xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่าวิกฤตโลก ยุทธศาสตร์โลก......ไทย (4)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

ปัจจุบันแห่งโลกาภิวัตน์

หลังจากศึกษาประวัติศาสตร์ย่ออย่างคร่าวๆ แล้ว สิ่งที่หลีกหนีไม่พ้นคือ ต้องศึกษาปัจจุบัน หรือโลกในยุคโลกาภิวัตน์ให้ถ่องแท้ ว่าคืออะไรกันแน่

ขอโทษที่ดูเหมือนจะกล่าวซ้ำกับตอนที่แล้ว แต่ผมคงต้องลงรายละเอียดมากกว่าตอนช่วงประวัติศาสตร์ฉบับย่อ

หลังจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวอย่างต่อเนื่องหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประมาณปี 1970 ระบบโลกก็ก้าวสู่ช่วงวิกฤตอุตสาหกรรม ซึ่งมีรากมาจากปัญหา Over-production หรือการผลิตที่ล้นเกิน อันมีสาเหตุสำคัญมาจากความสามารถในการผลิต และเทคโนโลยีในการผลิตพัฒนาก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ ปรากฏการณ์สำคัญคือ การหดตัวของกำไร

ในเวลาเดียวกัน สหรัฐอเมริกาซึ่งทุ่มงบมหาศาลสู่การสร้างแนวการปิดล้อมการขยายตัวของโลกคอมมิวนิสต์ และในที่สุดก็ต้องเผชิญกับความพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม

ในเมื่อเศรษฐกิจโลกหดตัว ฐานะทางเศรษฐกิจและการเมืองของอเมริกาจึงย่ำแย่ลงอย่างมาก ค่าเงินดอลลาร์ก็พลอยตกต่ำ จนนำสู่วิกฤตน้ำมันและการรวมกลุ่มของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน

คลื่นวิกฤตโลกลูกแรกก็ก่อตัวขึ้นในช่วงปี 1973 ถึง 1976 และแพร่ไปทั่วโลก เพื่อแก้วิกฤตเศรษฐกิจหดตัวอย่างแรง World Bank ได้ทำหน้าที่ดึงเงินทุนที่กระจุกอยู่ที่ศูนย์กลางของระบบโลกมาปล่อยกู้ให้ประเทศโลกที่สามเพื่อนำไปสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อย่างเช่น การลงทุนสร้างถนน เขื่อน และไฟฟ้า เพื่อเป็นเงื่อนไขพื้นฐานให้เกิดการลงทุนใหม่ในประเทศโลกที่สาม

แต่การณ์กลับปรากฏว่า สภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย ทำให้การลงทุนไม่ขยายตัวเท่าที่ควร ประเทศโลกที่สามจำนวนมากต้องตกเป็นหนี้สิน จนหลายประเทศต้องประกาศล้มละลาย นำสู่การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกใหญ่ (ระบบโลกรอบ 2) ในช่วงปี 1980 ถึงปี 1984

เพื่อแก้วิกฤตดังกล่าว จึงได้เกิดแนวคิดในการใช้สื่อโฆษณากระตุ้นการบริโภค (นี่คือที่มาของลัทธิบริโภคนิยม)

ที่สำคัญ เนื่องจากประชาชนไม่มีเงินที่จะใช้ในการบริโภค จึงมีการคิดนวัตกรรมทางการเงินใหม่ นี่คือระบบเครดิต (หรือการใช้เงินอนาคต)

กินก่อน จ่ายก่อน ผ่อนทีหลัง

สื่อ (ทีวี วิทยุ และหนังสือพิมพ์) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการปลุกกระแสบริโภคนิยมอย่างสุดๆ

ยุคของสื่อโลกพัฒนาตัวต่อไป ด้วยการคิดค้นเครื่องคอมพิวเตอร์และการเชื่อมต่อสื่อเป็นเครือข่ายทั่วโลก หรือการสร้างระบบสื่อสารไร้พรมแดน

นี่คือ ที่มาของโลกในยุคการสื่อสารไร้พรมแดน และในเวลาเดียวกันระบบการสื่อสารไร้พรมแดนได้ก่อเกิด “การเชื่อมระบบเงินทั่วโลก” เข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน

เงินจึงสามารถสลัดหลุดจากกรอบของประเทศ ไหลจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่งได้โดยมีเวลาเท่ากับศูนย์

