใดมองว่าลูกหนี้เริ่มมีปัญหาในอนาคตจะเจรจากับลูกหนี้ เพื่อปรับปรุงเงื่อนไขไม่ให้เกิดปัญหาเอ็นพีแอลตามมา ซึ่งเชื่อว่าแต่ละธนาคารก็พยายามปรับปรุงโครงสร้างหนี้อยู่แล้ว

**สคิบเข้มปล่อยกู้โครงการกระทบ สวล.

ด้านนายเอกชัย เตชะวิริยะกุล ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายการตลาดธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด(มหาชน) (SCIB) กล่าวยอมรับว่า เป้าหมายการอนุมัติสินเชื่อธุรกิจโครงการใหญ่ของภาคเอกชนในช่วงปี 2553 ธนาคารจะเพิ่มกฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อให้มีความเข็มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่สร้างผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ถือว่าเป็นการช่วยให้ทิศทางการปล่อยสินเชื่อเป็นไปในทิศทางเดียวกับประเทศในการพัฒนาการการลงทุนให้เทียบเท่ากับระดับสากล ดังนั้น ธนาคารเห็นด้วยและพร้อมที่จะปฎิบัติตามในการปรับปรุงเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อดังกล่าว

**มาร์คติงฟ้องรัฐปัญหายิ่งยืดเยื้อ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหามาบตาพุด เตรียมที่จะฟ้องร้องรัฐบาล โดยอ้างว่าที่ผ่านมาก็ดำเนินการตามที่กฤษฎีกาทุกอย่างแต่ก็ยังมีปัญหาว่า ยังไม่ทราบว่ามีประเด็นเรื่องฟ้องร้องอะไร แต่ว่าพยายามจะแก้ปัญหาโดยให้ทุกฝ่ายมาร่วมมือกัน และหากมีการฟ้องร้อง ก็จะทำให้เรื่องยืดเยื้อออกไปอีก

ส่วนเรื่องการย้ายการลงทุนหรือแรงงานที่ทำงานใน 65 โครงการที่เป็นปัญหานั้น ก็ได้สั่งการให้คณะกรรมการฯไปสำรวจแล้ว และรายงานกลับมาให้ทราบไม่เกิน 2 สัปดาห์

**ก.แรงงาน พร้อมช่วยคนตกงาน

นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานกำลังเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะมีคนงานหลายหมื่นคนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลจะมีมาตรการมารองรับหรือผ่อนปรน แต่หากไม่มีการผ่อนปรนก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเสียหายเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้หากแรงงานได้รับผลกระทบกระทรวงแรงงาน พร้อมจะเข้าไปดำเนินการหาตำแหน่งงานให้สอดคล้องเหมาะสมกับความต้องการ

โดยกรมการจัดหางานจะเตรียมตำแหน่งงานรองรับ หากตำแหน่งงานไม่ตรงกับความถนัด ก็จะให้แรงงานเข้ารับการฝึกทักษะฝีมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยแรงงานที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้าไปลงทะเบียนที่จัดหางานจังหวัดระยอง เพื่อแจ้งความต้องการทำงาน ความสามารถ และความถนัด อย่างไรก็ตามหากนายทุนใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้กับโรงงาน เชื่อว่าโรงงานสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้

