xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ“ท่องเที่ยว”เป็นวาระแห่งชาติ (หน้า)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นับจากวันที่ 17 เมษายน 2552 ที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบให้ท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติว่าด้วยการท่องเที่ยว โดยมอบหมายให้นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน และมีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดทำ(ร่าง)แผนยุทธศาสตร์กู้วิกฤตและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว พ.ศ.2552-2555

ถึงวันนี้ผ่านมาครึ่งปีเต็ม ยังไม่เห็นความคืบหน้าของวาระแห่งชาติฉบับนี้ออกมาเป็นรูปธรรมมากมายนัก จนบางคนอาจลืมไปแล้วก็เป็นได้ ทั้งที่ช่วง 1-2 เดือนแรกหลังจาก ครม.มีมติ คำว่าท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติดูเหมือนจะคุ้นหู เพราะถูกกล่าวขานและตีความถึงกันอยู่บ่อยๆ

จุดประสงค์หลักที่รัฐบาลออกนโยบายนี้มา ก็หวังที่จะให้เกิดการบูรณาการท่องเที่ยวทั้งระบบ ให้ฟื้นตัวจากการบอบช้ำจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และการเมืองในประเทศ เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศจำนวนมหาศาล หรือว่าปีละ 5 แสนล้านบาท เป็นอุตสาหกรรมที่กระจายรายได้ลงสู่รากหญ้าและชุมชนอย่างแท้จริง ด้วยต้นทุนที่ต่ำ เพราะสินค้าคือความสวยงามของทรัพยากรประเทศ

ต่อไปนี้คือมุมมองของผู้ที่คร่ำหวอดในวงการท่องเที่ยวมานา ที่จะมาวิเคราะห็และฉายภาพที่เกิดขึ้น

นายอภิชาต สังฆอารี ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ และอดีตนายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า) กล่าวว่า ถึงวันนี้ยังมองไม่เห็นความชัดเจนของคำว่า “ท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ” เริ่มตั้งแต่ผู้ที่จะมานั่งเป็นประธาน ควรเป็นบุคคลที่มีอำนาจสั่งการได้ทุกกระทรวง ทบวง และ ทุกหน่วยงาน เพราะคำว่าวาระแห่งชาติ และคำว่าท่องเที่ยว
ไม่ได้จำกัดอยู่แค่กระทรวงการท่องเที่ยว เช่น เรื่องวีซ่าก็เป็นของกระทรวงการต่างประเทศ เรื่องการเดินทางเป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคม เรื่องแหล่งท่องเที่ยวบางแห่งก็อยู่ในความดูแลของกระทรวงเกษตร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ดังนั้น จึงยังมองว่าผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งประธานการทำงาน ควรจะเป็นนายกรัฐมนตรี หรือ รองนายกรัฐมนตรี เพราะสามารถประสานการทำงานได้กับทุกหน่วยงาน ซึ่งภาคเอกชนก็เคยทำหนังสือเสนอต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ “ทุกอย่างก็เงียบเฉย”

ถึงวันนี้อยากจะบอกว่า หากคิดจะเดินหน้าวาระแห่งชาติฉบับนี้ต่อไปให้ได้อย่างรวดเร็วทันนำมาใช้แก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและการตั้งรับในอนาคต ก็ขอให้ทุกฝ่ายเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก หยุดคิดว่า ท่องเที่ยวเป็นเพียงอำนาจการจัดการของพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวแล้วไม่กล้าที่จะเข้ามาก้าวก่าย

ทั้งที่ประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติไปแล้วแต่ก็ยังติดปัญหาที่การเมืองรวมตัวกันไม่ได้ เพราะความเกรงใจในความเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเดียวกัน ถ้าคิดเช่นนี้ความเป็นวาระแห่งชาติของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวคงไม่ออกมาสมบูรณ์แน่นอน

ส่วนด้านนโยบาย ตั้งแต่มีการจัดตั้งกระทรวงการท่องเที่ยวมา ยังไม่เคยเห็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวคนใดที่จะมีความชัดเจน นอกเสียจากนโยบายของนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ออกมาประกาศชัดเจนถึงภารกิจหลักของกระทรวงการท่องเที่ยว คือ สะอาด สะดวก และปลอดภัย แต่ก็ไม่ได้มีใครหยิบมาสานต่อหรือจับใส่ไว้ในภารกิจของการผลักดันให้ท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ เพราะเชื่อว่าหากสามารถทำ 3 ประเด็นดังกล่าวได้สมบูรณ์ ท่องเที่ยวของประเทศไทยก็เป็นท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของนโยบายด้านจำนวนนักท่องเที่ยวที่กลับไปกลับมา เดี๋ยวคนนี้จะไม่เน้นจำนวน เน้นแต่นักท่องเที่ยวคุณภาพ เดี๋ยวคนนั้นจะมุ่งจัดยอดเพื่อเป็นสิ่งยืนยันในการของบประมาณ ซึ่งภาคเอกชนเข้าใจดีว่าการของบประมาณได้ต้องมีเป้าหมาย ดังนั้นต้องการแนะว่า ให้เดินนโยบายทั้งสองแบบ เพราะนักท่องเที่ยวคุณภาพ หรือนักท่องเที่ยวไฮเอนด์ก็ไปเน้นกลุ่มการจัดประชุมสัมมนา หรือท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล(ไมซ์) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปสูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไป 2-3 เท่า ขณะเดียวกันก็ต้องกระตุ้นนักท่องเที่ยวทั่วไป ที่ต้องการเดินทางเข้ามาพักผ่อนด้วยการนำเสนอความคุ้มค่าเงินหรือ แวลู ฟอร์ มันนี่

เหนือสิ่งอื่นใดท่องเที่ยวไทยจะเดินต่อไปได้อย่างไร หากความวุ่นวายทางการเมืองยังไม่จบสิ้น ยังมีนัดชุมนุมกันอยู่เป็นระยะๆ รัฐบาลเองก็ต้องการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติเขาอาจคิดว่า ไว้ให้สงบก่อนแล้วค่อยไปเที่ยวจะดีไหม???

ดังนั้นภาคเอกชนมีความมั่นใจว่าหากประเทศไทยมีความสงบเรียบร้อย อย่าว่าแต่เป้าหมาย 14 ล้านคนที่ตั้งไว้ในปีนี้เลย จะเป็น 20 ล้านคน ภายใน 5 ปี ก็สามารถทำได้แน่นอน

หรือว่าคงต้องรอชาติหน้า ท่องเที่ยว ถึงจะได้เป็น วาระแห่งชาติ (หน้า) จริง ๆ
ชุมพล ศิลปอาชา
อภิชาต สังฆอารี
กำลังโหลดความคิดเห็น