xs
xsm
sm
md
lg

ศาลแพ่งตัดสินออโต้เดสค์ชนะคดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายโรแลนด์ ชาน
"บีเอสเอ" เผยศาลแพ่งไทยให้ออโตเดสค์ชนะคดีละเมิดลิขสิทธิ์ โรงงานผลิตพลาสติกขนาดใหญ่ที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ต้องจ่ายค่าเสียหาย 1.8 ล้านบาท ย้ำถ้าลดการละเมิดได้ปีละ 10% สามารถสร้างคนสร้างงานสร้างรายได้มหาศาล ชี้ศก.ทรุดคนแจ้งเบาะแสมากขึ้น

นายโรแลนด์ ชาน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาดประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือบีเอสเอ กล่าวว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้ตัดสินในคดีแพ่งให้โรงงานซึ่งตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ที่ละเมิดลิขสิทธิ์จ่ายค่าเสียหายจากการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน นอกจากนี้ยังคดีแพ่งอีกหลายคดี ที่บริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ฟ้องร้องกรณีละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฯ เมื่อรวมกับการตรวจค้นจับกุมบริษัทที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของตำรวจ คิดเป็นมูลค่ากว่า 150 ล้านบาทในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2552  

ทั้งนี้ ศาลฯ พิจารณาจากหลักฐานที่จำเลยซึ่งเป็นโรงงานผลิตพลาสติกขนาดใหญ่และมีฐานลูกค้าอยู่ในเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ และให้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ได้รับค่าเสียหายมูลค่า 1.8 ล้านบาท ซึ่งรวมถึงค่าความเสียหายของซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิด และดอกเบี้ยนับตั้งแต่มีการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนเป็นต้นไป

คดีนี้เริ่มต้นเมื่อปลายปี 2548 โดยการสืบสวนของตำรวจ นำไปสู่การเข้าตรวจค้นสำนักงานของบริษัท และพบซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ที่พนักงานของบริษัทใช้งาน หลังจากการดำเนินคดีในศาลอาญาจึงยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งและได้รับชัยชนะเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา

‘คำพิพากษาของศาลฯ แสดงให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่าบริษัทในประเทศไทยที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในการดำเนินธุรกิจต้องเผชิญกับความรับผิดในคดีอาญาและคดีแพ่ง’ ลีโอนาร์ด ยัง ผู้จัดการด้านลิขสิทธิ์ในกลุ่มประเทศอาเซียนของออโต้เดสค์กล่าวและว่าการฟ้องร้องดำเนินคดีเป็นทางเลือกสุดท้ายในกรณีที่ไม่สามารถตกลงกันในเชิงธุรกิจได้เท่านั้น

คดีนี้เป็นคดีที่ 2 ของปีแล้วที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางของไทยตัดสินให้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ได้รับชัยชนะในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมา ออโต้เดสค์ได้รับชัยชนะในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เป็นครั้งแรก และได้รับค่าเสียหายมูลค่า 3.5 ล้านบาท

สำหรับสถิติที่ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ได้รับชัยชนะในศาลแพ่งตอนนี้อยู่ที่ 100% และผู้เชี่ยวชาญต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การตัดสินในครั้งนี้จะเป็นต้นแบบในการดำเนินคดีแก่ธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ต่อไป

‘มีความเป็นไปได้ที่คดีนี้จะส่งผลให้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ตัดสินใจนำคดีขึ้นสู่ศาลแพ่งฯ มากขึ้น ตอนนี้เห็นได้ชัดแล้วว่าผู้พัฒนาซอฟต์แวร์มีโอกาสชนะในศาลแพ่งและเราหวังว่าจะมีบริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ทำเช่นนั้นมากขึ้น’นายชานกล่าว

นอกจากแนวโน้มที่ดีในศาลแพ่งแล้ว บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ของไทยเองยังได้รับประโยชน์จากการบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ไทยอย่างเข้มงวดของตำรวจกองปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (บก.ปศท.) ซึ่งดำเนินการสืบสวนและเข้าตรวจค้นจับกุมบริษัทที่ต้องสงสัยว่าละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ จำนวนกว่า 60 บริษัท ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้   

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (เอทีเอสไอ) คาดว่าในปี 2552 อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของไทยจะขยายตัวในอัตราที่ต่ำลง โดยจะอยู่ที่ 5% เมื่อเทียบกับ 18-19% ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยประเทศไทยมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สูงถึง 76% หนึ่งในซอฟต์แวร์ที่ถูกละเมิดมากที่สุดในไทยคือซอฟต์แวร์พจนานุกรมที่พัฒนาโดยไทยซอฟต์แวร์เอ็นเตอร์ไพร์สบริษัทคนไทยซึ่งก่อตั้งมานานกว่า 12 ปี

ผู้บริหารบีเอสเอกล่าวว่า หากไทยสามารถลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ปีละ 10% จะทำให้จีดีพีของประเทศมีมูลค่าสูงถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีการจ้างงาน 2,083 ตำแหน่ง สร้างรายได้ 55 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีเม็ดเงินอยู่ในประเทศกว่า 470 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม จากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ยอดรายงานการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์พุ่ง ซึ่งบีเอสเอพร้อมมอบเงิน 250,000 บาท สำหรับเบาะแสที่แจ้งผ่านสายด่วน 0-2714-1010

'เห็นได้ชัดว่าภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ส่งผลให้มีการรายงานการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ผ่านทางสายด่วนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราเองก็จะมีการรณรงค์โดยทำโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง' นายชานกล่าว

Company Related Links :
BSA
กำลังโหลดความคิดเห็น