xs
xsm
sm
md
lg

เดินเท้าถึงสภาฯ ร้อง"มาบตาพุด" จี้สอบรัฐละเมิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -ชาวบ้าน“มาบตาพุด”เดินเท้าบุกสภา ยื่นหนังสือประธานวุฒิฯ จี้สอบรัฐบาล เหตุศาลปกครองสั่งระงับ 76 โครงการมาบตาพุด ขณะที่ภาคเอกชนยัน 76 โครงการที่มาบตาพุดหากสั่งระงับกิจการจริงเอกชนลงทุนใหม่หนีหมด

เมื่อเวลา 10.00 น.วานนี้ (28 ต.ค.) ที่รัฐสภา เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกกว่า 200 คน นำโดยนาย สุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ รวมทั้งประชาชนจากจ.ระยอง ในเขตพื้นที่มาบตาพุด กว่า 30 คน ที่เดินเท้าเข้ากรุงเทพฯตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.รวม 5 วัน 4 คืน เข้ายื่นหนังสือต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ตรวจสอบรัฐบาลปฏิบัติหน้าที่บกพร่องไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ภายหลังศาลปกครองมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินงานของ 76 โครงการชั่วคราว ในเขตพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง พร้อมกันนี้ เครือข่ายฯ ได้นำหอยเน่า และน้ำที่ปนเปื้อนสาร โลหะหนักมาแสดง รวมถึงเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ช่วยมาดูแลแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากเครือข่ายภาคประชาชนมาเคลื่อนไหวครั้งนี้แล้ว ยังมีกลุ่มพันธมิตรฯนำโดยนายพิภพ ธงไชย และกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่ถือมือตบมาร่วมตั้งเวทีปราศรัยที่ดัดแปลงจากรถปิคอัพ ปราศรัยโจมตีการดำเนินงานของรัฐบาล ที่ไม่เคยสนใจสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะรัฐบาลนี้ที่ประกาศนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง และการยึดหลักการรัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นเพียงแค่โวหาร ไม่ยอมทำตามและมาอ้างว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ต้องออกกฎหมายลูกก่อนทั้งที่จริงประชาชนมีสิทธิเสรีภาพตามมาตราดังกล่าวแล้วตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศบังคับใช้

นอกจากนี้ การที่อ้างความเสียหายของเศรษฐกิจของประเทศ 4 แสนล้านบาท และคนตกงาน หากไม่อนุมัติการดำเนินการโครงการ คงไม่ใช่ แต่น่าจะเป็นเศรษฐกิจของตัวนายทุนมากกว่า และยังมีคนนามสกุลเดียวกับรัฐมนตรีในรัฐบาลไปทำโรงไฟฟ้าที่มาบตาพุด แต่อีกด้านกลับมารณรงค์เรื่องโลกร้อน

จากนั้นเวลา 11.30 น. ตัวแทนเครือข่ายฯ นำโดยนาย สุทธิ อัยชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่าย ฯได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ที่ตึกวุฒิสภา พร้อมกันนี้ ยังมีการตั้งโต๊ะสนทนาย่อย โดยนำผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเบ้าตา และโรคภูมิแพ้ ที่ได้รับผลกระทบจากการตั้งโรงงานในเขตพื้นที่มาบตาพุด มาร่วมพูดคุยในครั้งนี้ด้วย

นายประสพสุข กล่าวว่า กรณีความเดือดร้อนของประชาชนจากการตั้งโรงงานอุตสาหกรรม กฏหมายรัฐธรรมนูญได้คุ้มครองไว้แล้ว และในส่วนของวุฒิสภาก็จะเร่งดำเนินการให้อย่างเร็วที่สุด โดยขณะนี้คณะกรรมาธิการฯวุฒิสภา ทั้ง 5 คณะกรรมาธิการ ได้ดำเนินการในเบื้องต้นแล้วขอให้มั่นใจได้

นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ตัวแทน 5 กมธ.ที่ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว กล่าวว่า กมธ.ทั้ง 5 คณะจะประชุมเพื่อหาแนวทางเสนอแก่รัฐบาลในวันที่ 30 ต.ค.โดยเบื้องต้นจะเสนอให้รัฐบาลโดยอำนาจของนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการอิสระ ที่มาจากคนกลางซึ่งประชาชนยอมรับ เพราะขณะนี้เกิดปัญหาความไม่ไว้วางใจระหว่างชาวบ้าน ราชการ และเอกชน อย่างรุนแรง และในกรรมการให้มีตัวแทน 4 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนิคมอุตสาหกรรม ฝ่ายประชาชน ฝ่ายราชการ และฝ่ายวิชาการและสื่อมวลชน มาศึกษาปัญหาและเสนอแนวทางการแก้อย่างบูรณาการ ทั้งมิติเศรษฐกิจการลงทุน ธรรมาภิบาล การรักษาสิ่งแวดล้อมที่สามารถปฏิบัติได้จริง คุณภาพชีวิต การเยียวยา การจัดทำข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรงงานที่สามารถควบคุมมลพิษได้และไม่ได้ เพราะยังมีข้อมูลที่ขัดแย้งเรื่องค่ามลพิษ และต้องศึกษามิติด้านกฎหมาย โดยต้องศึกษาให้เสร็จอย่างเร่งด่วนใน 2 เดือน เพื่อเสนอรัฐบาลให้ดำเนินการบริหารจัดการ เพื่อให้เป็นแบบอย่างและมาตรฐานสำหรับการจัดการสิ่งแวดล้อมในที่อื่นๆที่มีปัญหาเช่น บางสะพาน อุดรธานี สระบุรี เพราะร่างกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลจัดทำอยู่ เชื่อว่า ไม่ต่ำกว่า 6 เดือนกว่าจะเสร็จ ขณะที่โรงงานยังเดินหน้าปล่อยมลพิษ ชาวบ้านก็ตายผ่อนส่ง

