xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.สผ.ออสซี่ระบุอาจต้องใช้7ปี แผนติดตามทำความสะอาดน้ำมั่นรั่ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี/ASTVผู้จัดการรายวัน – ผู้บริหารของ ปตท.สผ.ในออสเตรเลีย ระบุวานนี้(4) อาจต้องใช้เวลาถึง 7 ปีในการติดตามทำความสะอาดคราบน้ำมันจำนวนมากที่รั่วไหลจากแท่นขุดเจาะของบริษัทบริเวณนอกชายฝั่งแดนจิงโจ้ ขณะที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเร่งให้สอบสวนหาสาเหตุของหายนภัยครั้งนี้ให้ครอบคลุมรอบด้าน ส่วนทางด้านซีอีโอบริษัทแม่ในกรุงเทพฯยืนยัน ผลการดำเนินงานปีหน้ายังจะไปได้ดี
คาดกันว่ามีน้ำมันดิบที่อาจสูงถึง 28,000 บาร์เรล ทะลักลงสู่ทะเลติมอร์ บริเวณนอกชายฝั่งตอนเหนือของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ในช่วงเวลา 10 สัปดาห์นับตั้งแต่ที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน “เวสต์ แอตลาส” ที่ขุดเจาะน้ำมันจากแหล่งมอนทารา ของ พีทีทีอีพี ออสเตรเลเชีย บริษัทลูกของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (พีทีทีอีพี) เริ่มเกิดการรั่วไหล ด้วยปริมาณน้ำมันมากขนาดนี้จึงทำให้เกิดความกังวลกันว่าปัญหาจะบานปลายถึงขั้นกลายเป็นความหายนะทางสิ่งแวดล้อม
ความพยายามที่จะถมโคลนเพื่ออุดรูรั่วก็ล่าช้าออกไป เนื่องจากปัญหาต่างๆ ทั้งการต้องรออุปกรณ์จากสิงคโปร์, ความยากลำบากของการทำงานอุดรอยรั่วที่อยู่ลึกลงไปใต้ทะเลราว 2.6 กิโลเมตร, รวมทั้งการเกิดไฟลุกไหม้อย่างหนักที่บริเวณแท่นขุดเจาะตั้งแต่วันอาทิตย์(1) และต้องใช้เวลาถึงวันอังคาร(3)กว่าจะดับลงได้
พีทีทีอีพี ออสเตรเลเชีย แถลงว่า งานทำความสะอาดน้ำมันที่ทะลักลงทะเล จะเริ่มขึ้นโดยเร็วภายหลังที่สามารถอุดไม่ให้น้ำมันและก๊าซรั่ว รวมทั้งดับไฟลงได้แล้ว
“ผมคิดว่าเราควรจะต้องคาดการณ์กันว่าจะต้องใช้เวลากันเป็นสองสามเดือนทีเดียว” นายโฮเซ มาร์ตินส์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและกรรมการคนหนึ่งของ พีทีทีอีพี ออสเตรเลเชีย กล่าว “จริงๆ แล้ว แผนการด้านสิ่งแวดล้อมอาจจะต้องใช้เวลาถึง 7 ปี”
ทางด้านนายมาร์ติน เฟอร์กูสัน รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรและพลังงานของออสเตรเลีย ซึ่งได้สั่งการสอบสวนหาสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แสดงความยินดีที่ขณะนี้สามารถดับไฟในบริเวณแท่นขุดเจาะได้แล้ว และกล่าวอีกว่า “ผมคิดว่าเราทุกคนต่างรู้สึกโล่งใจที่สถานการณ์ซึ่งอันตรายอย่างร้ายแรงครั้งนี้ไม่ได้ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตด้วย”
ทว่า พวกนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกล่าวว่า การหยุดยั้งไม่ให้น้ำมันไหลทะลักลงทะเล เป็นเพียงก้าวแรกที่จะต้องทำในการทำความสะอาดคราบน้ำมันซึ่งกำลังแผ่กระจายอยู่ในบริเวณห่างจากชายฝั่งไปราว 250 กิโลเมตร พร้อมกันนั้นก็เรียกร้องให้สอบสวนหาสาเหตุของการรั่วรวมทั้งการเกิดไฟไหม้ให้ครบถ้วน
“นี่เป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงทะเลครั้งใหญ่มาก” กิสเลน เลเวลลิน จากองค์กรอนุรักษ์ WWF ในออสเตรเลียกล่าว “นับเป็นเหตุการณ์ใหญ่ติดหนึ่งในสามในประวัติศาสตร์ของออสเตรเลียทีเดียว”
เลเวลลินบอกว่าน้ำมันที่รั่วออกมาและจับตัวเป็นก้อนลอยเป็นคราบน้ำมันเหนือผิวน้ำ เป็นอันตรายอย่างมากและส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำเขตร้อนในบริเวณดังกล่าวไปอีกนานทีเดียว
นอกจากนั้น พวกเจ้าหน้าที่รับผิดชอบของออสเตรเลียกล่าวว่า ขณะนี้กำลังสืบสวนว่าน้ำมันที่ทะลักจากแท่นขุดเจาะจะถูกพัดเข้าไปยังชายหาดด้านเหนือของออสเตรเลียได้หรือไม่ ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียในอินโดนีเซีย ออกมาปฏิเสธรายงานที่ว่าน้ำมันที่รั่วออกมาได้ไหลไปใกล้กับน่านน้ำบริเวณชายฝั่งของอินโดนีเซีย โดยระบุว่า “มีความเป็นได้น้อยมาก”
ที่กรุงเทพฯ นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าววานนี้ว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2553 สามารถโตได้ดีตามทิศทางราคาน้ำมันและผลผลิตปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีปัญหาจากแหล่งมอนทารา ที่ออสเตรเลียก็ตาม ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้นโครงสร้างหลักแท่นหลุมผลิตมอนทาราไม่เสียหาย อาจซ่อมแค่ส่วนบน คาดการณ์ปริมาณการผลิตแหล่งมอนทารา 3.5 หมื่นบาร์เรล/วัน

พร้อมกล่าวยืนยันว่า ทางบริษัทไม่ถูกถอนใบอนุญาต เนื่องจากได้ประสานงานกับทางรัฐบาลออสเตรเลียโดยตลอด และในช่วงเกิดปัญหามีการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว และทุกขั้นตอนการแก้ไขได้ผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลออสเตรเลีย

นอกจากนี้ บริษัทฯคาดว่าจะมีการเซ็นสัญญาซื้อขายก๊าซฯ ในแหล่ง M9 ของพม่าได้ทันภายในปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้มีปริมาณสำรองเพิ่มอีก 120 ล้านบาร์เรล จาก 994 ล้านบาร์เรล ณ สิ้นปี 2551 และจะเริ่มผลิตได้อย่างเร็วในเม.ย.2556 หรืออย่างช้าปี 2557
กำลังโหลดความคิดเห็น