ระบบเศรษฐกิจโลกจึงถูกผนวกให้เป็นหนึ่งเดียวทางด้านการเงินและการสื่อสารโดยมีสหรัฐอเมริกา หรือ Wall Street เป็นศูนย์กลาง

นี่คือที่มาของ ‘โลกที่เป็นหนึ่งเดียว’ ในยุคโลกาภิวัตน์

เงินและสื่อไร้พรมแดน ช่วยทำให้อำนาจของบรรษัทยักษ์ข้ามโลกด้านการเงิน ด้านข่าวสาร และวัฒนธรรม สามารถขยายกิจการและขยายเครือข่ายไปที่ไหนก็ได้ในโลก

ที่สำคัญคือ การเกิดขึ้นของตลาดการเงินและการลงทุน (แบบปั่นกำไร) ซึ่งมีเครือข่ายอำนาจและผลประโยชน์ครอบโลก

ถ้าทุนการเงินจากทั่วโลกไหลไปกระจุกที่ตลาดไหน จะเกิดการปั่นกำไร

ด้วยเงินต่อเงิน กำไรขยายตัวไปได้เองอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องไปลงทุนทำการผลิตอีกต่อไป

นี่คือ การอภิวัตน์ทางการเงินและการแสวงหากำไรยุคใหม่ แบบที่เรียกว่า “รวดเร็ว” หรือ “สามารถสร้างความมั่งคั่งแบบติดจรวด” หรือที่เรียกว่า Turbo-accumulation

ความมั่งคั่งนี้ ได้ก่อให้เกิดชนชั้นนำโลกใหม่ เรียกว่าพวก Super–class หรือชนชั้นอภิมหาเศรษฐีโลก ที่เรียกว่า Super-rich

ตลาดเงินไร้พรมแดนโลกดังกล่าวได้กลายเป็นศูนย์ใหม่ของการระดมทุนและการเงินโลกในระดับประเทศด้วย ในเวลาเดียวกัน ตลาดดังกล่าวได้ผนวกตลาดเงินที่เรียกว่า “นอกระบบ” เข้าเป็นส่วนหนึ่งของตลาดเงินโลกด้วย

เงินนอกระบบ ซึ่งมีที่มาจากการค้าอาวุธ การค้ายาเสพติด การพนัน และสิ่งนอกกฎหมายอื่นๆ ก็ไหลเข้าสู่ตลาดเงินโลก

ช่วยทำให้บรรดามาเฟียโลกกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Super-class เมื่อสามารถใช้เงินทำกำไรแบบปั่นกำไรได้ง่าย จำนวนเงินก็หมุนกลับมาขยายกิจการค้ายาเสพติด ค้าผู้หญิง และเปิดแหล่งการพนันขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นทั่วโลก

ยิ่งการสื่อสารไร้พรมแดนและการท่องเที่ยวขยายตัว แหล่งบันเทิงโลก แหล่งยาเสพติดโลก แหล่งการพนันโลก ก็ยิ่งเติบใหญ่

ในเวลาเดียวกัน สื่อสารโลกที่ไร้พรมแดนก็สร้างอาณาจักรสื่อและการบันเทิงโลกขนาดใหญ่ ที่สามารถทำกำไรได้เรียกว่า Entertainment Complex ขึ้น

Entertainment Complex ได้กลายเป็นศูนย์ผลิตวัฒนธรรมเยาวชนของโลกในยุคโลกาภิวัตน์

ทำให้เยาวชนเสพติดการบริโภคนิยม ชอบความรุนแรง ชอบเซ็กซ์ รักสวยรักงาม เสพติดเกม และติดการพนัน

กิเลส ตัณหา การพนัน และความโลภแบบสุดๆ จึงได้กลายเป็นจิตวิญญาณของวัฒนธรรมโลกในยุคโลกาภิวัตน์

กล่าวอย่างสรุป ศูนย์ของระบบเศรษฐกิจโลกประกอบด้วยส่วนที่เป็นใจกลางคือ ตลาดเงินและหุ้น รวมทั้งตลาดสินค้าอนาคต ซึ่งมี Wall Street เป็นศูนย์กลาง โดยมีส่วนประกอบรอบนอกที่สำคัญ 4 ส่วน

