xs
xsm
sm
md
lg

เทแสนล้านทำไฮสปีดเทรน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบแผนปฏิรูปร.ฟ.ท. “อภิสิทธิ์”เน้นเพิ่มมาตรฐาน-ปลอดภัย-รวดเร็ว ตั้งภาคธุรกิจดูแลกิจการ และไฟเขียวกรอบลงทุนรถไฟความเร็วสูงเบื้องต้น 1 แสนล้าน ให้สภาพัฒน์ทำแผน 45 วัน นำร่องเส้นทางกรุงเทพ-จันทบุรีก่อน “กอร์ปศักดิ์”เผยครม.ศก. แค่รับทราบแนวทางตั้งบริษัทลูก ยัน”ซาเล้ง”ต้องหารือกับผู้เกี่ยวข้องก่อนเดินหน้า

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจวานนี้ (11 พ.ย.) มีมติเห็นชอบแนวทางการปฎิรูปการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยจะมีการลงทุนเพื่อปรุบปรุงมาตรฐานความปลอดภัย แก้ปัญหาเรื่องราง หัวรถจักร ระบบอาณัติสัญญาณ ซึ่งจะมีการลงทุนภายใต้แผนปฎิบัติการไทยเข้มแข็ง มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มความเร็วจากปัจจุบัน 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมทั้งมีการลงทุนในเส้นทางใหม่ โดยเฉพาะเส้นทางที่จะเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน คือ เส้นทางบัวใหญ่ มุกดาหาร -นครพนม และเส้นทาง เด่นชัย-เชียงราย นอกจากนี้จะมีการศึกษาการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) กรุงเทพ-ระยอง

ส่วนโครงสร้างร.ฟ.ท. จะให้กระทรวงคมนาคมหารือกับทั้งฝ่ายบริหารร.ฟ.ท.และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การรถไฟแห่งประเทสไทย (สร.รฟท.) เพื่อให้ยอมรับการปรับหน่วยธุรกิจขึ้นมาดูแล ในเรื่องราง การเดินรถ ทรัพย์สิน เพื่อให้มีหน่วยงานที่สามารถบริหารโครงการแอร์พอร์ตลิ้งค์และเปิดให้บริการได้เร็วที่สุด

** สั่งศึกษาไฮสปีดเทรนจันทบุรี

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุมอนุมัติในหลักการแผนการลงทุนของ ร.ฟ.ท. ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อเป็นการลงทุนในอนาคต โดยให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงคมนาคม ไปดำเนินการจัดทำโครงการเพื่อปรับงบประมาณทั้งหมดให้ชัดเจน

โดยเร่งให้กระทรวงคมนาคม ศึกษาการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออก เส้นทาง กรุงเทพ – จันทบุรี วงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท ให้ชัดเจนภายใน 45 วัน เพื่อเสนอครม.ตัดสินใจแผนลงทุนภายในสิ้นปี 2552 นี้ เนื่องจากเห็นว่าเส้นทางระยะสั้นน่าจะก่อสร้างได้เร็วกว่าระยะยาว ขณะที่แผนลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงทั้งหมดมี 4 เส้นทางประกอบด้วย

สายเหนือกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 745 กม.วงเงิน 184,335 ล้านบาท สายตะวันออกเฉียงเหนือ กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะทาง 615 กม.วงเงิน 149,600 ล้านบาท สายตะวันออก กรุงเทพฯ-จันทบุรีระยะทาง 330 กม.วงเงิน 103,320 ล้านบาท และกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 985 กม. วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 271,600 ล้านบาท ส่วนการลงทุนนั้นได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังไปดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุน

"นายกฯเห็นว่า ทั้ง 4 เส้นทางนี้ ยังไม่ใช่โครงการเร่งด่วน จึงขอให้มีการศึกษาความเป็นไปได้สายที่ไปจ.ระยองก่อน เชื่อว่าจะมีนักลงทุนอาศัยเส้นทางนี้มากกว่าขณะที่สายกรุงเทพ- เชียงใหม่ มีผู้ตั้งสังเกตว่า รถไฟความเร็วสูงที่วื่งเพียง 3 ชั่วโมงกว่า 700 กม. หากใช้เครื่องบินอาจจะไปถึงเร็วกว่าเพราะใช้เวลาเพียง 50 นาทีเท่านั้น โดยปกติความเร็วสูงควรจะมีกรอบอยู่ในระยะ 1 ชั่วโมง" นายกอร์ปศักดิ์ กล่าว

