xs
xsm
sm
md
lg

สารพิษฟุ้งมาบตาพุด กมธ.ผงะไบเออร์-ARC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการ/ศูนย์ข่าวศรีราชา - "กมธ.สิ่งแวดล้อม-เอ็นจีโอ" เฝ้าระวังสารพิษ ร่วมกันแถลงพบโรงงานนิคมมาบตาพุด-เอเชีย ปล่อยสารพิษ สูงกว่ามาตรฐานกว่า 30 เท่า "ไบเออร์-เออาร์ซี -บางกอกซินเทติกส์-ชินเอ็ตสึ" โดนเพ่งเล็ง ขณะที่ขบวนเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เดินเท้ามุ่งหน้าเข้ากรุงตั้งเป้า 5 วันถึงรัฐสภา

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ตัวแทนกมธ. 5 คณะ ที่ร่วมกันตรวจสอบปัญหา 76 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ร่วมกับมูลนิธิบูรณะนิเวศและองค์กรเฝ้าระวังมลพิษ Global Community Monitor สหรัฐอเมริกา ร่วมกันแถลงผลการตรวจสอบค่ามลพิษในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

นางเพชรโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า ได้เข้าไปตรวจสอบสารมลพิษในอากาศบริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา พบการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่ายในอากาศบริเวณที่มีการตรวจสอบในปริมาณที่สูงเกินค่ามาตรฐานการเฝ้าระวังของกรมคุมมลพิษหลายเท่า เช่น สาร 1,3 บิวทาไดอีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ณ เวลา 18.49 น. มีค่าสูง 146 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร บริเวณทิศใต้ลมระหว่างที่ตั้งของบริษัทไบเออร์ และโรงงานกลั่นน้ำมันเออาร์ซี โรงใต้ และมีโรงงานเคมีของบริษัทบางกอกซินเทติกส์ตั้งอยู่ใกล้เคียง ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งสูงเกินค่าเฝ้าระวังของกรมคุมมลพิษที่กำหนดไว้ถึง 27.5 เท่า ของค่ามาตรฐานที่ 5.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ ยังพบสารดังกล่าวสูง 179 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เวลา 22.5 น. ในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ทางทิศใต้ลมบริเวณที่ตั้งของบริษัทชินเอ็ตสึ ซึ่งสูงกว่าค่าเฝ้าระวังของกรมควบคุมมลพิษ 33.7 เท่า

**สารปนเปื้อนในอากาศระดับสูง

นางเพชรโฉมกล่าวว่า ยังตรวจพบสารอื่นที่กรมควบคุมมลพิษไม่ได้กำหนดค่าเฝ้าระวังไว้ ได้แก่ พีไซลีน 93.4 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร โทลลีน 77.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 69.4 ไมโครกรัม ต่อลูกบาศก์เมตร ไนตริกออกไซด์ 29.9 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ อากาศในบริเวณมาบตาพุด ปนเปื้อนสารมลพิษหลายชนิด กระทบสุขภาพทั้งระยะสั้นและยาว เป็นพื้นที่ มลพิษพิเศษ ระดับโลก ดังนั้นควรใช้มาตรการร่วมกันหลายด้านในการแก้ปัญหา และป้องกัน เช่น รัฐต้องสร้างระบบเปิดเผยข้อมูลพิษ โดยบังคับให้โรงงานเป็นผู้รายงานและรัฐเปิดเผย ให้ประชาชนเข้าถึง

นายสุรชัยกล่าวว่า 5 กมธ.จะนัดพิจารณาข้อมูลอีกครั้งโดยเฉพาะเรื่องสารพิษ เพราะตัวเลขมีนัยสำคัญมาก ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษต้องทบทวนค่ามาตรฐานสารพิษใหม่ เพราะรายงานการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ค่ามาตรฐานของไทยอ่อนมาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการควบคุมมลพิษ ที่ผู้เชี่ยวชาญไปตรวจสอบพบว่า มีการปล่อยในอัตราที่สูงกว่าค่ามาตรฐานมากเป็น 20 – 30 เท่า นอกจากนี้เหตุใด ผลการตรวจสอบขององค์กรเอกชน และผลสอบของส่วนราชการยังต่างกันมาก ขณะที่ส่วนราชการพยายามออกข่าวว่า ค่าที่ตรวจพบต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ค่าที่องค์กรเอกชนตรวจพบ กลับพบค่าสูงกว่ามาตรฐาน 30 เท่า ซึ่งกมธ.จะนัดประชุมและพิจารณาเสนอทางแก้ไขต่อไป