**สธ.ของบ 294 ล.ดูแลสุขภาพปชช.ในมาบตาพุด

นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับนายแพทย์สาธารณสุข จ.ระยอง ผอ.รพ.มาบตาพุด เพื่อเร่งรัดการดำเนินงานโครงการพัฒนาศักยภาพการให้บริการของโรงพยาบาล ที่ให้บริการในเขตควบคุมมลพิษ และโครงการตรวจสุขภาพและเฝ้าระวังโรคของประชาชน ในเขตควบคุมมลพิษ จ.ระยอง ว่า การแก้ไขปัญหาผลกระทบสุขภาพประชาชนที่มาบตาพุดและเขตควบคุมมลพิษดังกล่าว สาธารณสุขได้เสนอของบประมาณจากงบกลาง วงเงิน 294 ล้านบาทเศษ เป็นงบผูกพัน 3 ปีระหว่างพ.ศ. 2553-2555 ใน 2 โครงการได้แก่โครงการพัฒนาศักยภาพโรงพยาบาล 4 แห่ง ที่อยู่ใกล้เคียงเขตควบคุมมลพิษ สามารถตรวจรักษาโรคจากการประกอบอาชีพ โรคจากมลพิษสิ่งแวดล้อม โรคหรืออุบัติภัยเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายวงเงิน 235 ล้านบาท และโครงการตรวจสุขภาพเฝ้าระวังโรคประชาชนในเขตควบคุมมลพิษอีก 58 ล้านบาทเศษ โดยจะมีการคัดกรองประชาชนในปีแรกจำนวน 1 หมื่นราย ใน 31 ชุมชนที่อยู่รอบนิคมอุตสาหกรรม โดยจะเริ่มตรวจคัดกรองประชาชนได้ประมาณวันที่ 15 ม.ค.2553

นายวิทยา กล่าวว่า การคัดกรองสุขภาพในปีแรกจะใช้วงเงิน 24 ล้านบาท ปี 2554-2555 โดยจะตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ดูการทำงานของตับไต ตรวจปัสสาวะ เอ็กซเรย์ปอด ประเมินความเสี่ยงการสัมผัสสารเคมี ทั้งโลหะหนัก และมลพิษอื่นๆ จากสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่อาศัยบริเวณรอบบ่อน้ำที่พบสารโลหะหนักได้แก่ ตะกั่ว สารหนู ปรอท ประมาณ 500 คน โดยจัดรถตรวจสุขภาพเคลื่อนที่ 2 คัน

นอกจากนี้จะพัฒนา รพ.ระยอง ให้เป็นศูนย์กลางรักษาโรคด้านอาชีวเวชศาสตร์ ตรวจรักษาโรคจากการประกอบอาชีพและรักษาพิษสารเคมีประจำภาคตะวันออก และโรงพยาบาลชุมชนอีก 3 แห่งคือ รพ.บ้านฉาง รพ.พัฒนานิคมและ รพ.มาบตาพุด ให้มีขีดความสามารถรักษาโรคจากการประกอบอาชีพ

**จี้นายกฯ ขันน็อต รมต.-หน่วยงานรัฐ

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยภาคประชาชน กล่าวถึง กรณีที่นายกรัฐมนตรี กำชับคณะกรรมการ 4 ฝ่าย ให้เร่งดำเนินการออกประกาศเรื่องการประเมินผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมว่า เข้าใจว่านายกฯ กำชับเฉพาะกรรมการในส่วนของภาคราชการ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ฝ่าย เท่านั้น เนื่องจากกลไกของรัฐไม่สามารถรองรับมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ทำให้เกิดปัญหาขึ้นในขณะนี้

ส่วนการดำเนินงานของคณะกรรมการฯที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น ได้กำชับทุกฝ่ายในคณะกรรมการให้เร่งรีบดำเนินการอย่างหนักอยู่แล้วในขณะนี้ จึงอยากทำความเข้าใจกับนายกฯว่า คณะกรรมการชุดนี้เกิดจากกลุ่มผู้เดือดร้อนที่มายื่นข้อเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้น ซึ่งเกิดจากภาคประชาชน ไม่ได้มาจากภาครัฐ

นพ.ชูชัย กล่าวว่า สิ่งที่นายกฯ ควรให้ความสนใจในขณะนี้คือ การกระตุ้นให้กลไกภาครัฐ เริ่มทำงานมากที่สุด และควรกำชับรัฐมนตรีบางท่านให้ความร่วมมือกับคณะกรรมการฯ ในการดำเนินงาน ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางวินิจฉัยโครงการ หรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทางด้านสุขภาพ คาดว่าในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ จะได้ข้อยุติในเรื่องเครื่องมือในการวัดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่ายินดีที่ผู้แทนผู้ประกอบการภาคธุรกิจ มีท่าทีพร้อมปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ จึงขอให้รัฐบาลรีบทำความชัดเจนออกมาให้เร็วที่สุด

