xs
xsm
sm
md
lg

ในวันที่ Hi5 เอาต์ ต้องเล่น Twitter คู่ Facebook

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในนาทีที่เครือข่ายสังคมอย่างไฮไฟว์นั้น"เอาท์"หลุดออกนอกกระแสไปแล้ว เทรนด์เครือข่ายสังคมออนไลน์ของไทยขณะนี้คือการเล่นทวิตเตอร์คู่กับเฟสบุ๊ก

ถามว่าทำไมต้องเล่นคู่กัน เล่นอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้หรือ คนที่ตอบคำถามนี้ได้ที่สุดคือ"สุกรี พัฒนภิรมย์"ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเซียนทวิตเตอร์ที่ได้รับการยกย่องว่าใกล้ชิดกับวงการเครือข่ายสังคมออนไลน์เมืองไทยมากที่สุดคนหนึ่ง

สุกรีสะท้อนสถานการณ์การใช้งานเครือข่ายสังคมในประเทศไทยขณะนี้ผ่านกลุ่มเซเลบริตี้ สุกรีบอกว่าที่ผ่านมา คนมีชื่อเสียงในไทยหลายคนเล่นเครือข่ายสังคมทุกค่ายทั้งไฮไฟว์ เฟสบุ๊ก และทวิตเตอร์ แต่ขณะนี้เริ่มทิ้งไฮไฟว์กันแล้ว เหลือไว้แต่เฟสบุ๊กและทวิตเตอร์

"พวกเฟสบุ๊กก็เหมือนกับโทรศัพท์มือถือแบล็กเบอร์รี่ (BB) ดาราเอาไว้คุยกันเอง อันนี้ความเห็นส่วนตัว ผมเชื่อว่าเพราะดาราติด BB ซึ่งเด่นที่การเอาไว้คุยกันเอง ดาราก็เลยหันมาใช้เฟสบุ๊กเพราะ BB มันให้ส่งรูป วีดีโอได้ ส่วนทวิตเตอร์ ดาราใช้ทวิตเตอร์เพราะมันเหมือน BB มากกว่าเฟสบุ๊ก"

การล่มสลายของอาณาจักรไฮไฟว์นั้น สุกรีเชื่อว่าเป็นเพราะผู้บริโภค"ไม่ติด"เกมในไฮไฟว์ แต่ติดเกมในเฟสบุ๊กแทน

"มันไม่ค่อยแพร่ ตอนนี้เกมในเฟสบุ๊กมาถูกทาง เป็นเกมที่ไม่ได้แข่งแต้มธรรมดา แต่เอาเพื่อนมาร่วมในเกม ไม่ใช่แค่จรรโลงใจ หรือเบาสมอง แต่มันคือการเล่นกับเพื่อน ถ้าไฮไฟว์เริ่มหาเกมลักษณะเดียวกันมาบ้างก็อาจแข่งกันไม่ได้ ผมว่ามันแบ่งตลาดกันไปแล้ว ไฮไฟว์มีฐานผู้ใช้ในหมู่วัยรุ่น ตอนนี้วัยรุ่นกลุ่มนั้นก็โตแล้ว กลุ่มใหม่ก็ไม่แลแล้ว เพราะกระแสตอนนี้คือเฟสบุ๊ก เฟสบุ๊กมีทุกอย่างที่ไฮไฟว์ทำได้ และเป็นข่าวเรื่อยๆ ไม่มีสาเหตุที่จะใช้ไฮไฟว์เมื่อทั้งโลกหันไปหาเฟสบุ๊ก"

ในส่วนของทวิตเตอร์ สุกรีบอกว่าปัจจุบันข้อมูลในทวิตเตอร์นั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆโดยที่ทวิตเตอร์ไม่ได้เปิดตัวบริการใหม่อะไร จนขณะนี้ สุกรีกล้าพูดว่าทวิตเตอร์คือเครื่องมือตอบคำถามที่ดีกว่าเครื่องมือทุกอย่างในโลก

