xs
xsm
sm
md
lg

รมต.ออสซี่ก้นร้อน “กลุ่มอนุรักษ์” บี้สอบ ปตท.สผ.เพิกถอนใบอนุญาต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รมต.พลังงาน ออสเตรเลีย ตั้งทีมสอบหาสาเหตุน้ำมันรั่ว ที่โครงการมอนทาราของ ปตท.สผ.หลังกลุ่มอนุรักษ์ Australian Greens ออกมาจี้รัฐบาลให้ตรวจสอบเหตุการณ์อย่างตรงไปตรงมา โวยทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง จนไม่สามารถประเมินค่าความเสียหายได้ ด้านสมาคมอนุรักษ์ปลาวาฬและปลาโลมา จี้ติดรัฐสั่งเพิกถอนใบอนุญาตทันที ขณะที่ สำนักงานป้องกันทางทะเลของออสเตรเลีย ชี้ เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลครั้งนี้เป็นภัยพิบัติครั้งใหญ่สุดอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์ประเทศ ด้านบริษัทคอตกยอมรับน้ำมันดิบทะลักสู่ทะเลวันละ 400 บาร์เรล

มีรายงานข่าวว่า นายมาร์ติน เฟอร์กูสัน รัฐมนตรีพลังงานออสเตรเลีย เปิดเผยว่า รัฐบาลออสเตรเลียจะตั้งทีมตรวจสอบหาสาเหตุการรั่วไหลของน้ำมันกว่า 30,000 บาร์เรล ในทะเลติมอร์ ซึ่งเป็นน้ำมันจากแท่นขุดเจาะของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP จนเป็นเหตุให้นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมออกมาเรียกร้องให้ทางการออสเตรเลีย ระงับใบอนุญาตการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันครั้งใหม่

รมว.พลังงานออสเตรเลีย กล่าวว่า การตรวจสอบครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะสืบหาสาเหตุของการรั่วไหลของน้ำมันจากโครงการมอนทารา ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา และการรั่วไหลของน้ำมัน ทำให้สมาคมอนุรักษ์ปลาวาฬและปลาโลมาของออสเตรเลีย ได้เรียกร้องให้รัฐบาลระงับการออกใบอนุญาตสำรวจและขุดเจาะน้ำมันครั้งใหม่ในทันที

ด้าน ปตท.สผ.กล่าวว่า ทางบริษัทจะเริ่มดำเนินการสำรวจหาสาเหตุการรั่วไหลโดยเร็ว หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้แท่นขุดเจาะปิโตรเลียมของ ปตท.สผ.ในโครงการมอนทารา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 ที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้ต้องหยุดการดำเนินการที่แท่นขุดเจาะดังกล่าว

ทั้งนี้ ปตท.สผ.ประมาณการว่า มีน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลติมอร์ นอกชายฝั่งคิมเบอร์ลีย์ของออสเตรเลีย จำนวนมากถึง 400 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งสำนักงานป้องกันทางทะเลของออสเตรเลียระบุว่า เป็นเหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลครั้งใหญ่สุดอันดับ 3 ในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย

ด้าน วุฒิสมาชิก ราเชล ซีเวิร์ต เปิดเผยว่า นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกลุ่ม Australian Greens คาดหวังว่า รัฐบาลจะตรวจสอบเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างยุติธรรม พร้อมคาดหวังว่า กลุ่มจะได้รับความร่วมมืออย่างเต็มรูปแบบจากทั้ง ปตท.สผ.และรัฐบาลออสเตรเลีย เนื่องจากภัยพิบัติในครั้งนี้ได้สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างประเมินค่ามิได้

ขณะที่ สมาคมอนุรักษ์ปลาวาฬและปลาโลมา เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการปฏิบัติงานทางน้ำทั้งหมดของออสเตรเลีย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าการทำงานจะมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง อีกทั้งเรียกร้องให้มีการทบทวนการออกใบอนุญาตการสำรวจน้ำมันและก๊าซ
กำลังโหลดความคิดเห็น