**ระงับ 76 กิจการจริงลงทุนใหม่หนีไทยหมด

นายบวร วงศ์สินอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโสปฏิบัติการ บริษัทปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด(มหาชน) หรือ PTTAR  กล่าวว่า  ขณะนี้ปตท.คงจะต้องรอคำตัดสินจากศาลปกครองสูงสุดหลังหน่วยงานรัฐได้ยื่นคำคัดค้านต่อศาลปกครองกลางที่ให้ระงับการดำเนินงาน 76 โครงการว่าจะออกมาลักษณะใดหากยืนตามคำสั่งศาลปกครองกลางในการระงับกิจการทั้งหมดยอมรับว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพราะการลงทุนใหม่ๆ ก็อาจจะต้องมองหาประเทศอื่นๆที่มีศักยภาพกว่าเช่น เวียดนาม จีน

“ เวลานี้การลงทุนใหม่คงจะต้องชะลอออกไปเพราะรอภาพที่ชัดเจน เพราะคงไม่มีใครกล้าที่จะทำอะไรเครือปตท.เองก็เช่นกัน หากผลออกมาไม่ชัดเจนในข้อกฏหมายลงทุนใหม่คงไม่อยู่ ปิโตรเคมีเฟส 4 ของเครือปตท.เองก็เช่นกันอาจต้องมองหาประเทศอื่นๆ ประกอบด้วยเช่น เวียดนาม”นายบวรกล่าว

ทั้งนี้จากคำสั่งศาลปกครองกลางในการระงับการดำเนิน 76 โครงการมูลค่า 288,097 ล้านบาทหากโครงการดังกล่าวไม่สามารถเดินตามแผนที่วางไว้ยังจะมีผลกระทบกับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ  และยังรวมไปถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยเนื่องจากมีโครงการของเครือปตท.ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งศาลฯมีทั้งสิ้น 25 โครงการมูลค่า 130,000 ล้านบาทซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีโครงการที่จะช่วยลดมลพิษ 9 โครงการ เช่น โครงการปรับปรุงน้ำมันมาตรฐานยูโร 4 ที่จะลดกำมะถันในน้ำมันดีเซลลงหากต้องถูกระงับไม่เพียงแต่จะมีผลทำให้กำมะถันในน้ำมันไม่ลดลงตามแผนของรัฐบาลแล้วยังมีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้ปรับกระบวนการผลิตเพื่อรองรับมาตรฐานน้ำมันใหม่ และไทยเองยังต้องไปนำเข้ามาจากต่างประเทศแล้วน้ำมันที่ผลิตได้ต้องส่งออกไปขายต่างประเทศแทน เป็นต้น

"อย่างท่าเทียบเรือและคลังผลิตภัณฑ์ของปตท.เคมิคอลหากต้องระงับหรือชะลอออกไปก็กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและอุตสาหกรรมต่อเนื่องซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มากเราจึงไม่เข้าใจว่ากิจการเหล่านี้เราเองก็ทำตามนโยบายรัฐทำไมต้องโดนระงับด้วย”นายบวรกล่าว

สำหรับกรณีที่กลุ่มเอ็นจีโอออกมาวัดคุณภาพอากาศที่มาบตาพุดแล้วระบุว่ามีค่าเกินกว่ามาตรฐาน ได้แก่ Benzene ที่ค่ามาตรฐานไทยอยู่ที่ 1.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่เอ็นจีโอวัดได้ 3 มคก./ลบ.ม. แต่ญี่ปุ่นค่ามาตรฐานของญี่ปุ่นอยู่ที่ 3 มคก./ลบ.ม. อังกฤษอยู่ที่ 5 มคก./ลบ.ม. และหากพิจารณามลสารตัวอื่นๆก็พบว่าค่าเฉลี่ยของไทยนั้นมีมาตรฐานสูงกว่าญี่ปุ่นและอังกฤษเช่นกัน

“ถ้าฝ่ายราชการบอกว่าจะเอามาตรฐานไหน เครื่องมืออะไรวัดเอกชนไม่มีปัญหาและขอให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน อย่างเอ็นจีโอไออยู่ๆ เดินมาวัดถามว่าเครื่องมือเชื่อถือได้ไหม และถ้าแน่จริงกรุณาวัดต่อไปด้วยว่าเป็นโรงงานไหน เราอยากเห็นเอ็นจีโอเล่นแล้วมีจุดจบ ถ้าเล่นไปเรื่อยประเทศชาติเสียหายแน่”นายบวรกล่าว

