xs
xsm
sm
md
lg

เมืองพ่อขุนฯนัดทำMOU“เชียงรุ่ง” ปั้นรูตทัวร์“เชียงราย-สิบสองปันนา”ดึงจีนเข้าไทยปีละแสน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การเชื่อมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างเชียงราย-เชียงรุ่ง ใกล้เป็นจริง
เชียงราย – เมืองพ่อขุนฯเตรียมตั้งโต๊ะลงนามข้อตกลงร่วม “สิบสองปันนา” ปั้นรูตท่องเที่ยว “เชียงราย-เชียงรุ่ง” ขายทั่วโลก พร้อมเปิดทางดึงนักท่องเที่ยวจีนเข้าพื้นที่ปีละแสนคน จ้องแชร์ลูกค้า “Kings Romans of Laos ASEAN economic & tourism development zone” สามเหลี่ยมทองคำ ที่คาดว่าจะมีมากกว่า 2 แสนคนต่อปี ตีตั๋วข้ามฝั่งโขงเข้าเชียงรายด้วย ล่าสุดนัดหารือรอบสุดท้ายวันนี้(4 พ.ย.)

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่าในวันนี้(4 พ.ย.52) จังหวัดเชียงราย โดยนายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย กำหนดจัดการประชุมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาร่าง "ข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ระหว่างสำนักงานการท่องเที่ยวสิบสองปันนา กับสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย" เพื่อเตรียมจัดทำเป็นข้อตกลงร่วมกับทางเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลหยุนหนัน จีนตอนใต้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

หลังจากเมื่อ 21 ตุลาคม 2552 ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวสิบสองปันนา ได้เดินทางมาเยือน จ.เชียงราย และได้เสนอแนวทางร่างข้อตกลงร่วมกันและนัดหมายในการลงนามร่วมกันเอาไว้แล้ว

ทั้งนี้การลงนามร่วมกันจะมีขึ้น ณ ที่ว่าการ อ.เชียงของ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2552 ชายแดนไทย-สปป.ลาว ซึ่งเชื่อมกับถนน R3A ไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ หรือคุน-มั่ง กงลู่ หรือถนนกรุงเทพฯ-คุนหมิง

นายพรหมโชติ ไตรเวช ท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย เปิดเผย "ASTVผู้จัดการรายวัน" ว่า ปัจจุบันได้มีการจัดทำร่างข้อตกลงตามแนวทางของ จ.เชียงราย และที่สำนักงานการท่องเที่ยวสิบสองปันนาได้เสนอเอาไว้เรียบร้อยแล้ว โดยมีทั้งหมด 8 ข้อ ประกอบไปด้วย

1.สำนักงานการท่องเที่ยวสิบสองปันนาและสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย จะทำงานร่วมกันโดยยึดถือหลักความถูกต้องและประโยชน์ร่วมกัน โดยจะร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในแถบลุ่มน้ำโขง

2.ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันวางแผนการท่องเที่ยว ประชาสัมพันธ์กิจกรรมการท่องเที่ยวและธุรกิจนำเที่ยว โดยแต่ละฝ่ายต้องสนับสนุนให้ประชาชนของประเทศตนเดินทางไปยังอีกประเทศหนึ่ง

3.ทั้งสองฝ่ายจะต้องให้การสนับสนุนศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการบริการของทั้งสองเมือง โดยกรณีของเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มอบหมายให้บริษัทหย่าไทร้เอเชี่ยนทัวร์ จำกัด เป็นตัวแทนในความร่วมมือและดูแลนักท่องเที่ยวจากจีน ส่วน จ.เชียงราย ให้สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

4.ทั้งสองฝ่ายร่วมกันสร้างชื่อเสียงให้แก่การท่องเที่ยว สร้างระบบแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยว จัดตั้งหน่วยงานควบคุมดูแลการท่องเที่ยว ผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว วางแผนเส้นทางท่องเที่ยว ตลาดท่องเที่ยว ฯลฯ ภายใต้การบริการนักท่องเที่ยวที่ดี

5.ทั้งสองฝ่ายจะผลักดันและให้การสนับสนุนการคมนาคมทุกด้าน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับความสะดวกและปลอดภัย โดยเฉพาะคาดหวังว่าจะมีสายการบินเชียงราย-เชียงรุ่ง เมืองเอกของสิบสองปันนาในอนาคต

6.ทั้งสองฝ่ายจะช่วยกันแก้ไขปัญหาให้แก่นักท่องเที่ยวและประสานกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือนักท่องเที่ยวของแต่ละฝ่าย

7.ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกับส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการวางแผนยุทธศาสตร์ แลกเปลี่ยนบุคลากร การศึกษา ภาษา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญา กิจกรรมนันทนาการและกีฬา ฯลฯ 8.ทั้งสองฝ่ายจะจัดประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันทุกๆ 6 เดือนหรือปีละ 2 ครั้ง โดยใช้สถานที่ที่เมืองเชียงรุ่งและ จ.เชียงราย เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจในข้อมูลและปัญหาเกี่ยวกับการท่องเที่ยวร่วมกัน

