น้อยคนนักที่จะรู้ว่า “เทิดภูมิ ใจดี” เป็นหนึ่งในคนที่ชอบสะสมพระเครื่องเนื่องเพราะตลอดเส้นทางชีวิตและการต่อสู้ของเขานั้น ไม่เคยบ่งชี้ว่าจะเป็นคนแบบนั้น
หลายคนรู้จักเขาในฐานะอดีตเชฟฝีมือเยี่ยมแห่ง ร.ร.ดุสิตธานี ร.ร.เชอราตัน และหลายคนรู้จักเขาในฐานะอดีตผู้นำแรงงานที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519
ชื่อของเขากลับมาเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากการตัดสินใจเข้าร่วมกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย 193 วัน มีชื่อเป็น 1 ใน 9 ขบถแผ่นดิน และล่าสุดได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่(กมม.)
ในวันนี้ เทิดภูมิจะมาบอกเล่าถึงเรื่องราวชีวิตในอีกมิติหนึ่งที่อาจทำให้หลายคนแปลกใจ เพราะเขาคือหนึ่งในผู้สะสมพระเครื่องที่ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา และพระเครื่องที่เขาให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ “พระสมเด็จ” ที่สร้างขึ้นโดย “สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) 1 ใน 5 ของเบญจภาคีพระเครื่อง ซึ่งหลายคนอยากมีไว้ในครอบครอง
เทิดภูมิ เล่าย้อนว่า ช่วงแรกของชีวิตไม่ชอบพระและไม่เคยคิดที่จะสนใจพระเครื่องเลยแม้แต่นิดเดียว แม้ว่าจะคุ้นเคยกับวัดตั้งแต่สมัยเป็นเด็กวัดอยู่ที่วัดหงส์รัตนาราม หรือช่วงที่เป็นผู้นำกรรมกรที่มีคนอยากให้มีของดีไว้ติดตัวเพื่อป้องกันอันตราย ซึ่งก็มีคนให้พระมาตลอด แต่ก็ไม่เคยเก็บเอาไว้และไม่สนใจ
แต่แล้วจุดเปลี่ยนของชีวิตก็เกิดขึ้นในวันหนึ่งขณะทำงานในโรงแรม เหตุเพราะมีรุ่นน้องที่สนใจใน “พระสมเด็จวัดระฆัง” ปรากฏว่าเจริญก้าวหน้า เป็นที่รักใคร่ของผู้หลักผู้ใหญ่ อีกทั้งได้ข่าวของ “ยอดชาย เมฆสุวรรณ” ซึ่งเป็นลูกศิษย์วัดเดียวกันได้พระสมเด็จวัดระฆังไปก็เจริญก้าวหน้า มีชื่อเสียงในหน้าที่การงาน ทำให้สนใจในพระสมเด็จขึ้นมา
“พอดีรู้จักกับคุณประโพธ เปาโรหิตย์ ซึ่งรู้ตอนหลังว่ามีพระสมเด็จสวยที่สุดในไทย แกบอกว่า ควรหาพระดีๆ มาใช่ ผมบอกว่าไม่รู้จะหาพระดีๆ มาจากไหน และอยากได้พระสมเด็จ แกรับปากจะหาให้ ระหว่างที่รอ พลเอกกฤษณ์ ศรีวรา ก็เอาพระมาให้ผมกับประโพธคนละองค์ เป็นเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต บอกว่าพระองค์นี้เป็นพระใหม่แต่มีพุทธคุณสูง กันลูกปีน กันระเบิดได้ ผมก็เลยห้อยติดตัวเรื่อยมา ครั้งที่โดนกระหน่ำยิงที่แยกบางขุนพรหม หรือรบอยู่ในป่าสมัยเป็นคอมมิวนิสต์ก็มีเจ้าคุณนรฯติดตัวตลอด”
