"ทีซีซีแลนด์"ผู้ปลุกปั้น"พันธุ์ทิพย์พลาซ่า"ให้กลายเป็นศูนย์ไอทีกลางกรุงเทพฯ เปิดตัวศูนย์การค้าดิจิตอลไลฟ์สไตล์รูปแบบใหม่ของเมืองไทย "ดิจิตอลเกตเวย์" ณ เซ็นเตอร์พอยท์ พื้นที่ไข่แดงใจกลางสยามสแควร์ มั่นใจ 11 ปีคืนทุน 500 ล้านบาทด้วยการดึงกำลังซื้อจากคนทุกวัยที่เดินผ่านไปมาวันละแสนคนได้เพราะการรวมสินค้าดิจิตอลเข้ากับไลฟ์สไตล์ รับกระทบลูกค้าพันธุ์ทิพย์ประตูน้ำบางส่วนแต่เชื่อว่ากลุ่มตลาดจะแยกกันชัดเจนยิ่งขึ้น ย้ำเป็นมอลล์แห่งแรกในไทยที่จะไร้สินค้าไอทีเถื่อน 100% เพราะหากตรวจพบจะลงดาบขั้นสูงสุดด้วยการเลิกสัญญาเช่า
วิษณุ หวังวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการกลุ่มศูนย์การค้าไอที บริษัท ทีซีซี แลนด์ รีเทล จำกัด ให้สัมภาษณ์ในงานเปิดตัวศูนย์การค้าดิจิตอลเกตเวย์ ว่าสาเหตุที่วางยุทธศาสตร์ให้ศูนย์การค้าแห่งนี้มีหน้าร้านสินค้าไอทีในสัดส่วน 70 เปอร์เซ็นต์ คือประสบการณ์ที่บริษัทได้จากการบริหารงานพันธุ์ทิพย์พลาซ่าตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าธุรกิจจำหน่ายสินค้าไอทีจะเป็นอนาคตที่แยกไม่ออกจากไลฟ์สไตล์ของทุกคนทุกเพศทุกวัย
"บรรยากาศพันธุ์ทิพย์ไม่ได้น่าเดินเลย แต่ก็มีคนเดินวันละกว่า 3 หมื่นคน เรามองเห็นอนาคตตรงนี้ ทุกคนต้องเกี่ยวข้องกับไอทีหมด ทั้งเยาวชนและวัยทำงาน ในแง่ทำเล ที่นี่เหมาะจะจัดงานไอทีมากกว่าศูนย์สิริกิติ์ เราส่งคนมานับก่อนจะสร้างตึกแล้วว่ามีคนเดินผ่านไปมาในพื้นที่ประมาณวันละแสนคนต่อวัน"
วิษณุระบุว่าดิจิตอลเกตเวย์จะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าทีซีซีแลนด์มุ่งมั่นสร้างศูนย์การค้าไร้สินค้าเถื่อนผิดลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง เนื่องจากมีการระบุในสัญญาเช่าชัดเจน ว่าห้ามมีการจำหน่ายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งหากผู้เช่าผิดสัญญา บริษัทจะส่งคำเตือน และจะดำเนินมาตรการขั้นสูงสุดคือการบอกเลิกให้เช่า หากผู้เช่ายังทำผิดอยู่
"นี่จะเป็นที่แรกที่เป็นคลีนมอลล์ ระบุในสัญญาเลยว่าห้ามขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าเราพบจะเตือนก่อน หรือไม่ก็สุดท้ายอาจจะเลิกให้เช่าเลย มาตรการตรวจสอบคือการสุ่ม ตรงนี้เราร่วมมือกับบีเอสเอ (พันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์) และไมโครซอฟท์ ซึ่งจะมีความร่วมมืออื่นๆตามมา"
วิษณุย้ำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ค้านกับการบริหารงานพันธุ์ทิพย์พลาซ่าประตูน้ำ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งสินค้าไอทีเถื่อนชั้นนำของประเทศไทย
"เรามีนโยบายอยู่แล้ว แต่ทำอะไรไม่ได้เพราะร้านขายสินค้าผิดลิขสิทธิ์ในพันธุ์ทิพย์ผูกสัญญาเซ้งร้านนาน 30 ปี เชื่อว่านโยบายของเราจะเห็นชัดเจนหลังปี 2557 ซึ่งร้านส่วนใหญ่จะหมดสัญญา การเปิดดิจิตอลเกตเวย์มีผลกระทบกับลูกค้าพันธุ์ทิพย์แน่นอน แต่กลุ่มตลาดจะชัดเจน คือฮาร์ดคอร์ไปทางโน้น (พันธุ์ทิพย์) ส่วนที่นี่จะเน้นขายเก็ดเจ็ตเล็กๆน้อยๆ เน้นซื้อขายสะดวก เป็นสินค้าดิจิตอลที่เข้ากับไลฟ์สไตล์"
