xs
xsm
sm
md
lg

เปิดบันทึก “เทพเทือก” ยกธรรมาสน์ขึงพืด “เนวิน-สุชาติ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุเทพ เทือกสุบรรณ
9 พ.ค. 2539 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะนั้นทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านได้ลึกขึ้นอภิปรายครั้งสำคัญในกรณีความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นกับ “ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ” หรือบีบีซี โดยพุ่งเป้าไปที่ 2 บุคคลสำคัญแห่งกลุ่ม 16 คือ “นายเนวิน ชิดชอบ” ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และ “นายสุชาติ ตันเจริญ” ขณะนั้นดำรงตำแหน่ง “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย”

แต่วันนี้ วันที่นายราเกซ สักเสนา ถูกหิ้วปีกจากแคนาดามาเข้าคุกเมืองไทยเพื่อรับผลกรรมที่ทำปู้ยี้ปู้ยำไว้กับแบงก์บีบีซี นายสุเทพกำลังจูบปากอย่างเมามันกับ2 คู่กรณีเก่าอย่าง “ยี้ห้อย” และ “พ่อมดดำ” 2 แกนนำผู้มีอำนาจที่แท้จริงในพรรคภูมิใจไทย

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ขอย้อนกลับไปนำคำอภิปรายส่วนหนึ่งของนายสุเทพในครั้งนั้นมาให้ได้อ่านกันอีกครั้ง

“ขณะนี้กำลังเกิดเหตุเภทภัยอย่างร้ายแรงต่ระบบการเงิน การคลังและธุรกิจการค้าของประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่งต่อประเทศชาติโดยส่วนรวม...ความหายนะที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพราะมีรัฐมนตรีในรัฐบาลนี้ร่วมสมคบกับผู้บริหารธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด ทำการฉ้อฉลเงินของประชาชนกันอย่างเอิกเกริกมโหฬาร รัฐมนตรีที่ทำการฉ้อฉลประชาชนอยู่ในขณะนี้คือ รัฐมนตรีกลุ่ม 16 ที่มีนายสุชาติ ตันเจริญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและนายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกรทะรวงการคลังเป็นหัวโจก รวมทั้งรัฐมนตรีคนอื่นในกลุ่ม 16 ...รัฐมนตรีกลุ่ม 16 นี้ได้ใช้ฐานะหน้าที่อิทธิพลในทางการเมืองร่วมสมคบกับผู้บริหารธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด ฉ้อฉลเงินของผู้ถือหุ้นธนาคาร ฉ้อฉลเงินฝากของประชาชนที่อยู่ในธนาคารนี้ แล้วยึดเอาเงินเหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ส่วนตนแสวงหากำไร มาแบ่งปันกันอย่างแยบยล ทำกันอย่างเป็นขบวนการ ทำติดต่อกันมาเป็นปี เงินส่วนนี้บางส่วนได้เอาไปใช้ในการซื้อคะแนนเสียงให้ได้มาเป็นผู้แทนราษฎร จจนได้มาเป็นรัฐมนตรี แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตากอบโกยกันต่อไป”

“คนแรกที่ผมจะต้องพูดถึงคือ นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด คนที่ 2 คือนายเอกชัย อธิคมนันทะ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษานายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก รู้กันทั้งกระทรวงการคลัง คนที่ 3 ที่กระผมจะต้องเอยชื่อถึงคือ นายราเกซ สักเสนา ที่ปรึกษาของกรรมการผู้จัดการใหญ่...คนเหล่านี้เขาทำกันโดยไปจดทะเบียนตั้งบริษัทขึ้นตามที่ต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ อาศัยชื่อบริษัทนิติบุคคลเหล่านี้ไปกว้านซื้อที่ดินในจังหวัดต่างๆ เป็นที่ดินที่พวกเหล่านี้ไม่ได้ลงทุนเลย ไปเบิกเงินโอดีมาจากธนาคารแล้วเอาที่ดินนั้นไปออกเอกสารสิทธิ จากนั้นก็นำ น.ส.3นั้นไปให้บริษัทประเมินราคาหลักทรัพย์ ทำการตีราคาประเมินหลักทรัพย์ แล้วเอามาทำโครงการกู้เงินธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด อีกรอบหนึ่ง เงินกู้ที่ได้มาก็ถูกเอาไปใช้ในตลาดหลักทรัพย์ ไปเลือกเอาบริษัทที่กิจการไม่ค่อยจะสู้ดี ซื้อหุ้นบริษัทเหล่านั้น เทคโอเวอร์เข้าครอบงำกิจการของบริษัทเหล่านั้นทั้งๆ ที่คนในคลาดหลักทรัพย์ทั้งหลาย นักเล่นหุ้นทั้งหลายเขารู้ว่า หุ้นเหล่านี้เป็นหุ้นเน่า หุ้นที่ไม่มีราคา หุ้นที่ไม่มีผลประกอบการดี... แล้วก็ซื้อขายโยนกันไปมาในหมู่คนพวกเดียวกัน”

