xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจชง กรอ.ดันระยองสู่เขตพิเศษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-เอกชนเสนอ “อภิสิทธิ์” เวทีกรอ.วันนี้ แก้ปัญหามาบตาพุด ดันระยองเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เฉพาะมาบตาพุดหรือพื้นที่ใกล้เคียง ช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่คนในพื้นที่ หลังเปิดทางให้ภาษีกลับคืนสู่ท้องถิ่นนับแสนล้านบาท พร้อมยันเอกชนใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม และพร้อมทุ่มงบ 1.7 หมื่นล้านแก้ปัญหา นักลงทุนญี่ปุ่นและหอการค้าต่างประเทศ ย้ำต้องแก้ปัญหามาบตาพุดให้จบภายในสิ้นปี ไม่เช่นนั้นนักลงทุนเผ่น ด้านกมธ.วุฒิสภาลงพื้นที่รับฟังปัญหา

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะทำงานกรณีมาบตาพุดภายใต้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) วานนี้ (20ต.ค.) ว่า จะเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหามาบตาพุดต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันนี้ (21 ต.ค.)

ทั้งนี้ จะเสนอให้มีการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในพื้นที่จังหวัดระยอง โดยเฉพาะมาบตาพุดขึ้น โดยมีแนวคิดที่จะให้รัฐพิจารณาการจัดเก็บภาษีต่างๆ ที่ส่วนใหญ่บริษัทเอกชนจ่ายที่ส่วนกลางตามที่ตั้งบริษัทให้ย้ายไปเป็นการจ่ายยังท้องถิ่นแทน โดยสนับสนุนให้คนในโรงงานย้ายทะเบียนบ้านมาเป็นคนในพื้นที่ได้เพื่อที่รัฐจะสามารถจัดสรรงบประมาณได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจุบันระยองมีประชากรแฝงจำนวนมากทำให้การจัดสรรงบประมาณในการดูแลระบบสาธารณสุขและสาธารณูปโภคไม่เพียงพอกับประชากรในพื้นที่

“ภายใต้แนวทางดังกล่าวจะเสนอให้มีการจัดตั้งจังหวัดระยองเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ special economic zone ขึ้น ซึ่งอาจจะกำหนดเฉพาะพื้นที่มาบตาพุด หรือพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้สอดรับการแนวทางการบริหารภาษีท้องถิ่น”นายสันติกล่าว

นอกจากนี้ ภาคเอกชนจะยืนยันด้วยว่าได้ใส่ใจปัญหาสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรกในการดำเนินธุรกิจ และทุกโครงการที่ลงทุนได้ดำเนินการอย่างเข้มงวดตามแนวทางที่ได้ทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และพร้อมดำเนินการใช้เงินกว่า 17,000 ล้านบาทในแผนลดและขจัดมลพิษเพื่อให้มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

สำหรับ 76 โครงการลงทุนในมาบตาพุด ยืนยันว่าเมื่อโครงการเกิดขึ้นจะช่วยลดมลพิษ เพราะใช้เกณฑ์ลดมลพิษเท่าใดให้ลงทุน 80% หรือตามมาตรการ 80-20 และสนับสนุนแนวคิดการดำเนินงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ หรือ Eco Industrial Town อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน จะขอให้รัฐบาลสนับสนุนแนวทางในการออกกฎหมายลูกรวมถึงมาตรการรองรับชั่วคราวอย่างเร่งด่วน

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า กรณีที่เสนอจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นจะต่างจากเขตอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์ เพราะจะเป็นการบริหารจัดการโดยเฉพาะในแง่ของภาษีต่างๆ ที่เคยเข้ามาอยู่ส่วนกลางเป็นส่วนใหญ่ก็จะสามารบริหารไปยังท้องถิ่นแทน ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้มีภาษีต่างๆ กลับไปยังพื้นที่จังหวัดระยองนับแสนล้านบาทแทนที่จะเข้ามายังส่วนกลาง ขณะที่เขตอุตสาหกรรมเชิงนิเวศน์จะเน้นไปที่การวางระบบผังเมือง ระบบสาธารณูปโภคเป็นหลัก  

นายชายน้อย เผื่อนโกสุม ประธานกลุ่มโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส.อ.ท.กล่าวว่า แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านภาษีใหม่นี้จะส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตของชาวจังหวัดระยองดีขึ้น เพราะมีประชากรแฝงมาก แต่ที่ผ่านมาจัดสรรงบประมาณตามจำนวนคนในพื้นที่จริงยังไม่เพียงพอกับความต้องการจึงจะเสนอให้รัฐจัดระบบบริหารภาษีต่างๆ ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภาษีนิติบุคคล บุคคลธรรมดา ที่จะให้เข้าถึงท้องถิ่นโดยตรง

