สัมภาษณ์
ภาพกลุ่มเสื้อเหลือง-พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มคนเสื้อแดง –แนวร่วมประชาธิปไตยเพื่อต่อต้านเผด็จการ ในพื้นที่จ.พะเยา นั่งโต๊ะร่วมพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม2552 เป็นภาพที่ทำให้ผู้คนพากันสงสัยว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร
“ชัยวัฒน์ จันทิมา” บรรณาธิการหนังสือพิมพ์พะเยารัฐ ในฐานะผู้ประสานงานสถาบันปวงผญาพยาว จ.พะเยา ถือเป็นกลไกสำคัญของกระบวนการเสวนาแกนนำสีเหลือง กับ สีแดง ได้เปิดเผยเรื่องนี้ ตลอดจนแนวคิดและเบื้องหลังการทำงานครั้งนี้ ไว้อย่างน่าสนใจ
จุดเริ่มต้นที่คนเหลือง-แดง ออกมาพูดคุยกัน
เกิดจากความต้องการของคนทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเป็นแกนนำส่วนหนึ่ง ซึ่งเราเองก็ไม่รู้ว่าเป็นกลุ่มไหน คนเหลือง คือ คุณชุมพล มาลีนนท์ คนแดง คือ คุณศิริวัฒน์ ปัทมุถา ทั้ง2 ได้ติดต่อผ่านผู้สื่อข่าวน.ส.พ.พะเยารัฐมา หลังจากที่ได้ไปสัมภาษณ์และนำเสนอความคิดเห็นของคนทั้ง 2 ฝ่ายก่อนหน้านี้
หลังจากนั้น จึงได้นำมาสู่เวทีของสถาบันปวงผญาพยาว ซึ่งนัดหมาย 2 ฝ่าย มาพบปะกันในเบื้องต้น วันที่ 6 ตุลาคม 2552 พูดคุยแลกเปลี่ยนกันในวงเล็กๆ ที่ร้านกาแฟ สถาบันปวงฯเป็นเพียงผู้เปิดพื้นที่ให้เขาได้คุยกัน ย้ำว่า ไม่ใช่ความต้องการของเรา แต่เป็นความต้องการของคนทั้งสองกลุ่ม
รู้จักคนทั้งสองกลุ่มมากน้อยแค่ไหน
เราก็รู้จักเขาในข่าวที่ปรากฏตามสื่อส่วนกลาง ไม่เคยเจอหน้าทั้งสองฝ่ายมาก่อน เพราะตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา น.ส.พ.พะเยารัฐไม่ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นความขัดแย้งของกลุ่มเสื้อเหลืองเสื้อแดงแม้แต่น้อย เพราะเราเป็นสื่อท้องถิ่น และคิดว่านั่นเป็นประเด็นปัญหาการเมืองระดับประเทศ ที่มีใจกลางอยู่ที่กรุงเทพฯ คนท้องถิ่นต่างจังหวัดเป็นเพียงตัวประกอบเท่านั้น
ผมเจอแกนนำกลุ่มเหลืองกลุ่มแดงครั้งแรก ที่ร้านกาแฟ ซึ่งต่างคนก็ต่างแนะนำตัวเอง เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมเป็นใคร ผมบอกผมเป็นบรรณาธิการน.ส.พ.พะเยารัฐ เขายังถามว่าเป็นของใคร เป็นอิสระหรือเปล่า
บรรยากาศในการพูดคุยวันนั้นเป็นอย่างไร
เริ่มจากการแนะนำตัวเอง ตั้งแต่ชื่อ งานอาชีพที่ทำ มาอยู่จังหวัดพะเยาอย่างไร คิดอย่างไรกับจ.พะเยา เพราะแกนนำทั้งสองเป็นคนจากที่อื่น ซึ่งมาอยู่มาทำงานมากกว่า 10-20 ปี เขาก็คุยให้ฟัง รวมถึงเล่าประสบการณ์ของการชุมนุม เล่าเรื่องอื่นๆ ซึ่งก็มีการปะทะทางความคิดด้านการเมืองอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ถกเถียงรุนแรง ( อ่านรายละเอียดใน http://phayaorath.com/home)
