ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – กลุ่มนักธุรกิจไม้ยางไทย-มาเลเซียร่วมหารือพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปไม้ยางพาราร่วม 2 ชาติเสนอตั้ง Free Trade Zone ดึงนักลงทุนพัฒนาการค้าชายแดน นายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราเผยเสนอให้รัฐแก้ พ.ร.บ.ป่าไม้ ปี 2484 ปลดแอกข้อจำกัดอุตสาหกรรมไทย และหนุนตัดหน้าใช้สงขลาเป็นฐานการลงทุน เชื่อสามารถเพิ่มมูลค่าได้แบบก้าวกระโดดเป็น 200,000 ล้านบาทได้อย่างแน่นอน
วานนี้ ( 5 พ.ย. ) กลุ่มอุตสาหกรรมไม้ยางไทย-มาเลเซีย ร่วมหารือส่งเสริมความร่วมมือตลาดไม้ยางพารา “RUBBERWOOD AND ITS MARKET CHALLENGER” ที่ ห้องเก้าแสน ชั้น 9 โรงแรมลีการ์เด้นพลาซ่าหาดใหญ่ จ. สงขลา
นายสุทิน พรชัยสุรีย์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพารา เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมไม้ยางพาราไทยมีมูลค่าปีละไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท โดยกลุ่มแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์มีมูลค่าสูงสุดเกือบ 20,000 ล้านบาท/ปี และยังมีอนาคตสดใสหากรัฐบาลให้การสนับสนุนและไม่มองธุรกิจนี้ จากการหารือระหว่าง 2 ประเทศในครั้งนี้ เห็นควรว่าจะต้องให้ภาครัฐหันมาพัฒนาธุรกิจการค้าไม้ยางพาราชายแดนเพิ่มขึ้น ภายใต้ข้อเสนอตั้ง Free Trade Zone เป็นศูนย์กลางให้นักลงทุนนำสินค้าและวัตถุดิบมาแปรรูปไม้ยางเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งแนวคิดนี้ได้เกิดขึ้นในพื้นที่เศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็น ฮ่องกง สิงค์โปร จีน หรือแม้กระทั่ง ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
สำหรับการเกิดขึ้นของ Free Trade Zone เป็นเรื่องของแต่ละประเทศที่จะช่วงชิงความได้เปรียบ ซึ่งหากฝ่ายใดดำเนินการได้ก่อนก็จะดึงดูดนักลงทุนเข้าไปดำเนินธุรกิจทันที และในส่วนของฝ่ายไทยนั้นตนได้ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้แนะนำพื้นที่ Free Trade Zone ขนาดเล็กที่สุด 500 ไร่ โดยมีพื้นที่เหมาะสมทั้งแนวชายแดนทั้งใน อ.สะเดา และหาดใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่ใหม่ หรือพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมฉลุงก็ได้
นายสุทิน กล่าวต่อว่า ประเด็นหลักว่าจะเกิด Free Trade Zone ในฝั่งไทยได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนที่จริงจังของภาครัฐ ทั้งการแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องและเอื้อต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ซึ่งควบคุมการแปรรูปไม้ทุกชนิด ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจด้วยมีความยุ่งยาก แม้ว่าไม้ที่เป็นวัตถุดิบจะเป็นไม้ยางที่มีการปลูกขึ้นก็ตาม ตลอดจนการให้สิทธิพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนในด้านภาษี และการอำนวยความสะดวก
“จุดแข็งของเรานั้นเป็นประเทศที่มีการผลิตไม้ยางอันดับ 1 ของโลก ค่าแรงและที่ดินถูก หากสามารถผลักดันให้เกิดการเป็นศูนย์กลางการลงทุนได้แล้ว เชื่อว่าจะทำให้รายได้จากอุตสาหกรรมไม้ยางไทยโตแบบก้าวกระโดดขึ้นเป็น 4 เท่าตัว หรือกว่า 200,000 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมปลายน้ำเกิดขึ้น เช่น งานแกะสลักไม้ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าได้อีก 2-3 เท่าตัว และยังผลักดันให้ธุรกิจใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เติบโตขึ้นอัตโนมัต” นายสุทินกล่าว
ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะผลิตไม้ยางพาราได้เป็นอันดับ 1 ทว่าประเทศมาเลเซียที่มีพื้นที่การปลูกน้อย แต่ก็สามารถพัฒนาตัวเป็นผู้ส่งออกได้มากกว่าไทย โดยปี 2551 ทำรายได้ส่งออก 22.79 พันล้านริงกิต หรือประมาณ 227,900 ล้านบาท โดยมีมูลค่าตลาดภายในประเทศ 7.6 พันล้านริงกิต และมีการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ 1.151 พันล้านริงกิต เกิดการจ้างงานกว่า 300,000 คน โดยนำเข้าวัตถุดิบมาจากไทย อินโดนีเซีย มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