xs
xsm
sm
md
lg

เคราะห์ซ้ำกรรมไล่ล่า ปตท.แท่นขุดเจาะกลางทะเลใกล้พินาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จับตาผลกระทบเหตุเพลิงไม้แท่นขุดเจาะก๊าซและน้ำมัน ปตท.กลางทะเลออสเตรเลีย กำลังส่งผลกระทบบานปลาย และกลายเป็นมรสุมระลอกที่ 2 ต่อจาก 76 โครงการมาบตาพุด ซึ่งอาจทำให้ยักษ์ใหญ่ค้าน้ำมัน ที่ผูกขาดธุรกิจพลังงานครบวงจร ฟันกำไรปีละหลายแสนล้าน อาจต้องหงายท้องลงฟาดพื้น และเข้าห้องไอซียูอีกครั้ง

มีรายงานความคืบหน้าเหตุเพลิงไม้แท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.ที่มีชื่อว่า เวสต์ แอตลาส ในแหล่งมอนทารา ตั้งอยู่ในทะเลติมอร์ นอกชายฝั่งทางเหนือของออสเตรเลีย โดยล่าสุด เจ้าหน้าที่ดับเพลิงยังคงพยายามดับไฟที่กำลังโหมกระหน่ำ หลังเกิดมีน้ำมันรั่วลงทะเลมาตั้งแต่ 10 สัปดาห์ก่อน และเพิ่งเกิดเพลิงไหม้ขณะที่คนงานกำลังพยายามอุดรูรั่วเมื่อวันอาทิตย์ และเพลิงยังคงโหมกระหน่ำมาเป็นวันที่ 3 ในวันนี้ ซึ่งทำให้เกิดเปลวเพลิงและกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้นบนท้องฟ้าไกลหลายร้อยเมตร

โดยวันนี้ คนงานได้อัดโคลนหนัก (heavy mud) ที่ผสมไว้จำนวน 4 พันบาร์เรล ลงไปในบ่อเพื่อพยายามอุดรอยรั่ว เพื่อหยุดการไหลของแก๊สและน้ำมันที่ขึ้นมาที่ผิวหน้าของบ่อ ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่จะสามารถดับไฟที่กำลังลุกไหม้อยู่ที่แท่นเจาะได้

นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ปตท.สผ.กล่าวว่า ขณะนี้ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญระดับโลก คือ บริษัท Alert Well Control ซึ่งเคยมีประสบการณ์ในการควบคุมเหตุไฟไหม้บ่อน้ำมันในประเทศอิรัก เข้าไปแก้ปัญหา โดยล่าสุดจะใช้วิธีอัดน้ำโคลนเข้าไปเพื่อดับไฟ คาดว่าไม่เกิน 1-2 วันจะแก้ปัญหาได้

ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา ปตท.สผ.ได้บันทึกค่าใช้จ่ายในไตรมาส 3 ปี 2552 จำนวน 5,174 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวสามารถนำไปเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษี ทำให้กระทบต่อผลกำไรสุทธิของบริษัทเพียง 2,198 ล้านบาท ในขณะที่ ปตท.สผ.ยังมีกำไรสุทธิ 5,259 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกัน

สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากเหตุเพลิงไหม้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 นั้น ปตท.สผ.จะทำการเข้าไปตรวจสอบ และประเมินค่าเสียหายทันที หากสถานการณ์เพลิงไหม้ยุติลง พร้อมกันนี้ ปตท.สผ.จะมีการประกันภัยที่คุ้มครองความเสียหายเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ประมาณ 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 9,000 ล้านบาท ซึ่งทาง ปตท.สผ.จะเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัย ตามเงื่อนไขความคุ้มครอง และจะบันทึกเป็นรายได้ทันทีที่ได้รับค่าสินไหมทดแทน

นายโจเซ่ มาร์ติน โฆษก ปตท.สผ.ออสเตรเลีย เปิดเผยว่า ทางบริษัทยังไม่สามารถสาเหตุที่ทำให้เกิดเปลวไฟขึ้น ขณะที่คนงานกำลังเทโคลนเพื่ออุดรอยรั่วเมื่อวันอาทิตย์ และตอนนี้เพลิงกำลังลุกไหม้จนเกินควบคุม และทำให้แท่นขุดเจาะบางส่วนเริ่มถล่มลง และมีความเสี่ยงสูงที่แท่นขุดเจาะ เวสต์ แอตลาส จะถล่มลงมาทั้งหมด

นายเฟอร์ดี ทาโนนี แห่งมูลนิธิเวสต์ ติมอร์ แคร์ องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) ซึ่งสนับสนุนชาวประมงของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า คราบน้ำมันที่รั่วไหลจำนวนมากจากประเทศออสเตรเลีย ได้ไหลมาถึงอินโดนีเซียแล้ว ทำให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของชายประมงตลอดแนวชายฝั่งทะเลติมอร์รวมประมาณ 7,000 คน ในจังหวัดอีสต์ เตงการา ได้รับผลกระทบ รายได้ลดลง

“คราบน้ำมันที่รั่วไหลออกมาจากฐานขุดเจาะน้ำมันเคลื่อนที่ เวสต์ แอตลาส ของบริษัท พีที ทีอีพี อิงค์ บริษัทในเครือของ ปตท.สผ. คิดเป็นปริมาณหลายพันบาร์เรล กำลังทะลักลงสู่ทะเลติมอร์และกระจายไปยังคาบสมุทรใกล้เคียง”

แท่นขุดเจาะดังกล่าว อยู่ห่างจากชายฝั่งประเทศออสเตรเลีย 250 กม.ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) ยังได้ออกมาโจมตีว่า คราบน้ำมันที่รั่วไหลออกมานี้เป็นอีกหนึ่งครั้งของวิบัตรภัยด้านสิ่งแวดล้อมที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของออสเตรเลีย และปริมาณคราบน้ำมันที่รั่วไหลออกมาระหว่างการขุดเจาะนั้น มีจำนวนกว่า 4 แสนลิตร กินอาณาบริเวณ 10,000-25,000 ตารางกิโลเมตร ส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์น้ำทะเล

ขณะที่กลุ่ม ปตท.ในประเทศไทย กำลังเผชิญมรสุมครั้งใหญ่ และยังไม่จบง่ายๆ หลังคำสั่งระงับการลงทุน 25 โครงการของ ปตท.จาก 76 โครงการฉาว ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งทำให้ ปตท.ที่ทำธุรกิจพลังงานผูกขาดครบวงจรเกือบต้องล้มทั้งยืน ทั้งที่มีสินทรัพย์การลงทุนหลายแสนล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น