เรื่องราวเมืองสองแคว กำลังจะอกแตกซ้ำสองนี้ เริ่มตั้งแต่ปี 2519 ที่รัฐบาลมีคำสั่งและมติ ครม. ตั้งคณะอนุกรรมการพิสูจน์หลักฐานรายละเอียดกำแพงเมือง-คูเมือง ต่อมารัฐบาลหลายๆชุดมีมติ ครม.ปี 34, ปี 42, ปี 44 และปี 46 ตั้งคณะกรรมการพิจารณากำหนดขอบเขตที่ดินกำแพงเมือง-คูเมือง กระทั่งกำหนดขอบเขตที่ดินกำแพงเมือง – คูเมือง ทั่วประเทศ 963 เมือง โดยอิงข้อมูลโครงการวิจัยชุมชนจากภาพถ่ายทางอากาศปี 2525 ของจุฬาลงกรณ์มาวิทยาลัย
สำหรับแนวทางแก้ปัญหา หากดำเนินการรังวัด-สอบแนวเขตแล้วเสร็จ ตามกรมธนารักษ์เคยสั่งการไว้ คือ เมื่อสิ่งปลูกสร้างอยู่ในเขตเขตกำแพงเมือง – คูเมือง ให้ถือปฏิบัติตามแนวทางควบคุมสิ่งก่อสร้างที่กรมศิลปากรกำหนด คือ มีสิ่งปลูกสร้างอยู่ก่อนแล้ว ให้กรมธนารักษ์ดำเนินการจัดหาประโยชน์จากสิ่งปลูกสร้างไปพลางก่อน โดยทำสัญญาเช่าระยะสั้น(ปีต่อปี) หากมีการซ่อมแซมอาคารให้ซ่อมแซมตามสภาพพออยู่ได้ ห้ามต่อเติมใหม่ หากหมดสภาพก็ให้เลิกสัญญาเช่าและรื้อทิ้ง
กรณีสภาพปัจจุบัน ราษฎรเข้าครอบครองเป็นอาคารพาณิชย์และอาคารที่อยู่อาศัย บางรายมีโฉนด จะต้องพิจารณาตามสภาพเท็จจริงเพื่อมิให้มีผลกระทบ มี 2 แนวทางคือ
1.หากราชการประสงค์เวนคืน ควรตั้งงบประมาณจ่ายชดเชย ซึ่งค่าชดเชยควรเป็นราคาค่าก่อสร้างอาคารราคาปัจจุบัน ส่วนราคาที่ดินไม่น่าชดเชยเพราะเป็นที่ดินของรัฐอยู่แล้ว (กรณีนี้อาจมีปัญหาในรายที่มีโฉนดและซื้อมาจากผู้อยู่เดิม)
2.การแก้ปัญหากรณีเช่ารายปีตามกรมศิลปากรไม่ได้ เพราะอยู่มานาน ก็ให้เช่านานปีขึ้น ครั้งละไม่เกิน 30 ปี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ในพิษณุโลก ระบุว่า การพิจารณาให้สินเชื่อ กรณีหลักทรัพย์อยู่ในเขตกำแพงเมือง-คูเมืองนั้น ต้องประกาศอย่างเป็นทางการก่อน เพราะผู้ใดถือโฉนดก็ถือว่า เป็นทรัพย์สินทางกฎหมาย ธนาคารคงไม่สามารถปฏิเสธได้ หากจังหวัดประกาศออกมาว่าเป็นเขตกำแพงเมืองหรือคูเมือง ก็ต้องลดวงเงินสินเชื่อ หรือเรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันที่ดินราชพัสดุ ธนาคารยังปล่อยกู้ เพราะถือเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพียงแต่ลดมูลค่าลง ปัญหาที่เกิดขึ้นขณะนี้ก็คือ คนที่ถือโฉนดอยู่ในเขตกำแพงเมืองส่วนใหญ่หวั่นเกรงว่า มูลค่าทรัพย์สินของตัวเองลดลงเท่านั้น