**แนะทุกฝ่ายคำนึงถึงชาติ

นายพีระพัฒน์ รุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักงานนิคมฯอุตสาหกรรมมาบตาพุดกล่าวว่าวันนี้ภาพพจน์ประเทศไทยไม่ดีนักต่อปัญหามาบตาพุดแต่นักลงทุนต่างประเทศส่วนใหญ่ก็ยังเชื่อมั่นและมองไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุนอยู่อยากให้ทุกฝ่ายมองว่ามาบตาพุดคือประเทศไทยเพราะการลงทุนในมาบตาพุดเกือบทั้งหมดเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่จะป้อนวัตถุดิบไปยังโรงงานทั่วประเทศหากหยุดก็เท่ากับเศรษฐกิจไทยต้องหยุด

“การที่กรีนพีซหรือองค์กรภาคเอกชนมาต่อต้านปัญหามลพิษในมาบตาพุดที่ไทยเขามาทุกปีและไปทุกประเทศเขาไม่เคยชมประเทศไหนเลยไทยจะต้องมาร่วมคิดกันแก้ไขปัญหามากกว่าเพราะถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าคิดและยอมรับว่าหลายกิจการเป็นการลงทุนเพื่อลดมลพิษตามนโยบายรัฐเมื่อโดนระงับด้วยจึงเกิดคำถามจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเราเองก็ตอบไม่ได้”นายพีระพัฒน์กล่าว

นายสุชาติ เทวีทิวารักษ์  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารโครงการ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กว่า 20 ปี ที่ ปตท. ดำเนินงานโรงแยกก๊าซธรรมชาติตั้งแต่หน่วยที่ 1 จนถึงปัจจุบัน ปตท. ยึดมั่นดำเนินงานควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และชุมชน มาโดยตลอด ซึ่งโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท ในการออกแบบและติดตั้งระบบลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยระบบลดก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน (DeNOx) , การปรับลดการระบายมลสารตามหลักเกณฑ์ 80:20 และออกแบบให้ไม่มีการใช้วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ที่ถูกจัดว่าเป็นสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ รวมถึงสารที่ก่อให้เกิดมลสารทางอากาศที่เป็นอันตราย ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งได้ลงทุนในเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้งให้หมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อให้โครงการนี้เป็นต้นแบบในการป้องกันมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชนในพื้นที่มาบตาพุด

ทั้งนี้ โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ยังสามารถผลิตก๊าซหุงต้มได้ปีละประมาณ 1 ล้านตันเพื่อป้อนให้กับตลาดภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยลดภาระการนำเข้าก๊าซหุงต้มจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้นทุกปี

**“กลุ่มค้านท่อก๊าซจะนะ”หนุนแก้มลพิษมาบตาพุด

เครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาด้วยความจริงใจ เป็นธรรม และทบทวนทิศทางการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ก่อนที่จะยกเกินเยียวยา แก้ไขแบบมาบตาพุด ซึ่งแถลงการณ์กล่าวถึงชาวบ้านมาบตาพุด– บ้านฉาง นอกจากต้องระทมทุกข์จากปัญหามลพิษและปัญหาสุขภาพจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่รุมเร้าคราชีวิตแล้ว ยังต้องทนทุกข์กับรัฐบาลไร้ความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของชาวระยอง จนไม่อาจหยุดนิ่งเฉยได้ต้องรวมตัวเดินเท้าเข้ากรุงเทพ

ทั้งที่รัฐบาล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและการนิคมอุตสาหกรรม ควรปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองกลาง ซึ่งจะเป็นโอกาสดีที่รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะแสดงความจริงใจ ความห่วงใยต่อประชาชน ที่จะทบทวนทิศทางการพัฒนาที่มุ่งเน้นอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี เพื่อสร้างรายได้ตัวเลขทางเศรษฐกิจแต่มองข้าม ไม่เห็นคุณค่าศักดิ์ศรีชีวิตของผู้คนมาบตาพุด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะต้องมีบทบาทในการเข้ามาจัดการปัญหาและตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ใช่ทำบทบาทเป็นผู้ค่อยให้การช่วยเหลือ สนับสนุนกับหน่วยงาน โรงงานและกลุ่มทุนเท่านั้น

บทเรียนของการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ถือเป็นคุณูปการกับประเทศชาติหากรัฐบาลนำมาพิเคราะห์พิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ก่อนที่ปัญหาเหล่านี้จะเกิดซ้ำรอยในพื้นที่อื่นๆ เพราะขณะนี้ปัญหามลพิษจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ยังแก้ไขปัญหาใดไม่ได้เลย แต่รัฐบาลกลับผลักดันโครงการลักษณะเดียวกันในพื้นที่ภาคใต้รวมถึงจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นทิศทางการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน ทำลายวิถีชีวิตผู้คน ทำลายฐานทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมที่ดีงาม ดังนั้นรัฐความแก้ปัญหาด้วยความจริงใจและเป็นธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น