**หนุนเชื่อมเส้นทางต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังเห็นชอบในหลักการงบลงทุนโครงการเชื่อมโยงรางรถไฟไปยังสาธารณรัฐประชาชนลาว เส้นทางบัวใหญ่(นครราชสีมา) -นครพนม-หนองคาย วงเงิน 30,000 ล้านบาท

“ในด้านเงินลงทุนนั้นต้องการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนลักษณะความร่วมมือในการลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน หรือ PPP (Public Private Partnership Committee) แต่เห็นว่าโครงสร้างคณะกรรมการที่มีอยู่ทำให้งานล่าช้า จึงต้องเปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมการ เพื่อให้การพิจารณาเดินหน้าอย่างรวดเร็ว จากเดิมผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปลี่ยนมาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มาเป็นเลขาฯ ที่ประชุมแทน”นายกอร์ปศักดิ์กล่าว

**ครม.รับทราบตั้งบริษัทลูก

นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ข้อเสนอการปรับโครงสร้าง ร.ฟ.ท.เช่น การจัดตั้งบริษัทลูก นายกฯรับทราบแนวทางเท่านั้น แต่เข้าใจว่า นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม จะนำไปหารือกับผู้เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งก็น่าจะมีสหภาพฯรฟท.ด้วย ซึ่งในหลักการจะต้องใช้งบประมาณ ซึ่งในระยะ 3-4 ปีคงยาก และคงต้องใช้วิธีการดำเนินการในลักษณะผ่อนส่งระยะยาว เหมือนกับการดำเนินโครงการใหญ่ๆ

ที่ผ่านมาซึ่งกระทรวงการคลังจะรับไปดำเนินการ แต่ในส่วนงบประมาณคงจะต้องเป็นภาระใน 20-30 ปี ขณะที่แหล่งเงินกู้จะเป็นเงินที่อยู่นอกงบประมาณ ซึ่งขณะนี้มีเงินกู้วงเงินประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่อยู่ระหว่างเจรจากับประเทศจีนเพื่อนำมาดำเนินการในระบบรางคาด ว่าในสิ้นปี 2553 จะสามารถดำเนินการได้

“การเปลี่ยนรางรถไฟจากรางขนาด 1 เมตร(METER GAUGE) เป็นขนาด 1.435 เมตร (Standard GAUGE) นั้นต้องใช้ เงินลงทุนกว่า 6-7 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่มากและไม่เหมาะสมในขณะนี้ ที่ประชุมจึงเห็นว่า หากจะดำเนินการขอให้ทำให้รถไฟไม่ให้ตกรางจะดีกว่า ซึ่งสามารถใช้งบในกรอบ 1 แสนล้านบาทนี้ได้ทันที “นายกอร์ปศักดิ์

**วางกรอบแก้ปัญหา 3 ระยะ

อย่างไรก็ตามตามแผนดังกล่าวนั้นจะมีการแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระยะเร่งด่วน ปี 2553 - 2557 ประกอบด้วย งานบูรณะเส้นทางเดิม และงานเพิ่มเติมหัวรถจักร ด้านแผนพัฒนาโครงข่ายทางคู่ ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ระยะ รวม 15 ปี วงเงิน 3.24 แสนล้านบาท โดยระยะเร่งด่วนปี 2553-2557 มี 5 สายทาง วงเงินรวม 66,110 ล้านบาท ระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2558-2562 ระยะทาง 975 กม.วงเงิน 112,900 ล้านบาท และระยะที่ 3 ปี 2563-2567 ระยะทาง 1,247 กม.วงเงิน 145,700 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีแผนการแก้ปัญหาบริหารจัดการด้านทรัพย์สิน และการแก้ปัญหาการบริหารจัดการด้านกฏหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของ ร.ฟ.ท. ที่จะเสนอให้ ครม.เศรษฐกิจพิจารณา
กำลังโหลดความคิดเห็น