xs
xsm
sm
md
lg

พรรคการเมืองใหม่มีฐานคะแนนเสียงเท่าไหร่ !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

มีหลายคนสนใจว่าพรรคการเมืองใหม่ที่ได้ก่อตั้งขึ้นมาอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีความคิดในเชิงอุดมคติทางการเมือง ไม่มีนายทุนใหญ่สนับสนุน ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นกับทุกรัฐบาล จะมีฐานคะแนนเสียงเท่าใดกันแน่?

ก็อาจจะกล่าวได้ว่าฐานคะแนนเสียงของพรรคการเมืองใหม่ ก็คงไม่ใช่กลุ่มคนเสื้อแดง หรือพรรคเพื่อไทย แต่ก็น่าผสมปนเปอยู่กับฐานคะแนนเสียงพรรคประชาธิปัตย์เป็นส่วนใหญ่ และกระจายอยู่ในพรรคการเมืองอื่นๆ บ้างเล็กน้อย

ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าก่อนหน้านี้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ออกมาต่อสู้กับระบอบทักษิณไม่ได้มีพรรคการเมืองของตัวเอง น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญทำให้ฝ่ายระบอบทักษิณมีคะแนนลดลง ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งอยู่ฝั่งตรงกันข้ามมีคะแนนเพิ่มสูงขึ้นในจำนวนคะแนนที่ใกล้เคียงกัน

ปี 2544 คนไทยเลือกพรรคไทยรักไทย 12 ล้านเสียง เลือกพรรคประชาธิปัตย์ 7 ล้านเสียง

ผ่านการทำงานไป 4 ปี คนไทยรู้สึกว่าการทำงานสไตล์นักธุรกิจแบบไทยรักไทย เหนือกว่า ประชาธิปัตย์ เป็นยุคเฟืองฟูที่สูงสุดของพรรคไทยรักไทยจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ

ปี 2548 คนไทยเลือกพรรคไทยรักไทย 19 ล้านเสียง (เพิ่มมา 7 ล้านเสียงจากพรรคอื่นๆที่ไม่ใช่ฐานของพรรคประชาธิปัตย์) และเลือกพรรคประชาธิปัตย์ 7 ล้านเสียงใกล้เคียงของเดิม

ฐานเสียงที่เคยมั่นคงของประชาธิปัตย์มีอยู่ประมาณ 7 ล้านเสียง !

ปี 2549 เกิดปรากฎการณ์สนธิ และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ประชาชนชาวไทยจำนวนหนึ่งเริ่มเปลี่ยนความคิดและรับไม่ได้กับระบอบทักษิณ

2 เมษายน 2549 พรรคไทยรักไทยลงพรรคเดียว ซึ่งการเลือกตั้งเป็นโมฆะผลปรากฏว่า คนไทยเลือกพรรคไทยรักไทย 16 ล้านเสียง (หายไป 3 ล้านเสียง) เลือก No Vote และบัตรเสีย 10 ล้านเสียง (เพิ่มจากฐานของพรรคประชาธิปัตย์มา 3 ล้านเสียงเช่นกัน)

หลังจากนั้นพันธมิตรฯก็ได้เคลื่อนขบวนประท้วงรัฐบาลไทยรักไทยตลอดปีจนมีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ผ่านไปปีเศษมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนธันวาคม 2550

23 ธันวาคม 2550 ปรากฏว่าคนไทยเลือกพรรคพลังประชาชน 13.2 ล้านเสียง (ฝ่ายระบอบทักษิณคะแนนหายไปอีก 2.8 ล้านเสียง) และกลับมาเลือกพรรคประชาธิปัตย์ 12.8 ล้านเสียง (เพิ่มมาอีก 2.8 ล้านเสียงเช่นกัน)

