xs
xsm
sm
md
lg

Commodities Corner:ฤๅตลาด Commodity โลก จะเปลี่ยนผู้นำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว หากมีคำถามว่า ประเทศใดเป็นผู้นำทางการเมือง เศรษฐกิจ การเงิน การลงทุนของโลกแล้ว คำตอบคงหนีไม่พ้นสหรัฐอเมริกา และในขณะเดียวกันหากมีคนบอกว่า ในอนาคตจีนจะก้าวขึ้นมาแทนที่สหรัฐฯ ขณะที่อินเดียจะเป็นประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีของโลกคาดว่าหลายคนคงมองเป็นเรื่องตลก แต่มาวันนี้ เรื่องตลกในอดีต กำลังจะเป็นจริง

ในงานฉลองครบรอบ 60 ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้จัดงานฉลองอย่างยิ่งใหญ่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ในกรุงปักกิ่ง นอกจากนี้นายเหวิน เจียเปา นายกรัฐมนตรีของจีน ได้กล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงรับรองว่า ในอีก 40 ปีข้างหน้า จีนจะฉลองครบรอบ 100 ปี ของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจะนำความเจริญรุ่งเรือง ทรงอิทธิพล และเป็นประเทศสังคมนิยมก้าวหน้าเหนือกว่าประเทศตะวันตกให้ได้

การแสดงออกถึงความพร้อมและความมั่นใจของจีนที่จะก้าวเข้ามาแทนที่สหรัฐฯ ดูเหมือนจะไม่เกินความเป็นจริงนัก เนื่องจาก หลังวิกฤตเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์เมื่อกลางปี 51 ที่ผ่านมานั้น นำไปสู่แนวคิดการลดบทบาทของดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะสกุลเงินทุนสำรองของโลก นำโดยการเคลื่อนไหวของจีน รัสเซีย อินเดีย และบราซิล ซึ่งสนับสนุนให้ทั่วโลกหันมาใช้หน่วยเงินสำรองระหว่างประเทศ ในรูป Special Drawing Right (SDR) ซึ่งเป็นระบบตะกร้าเงินของ IMF เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศแทนดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าว เรื่องการประชุมระหว่างกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันในคาบสมุทรอาหรับ อาทิ ซาอุดิอาระเบีย อาบูดาบี คูเวต และการ์ตา ร่วมกับประเทศจีน รัสเซีย ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น ในการวางแผนหยุดการใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นหน่วยในการซื้อขายน้ำมัน อย่างไรก็ตามหลังกระแสข่าวดังกล่าว รัฐบาลของประเทศข้างต้นต่างออกมาปฏิเสธ แต่ข่าวดังกล่าวก็ทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า  "หมดยุคที่ดอลลาร์สหรัฐมีอิทธิพลต่อราคาน้ำมันโลกแล้วหรือยัง "

เหตุผลที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง ก็คือ ในปัจจุบันประเทศจีนซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายสำคัญของโลกมีปริมาณความต้องการบริโภคน้ำมันในระดับสูงโดยคิดเป็นอัตราส่วนแบ่งราว 1 ใน 10 ของการบริโภคของโลก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต

นอกจากนี้เมื่อเดือน วันที่ 24 เม.ย. 52 ที่ผ่านมา รองเลขาธิการใหญ่สมาคมทองคำจีน ได้เปิดเผยว่า จีนจะสร้างทุนสำรองทองคำ ถึง 5,000 ตัน เนื่องจากสถานภาพใหม่บนเวทีระหว่างประเทศ และวิกฤตการเงิน ซึ่งทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และอาจลดความสำคัญลงในทุนสำรองสกุลเงินระหว่างประเทศลง

นอกจากสินค้าโภคภัณฑ์ประเภทน้ำมัน ทองคำ ที่เริ่มเปลี่ยนขั้วอำนาจการกำหนดราคาแล้ว สินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการปฏิรูปอุตสาหกรรม อาทิ เหล็ก ทองแดง ก็มีแนวโน้มจะอยู่ในเงื้อมมือของจีนและอินเดียเช่นกัน

ดูเหมือนกระบวนการเปลี่ยนขั้วอำนาจในการกำหนดราคาสินค้าโภคภัณฑ์ของโลกที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เป็นสิ่งที่สหรัฐฯ มองเห็นเช่นเดียวกัน โดยล่าสุดกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ออกมาเตือนจีนอย่างแข็งกร้าวว่า ควรทำให้เงินหยวนยืดหยุ่นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากสหรัฐฯ เห็นว่าจีนบิดเบือนค่าเงินหยวนให้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและกระตุ้นการส่งออกของจีน อย่างไรก็ตามกระบวนการสกัดดาวรุ่งพุ่งแรงอย่างจีน อาจทำได้ไม่ง่ายนักเนื่องจากจีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ โดยถือครองพันธบัตรของสหรัฐฯ มากที่สุดและมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่พุ่งขึ้นไปอยู่ ณ ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.27 ล้านล้านเหรียญ

นอกจากนี้สถาบันการเงินอันดับต้นๆ ของสหรัฐฯ อย่างโกลด์แมน แซคส์ มีการประเมินว่า ปี 2050 ขนาดเศรษฐกิจ (หรือ จีดีพี) ของจีนจะใหญ่กว่าสหรัฐฯ  ซึ่งนักลงทุนทั่วโลกกำลังจับตาดูตัวเลขเศรษฐกิจของจีนสัปดาห์นี้ ที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าตัวเลขจีดีพีของจีนอาจจะขยายตัวได้เฉียด 9% ในไตรมาสสาม ซึ่งหากจีดีพีของจีนออกมาดีดังว่า ก็จะช่วยจุดประกายการคาดการณ์ดีมานต์ในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ในทางบวกมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น