ส่วนแรกคือ ตลาดการค้าอาวุธ ค้ายาเสพติด และตลาดการพนัน

ส่วนที่สองคือ ตลาดขายสินค้าทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ขายเกม ภาพยนตร์ ซีดี และการขายความงาม แหล่งกำไรสูงสุดคือศูนย์บันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex)

ส่วนที่สามคือ ตลาดทางการเงินที่เกี่ยวเนื่องกับการประกันภัย ตั้งแต่เรื่องสุขภาพ รถยนต์ และอื่นๆ ทั้งหมด

ส่วนที่สี่คือ บรรดาเงินออมจากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ และที่สำคัญคือจำนวนเงินมหาศาลของภาครัฐ อย่างเช่น จีน และประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ที่ได้จากการเกินดุลการค้า

ตลาดเงินทั้งหมดถูกผนวกเป็นหนึ่งเดียวกัน กลายเป็นศูนย์พลังเงินตราโลกที่สามารถครอบโลก และมีอำนาจเหนือระบบเศรษฐกิจระดับชาติทุกแห่ง และมีอำนาจเหนือตลาดการผลิตจริง

เงินจึงเพิ่มทวีและไร้พรมแดน สามารถทำกำไรแบบปั่นกำไร สร้างกำไรได้แบบอภิมหากำไร หรือที่ผมใช้คำว่า “Turbo-accumulation”

ยิ่งได้มาก และได้มาง่ายๆ นักปั่นกำไรก็ยิ่งโลภและอยากได้มากขึ้นอีก

จิตวิญญาณแห่ง “ความโลภ” และ “ความหลงติด” จึงพัฒนากลายเป็นจิตวิญญาณของระบบโลกาภิวัตน์

พลังแห่งความโลภที่ยิ่งใหญ่กลายเป็นพลังที่ยากจะควบคุมได้ พลังเงินจะหมุนไปทุกที่ที่ทำกำไรได้สูงสุด และปั่นกันอย่างสุดๆ เพื่อทำกำไรจนถึงที่สุด

นี่คือที่มาของเศรษฐกิจแบบฟองสบู่ และได้แปรเปลี่ยนเป็นพลังในการทำลายตัวเอง

ยุคนี้ จึงเป็นยุคที่ความรุ่งเรืองสูงสุดกับหายนะ เป็น 2 ด้านของเหรียญเดียวกัน


ยุคขยาย (หรือรุ่งเรือง) ก็เกิดความมั่งคั่งแบบรวดเร็วและเกินจริง ใครมีเงินมากก็ยิ่งรวยมากขึ้นเรื่อยๆ จนเงินของพวกเขากลายเป็นเพียงตัวเลขในทางบัญชี มากเหลือล้น...จนไม่รู้ว่าจะหามาทำอะไร

พอเศรษฐกิจหายนะ (หรือฟองสบู่แตก) ก็สามารถทำกำไรจากหายนะได้แบบชั่วพริบตา

แต่ช่วงหายนะขนาดใหญ่ก็สามารถ “ทำกำไร” ได้อีก เรียกว่า เข้ามาซื้อของถูก (กิจการทั้งหลายที่ล้มละลาย) ทำให้ระบบผูกขาดความมั่งคั่งในระบบโลก ผนวกตัวและรวมศูนย์ “ความมั่งคั่ง” มากยิ่งขึ้น

ในขณะเดียวกัน บรรดาบรรษัทยักษ์ใหญ่ทางการเงินโลกและทางธุรกิจจะมีฐานะพิเศษ เรียกว่า “Too Big to Fall” วลีๆ นี้หมายความว่า ถึงแม้บรรษัทยักษ์จะล้มละลาย แต่รัฐก็ไม่สามารถปล่อยให้ล้มได้ ก็ต้องขนเงิน (ภาษี) ประชาชนเข้ามาอุ้มไว้อีก

เรียกว่า “ยิ่งกว่าล้มบนฟูก”

ผู้รับกรรม คือ ประเทศและประชาชน ซึ่งต้องตกเป็นหนี้ที่หนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ประชาชนต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น และประเทศอาจจะถึงขั้นที่สามารถล้มละลายได้ทั้งระบบ

พอเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวใหม่ การเทคโอเวอร์ขนาดใหญ่ก็ปรากฏขึ้นอีก และบรรดานักปั่นฟองสบู่ก็เริ่มสร้าง “วีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ใหม่”

