xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทัน...ตลาดทุน: เศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4 ยังมีโอกาสขยายตัวได้ต่อเนื่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ Q3/52 ที่ระดับ –2.8% yoy เศรษฐกิจไทยในช่วง Q3/52 หดตัวลงที่ระดับ -2.8% yoy หดตัวลงน้อยที่สุดในรอบปี โดยเป็นการปรับตัวดีขึ้นจากในช่วง 2 ไตรมาสก่อนหน้า ที่หดตัวลงอยู่ที่ระดับ -7.1%, -4.9% yoy ตามลำดับ ซึ่งส่งผลให้ GDP ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 หดตัวลงอยู่ที่ระดับ -5.0% และหากเมื่อเทียบไตรมาสต่อไตรมาส โดยปรับผลของฤดูกาล (Seasonally Adjusted) ตัวเลข GDP ของไทยยังคงสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน ที่ระดับ 1.3% qoq

SCRI ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วง Q4/52 มีโอกาสที่ตัวเลข GDP จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส SCRI มีมุมมองต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่เหลือของปี ยังคงคาดว่าจะมีทิศทางการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสำคัญจากการกลับมาฟื้นตัวของภาคอุปสงค์ในประเทศ รวมไปถึงปัจจัยทางด้านระดับฐานที่ต่ำ (Base-Effect) ในปี 2551 โดยในเบื้องต้น SCRI คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในช่วง Q4/52 มีโอกาสที่จะขยายตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 2.3% yoy

SCRI ปรับประมาณการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2552 ขึ้นเล็กน้อยไปอยู่ที่ระดับ -3.1% โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ -3.2% ในประมาณการณ์ในครั้งก่อนหน้า  จากการที่ในภาพรวม SCRI ได้ประเมินทิศทางของระดับอุปสงค์ทั้งในด้านของภาคการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนที่คาดว่าจะมีการปรับตัวดีขึ้นในอัตราเร่งในช่วงที่เหลือของปี ตามปัจจัยจากทางด้านทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงการที่ระดับอัตราการว่างงาน ที่มีแนวโน้มกลับมาทรงตัวอยู่ในระดับมีเสถียรภาพเร็วกว่าที่คาดการณ์ ขณะที่คาดการณ์ GDP ของไทยในปี 2553 จะขยายตัวอยู่อยู่ในกรอบ 2.0 - 4.0%

เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย คาดว่าในภาพรวมยังคงอยู่ในเกณฑ์แข็งแกร่ง แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องระวังปัจจัยเสี่ยงในด้านของความเสี่ยงทางด้านอัตราเงินเฟ้อที่อาจจะกดดันให้ระดับการบริโภคมีการชะลอตัวลงต่ำกว่าประมาณการณ์  โดย SCRI มองว่าในด้านของเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า สัญญาณของตัวเลขที่บ่งชี้ถึงระดับเสถียรภาพทั้งจากในและนอกประเทศ ยังคงมีสัญญาณอยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง ทั้งจากตัวเลขเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่ยังคงมีสัดส่วนค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับเงินทุนระยะสั้นจากต่างประเทศของไทย อัตราการว่างงานที่ทรงตัวอยู่ในระดับเสถียรภาพ ฯลฯ แต่อย่างไรก็ดีในช่วงปี 2553 ถือได้ว่าเริ่มมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังมากขึ้น จากในด้านของระดับอัตราเงินเฟ้อ ที่คาดว่าจะเริ่มมีการปรับตัวเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง Q4/52 และอาจจะกดดันให้ระดับการบริโภคอาจจะมีการชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมไปถึงระดับหนี้สาธารณะ ที่มีโอกาสจะปรับตัวขึ้นเกินกว่าระดับ 50% / GDP ได้ภายในช่วงปี 2553 ตามแผนการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อนำไปใช้ในโครงการไทยเข้มแข็ง
กำลังโหลดความคิดเห็น