xs
xsm
sm
md
lg

“ทักษิณ-ฮุนเซน” สัมพันธ์พิเศษ ต่างตอบแทน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แทบไม่น่าเชื่อว่าคนที่เคยเป็นศัตรูกันในอดีต ระหว่าง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย กับ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชาในปัจจุบัน จะหักมุมพลิกกลับมามีความสัมพันธ์กันแบบเพื่อนในลักษณะ “พิเศษ” ที่ต้องพึ่งพาอาศัยกันเช่นทุกวันนี้

ที่สำคัญเป็นความสัมพันธ์ที่เลือกเอาเรื่องส่วนตัวมาก่อนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ล่าสุด ทักษิณ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นทั้งที่ปรึกษาส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาและที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา จนทำให้คาดเดาว่าในอนาคตอันไกล้นี้จะได้เห็นนโยบายประชานิยมผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็น เช่น หวยบนดิน หรือแนวคิด “อยากรวยต้องเป็นหนี้ก่อน” ฯลฯ เกิดขึ้นที่นั่นก็เป็นได้

หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณกว่า 20 ปีก่อน ในราวปี 2532 เมื่อครั้งที่ ทักษิณ ไปทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือและการสื่อสารในประเทศกัมพูชาในชื่อ “บริษัทไอบีซีแคมโบเดีย” ที่ดำเนินการโดยกลุ่ม “ชินวัตร” สามารถทำสัญญาผูกขาดคลื่นสัญญาณ ผูกขาดเครื่องโทรศัพท์และได้สัมปทานโทรทัศน์และวิทยุ เป็นเวลานานถึง 99 ปี

ต่อมาในราวปี 2536-37 รัฐบาลกัมพูชาขณะนั้นเป็นรัฐบาลผสมสองพรรคใหญ่คือ พรรคฟุนซินเปกและพรรคประชาชนกัมพูชา มีนายกรัฐมนตรีร่วมสองคนคือ เจ้านโรดม รณฤทธิ์ และฮุนเซน เริ่มถูกโจมตีในเรื่องการขายทรัพยากรให้ต่างชาติเข้ามาผูกขาด ทำให้ ฮุนเซน ซึ่งถือว่ามีอำนาจมากที่สุดได้ลดอายุสัมปทานลงมาเหลือ 30 ปี และเปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติรายอื่นๆเข้าไปทำธุรกิจแข่งขันด้วย

การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้กับ ทักษิณ เป็นอย่างมาก และนำไปสู่ข้อกล่าวหาที่ว่า ทักษิณ ได้ทุ่มเงินจ้าง นายพลสินสอง ของกัมพูชา พร้อมคนไทยอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งในจำนวนนั้นมี พ.ต.ท.อดุลย์ บุญเสรฐ อดีต ส.ส.พิจิตร พรรคความหวังใหม่ ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ สมคบคิดกันก่อรัฐประหารยึดอำนาจฮุนเซน แต่ปฏิบัติการล้มเหลว จน นายพลสินสองต้องหลบหนีมากบดานในไทยอยู่พักหนึ่ง

กรณีที่เกิดขึ้นดังกล่าวในอดีตแทบไม่น่าเชื่อว่าคนทั้งสองคนคือ ทักษิณ กับฮุนเซน จะมาญาติดีกันได้ดังเช่นในปัจจุบัน

ขณะเดียวกันหากดูจากลักษณะนิสัยของ ฮุนเซน ที่ขึ้นชื่อในเรื่องการใช้อำนาจแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว ขณะที่ทักษิณ ชอบลงทุนในลักษณะผูกขาดในธุรกิจที่ได้กำไรมหาศาล ซึ่งก็มีธุรกิจด้านพลังงานที่มีอยู่จำนวนมากในเขตกัมพูชารวมทั้งเขตพื้นที่ทับซ้อนกับไทย ซึ่งก่อนหน้านี้เขาได้เจรจาไปแล้วหลายรอบเมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ไม่ทันสำเร็จจนกระทั่งถูกรัฐประหารยึดอำนาจจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เสียก่อน

ว่ากันว่าการตัดสินใจขายหุ้นชินคอร์ปจำนวน 7.6 หมื่นล้านบาทก็เพื่อนำไปลงทุนด้านพลังงานนี่แหละ

ดังนั้นเมื่อพิจารณาความเป็นมาของบุคคลทั้งสองแล้วจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทำให้เปลี่ยนฐานะจากศัตรูกลายเป็นมิตร ขณะเดียวกันฐานะที่เปลี่ยนไปจะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไข “ผลประโยชน์” ที่คุ้มค่าหรือเปล่าเท่านั้น !!
กำลังโหลดความคิดเห็น