** ยื่น ป.ป.ช.สอบ 2 คณะกรรมการกฤษฎีกา

วานนี้(4 ธ.ค. 52 ) นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก แถลงว่ากระบวนการพิจารณาศาลปกครองสูงสุด ทำให้เราเห็นข้อบกพร่องของภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน ความผิดพลาดของภาครัฐที่เกิดขึ้น ที่เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกได้เคยทำหนังสือถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรม และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯลฯให้ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองอย่างเคร่งครัด ทำให้เกิดความผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้เกิดความสูญเสียดังกล่าวเกิดขึ้น

เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก จะยื่นหนังสือให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ปปช.)ตรวจสอบการทำงานหน่วยงานราชการ ทำให้เกิดความบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่รวมทั้งรัฐบาล ในวันที่ 9 ธ.ค.นี้ เพื่อทำให้เป็นเยี่ยงอย่างว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด กลับมิได้ปฏิบัติให้ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ จนทำให้เกิดมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น และทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ

รวมทั้งให้ตรวจสอบนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช และนายสุรชัย ภู่ประเสริฐ ทั้งสองคนนี้เป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ทำหน้าที่ไปตีความว่าไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง และเป็นผู้ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)

นายสุทธิ กล่าวว่าความไม่ชัดเจนที่เกิดขึ้น เกิดจากความผิดพลาดของรัฐบาล เรียกร้องให้เอกชนหรือผู้ประกอบการจี้ภาครัฐให้แสดงความรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจในการที่จะปกป้องคุ้มครองแรงงาน ที่ได้รับผลกระทบกรณีตกงาน ด้วยการชดเชยดูแลแรงงาน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับผู้ฟ้องคดี เรื่องนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเข้าไปแก้ไขปัญหา และต้องให้การสนับสนุนกับคณะกรรมการ 4 ฝ่ายให้มากที่สุด

**ตั้ง 3 คณะทำงานเกาะติดปัญหา

วานนี้ (4 ธ.ค.) พรรคเพื่อไทย มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะทำงานด้านเศรษฐกิจและฝ่ายกฎหมายของพรรค เพื่อหารือในประเด็นที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ระงับโครงการอุตสาหกรรมในมาบตาพุดจำนวน 65 โครงการ ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของพรรค กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรี่องใหญ่ที่ส่งผลกระทบในหลายด้านทั้งทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และภาคการลงทุน ดังนั้นที่ประชุมจึงมีความเห็นให้ตั้งคณะทำงาน 3 ฝ่าย คือ1. ฝ่ายกฎหมาย เพื่อดูประเด็นใดขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 67 และกฏหมายสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 96

2. ฝ่ายเศรษฐกิจจะดูเรื่องผลกระทบจากคำสั่งศาล เช่น จำนวนผู้ว่างงาน ผู้รับเหมาก่อสร้าง และธนาคารที่ปล่อยกู้ และ3. ฝ่ายการเมือง จะศึกษาเรื่องความรู้สึกของคนในพื้นที่เป็นหลัก

นายปานปรีย์ กล่าวว่า รัฐบาลมีมาตราการป้องกันที่ล่าช้า จนปัญหาลุกลามไปไกลเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ในระยะสั้น โดยเฉพาะเรื่องการออกกฎหมายลูกที่บริหารประเทศมาเกือบปีแต่ยังไม่ได้ดำเนินการ นอกจากนี้พรรคเพื่อไทยยังเป็นห่วงว่า ท้ายที่สุดแล้วรัฐอาจจะต้องสูญเสียเงินหากเอกชนดำเนินการฟ้องร้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น