**จี้รัฐรักษาสิทธิ์ประชาชน

นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ช่วงเปิดให้สมาชิกหารือ นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา หารือกรณีปัญหา 76 โครงการในมาบตาพุด จ.ระยอง ว่า ขอเรียกมาบตาพุดว่า “มาบตาพิษ” ซึ่งส่งผลให้เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เดินเท้าเข้ามากรุงเทพฯ ซึ่งตอนนี้เดินเท้าถึงอ่าวอุดม และคืนนี้จะพักที่ ศรีราชา จ.ชลบุรี จะมาถึงกรุงเทพฯวันที่ 29 ต.ค. เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และประธานวุฒิสภา ขอให้ตรวจสอบการดำเนินงานของภาครัฐเกี่ยวกับเรื่องนี้

สัปดาห์ที่แล้ว กมธ. 5 คณะของวุฒิสภา ได้ลงพื้นที่บ้านหนองแฟบ จ.ระยอง มีบ้านหนึ่ง เสียชีวิตด้วยมะเร็งไปแล้วถึง 6 คน อีกบ้านหนึ่ง ด.ญ.คนหนึ่งกินยา เพื่อรักษาโรคทางเดินหายใจ วันละ13 เม็ด นี่คือตัวอย่างพิสูจน์ว่าสารมลพิษไม่ได้ต่ำกว่ามาตรฐานตามที่ฝ่ายนายทุนผู้ประกอบการกล่าวอ้าง ฉะนั้น เรื่องนี้เป็นสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 จึงเรียกร้องให้รัฐดำเนินการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเคร่งครัดด้วย

**เหยื่อ รง.มลพิษเดินเท้าเข้ากรุง

นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายภาคตะวันออก พร้อมกลุ่มผู้สนับสนุนประมาณ 50 คนได้ออกเดินทางจาก อ.บางละมุง จ.ชลบุรี มาทางถนนสุขุมวิท ผ่านแหลมฉบัง อ่าวอุดม และหยุดพักรับประทานอาหารที่ศรีราชา โดยมีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอำเภอศรีราชา มาให้การต้อนรับและให้กำลังใจในการเดินเท้าครั้งนี้ แม้จะมีผู้ร่วมเดินเท้าไม่มากนัก

การเดินเท้าครั้งนี้เพื่อไปยื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภา ให้ทำการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล โดยชี้ว่ารัฐบาลปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไม่สนใจปฏิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง ซึ่งรัฐสภา หรือวุฒิสภา อาจจะยื่นตรวจสอบและให้ถอดถอนรัฐบาลทั้งคณะออกจากการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากไม่ยึดหลักกฎหมายและไม่สนใจตามนโยบายที่ประกาศเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงแต่อย่างใด

**พันธมิตรฯ ชลบุรีให้กำลังใจ

นายสุทธิ กล่าวถึงการเดินเท้าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาว่า สามารถเดินได้ระยะเพียง 30-35 กิโลเมตรต่อ 1 วันโดยกำหนดไว้เพียง 5 วันต้องถึงรัฐสภา ซึ่งที่ผ่านมาไม่มีปัญหาหรืออุปสรรคแต่อย่างไร โดยมีเพียงในช่วง 1-2 วันนี้ อากาศร้อนมาก และส่วนใหญ่ที่ร่วมเดินทางเป็นผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ที่ไม่สามารถทนต่อสภาพอากาศได้ จึงไม่สบายและต้องจากขบวนไปพักผ่อน ทำให้ขบวนลดน้อยลงแต่ก็ไม่มีปัญหาแต่อย่างไร

สำหรับบรรยากาศเมื่อวานนี้ได้รับการประสานจากกลุ่มพันธมิตรฯในพื้นที่ อ.เมืองชลบุรี อ่างศิลา โดยได้เตรียมการต้อนรับเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางผู้ร่วมเดินเท้าก็รู้สึกอบอุ่นที่มีกลุ่มพันธมิตรฯและประชาชนให้ความสำคัญในการการเดินเท้าของประชาชนชาวมาบตาพุด จ.ระยอง ที่ได้รับความเดือดร้อนจากโรงงานอุตสาหกรรม และเมื่อคืนวันที่ 26 ต.ค.ที่ผ่านมา ได้พักค้างแรมกันที่วัดน้อย จ.ชลบุรี และจะเดินเท้าต่อในวันรุ่งขึ้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น