“การที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ โดยผู้บริหารชุดนี้ปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มบุคคล คณะบุคคลกู้เพื่อไปเทคโอเวอร์นั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำหนังสือตักเตือนครั้งแล้วครั้งเล่าว่า อย่าทำเพราะเรื่องนี้เสี่ยง และจะเป็นอันตรายกับธนาคาร....รายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยบอกเลยครับว่า กิจการที่เอาไปครอบงำซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้นทั้งหมด 39,592 ล้านบาท ในจำนวนนี้ที่ปล่อยในหมู่พวกเดียวกัน 39,592 ล้านบาท ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบแล้วบอกว่า เป็นหนี้เสีย เป็นหนี้ด้อยคุณภาพ 24,653 ล้านบาท ….คนพวกนี้ ผู้บริหารธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การทำความเสียหายให้กับธนาคาร เวลาเขาไปตรวจสอบก็ทำการตกแต่งบัญชี้หนี้ เอาไปซ่อนเอาไว้ในเงินลงทุนต่างประเทศ แล้วทำการบันทึกบัญชีชนิดที่เรียกว่า ไม่เป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองโดยทั่วไป”

“จากหนังสือของธนาคารแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 22 ก.พ. 2539 ที่ ธปท.นป.354/2539 เรื่องธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด(มหาชน) ให้สินเชื่อและก่อภาระหนี้ผูกพันแก่ลูกหนี้นักการเมืองกลุ่ม 16 เพราะฉะนั้น คำว่าลูกหนี้ที่เป็นนักการเมืองกลุ่ม 16 นี้ไม่ใช่คำศัพท์ที่ผมเขียนเอาเอง แล้วเป็นครั้งแรกที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเขียนรายงาน โดยระบุถึงนักการเมืองกลุ่ม 16 อย่างชัดเจนว่า นักการเมืองกลุ่ม 16 นี้ได้เอาเงินไปจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การทั้งหมด 7,833 ล้านบาท หนังสือฉบับนี้ได้แยกแยะแจกแจงออกเป็นกลุ่มๆ หมายเลข 1 คือกลุ่มตันเจริญ กลุ่มที่ 2 เขาบอกว่ากลุ่มหาญสวัสดิ์ กลุ่มที่ 3 ที่เขาระบุคือกลุ่มชิดชอบ”

“หัวโจกเลยนะครับคือคุณสุชาติ ตันเจริญ เอาไปทั้งสิ้น 4,020 ล้านบาท มีบัญชีแสดงรายการออกมาชัดเจนว่า ใน 4,020 ล้านบาท เป็นเงินกู้เบิกเกินบัญชีเท่าไร เป็นตั๋วอาวัลเท่าไร เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินเท่าไร ...เงินกู้ทั้งหมดนี้อนุมัติโดยกรรมการผู้จัดการใหญ่และเป็นการอนุมัติเกินอำนาจทั้งสิ้น....นี่ครับ บ.ซีลาร์ อินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์วิส กู้ไป 867 ล้านบาท เอาที่ดิน น.ส.3ก. จ.หนองคาย อ.พรเจริญ อ.โซ่พิสัย 23,787 ไร่ 2 งาน กับ 65 ตารางวา มาเป็นหลักประกัน ตีราคาประเมินไร่ละ 20,000 บาท แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่าตีเกินจริง 10 เท่า...นายสุชาติปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวกับบ.ซีลาร์ แต่ในรานงานของธนาคารแห่งประเทศไทยบอกเลยว่า นายสุชาต ตันเจริญ ถือหุ้นในบ.ซีลาร์ ร้อยละ 55 เกินครึ่งของหุ้นทั้งหมด แล้วผู้ถือหุ้นคนอื่นกรรมการคนอื่นก็ระบุชื่อเลย นายวิเชียร ตันเจริญ นางสุภา ตันเจริญ นางมะไข่ ซอ นายเฉลิมชัย ตันเจริญ นางสุธาทิพย์ ตันเจริญ บ.ซีลาร์นี้จดทะเลียน 11 ล้านบาทเท่านั้นเอง แต่กู้เงินธนาคารได้ 867 ล้านบาท จากรายงานยังทำให้ผมได้ทราบว่า นายสุชาติ ตันเจริญยังโกหกอีกเรื่องหนึ่งคือ ที่ดินบางส่วนที่เป็นของ บ.วินิเวศ นายสุชาติบอกว่าไม่เกี่ยว แต่ปรากฏหลักฐานอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่า บ.วินิเวศที่เป็นเจ้าของที่ดินที่มี น.ส.3 ที่มีปัญหา คนในตระกูลตันเจริญถือหุ้น 78.33%”