แสดงว่าหลังการเคลื่อนของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปี 2549 – 2550 มีผลทำให้คะแนนเสียงที่เคยเลือกพรรคไทยรักไทยหันกลับมาเลือกพรรคประชาธิปัตย์รวม 5.8 ล้านเสียง และมีความเป็นไปได้สูงที่ 5.8 ล้านคะแนนก็อาจจะเป็นฐานเสียงในพรรคการเมืองใหม่อยู่เป็นส่วนใหญ่ในวันนี้ด้วย

แต่การเคลื่อนไหวในการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2551 ยังไม่มีใครรู้แน่ว่าฐานคะแนนเสียงเปลี่ยนไปมากแค่ไหน ? แต่น่าจะเป็นคุณให้กับพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าพรรคเพื่อไทยในวันนี้

เอแบคโพล ได้สำรวจเพื่อวัดคะแนนความนิยมระหว่าง คุณอภิสิทธิ์ กับ นักโทษชายทักษิณในช่วงระยะ 7 เดือนที่ผ่านมา แม้ว่าหลายคนได้ท้วงติงว่าเป็นการเปรียบเทียบที่ไม่เหมาะสม แต่ก็ยังมีความน่าสนใจให้วิเคราะห์ผลตามตารางดังนี้

วันที่สำรวจอภิสิทธิ์ทักษิณ
(ไม่สนับสนุนรัฐบาล)
ไม่มีความเห็น
 12 มีนาคม 5250.623.625.8
 14 เมษายน 5258.215.925.9
 27 กรกฎาคม 5232.934.033.1
 27 กันยายน 5239.727.133.2
 26 ตุลาคม 5221.625.053.4
 6 พฤศจิกายน 5268.621.110.3


12 มีนาคม 2552 ผลคะแนนนิยมของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอยู่ที่ร้อยละ 50.6 สูงกว่า นักโทษชายทักษิณอยู่ที่ร้อยละ 23.6 ทิ้งขาดกันแบบครึ่งต่อครึ่ง

นายอภิสิทธิ์ถึงจุดความนิยมสูงสุดเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2552 ภายหลังจากคนเสื้อแดงได้พลาดท่าในการชุมนุมเกิดการจราจลทั่วกรุงโดยที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการจนนำบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติได้สำเร็จ

หลังจากนั้นประมาณเดือนเศษ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้มีมติให้ตั้งพรรคการเมืองใหม่ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2552

นิด้าโพล สำรวจเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ในขณะที่ยังไม่มีหัวหน้าพรรคและนโยบายของพรรคการเมืองใหม่ ผลสำรวจสรุปว่าประชาชาส่วนมากร้อยละ 56.9 ยังไม่ปักใจเลือกพรรคการเมืองใดเป็นทางเลือกหลักในการเลือกตั้งหากจะมีขึ้นในครั้งต่อไป โดยพรรคการเมืองที่มีสัดส่วนผู้ที่ปักใจเลือกแล้วมากที่สุด คือ พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 25.8 รองลงมาคือพรรคเพื่อไทยมีสัดส่วนร้อยละ 10.1 และรองลงมาอีกคือพรรคการเมืองใหม่ของกลุ่มพันธมิตรฯมีสัดส่วนร้อยละ 5.2

ผลสำรวจครั้งนั้นสะท้อนให้เห็นว่าคะแนนความนิยมของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะที่ห่างจากนักโทษชายทักษิณ มีความสัมพันธ์กันกับการลงคะแนนของพรรคประชาธิปัตย์ที่ห่างกันกับพรรคเพื่อไทยชนิดครึ่งต่อครึ่งเช่นกัน และอนุมานเบื้องต้นได้ว่า พฤษภาคม 2552 พรรคการเมืองใหม่มีฐานเริ่มต้นที่ประมาณ 2.2 ล้านคะแนน

รังสิตโพล มาสำรวจอีกครั้งเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 6-12 มิถุนายน 2552

ให้ประชาชนตอบคำถามว่าพรรคการเมืองพรรคใดจะชนะการเลือกตั้ง ส่วนใหญ่ไม่แน่ใจ/ไม่ออกความเห็นร้อยละ 27.64, พรรคเพื่อไทยร้อยละ 25.05, พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 22.60, พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 10.08, พรรคการเมืองใหม่ ร้อยละ 8.45, และพรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 6.17

