Edited - ในนาทีที่เครือข่ายสังคมอย่างไฮไฟว์นั้น"เอาท์"หลุดออกนอกกระแสไปแล้ว เทรนด์เครือข่ายสังคมออนไลน์ของไทยขณะนี้คือการเล่นทวิตเตอร์คู่กับเฟสบุ๊ก
ถามว่าทำไมต้องเล่นคู่กัน เล่นอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้หรือ คนที่ตอบคำถามนี้ได้ที่สุดคือ"สุกรี พัฒนภิรมย์"ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นเซียนทวิตเตอร์ที่ได้รับการยกย่องว่าใกล้ชิดกับวงการเครือข่ายสังคมออนไลน์เมืองไทยมากที่สุดคนหนึ่ง
สุกรีสะท้อนสถานการณ์การใช้งานเครือข่ายสังคมในประเทศไทยขณะนี้ผ่านกลุ่มเซเลบริตี้ สุกรีบอกว่าที่ผ่านมา คนมีชื่อเสียงในไทยหลายคนเล่นเครือข่ายสังคมทุกค่ายทั้งไฮไฟว์ เฟสบุ๊ก และทวิตเตอร์ แต่ขณะนี้เริ่มทิ้งไฮไฟว์กันแล้ว เหลือไว้แต่เฟสบุ๊กและทวิตเตอร์
"พวกเฟสบุ๊กก็เหมือนกับโทรศัพท์มือถือแบล็กเบอร์รี่ (BB) ดาราเอาไว้คุยกันเอง อันนี้ความเห็นส่วนตัว ผมเชื่อว่าเพราะดาราติด BB ซึ่งเด่นที่การเอาไว้คุยกันเอง ดาราก็เลยหันมาใช้เฟสบุ๊กเพราะ BB มันให้ส่งรูป วีดีโอได้ ขณะที่ทวิตเตอร์ก็มีลักษณะเหมือน BB ดาราก็เลยใช้งานเฟสบุ๊กควบคู่กับทวิตเตอร์"
การล่มสลายของอาณาจักรไฮไฟว์นั้น สุกรีเชื่อว่าเป็นเพราะผู้บริโภค"ไม่ติด"เกมในไฮไฟว์ แต่ติดเกมในเฟสบุ๊กแทน
"มันไม่ค่อยแพร่ ตอนนี้เกมในเฟสบุ๊กมาถูกทาง เป็นเกมที่ไม่ได้แข่งแต้มธรรมดา แต่เอาเพื่อนมาร่วมในเกม ไม่ใช่แค่จรรโลงใจ หรือเบาสมอง แต่มันคือการเล่นกับเพื่อน ถ้าไฮไฟว์เริ่มหาเกมลักษณะเดียวกันมาบ้างก็อาจแข่งกันไม่ได้ ผมว่ามันแบ่งตลาดกันไปแล้ว ไฮไฟว์มีฐานผู้ใช้ในหมู่วัยรุ่น ตอนนี้วัยรุ่นกลุ่มนั้นก็โตแล้ว กลุ่มใหม่ก็ไม่แลแล้ว เพราะกระแสตอนนี้คือเฟสบุ๊ก เฟสบุ๊กมีทุกอย่างที่ไฮไฟว์ทำได้ และเป็นข่าวเรื่อยๆ ไม่มีสาเหตุที่จะใช้ไฮไฟว์เมื่อทั้งโลกหันไปหาเฟสบุ๊ก"
ในส่วนของทวิตเตอร์ สุกรีบอกว่าปัจจุบันข้อมูลในทวิตเตอร์นั้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆโดยที่ทวิตเตอร์ไม่ได้เปิดตัวบริการใหม่อะไร จนขณะนี้ สุกรีกล้าพูดว่าทวิตเตอร์คือเครื่องมือตอบคำถามที่ดีกว่าเครื่องมือทุกอย่างในโลก
"ยกตัวอย่างล่าสุด ผมอยู่ที่ไอทีมอลล์และต้องการหาธนาคารไทยพาณิชย์และกสิกร ผมหาใน Google Local Search ไม่พบ โทรถามเพื่อน เพื่อนโทรไปถาม Bug แต่ Bug บอกไม่มี แต่คนในทวิตเตอร์บอกได้ สรุปคือหาใน Google Local Search ไม่เจอ หาใน google ไม่มี หาในเว็บของกสิกรก็ยังวนเวียนอยู่ สรุปว่า ผมลองเดินไปตามทางที่คนในทวิตเตอร์บอก แล้วก็เจอ"
สุกรีบอกว่า อาการแบบนี้เฟสบุ๊กยังทำไม่ได้ เพราะคนมัวแต่เล่นเกม ไม่มีเวลามาตอบ ขณะที่ทวิตเตอร์ก็มีจุดน่าสนใจกว่าเฟสบุ๊กตรงเสียงตอบรับจากสาธารณชน ความสามารถที่ต่างกันทำให้คนไอทีนิยมใช้งานควบคู่กัน
"เฟสบุ๊กกลายเป็นแหล่งหาเพื่อนเก่า เพื่อนใหม่ แม้คนไทยจะไม่ค่อยได้ทำอะไรกันนอกจากเล่นเกม หรือไม่ก็พวก marketing หัวใสที่มาสร้าง fan page/event ไว้ แต่การกระจายข่าวสารก็มีจำกัดมากกว่าทวิตเตอร์เยอะ ตรงนี้ทวิตเตอร์เปิดกว้างสำหรับพวกการตลาดมากกว่า ทำการตลาดได้ง่ายกว่าโดยไม่ต้อง fake ไม่ต้องเป็นทางการ ถ้าไม่ทำตัวเป็นโคตรนักการตลาด ทุกประโยคมีสาระ ทำตัวคมกริบ ก็มีคนตาม"
ข้อมูลประจำเดือนกันยายน พบว่าประเทศไทยมีการใช้งานเว็บไซต์เฟสบุ๊กทั้งสิ้น 1,245,080 คน คิดเป็นสัดส่วน 0.44% ของผู้ใช้เฟสบุ๊กทั่วโลก ผู้ใช้เกิน 50% เป็นผู้หญิง กลุ่มผู้ใช้ที่ใหญ่ที่สุดมีอายุระหว่าง 18-24 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 25-34 ปี สำหรับทวิตเตอร์ ยอดผู้ใช้งานในประเทศไทยขณะนี้อยู่ที่ราว 30,000 คน ขณะที่ไฮไฟว์มีประมาณ 5 ล้านคน
"ถามว่าทวิตเตอร์และเฟสบุ๊กจะเป็นเทรนด์เติบโตอย่างนี้ไปเรื่อยๆไหมคงต้องรอดู Google Wave ก่อน มันอาจจะมาแรง แต่ก็อาจจะเงียบหายไปเฉยๆ Wave อาจจะเข้าถึงพวกที่ต้องทำงานร่วมกันแบบ remote (ทางไกล) ได้มากกว่า"