“แล้วทีเด็ดครับท่านประธาน คนที่ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การท่านกรุณาผมเอามาให้ผมเป็นหลักฐาน หลักฐานนี้แสดงว่า เวลาบริษัทวินิเวศจะติดต่อกับธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์กาในการกู้เงินนั้น นายสุชาติเป็นคนเจรจา นายวันชัย ธรรมฐิติวัฒน์ รองประธานอาวุโสฝ่ายสำนักบริหารเงินและวาณิชย์ธนกิจของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การทำถึงนายสุชาติ ขึ้นต้นเลยว่า คุณสุชาติ ตันเจริญ วินิเวศ คอมพานี ลิมิเต็ด....สาระสำคัญมีอยู่ว่า ตามที่คุณสุชาติ ตันเจริญไปติดต่อกับ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด เพื่อให้ธนาคารจัดหาเงินให้ 300 ล้านบาทเพื่อเอาเงินไปซื้อหุ้น บ.เทคโนโลยี แอพลิเคชั่น จำนวน 14,148,400 หุ้น หรือเท่ากับร้อยละ 26.26 นั้น ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การตกลงเอาเงิน 300 ล้านบาทนี้ให้ แล้วก็บอกมาเงื่อนไขท้ายจดหมายว่า ขอให้คุณสุชาติลงนามในหนังสือแต่งตั้งให้ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน จัดหาเงินก้อนนี้ หนังสือมาถึงคุณสุชาติทุกอย่างพูดถึงคุณสุชาติหมด แต่เวลาลงนามลงว่า วิเชียร ตันเจริญ

“มีหลักฐานอีกว่า บริษัทท่ายาง คอนซูเมอร์ จำกัด กู้เงินธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การไป 230 ล้านโดยไม่มีหลักฐานค้ำประกัน ใช้บุคคลค้ำประกัน คุณสุชาติเป็นคนค้ำประกันเอง แล้วไม่ใช่ค้ำประกันคนเดียวครับ ค้ำประกันร่วมกับกรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ นายเอกชัย อธิคมนันทะ ที่ปรึกษาของรัฐมนตรีเนวิน ชิดชอบ...ผมไม่เคยรู้เลยในชีวิตว่า เราสามารถเดินไปกู้เงินธนาคารไหนโดยไม่มีหลักทรัพย์ แล้วไปขอให้กรรมการธนาคารเขาช่วยเซ็นค้ำประกันให้”

“จากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับนี้ ผมก็ได้รู้อีกว่า คุณเนวินก็โกหกประชาชนเหมือนกัน พอมีเรื่องขึ้นมา เรื่องมะไข่ ซอ เรื่องบีบีซี เรื่องนักการเมืองที่เป็นรัฐมนตรีกลุ่ม 16 ไปกู้เงินธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ คุณเนวินออกมาปฏิเสธว่า คุณเนวินไม่เคยขอกู้เงินธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ เมื่อสักครู่ผมเรียนท่านประธานแล้ว เขายืนยันว่า นายเนวิน ชิดชอบและคนอื่นๆ ร่วมกันเป็นหนี้ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การอยู่ 3,120 ล้านบาท”

“ผมอยากจะกราบเรียนท่านประธานว่า การที่เอาเงินของธนาคารมาถลุงกันอย่างนี้โดยที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยที่เอาที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์แล้วใช้อิทธิพลมาออกเอกสารสิทธิ์แล้วมาตีราคาแพงตั้ง 17-18 เท่า ไปกู้เงินะนาคารแล้วเอาไปซื้อหุ้นเน่าๆ ในตลาดหลักทรัพย์แล้วขายโยนกันไปกันมาระหว่างพวกเดียวกัน ชาวบ้านเขาเดือนร้อนด้วยครับ เวลาเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทเหล่นั้น เอิร์ธ อินดัสเตรียล มรกต อินดัสตี้ นายราเกซขายให้กลุ่มของรัฐมนตรีกลุ่ม 16 กลุ่มรัฐมนตรีกลุ่ม 16 ขายให้อัดนัน คาชอคกี มันเกี่ยวกันหมดเลย...ผมยังนึกชื่นชมคุณเนวินเลยว่ายอด วางแผนเฉียบขาดตามรอยยาก...ผมขออนุญาตกราบเรียนกับท่านประธานเพื่อได้โปรดทราบว่า ที่ 7,833 ล้านบาทที่รัฐมนตรีกลุ่ม 16 เอาไปจากธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การนั้น มีหลักทรัพย์ที่ตีราคาประเมินราคาแพงเป็นสิบๆ เท่าไว้แล้วนี้มีหลักทรัพย์เพียง 3,479 ล้านบาท หลักทรัพย์ขาดอยู่ 4,039 ล้านบาท พูดง่ายๆ คือว่ากู้เงินไปเกือบ 8,000 ล้านบาท หลักทรัพย์มีไม่ถึงครึ่ง”