"ยกตัวอย่างล่าสุด ผมอยู่ที่ไอทีมอลล์และต้องการหาธนาคารไทยพาณิชย์และกสิกร ผมหาใน Google Local Search ไม่พบ โทรถามเพื่อน เพื่อนโทรไปถาม Bug แต่ Bug บอกไม่มี แต่คนในทวิตเตอร์บอกได้ สรุปคือหาใน Google Local Search ไม่เจอ หาใน google ไม่มี หาในเว็บของกสิกรก็ยังวนเวียนอยู่ สรุปว่า ผมลองเดินไปตามทางที่คนในทวิตเตอร์บอก แล้วก็เจอ"

สุกรีบอกว่า อาการแบบนี้เฟสบุ๊กยังทำไม่ได้ เพราะคนมัวแต่เล่นเกม ไม่มีเวลามาตอบ ขณะที่ทวิตเตอร์ก็มีจุดน่าสนใจกว่าเฟสบุ๊กตรงเสียงตอบรับจากสาธารณชน ความสามารถที่ต่างกันทำให้คนไอทีนิยมใช้งานควบคู่กัน

"เฟสบุ๊กกลายเป็นแหล่งหาเพื่อนเก่า เพื่อนใหม่ แม้คนไทยจะไม่ค่อยได้ทำอะไรกันนอกจากเล่นเกม หรือไม่ก็พวก marketing หัวใสที่มาสร้าง fan page/event ไว้ แต่การกระจายข่าวสารก็มีจำกัดมากกว่าทวิตเตอร์เยอะ ตรงนี้ทวิตเตอร์เปิดกว้างสำหรับพวกการตลาดมากกว่า ทำการตลาดได้ง่ายกว่าโดยไม่ต้อง fake ไม่ต้องเป็นทางการ ถ้าไม่ทำตัวเป็นโคตรนักการตลาด ทุกประโยคมีสาระ ทำตัวคมกริบ ก็มีคนตาม"

ข้อมูลประจำเดือนกันยายน พบว่าประเทศไทยมีการใช้งานเว็บไซต์เฟสบุ๊กทั้งสิ้น 1,245,080 คน คิดเป็นสัดส่วน 0.44% ของผู้ใช้เฟสบุ๊กทั่วโลก ผู้ใช้เกิน 50% เป็นผู้หญิง กลุ่มผู้ใช้ที่ใหญ่ที่สุดมีอายุระหว่าง 18-24 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 25-34 ปี สำหรับทวิตเตอร์ ยอดผู้ใช้งานในประเทศไทยขณะนี้อยู่ที่ราว 30,000 คน ขณะที่ไฮไฟว์มีประมาณ 5 ล้านคน

"ถามว่าทวิตเตอร์และเฟสบุ๊กจะเป็นเทรนด์เติบโตอย่างนี้ไปเรื่อยๆไหมคงต้องรอดู Google Wave ก่อน มันอาจจะมาแรง แต่ก็อาจจะเงียบหายไปเฉยๆ Wave อาจจะเข้าถึงพวกที่ต้องทำงานร่วมกันแบบ remote (ทางไกล) ได้มากกว่า"

เกี่ยวกับสุกรี พัฒนภิรมย์

สุกรี พัฒนภิรมย์ เป็นนักวิจัยด้านคอมพิวเตอร์ระดับปริญญาเอกแห่ง ม.เกษตรศาสตร์ ใช้ชื่อทวิตเตอร์ว่า @sugree ได้รับฉายา “เจ้าพ่อ Twitter” และเป็นที่ยอมรับในหมู่นักเล่น Twitter ไทยเพราะการโพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ถี่มาก สถิติการส่งข้อความล่าสุดคือ 156,000 ครั้งในเวลา 2 ปี



สุกรี พัฒนภิรมย์
กำลังโหลดความคิดเห็น