xs
xsm
sm
md
lg

กกร.ดึงรฟท.ถกรถไฟทางคู่กรุงเทพ-เชียงใหม่ กระทุ้งอีกแรงผ่านที่ประชุมหอฯทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กกร.)เชียงใหม่ ดึงการรถไฟแห่งประเทศไทยถกโครงการรถไฟทางคู่กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ขณะสนข.ระบุยังไม่ต้องฝันไกล ได้แค่การปรับเปลี่ยนรางทั่วประเทศอย่างเร่งด่วนก่อนเป็นอันดับแรก ด้านหอการค้าเชียงใหม่อยากให้ฝันเป็นจริง เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมหอการค้าทั่วประเทศสิ้นเดือนนี้


เมื่อเร็ว ๆ นี้คณะกรรมร่วมภาครัฐและเอกชน(กกร.)จังหวัดเชียงใหม่ โดยการสนับสนุนของคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร จัดการประชุมสัมมนาเรื่อง “ทิศทางการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ไทย:ก้าวไกลหรือไกลก้าว กรณีรถไฟทางคู่กรุงเทพ-เชียงใหม่” ที่ห้องประชุมธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ทั้งนี้เพื่อรับทราบทิศทาง นโยบายแผนงานดำเนินงานของรัฐและระดมความคิดเห็นความต้องการการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าทางคู่ กรุงเทพ-เชียงใหม่ รวมทั้งทบทวนผลการศึกษาความเหมาะสมของโครงการจากหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนและผู้ใช้บริการของการรถไฟแห่งประเทศไทย

ดร.จุฬา สุขมานพ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) กล่าวว่า ตามเป้าหมายของกระทรวงคมนาคมต้องการที่จะลดต้นทุนการขนส่งของประเทศ ด้วยการสนับสนุน Modal Shift หรือการปรับเปลี่ยนวิธีการขนส่ง เช่น เพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางจากเดิมที่มีประมาณร้อยละ 2 ให้เป็นร้อยละ 10 ซึ่งการพัฒนารถไฟรางคู่ก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น โดยต้องยอมรับว่าปัจจุบันการขนส่งทางรางยังมีปัญหาอยู่มาก ทั้งจำนวนและสภาพหัวรถจักร รวมทั้งสภาพรางและไม้หมอนที่มีอายุการใช้งานมายาวนานมาก ซึ่งจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน

ทั้งนี้เห็นว่าก่อนที่จะมีการพัฒนาเป็นระบบรถไฟทางคู่ได้ จำเป็นจะต้องมีการปรับปรุงพัฒนาระบบรางทั้งหมดอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเสียก่อน โดยตามแผนพัฒนาระบบราง จะแบ่งการพัฒนาเป็นระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน 3 ปี ที่จะต้องทำการเปลี่ยนรางเป็นขนาด 100 ปอนด์/หลา เปลี่ยนหมอนไม้เป็นหมอนคอนกรีต ปรับปรุงรางคู่เป็นช่วงๆ และปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณและจุดตัด จากนั้นจึงเป็นการพัฒนาทางคู่ในระยะ 5 ปี ด้วยการพัฒนาทางคู่บนทางสายหลักทั่วประเทศ และปรับปรุงทางสายรองให้มีประสิทธิภาพ และการพัฒนาเป็นรถไฟด่วนในระยะ 7 ปี

สำหรับการพัฒนารถไฟทางคู่ในเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ จากการศึกษาและแผนการพัฒนาที่วางไว้จะแบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 จากลพบุรีถึงนครสวรรค์ ระยะทาง 113 กิโลเมตร งบประมาณ14,400 ล้านบาท ระยะที่ 2 จากนครสวรรค์ถึงตะพานหิน ระยะทาง 74 กิโลเมตร งบประมาณ 9,400 ล้านบาท และระยะที่ 3 ตะพานหินถึงเชียงใหม่ ระยะทาง 427 กิโลเมตร งบประมาณ 54,000 ล้านบาท