“ตัวอย่าง VAT นั้น เวลานี้จ่าย 7% แต่ท้องถิ่นจะหักไว้ได้เพียง 3% แล้วที่เหลือส่งคืนคลังเพื่อนำมาจัดสรรเป็นงบประมาณให้ภายหลัง ก็จะต้องมาดูว่าควรจะจัดอย่างไรให้ท้องถิ่นได้มากขึ้น เพื่อความเหมาะสมซึ่งภาษีทั้งหมดเอกชนไม่ได้จ่ายเพิ่ม หากแต่เป็นการโยกจากส่วนกลางที่ได้เต็มที่ไปอยู่ท้องถิ่นให้เหมาะสม”นายชายน้อยกล่าว

**ญี่ปุ่นแนะควรชัดเจนภายในปีนี้

นายฟูคูจิโร่ ยามาเบะ รองประธานหอการค้าญี่ปุ่น กรุงเทพฯ กล่าวว่า นักลงทุนญี่ปุ่นมีความกังวลและเป็นห่วงปัญหามาบตาพุดมาก โดยหวังว่าเรื่องนี้น่าจะได้ข้อสรุปหรือแนวทางที่ชัดเจนจากรัฐบาลไทยอย่างเร่งด่วน เพราะหากเกินไปถึงปี 2553 ถือว่าช้าเกินไปสำหรับนักลงทุน และอาจจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยอย่างมาก

“นักลงทุนญี่ปุ่นรู้สึกเป็นห่วงกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในมาบตาพุด หวังว่าเรื่องนี้จะได้รับการแก้ปัญหาให้เร็วที่สุด หากยืดเยื้อถึงปีหน้าเป็นสิ่งที่นานเกินไปสำหรับนักลงทุน อาจจะส่งผลกระทบต่อการเข้ามาลงทุน และขณะนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นไม่สามารถตอบคำถามในเรื่องมาบตาพุดกับสำนักงานใหญ่ได้ เพราะไทยยังไม่มีกฎหมายออกมารองรับในเรื่องนี้อย่างชัดเจน

**หอ ตปท.รับเกิดผลกระทบ

นายนันเดอร์ วอน เดอลูว์ ประธานหอการค้าต่างประเทศในไทย กล่าวว่า คำสั่งศาลปกครองที่ให้ชะลอการลงทุนในมาบตาพุด ยอมรับว่าสร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างมาก เพราะที่ผ่านมา นักลงทุนทำทุกอย่างตามกฎหมาย และเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนในอนาคตเช่นกัน ดังนั้น ทางออกในเรื่องนี้นอกจากจะแก้ปัญหาในมาบตาพุดให้จบโดยเร็ว ควรต้องหาทางป้องกันไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นทั่วประเทศไทย เหมือนในกรณีมาบตาพุดมาอีกในอนาคต ซึ่งต้องการให้ไทยเร่งสรุปความชัดเจนเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด

**กมธ.วุฒิสภาลงพื้นที่มาบตาพุด

วานนี้ (20 ต.ค.) คณะกรรมาธิการวุฒิสภา 5 คณะ ประกอบด้วยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา นายสมชัย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและคุ้มครองผู้บริโภควุฒิสภา เป็นต้น ได้เดินทางลงพื้นที่ จ.ระยอง เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบมลพิษจากภาคอุตสาหกรรมจากโรงงานมาบตาพุด โดยเดินทางไปที่บ้านของนายน้อย ใจตั้ง อายุ 69 ปี หมู่บ้านคลองน้ำหู ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง ซึ่งได้มีประชาชนจากชุมชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมมาบตาพุด มาร่วมชี้แจงให้คณะกรรมาธิการฯได้รับทราบถึงปัญหา

ทั้งนี้ นายน้อย ชี้แจงว่า ที่ผ่านมารัฐไม่เคยช่วยเหลืออย่างจริงจังกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ทุกวันนี้ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากน้ำในบ่อน้ำตื้น อากาศเป็นพิษ ขยะพิษลอบทิ้งในที่สาธารณะ ทุกวันนี้พวกตนต้องซื้อน้ำกิน

ด้านนายสุรชัยกล่าวว่า การมาลงพื้นที่ครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการที่ศาลปกครอง มีคำสั่งชั่วคราวให้ระงับ 76 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งมีเสียงสะท้อนจากสังคมทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ จึงได้นำทีมมาศึกษาข้อมูล เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาของมาบตาพุดอย่างยั่งยืน การมาครั้งนี้จึงมากันหลายคณะ โดยเฉพาะ กมธ.ด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นอีกมิติหนึ่งที่ว่า ต่อไปนี้การก่อสร้างโครงการต่างๆ ไม่ใช่ทำแต่เฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA แต่ต้องทำ HIA หรือผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชนควบคู่กันไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมี กมธ.เศรษฐกิจการพาณิชย์ และอุตสาหกรรม ที่จะมาดูเรื่องผลกระทบของการลงทุน และกมธ.สิทธิมนุษยชนฯ ที่จะมาดูเรื่องมาตรา 66/67 ของรัฐธรรมนูญ ที่ให้สิทธิประชาชนสามารถปกป้องสิ่งแวดล้อม รวมถึงให้สิทธิประชาชนมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กำลังโหลดความคิดเห็น