วิษณุระบุว่า พื้นที่ในดิจิตอลเกตเวย์นั้นราคาเช่าอยู่ที่ตารางเมตรละ 1,000-2,000 บาท สูงกว่าพันธุ์ทิพย์ประมาณเท่าตัว ราคาเช่าที่แพงขึ้นเชื่อว่าจะไม่กระทบกับราคาจำหน่ายสินค้า ที่จะอยู่ในระดับมาตรฐาน นอกจากร้านขายสินค้าไอที 70 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นร้านอาหารและเสื้อผ้าเบ็ตเตล็ด กลุ่มเป้าหมายในกลุ่มผู้ผ่านไปมาในสยามจำนวนแสนคนนั้นระบุไม่ได้ ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการทำตลาดของร้านค้าเอง
"เราประมาณสัดส่วนตลาดไม่ได้เพราะเราไม่ได้ขายเอง แต่เราให้เช่า เราหาพื้นที่ทำเลทองมาให้แล้ว ขึ้นอยู่กับว่าร้านค้าจะบริหารได้ดีขนาดไหน ตลาดค้าปลีกไอทีครึ่งปีหลังเชื่อว่าจะดี จากการพูดคุยกับร้านค้าที่พันธุ์ทิพย์ พบว่าปลายปี 51 ยอดขายลดลงประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ แต่ไตรมาสหนึ่งปีนี้ขึ้นมาแล้ว 3-4 เปอร์เซ็นต์ ดีขึ้นต่อเนื่องถึงไตรมาสสอง ทั้งปีผมคิดว่าไม่น่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 5-10 เปอร์เซ็นต์ จากที่ปกติควรจะเป็น 15 เปอร์เซ็นต์"
ตำแหน่งที่ตั้งของดิจิตอลเกตเวย์นั้นอยู่ตรงข้ามกับห้างสรรพสินค้าพารากอน ซึ่งมีส่วนไอทีมอลล์และเป็นสถานที่จัดงานแสดงสินค้าไอทีอย่างงานคอมเวิร์ล จุดนี้วิษณุเชื่อว่ากลุ่มเป้าหมายของดิจิตอลเกตเวย์เป็นคนละกลุ่มกับพารากอน
"คนเดินพารากอนเป็นกลุ่มฟุ้งเฟ้อ แต่ของดิจิตอลเกตเวย์จะเน้นเทคโนโลยี เน้นการเรียนรู้ เรามีส่วนจัดงานอีเวนต์งานไอทีเหมือนกัน และเริ่มจองแล้วมากกว่า 80 งาน เช่น เปิดตัววินโดวส์เซเว่นของไมโครซอฟท์ งานเปิดตัวคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ของเอเซอร์ และค่ายมือถือที่ยังบอกรุ่นและยี่ห้อไม่ได้"
ดิจิตอลเกตเวย์นั้นเป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ใจกลางสยามสแควร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บนสัญญาอายุ 15 ปีระหว่างจุฬาฯและบริษัท ทิพย์พัฒน อาร์เขต จำกัด ในเครือทีซีซีแลนด์ พื้นที่โครงการทั้งหมด 8,390 ตารางเมตร งบประมาณค่าก่อสร้างรวม 500 ล้านบาท เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2551 เสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนกรกฎาคม ประกอบด้วย 5 ชั้น 54 ร้านค้า เชื่อว่าจะคืนทุนได้ในปีที่ 11 ของโครงการ
วิษณุระบุว่าพันธุ์ทิพย์ประตูน้ำมีแผนปรับปรุงอาคารในปีนี้ แต่ต้องเลื่อนไปอีก 2-3 ปีเพราะพิษเศรษฐกิจและความพร้อมของร้านค้า โดยบริษัทมีแผนเปิดตัว"เกตเวย์เอกมัย"ในช่วง 2 ปีข้างหน้า เป็นโครงการบนพื้นที่ของสภากาชาดไทย ยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้แต่เชื่อว่าจะมีร้านค้าไอทีเป็นส่วนประกอบในมอลล์น้อยกว่าที่ดิจิตอลเกตเวย์ สยามสแควร์