นายวิโรจน์ เตรียมพงษ์พันธ์ รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เครือข่ายทางรถไฟในปัจจุบันมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 4,042 กิโลเมตร แบ่งเป็นทางเดี่ยว 3,697.537 กิโลเมตร(ร้อยละ 91.47) ทางคู่ 172.906 กิโลเมตร(ร้อยละ4.28) ทางสาม 106.719 กิโลเมตร(ร้อยละ 2.64) และทางแยกการโดยสาร-สายมหาชัย,แม่กลอง 65.283 กิโลเมตร(ร้อยละ 1.61) ซึ่งในช่วงกว่า 50 ปี ที่ผ่านมาทางรถไฟแทบจะไม่มีการพัฒนาเลยและมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงอีกมาก ทั้งนี้การพัฒนารถไฟทางคู่นั้น เป็นเรื่องที่มีความคิดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมองว่าควรจะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงระบบในปัจจุบันให้ดีเสียก่อน ซึ่งหากดำเนินการได้ก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งทางรางได้เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

ขณะเดียวกันนายวิโรจน์ เปิดเผยว่า เวลานี้ สนข.ได้จ้างที่ปรึกษาทำการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นระบบรถไฟทางคู่เพื่อการขนส่งและการจัดการโลจิสติกส์(ระยะที่ 1) ระยะเวลา 14 เดือน ตั้งแต่ 15 มิถุนายน 2552-14 สิงหาคม53 ครอบคลุมสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ โดยหากมีการก่อสร้างรถไฟทางคู่ตามแผนแม่บทที่ศึกษาจัดทำดังกล่าว คาดว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าเป็น 17.4 ล้านตัน จาก 13.5 ล้านตัน ขนส่งผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นปีละ 4 ล้านคน รายได้เพิ่มขึ้นปีละ 2,000 ล้านบาท ลดเวลาในการเดินทาง ลดจำนวนรถบรรทุก/รถโดยสาร ทำให้ลดภาระการนำเข้าน้ำมันและลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุและลดปัญหามลพิษ

นายวีรยุทธ สุขวัฑฒโก ประธานคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการคมนาคมขนส่งถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ประเทศ ซึ่งการพัฒนาระบบราง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟทางคู่หรือความเร็วสูง นับว่าเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เพราะจะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งลงไปได้มาก พร้อมกับช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้พื้นที่

ในส่วนของการพัฒนาระบบรางเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะต้องมีการดำเนินการ เพื่อรองรับการขยายตัวและเชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหลังจากการสัมมนาในครั้งนี้จะมีการสรุปผลเพื่อนำเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อผลักดันในเรื่องนี้ต่อไป

ด้านนายณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติม ว่า เพื่อให้โครงการนี้มีการผลักดันอย่างต่อเนื่องทางหอฯเชียงใหม่มีมติว่าจะนำเรื่องระบบรถไฟทางคู่ เข้าสู่ที่ประชุมหอการค้าทั่วประเทศซึ่งจังหวัดเชียงใหม่รับเป็นเจ้าภาพระหว่างวันที่ 27-29 พฤศจิกายน นอกจากนี้ยังเตรียมเสนอให้มีการผลักดันยกระดับจุดผ่อนปรนกิ่วผาวอก อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เป็นด่านถาวร เพื่อให้เป็นตลาดการค้าชายแดนเช่นเดียวกับด่านถาวรที่แม่สาย จ.เชียงราย หากสามารถยกระดับกิ่วผาวอกให้เป็นด่านถาวรได้ คาดว่าจ.เชียงใหม่จะมีรายได้จากการค้าชายแดนเพิ่มขึ้นทั้งหมดทุกด่านอีกปีละไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท

"การขนส่งระบบรางในภาคเหนือถือเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมีการเสนอผ่านไปยังรัฐบาลหลายยุคหลายสมัยแต่ก็ยังไม่เป็นรูปธรรม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เสียโอกาสอย่างมาก โดยเฉพาะเพื่อนบ้านเราตอนนี้ระบบคมนาคมทุกอย่างเดินหน้าอย่างเต็มที่และมาจ่อถึงประตูบ้านเราแล้วแต่ของเราเองยังไปไม่ถึงไหน ทั้ง ๆ ที่เรามีการศึกษาเกือบทุกด้านข้อมูลต่าง ๆ ก็มีไว้พร้อมแล้วจึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายหากโครงการนี้จะหยุดชะงักลงไปอีกหรือเดินต่อไปอย่างช้า ๆ ก็ตาม” นายณรงค์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น