“ท่านประธานครับ การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเอาเงินกองทุนฟื้นฟูเข้าไปอุ้มธนาคารกรุงเทพฯ ที่เพิ่งเพิ่มทุนไป 5,000 ล้านบาท นั่นเงินของประชาชน ประชาชนพลอยต้องบริจาคโดยไม่เต็มใจ...ผมอยากเห็นว่ามีการดำเนินการสอบสวนลงโทษคนที่เกี่ยวข้องที่ทำความผิดเรื่องนี้ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ผมว่าต้องปลดแล้ววันนี้ต้องปลดแล้ว”

ตัวตนของกลุ่ม 16 ยุคปัจจุบัน

พรรคเพื่อไทย
1.นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์
2.นายชูชาติ หาญสวัสดิ์
3.นายวราเทพ รัตนากร
4.พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ
5.นายอุดมเดช รัตนเสถียร
6.นายอิทธิ ศริลัทธยากร
7.นายประวัฒน์ อุตตะโมต
8.นายธานี ยี่สาร
9.นายจำลอง ครุฑขุนทด
10.นายเฉลิมชัย อุฬารกุล

พรรคภูมิใจไทย
1.นายเนวิน ชิดชอบ
2.นายสนธยา คุณปลื้ม
3.นายวิทยา คุณปลื้ม
4.นายสรอรรถ กลิ่นประทุม
5.นายทรงศักดิ์ ทองศรี
6.นายสุชาติ ตันเจริญ
7.ร.ต.หญิงพนิดา เกษมมงคล

พรรคเพื่อแผ่นดิน
1.ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี
2.นายเกษม รุ่งธนเกียรติ

ไม่มีสังกัด
1.นายบรรจง โฆษิตจิรนันท์
2.นายยิ่งยศ อรุณเวสสะเศรษฐ

ตามล่าขุมทรัพย์ “ราเกรซ”


จากการที่ “นายราเกซ” คือที่ปรึกษาที่ “เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์” ให้ความไว้วางใจ ทำให้เขามีทรัพย์สมบัติมากมายจากการทำธุรกรรมการทางการเงินในช่วงยุคมืดของแบงก์บีบีซี กระทั่งเมื่อนายราเกซถูกดำเนินคดี ได้ส่งผลทำให้มีการตามล่าอายัดทรัพย์สินของนายราเกซทั่วทุกมุมโลกเอาไว้เป็นจำนวนมหาศาล

ทั้งนี้ อัยการได้ยื่นฟ้องคดีทุจริตบีบีซีทั้งสิ้น 29 คดี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 4.5 หมื่นล้านบาท โดย 23 คดี ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้แจ้งความอีก ส่วนที่เหลืออีก 6 คดี ทางบีบีซีเป็นผู้แจ้งความเอง ในจำนวนนี้อยู่ในศาลชั้นต้น 15 คดีและศาลอุทธรณ์ 14 คดี

สำหรับการอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับนายราเกซนั้น ก่อนหน้านี้สำนักงานอัยการสูงสุดได้อายัดทรัพย์สินของนายราเกซกับพวกไว้ในหมู่เกาะเกิร์นซีย์ ใกล้ประเทศอังกฤษ มูลค่า 6.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, ในสหราชอาณาจักรมูลค่า 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยทรัพย์สินที่ติดตามได้กลับคืนสู่ประเทศไทยแล้วคือ ทรัพย์สินส่วนที่อัยการสั่งอายัดในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ 42 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,428 ล้านบาท คงเหลือทรัพย์สินที่ทางการสวิสยังอายัดไว้อีกประมาณ 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 408 ล้านบาท

ส่วนจะมีการอายัดอะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่นั้น คงต้องติดตามกันต่อไป

เนวิน ชิดชอบ - สุชาติ ตันเจริญ
ไพโรจน์ สุวรรณฉวี - ธานี ยี่สาร
สนธยา คุณปลื้ม - สมพงษ์ อมรวิวัฒน์
กำลังโหลดความคิดเห็น