เริ่มปั่นกำไรกันใหม่อย่างเมามันอีก

กล่าวอย่างสรุป

ระบบโลกจึงเคลื่อนไปตามวัฏจักรพองและแตก และวัฏจักรแห่ง “ความโลภอย่างยิ่ง” ที่มีแต่เพิ่มขยายความโลภไปเรื่อยๆ การแตกก็จะหนักและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

ในขณะเดียวกัน ระบบการเงินโลกจะพุ่งสู่....ทิศทางของการกระจุกรวมความมั่งคั่งไว้ที่ชนชั้นมหาเศรษฐีโลก ที่ยืนอยู่เหนือกว่าชนชั้นอื่นๆ หรือเรียกว่า Super-class ที่จะรวมศูนย์ความมั่งคั่งมากขึ้น และมากขึ้น

ผลที่ตามมาและหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ระบบโลกจะก้าวสู่สภาวะที่เสียดุลยภาพอย่างยิ่ง

ประการแรก ช่องว่างระหว่างอภิมหาเศรษฐี (Super-class) กับประชาชนทั่วโลกมีแต่ขยายตัวไปเรื่อยๆ และหนักขึ้นเรื่อยๆ

เราพบว่า ประชาชนทั่วโลกนับวันจะมีหนี้สินล้นพ้นตัว และบรรดาประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็จะมีหนี้สินเพิ่มทวีมากขึ้นเรื่อยๆ หลายประเทศเจอสภาวะใกล้จะล้มละลาย

ปัจจุบัน คนที่รวยที่สุดในโลก 2 คนมีรายได้และทรัพย์สินเท่ากับรายได้และทรัพย์สินของประเทศยากจนที่สุด 40 ประเทศรวมกัน

ประการที่สอง การทำลายล้างสิ่งแวดล้อมจะรุนแรงมากขึ้นอย่างมากเพราะการเพิ่มขึ้นของเงิน (ไร้พรมแดน) ที่ขยายตัวได้ด้วยตนเองอย่างมหาศาล มีพลังพลิกขยายเศรษฐกิจโลกอย่างหน้ามือเป็นหลังมือได้

ประการที่สาม วัฒนธรรมโลกกำลังจะเสื่อมโทรมอย่างยิ่ง เพราะอำนาจของสื่อโฆษณาและการแพร่ระบาดของวัฒนธรรมการพนัน การใช้ยาเสพติด ติดเซ็กซ์ และการใช้ความรุนแรง
นี่สะท้อนถึงความเสื่อมทรามของระบบเศรษฐกิจโลก และความเสื่อมทรามทางจิตวิญญาณของผู้คนที่ดำรงชีวิตอยู่ภายใต้ระบบดังกล่าว

คนที่เรียนมาจากศาสตร์ตะวันตกมักจะมองข้ามความสำคัญในแง่จิตวิญญาณ (กิเลส ตัณหา และความโลภ) มักจะหลงคิดและโทษแค่เรื่องของระบบ

พวกเขามักจะคิดกันว่า “ถ้าระบบไม่ดี ก็แก้ได้ด้วยการแก้กฎหมายหรือแก้รัฐธรรมนูญ”

เราลืมไปว่าเรื่อง “จิตวิญญาณที่ติดหลง” และ “ความโลภ” แก้ไม่ได้ด้วยการรื้อปรับเปลี่ยนระบบ

บรรดาอภิมหาเศรษฐี “หลงอำนาจเงินตรา” ที่ฝังรากลึก

ประชาชนติดหลง “บริโภคนิยม” และ “การพนัน” ที่ฝังรากลึก

เยาวชนโลก “ติดเกม ติดเซ็กซ์ ติดความงาม และคลั่งความทันสมัย”

จะแก้ไขได้ ต้องคิด “ปฏิวัติจิตวิญญาณ” ของผู้คนใหม่

กล่าวถึงตอนนี้.....ทำให้ผมคิดถึงคำกล่าวของท่านพุทธทาสที่ว่า

“ถ้าศีลธรรมไม่กลับมา.....โลกาจะวินาศ”

เราจะนำเอา “ธรรมะ” กลับมาสู่โลก มาสู่สังคมได้อย่างไร.....กลายเป็นปัญหาทางยุทธศาสตร์อีกอันหนึ่งที่ต้องช่วยกันคิดค้น (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น