อยากบอกว่า เวทีโต๊ะกลมที่จัดขึ้นมันไม่ได้เป็นทางการอะไร เรามาคุยมาพบปะกันในฐานะของคนท้องถิ่น เอาละ...มันจะเหลืองจะแดงอย่างไรก็คิดกันไป แต่ผมไม่อยากให้คนที่เป็นกองเชียร์หรือคนที่อยู่แต่ละข้างคิดแทนพวกเรา
คิดแทน หมายความว่าอย่างไร
คือ อย่าไปทำนายหรือพยากรณ์ไปในทางอื่นทางใด เพราะกระบวนการนี้มันเป็นเพียงจุดเริ่มต้น และอยากบอกว่า ในวงพูดคุยเราไม่ใช่ผู้กำหนดวาระ เราเปิดให้ทั้งสองฝ่ายเสนอความคิดว่า ถ้าอยากจะจัดเวทีแลกเปลี่ยนกันในโอกาสต่อไป อยากเห็นเวทีเป็นแบบไหน ประเด็นเนื้อหารูปแบบ กติกาอย่างไร ทุกคนก็เสนอมาแล้วมอบให้เราไปร่างหรือออกแบบมา แล้วกลับมาเจอกันอีกครั้งวันที่ 23 ตุลาคม ซึ่ง ได้ตกลงคร่าวๆ แบบนี้
เวทีที่ว่าจะออกแบบนั้นออกมาหรือยัง
ผมบอกไม่ได้ ซึ่งต้องได้รับการตกลงจากทั้งสองฝ่าย คิดว่านี่เป็นกระบวนการเรียนรู้ ไม่ใช่เวทีโต้คารมมัธยมศึกษา ไม่ใช่การดีเบส และท้ายที่สุดเวทีอาจจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ ซึ่งไม่ควรไปกระตุ้นหรือผลักดันในฐานะคนภายนอก อย่างไรก็ตาม ทั้งสองบอกว่า เวทีนี้อาจจะมีคนสีน้ำเงิน สีชมพู สีเขียว มาร่วมได้ นั่นแสดงให้เห็นว่า เรื่องนี้มันไปไกลกว่าเรื่องของคนสีเหลือเหลืองสีแดง
ส่วนตัวอยากให้เวทีออกมาอย่างไร
ไม่ใช่ผมอยากนะ แต่มันต้องอยากกันทั้งสังคม เวลานี้ตัวแทนเหลืองแดงเขาอยาก แม้จะเป็นเพียงสองสามคน แต่นี่คือ วงสนทนาที่มีความหมายต่อสังคมไทย
ผมไม่คิดว่าคนสีเหลืองสีแดงต้องถอดเสื้อมาแลกกัน หรือจับมือแลกธงกันเหมือนเล่นฟุตบอล ทุกคนยังดำเนินกิจกรรมการเมืองกับกลุ่มที่มีแนวคิดทางการเมืองของตนต่อไป เชื่อว่าคนเหล่านี้ได้ถูกบ่มเพาะความคิดมาอย่างน้อยก็ทำให้พวกเขามีความก้าวหน้าในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะภาคประชาชนที่จะเข้ามาสนใจการเมือง ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่ควรสนับสนุน ผมไม่เคยดูถูกผู้ชุมนุม หรือม็อบทุกม็อบ เพราะเคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มาแล้ว คิดว่า ถ้าคนเราไม่มีเรื่องอยากนำเสนอซึ่งส่วนใหญ่เป็นปัญหาหรือความทุกข์ของตนเอง ย่อมไม่ออกมาแสดงตน
ผมคิดว่า สีเหลืองสีแดงมีคุณูปการต่อการเมืองภาคประชาชน ไม่มีใครเลวร้ายในนั้นทั้งหมด เพียงแต่เขาอาจจะมีวิธีการหรือใช้เครื่องมือในการเคลื่อนไหวที่แตกต่างกัน คนเราต่างกันได้