xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.สวอปสกัดบาทแข็งทะลุ 5 แสนล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - แบงก์ชาติพยายามสุดชีวิต ใช้เครื่องมือสวอปเข้าไปซื้อขายดอลลาร์ แทรกแซงสกัดไม่ให้บาทแข็งค่าเร็วเกินไป ล่าสุดปี 52 ยอดทะลุ 5 แสนล้านบาท ระบุหากทุ่มแทรกแซงมากกว่านี้ อาจกลายเป็นเป้าถูกโจมตีค่าเงิน น้อยใจผู้ส่งออกคงยังไม่พอใจ ด้านเงินบาทไม่เกรงใจ ปิดตลาดวานนี้แข็งค่าอยู่ที่ 33.38

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า นับตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2552 ซึ่งค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นชัดเจน โดยเฉพาะปัจจัยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ธปท.ได้เข้าไปซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐทั้งแบบทันทีและล่วงหน้า เพื่อลดความผันผวนค่าเงิน โดยตัวเลขล่าสุด ณ วันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมาไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศ 135,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีการทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (สวอป) สุทธิ 15,100 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ และหากคิดเป็นเงินบาทไทยสูงถึง 505,850 ล้านบาท (คำนวณเงินบาท ณ 33.50 บาทต่อดอลลาร์)
หากเทียบกับ ณ สิ้นปี 51 พบว่า ธปท.มีการทำสวอปอยู่ที่ 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 244,300 ล้านบาท (เงินบาท ณ 34.90 บาทต่อดอลลาร์) และเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 111,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น ในภายเวลาประมาณ 9 เดือน ธปท.ใช้เงินซื้อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อแทรกแซงค่าเงินบาทสุทธิแล้ว 261,550 ล้านบาทแล้ว ขณะที่เงินสำรองฯเพิ่มขึ้น 24,600 ล้านเหรียญสหรัฐ
เปรียบเทียบค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีนี้เทียบเป็นรายไตรมาส พบว่าค่าเงินบาทแข็งค่ามาตลอดนับตั้งแต่ไตรมาส 1-2 และแข็งค่ามากสุดในช่วงไตรมาสที่ 3 และจากข้อมูลนับตั้งแต่สิ้นปี 51 ถึง ณ วันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา พบว่า การเคลื่อนไหวเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นประมาณ 4% แต่เมื่อพิจารณาจากดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ซึ่งคำนวณค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างค่าเงินบาทและ ค่าเงิน 21 สกุลที่สำคัญในฐานะคู่ค้าและคู่แข่งของไทยเงินบาทอ่อนค่ากว่า 1.75% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไทยยังมีความสามารถในการแข่งขันด้านส่งออกระดับหนึ่ง
แหล่งข่าว ธปท.ยอมรับว่า การแทรกแซงค่าเงินบาทเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น และถือเป็นต้นทุนของทางการที่จะต้องดูแลเอกชน และต้องข้าใจว่า เงินจำนวนนี้ไม่ใช่ผลขาดทุนที่ ธปท.ต้องจ่ายจริง เพราะผลขาดทุนจะเกิดขึ้นจากส่วนต่างของราคาเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ ธปท.ซื้อกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นไป
ซึ่งในขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่า ณ สิ้นปีจะมีผลขาดทุนหรือไม่ และเท่าไร แต่ตามปกติแล้ว ยอมรับว่า ในปีที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง และธปท.จำเป็นต้องบริหารจัดการลดการแข็งค่าของเงินบาท ส่วนใหญ่จะมีผลขาดทุนเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทในตลาดเงินตราต่างประเทศนั้นต้องพิจารณาด้วยว่าหากมีมากเกินไปก็อาจเป็นเป้าหมายให้ถูกโจมตีค่าเงินได้ อีกทั้งต้องคำนึงถึงเงินที่นำไปแทรกแซงด้วย เพราะบางปีในช่วงที่ผ่านมา ธปท.ถูกตำหนิในเรื่องผลขาดทุน และการพิจารณาสภาพคล่องโดยรวมในระบบตลาดการเงินด้วยจึงเป็นเรื่องยากที่จะดูแลเงินบาทในขณะนี้ให้อ่อนค่าตามความต้องการของผู้ส่งออก
นอกจากนี้ หากพิจารณาจากดัชนีค่าเงินบาท ซึ่งเทียบค่าเงินบาทเฉลี่ยกับประเทศคู่ค้าคู่ขาย 21 ประเทศ พบว่า ค่าเงินบาทไทยไม่ใช่อุปสรรคใหญ่ในการทำการค้าหรือถูกแย่งตลาดจากประเทศอื่น กลับกันผู้ส่งออกควรพิจารณาปัจจัยเศรษฐกิจทั้งภายในและนอกประเทศประกอบด้วยว่าเกิดอะไรขึ้นด้วย

***เงินบาทยังแข็งค่ารายวัน
นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดเย็นวานนี้ (26 ต.ค.) อยู่ที่ระดับ 33.38 บาทต่อดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากช่วงเช้าที่เปิดตลาดที่ระดับ 33.46 บาทต่อดอลลาร์ อย่างไรก็ตามยังไม่มีปัจจัยอะไร นอกจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ เชื่อว่าการที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น มีผลทำให้เงินบาทไม่อ่อนค่าลงไปกว่านี้มากกว่า
ส่วนการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่สำคัญในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือน ต.ค. ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนเดือนก.ย. ยอดขายบ้านใหม่เดือน ก.ย. ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาส 3/52 และยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ เป็นต้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น