พรรคประชาธิปัตย์คะแนนนิยมหายไปร้อยละ 3.2 จนลดลงต่ำกว่าพรรคเพื่อไทยซึ่งมีคะแนนเพิ่มขึ้น ส่วนพรรคการเมืองใหม่กลับเพิ่มขึ้นมาอีกร้อยละ 3.2 ตรงกันข้าม “ในสัดส่วนเดียวกัน” กับการลดลงของพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นถึงเดือนมิถุนายนพรรคการเมืองใหม่น่าจะมีฐานเสียงเพิ่มเป็น 3.6 ล้านคะแนนเป็นอย่างน้อย

26 ตุลาคม 2552 เอแบคโพลล์สำรวจความนิยมพบว่า นายอภิสิทธิ์ คะแนนนิยมตกลงเหลือร้อยละ 21.6 นักโทษชายทักษิณก็คะแนนตกลงเหลือ 25.0 ในขณะที่ไม่มีความเห็นที่จะนิยมสองคนนี้เพิ่มขึ้นกลายเป็นร้อยละ 53.4

คนไทยส่วนใหญ่จะไม่แสดงความคิดเห็นในผลสำรวจโดยเฉลี่ยร้อยละ 25 การที่มีคนไม่แสดงความเห็นถึงร้อยละ 53.4 และความนิยมในตัวนายอภิสิทธิ์ลดลงต่ำกว่าครึ่งหนึ่งจากที่เคยได้ โดยที่ไม่เพิ่มในฝ่ายนักโทษชายทักษิณ ย่อมแสดงว่าคะแนนเสียงเริ่มเปลี่ยนอย่างมีนัยยะสำคัญตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมา

ปัจจัยตัวบุคคลอาจมีผลต่อการสำรวจปลายเดือนตุลาคม 2552 เพราะประชาชนได้รับทราบว่านายสนธิ ลิ้มทองกุลเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่แล้ว ซึ่งหากดูผลสำรวจของ นิด้าโพล เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 มีประชาชนทั่วประเทศเห็นด้วยให้นายสนธิ ลิ้มทองกุลเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ประมาณร้อยละ 26.5

ประเมินจากผลที่ปรากฏข้างต้น ถ้าผลสำรวจข้างต้นถูกต้องแม่นยำทั้งหมด แม้วันนั้นจะยังไม่ออกนโยบายและยังไม่มีผู้สมัคร ก็มีแนวโน้มาว่าวันที่ 6 ตุลาคม 2552 พรรคการเมืองใหม่น่าจะมีฐานเสียงประมาณ 4.5 – 5 ล้านคะแนน เป็นอย่างน้อย


แต่เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 หลังจากที่นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร รับการโปรดเกล้าฯจากกษัตริย์กัมพูชาให้เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของกัมพูชา และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ใช้ความกล้าหาญในการปรับความสัมพันธ์ทางการฑูตกับกัมพูชาตามที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เคยเรียกร้องมาโดยตลอด คะแนนความนิยมก็พลิกผันอีกครั้งหนึ่ง

ความนิยมของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปรับตัวสูงขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว จากร้อยละ 23.3 ในเดือนกันยายน 2552 มาเป็นร้อยละ 68.6 ในการสำรวจครั้งล่าสุด

ผลคะแนนดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อฐานคะแนนเสียงของพรรคการเมืองใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็เป็นการกระทบที่คุ้มค่าเพราะได้สร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนทั่วไปซึ่งรวมถึงพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยด้วย

ขอเพียงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รักษาความกล้าหาญอย่างต่อเนื่องและมั่นคง คะแนนนิยมก็ไม่น่าจะแผ่วลงเหมือนหลังเดือนเมษายน 2552 ที่ผ่านมา!

กำลังโหลดความคิดเห็น