xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ไม้ยาง” จี้รัฐตั้งฟรีเทรดโซนที่สงขลาดันยอดส่งออกกระฉูด 2 แสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุทิน พรชัยสุรีย์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพารา
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – กลุ่มนักธุรกิจไม้ยางไทย-มาเลเซีย ร่วมหารือพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปไม้ยางพาราร่วม 2 ชาติเสนอตั้ง Free Trade Zone ดึงนักลงทุนพัฒนาการค้าชายแดน นายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราเผยเสนอให้รัฐแก้ พ.ร.บ.ป่าไม้ ปี 2484 ปลดแอกข้อจำกัดอุตสาหกรรมไทย และหนุนตัดหน้าใช้สงขลาเป็นฐานการลงทุน เชื่อสามารถเพิ่มมูลค่าได้แบบก้าวกระโดดเป็น 200,000 ล้านบาทได้อย่างแน่นอน

วันนี้ (5 พ.ย.) กลุ่มอุตสาหกรรมไม้ยางไทย-มาเลเซีย ร่วมหารือส่งเสริมความร่วมมือตลาดไม้ยางพารา “RUBBERWOOD AND ITS MARKET CHALLENGER” ห้องเก้าแสน ชั้น 9 โรงแรมลีการ์เด้นพลาซ่าหาดใหญ่ จ.สงขลา

นายสุทิน พรชัยสุรีย์ นายกสมาคมธุรกิจไม้ยางพารา เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมไม้ยางพาราไทยมีมูลค่าปีละไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท โดยกลุ่มแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ มีมูลค่าสูงสุดเกือบ 20,000 ล้านบาท/ปี และยังมีอนาคตสดใสหากรัฐบาลให้การสนับสนุนและไม่มองธุรกิจนี้ จากการหารือระหว่าง 2 ประเทศในครั้งนี้ เห็นควรว่าจะต้องให้ภาครัฐหันมาพัฒนาธุรกิจการค้าไม้ยางพาราชายแดนเพิ่มขึ้น ภายใต้ข้อเสนอตั้ง Free Trade Zone เป็นศูนย์กลางให้นักลงทุนนำสินค้าและวัตถุดิบมาแปรรูปไม้ยางเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งแนวคิดนี้ได้เกิดขึ้นในพื้นที่เศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น ฮ่องกง สิงคโปร์ จีน หรือแม้กระทั่ง ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

สำหรับการเกิดขึ้นของ Free Trade Zone เป็นเรื่องของแต่ละประเทศที่จะช่วงชิงความได้เปรียบ ซึ่งหากฝ่ายใดดำเนินการได้ก่อนก็จะดึงดูดนักลงทุนเข้าไปดำเนินธุรกิจทันที และในส่วนของฝ่ายไทยนั้นตนได้ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ ได้แนะนำพื้นที่ Free Trade Zone ขนาดเล็กที่สุด 500 ไร่ โดยมีพื้นที่เหมาะสมทั้งแนวชายแดนทั้งใน อ.สะเดา และหาดใหญ่ ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่ใหม่ หรือพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมฉลุงก็ได้

นายสุทิน กล่าวต่อว่า ประเด็นหลักว่าจะเกิด Free Trade Zone ในฝั่งไทยได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนที่จริงจังของภาครัฐ ทั้งการแก้ไขกฎระเบียบให้สอดคล้องและเอื้อต่อสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ซึ่งควบคุมการแปรรูปไม้ทุกชนิด ไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจด้วยมีความยุ่งยาก แม้ว่าไม้ที่เป็นวัตถุดิบจะเป็นไม้ยางที่มีการปลูกขึ้นก็ตาม ตลอดจนการให้สิทธิพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนในด้านภาษี และการอำนวยความสะดวก

“จุดแข็งของเรานั้นเป็นประเทศที่มีการผลิตไม้ยางอันดับ 1 ของโลก ค่าแรงและที่ดินถูก หากสามารถผลักดันให้เกิดการเป็นศูนย์กลางการลงทุนได้แล้ว เชื่อว่าจะทำให้รายได้จากอุตสาหกรรมไม้ยางไทยโตแบบก้าวกระโดดขึ้นเป็น 4 เท่าตัว หรือกว่า 200,000 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมปลายน้ำเกิดขึ้น เช่น งานแกะสลักไม้ซึ่งจะเพิ่มมูลค่าได้อีก 2-3 เท่าตัว และยังผลักดันให้ธุรกิจใน 3 จังหวัดชายแดนใต้เติบโตขึ้นอัตโนมัต” นายสุทินกล่าว

ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะผลิตไม้ยางพาราได้เป็นอันดับ 1 ทว่าประเทศมาเลเซียที่มีพื้นที่การปลูกน้อย แต่ก็สามารถพัฒนาตัวเป็นผู้ส่งออกได้มากกว่าไทย โดยปี 2551 ทำรายได้ส่งออก 22.79 พันล้านริงกิต หรือประมาณ 227,900 ล้านบาท โดยมีมูลค่าตลาดภายในประเทศ 7.6 พันล้านริงกิต และมีการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ 1.151 พันล้านริงกิต เกิดการจ้างงานกว่า 300,000 คน โดยนำเข้าวัตถุดิบมาจากไทย อินโดนีเซีย มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ
บรรยากาศการสัมนาเรื่อง RUBBERWOOD AND ITS MARKET CHALLENGES ระหว่างประเทศไทย กับมาเลเซีย
กำลังโหลดความคิดเห็น