“เหตุการณ์ที่จำได้ไม่ลืมคือ ผมไปร่วมงานวันแรงงานแห่งชาติที่ธรรมศาสตร์ พระเจ้าคุณนรฯที่ พล.อ.กฤษณ์ให้อยู่ก็หลุดหายไปจากคอ หาเท่าไหร่ก็ไม่เจอ พอดีช่วงนั้นมีการประชุมที่บ้านพี่ยอดธง(ทับทิวไม้) เขาก็ชวนกันไป ผมตอบปฏิเสธไปเพราะรู้สึกไม่สบายใจที่พระหาย ตอนนั้นผมตั้งจิตอธิษฐานว่า เราเป็นคนไม่เชื่อพระแต่ถ้าพระมีพุทธคุณจริงก็ขอให้กลับมา ซึ่งไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อว่า พระที่หล่นหายไปในที่ชุมนุมซึ่งมีคนนับหมื่นนับแสน พี่ยอดธงเป็นคนเก็บได้ ทำให้ผมเริ่มศรัทธาในพระเครื่องนับแต่นั้นเป็นต้นมา”
ก่อนปี 2535 ขณะที่เทิดภูมิรับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา “พลเอกมานะ รัตนโกเศศ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ปรากฏมีหญิงนิรนามคนหนึ่งทักเขาว่าต้องมีพระสมเด็จ มีเบญจภาคี พร้อมแนะนำให้สวดคาถาชินบัญชร และให้บทสวดฉบับย่อมาให้ท่อง ....แต่จนแล้วจนเล่าก็ยังไม่ได้พระสมเด็จมาไว้ในครอบครอง
อย่างไรก็ตาม วันหนึ่งความฝันของเทิดภูมิก็กลายเป็นความจริงเมื่อตัดสินใจเปลี่ยนร้านอาหาร “พระสังข์รจนา” จากที่ขายอาหารฝรั่งเป็นอาหารไทย ปรากฏว่าแม่ครัวคนใหม่มีพระสมเด็จ 3 องค์ซึ่งเป็นมรดกตกทอด และเห็นว่า เทิดภูมิสนใจในพระเครื่อง จู่ๆ ก็ยื่นพระสมเด็จวัดระฆัง ฐานแซม พร้อมเลี่ยมตลับทองมาให้เสร็จสรรพ
นับจากนั้นผู้ใฝ่ฝันจะได้พระสมเด็จมาตลอดก็หาซื้อกล้องแบบที่แพงที่สุด ส่องพระสลับกับดูหนังสือพระทั้งวันทั้งคืน แม้จะมีพระสมเด็จแค่องค์เดียวก็ตาม
“ที่ผ่านมาผมจะดูเองไม่ผ่านเซียน ถ้าใครกล้าให้เวลาเรา 7 วัน จะให้ข้อสรุปว่าใช่หรือไม่ใช่ของแท้ เพราะผมศึกษามาเยอะ พระสมเด็จต้องส่องตอนเช้าๆ กับแสงแดดอ่อนๆ ถ้าเป็นพระสมเด็จแท้จะส่องประกายเม็ดผงบดออกมา ทำใจนิ่งๆ ส่องดู พร้อมสวดคาถาชินบัญชร”
เทิดภูมิ บอกว่า สำหรับองค์ที่อาราธนาขึ้นคอเป็นประจำมีองค์เดียวคือหลวงปู่ทวดพิมพ์กลักไม้ขีด ซึ่งเป็นพิมพ์ที่หายากมาก มีคนขอซื้อเป็นล้านแต่ไม่ขายเพราะต้องการเอาไว้ใช้ นอกจากนี้ยังมีเหล็กไหลหลวงปู่พรหมมา และชิ้นส่วนของหลวงปู่ทวดที่มีพันธมิตรฯ คนหนึ่งนำมาให้เพื่อคุ้มครองระหว่างการชุมนุม ซึ่งหลังจากตรวจอย่างละเอียดก็พบว่า เป็นเนื้อเดียวกับหลวงปู่ทวดเนื้อว่านปี 97 จึงติดตัวเป็นประจำ
แต่หากต้องเดินทางไกลหรือคาดว่าอาจจะต้องเผชิญกับอันตรายจะแขวนชุดใหญ่ ประกอบด้วย สมเด็จสองคลอง (สร้างวัดระฆังฝากกรุวัดบางขุนพรหม) พระคงลำพูน หลวงปู่ทวด เจ้าคุณนรฯ และหลวงปู่ศุขวัดปากคลองมะขามเฒ่า
“เวลาไปไหนมาไหนก็แขวนพร้อมกับสวดมนต์ไปด้วย บูชาพระพุทธคุณ เราเป็นคนดี ประพฤติดี เชื่อว่าพระจะคุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัย”เทิดภูมิฝากแง่คิดทิ้งท้าย
**ภาพโดย...วรวิทย์ พานิชนันท์