นายพรหมโชติ กล่าวว่า ปัจจุบันมีข้อตกลงระหว่างอาเซียน 10 ประเทศกับ 3 ประเทศคือจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ดังนั้นข้อตกลงดังกล่าวจึงสนับสนุนอาเซียนบวก 3 ดังกล่าวในด้านการท่องเที่ยว เพราะปี 2551 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวมาเยือนเชียงราย 1.7 ล้านคน สร้างรายได้เข้าจังหวัด 9,800 ล้านบาท และในปี 2552 เก็บตัวเลขถึงเดือน ก.ค.มีรายได้เข้าจังหวัดแล้วประมาณ 7,000 ล้านบาท และคาดหวังว่าตลอดทั้งปีจะใกล้เคียงกัน

นอกจากนี้ จากการที่กลุ่มทุนจีนมีการลงทุนตามโครงการ "เขตพัฒนาเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่อาเซียน" หรือ "Kings Romans of Laos ASEAN economic & tourism development zone" บนเนื้อที่กว่า 5,168.75 ไร่ที่เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว สามเหลี่ยมทองคำ ตรงกันข้ามกับหมู่บ้านสบรวก ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยการพัฒนาบนพื้นที่เช่าจากรัฐบาล สปป.ลาว เป็นระยะเวลา 75 ปีนั้น

จากการสอบถามข้อมูลทราบว่า อาจจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาปีละกว่า 200,000 คน ซึ่งจากการหารือกับเจ้าหน้าที่ท่องเที่ยวของสิบสองปันนา ทราบว่า สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจีนกลุ่มนี้ข้ามมาเที่ยว จ.เชียงราย ได้ปีละประมาณ 50,000-100,000 คน โดยไม่ต้องใช้บัตรผ่านแดนชั่วคราว แต่ใช้หนังสือเดินทางระหว่างประเทศหรือพาสปอร์ต เพราะคนเหล่านี้ต่างมีฐานะสามารถทำพาสปอร์ตได้อยู่แล้ว

ดังนั้นจึงคาดหวังว่าหลังการลงนามในข้อตกลงนี้ ความร่วมมือในการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย-จีน จะเป็นรูปธรรมมากขึ้นและทำให้ภาคการท่องเที่ยวของเชียงรายคึกคักขึ้น โดยไม่ต้องไปผลักดันเรื่องบอร์เดอร์พาสห้ยุ่งยากอีก ขณะที่เส้นทางคมนาคมทุกด้านทั้งทางเรือในแม่น้ำโขง ทางบกผ่านถนน R3a และ R3b รวมทั้งสายการบินต่างมีการพัฒนาเพื่ออำนวยความสะดวกอย่างต่อเนื่อง

ด้านนายสมเกียรติ ชื่นธีระวงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย กล่าวว่า ข้อตกลงครั้งนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์และแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาคเอกชน ด้านการท่องเที่ยวของเชียงราย ภายใต้สภาฯ และสมาคมการท่องเที่ยวเชียงราย ที่พยายามผลักดันมานานแล้ว เพราะเดิมความร่วมมือไทย-จีน ในระดับท้องถิ่นนี้มักจะไม่มีเนื้อหาสาระที่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร มักจะเน้นไปที่การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็นครั้งๆ และจบกันไป แต่ครั้งนี้จะเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะมีการกำหนดเจ้าภาพที่จะดำเนินการ โดยกรณีฝ่าย จ.เชียงราย คือสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่วนเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา คือ เอกชนรายหนึ่ง แต่ในการประชุมวันนี้( 4พ.ย.) ตนอาจจะมีการเสนอให้มีการแก้ไขร่างข้อตกลง โด ยกำหนดให้ฝ่ายจีนใช้องค์กรของเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา เป็นเจ้าภาพแทนดีกว่าเพื่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรที่รัฐของแต่ละฝ่ายให้การรับรองอย่างยั่งยืนเหมือนกัน

"เมื่อข้อตกลงแล้วเสร็จก็จะมีเจ้าภาพในการร่วมมือ เช่น จัดทำเส้นทางนำเที่ยวเชียงราย-จีนตอนใต้ ร่วมกัน ฯลฯ จากนั้นนำออกไปโรดโชว์หรือขายให้แก่ยุโรป อเมริกา ฯลฯ หรือทั่วโลก เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายได้ประโยชน์ นอกเหนือไปจากการที่นักท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่ายเดินทางไปเที่ยวกันเองอย่างเนืองแน่นมากขึ้น ซึ่งก็จะได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย" นายสมเกียรติ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น