xs
xsm
sm
md
lg

"มาร์ค"แตกหัก! รถไฟ ไม่ให้สหภาพฯ ต่อรอง "ซาเล้ง"กร้าวฟัน พนง.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – เดือด นายกฯ ลั่นไม่อ่อนข้อสหภาพฯรถไฟ “โสภณ” เติมเชื้อ สั่งสอบกราวรูดพนักงานลาหยุด ด้านสหภาพรถไฟยันสภาพรถปลอดภัยเคลื่อนขบวนทันที แฉแผนซ้อนแผนทิ้งผู้โดยสารกลางทาง ส่วนประชาชนสุดทนแจ้งความดำเนินคดีพนักงานรถไฟ ครม.ถกด่วนวันนี้

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) หยุดเดินรถไฟสายใต้เป็นวันที่ 4 ว่า ตนเชิญนายโสภณ ซารัมย์ รมว.กระทรวงคมนาคม มาสรุปปัญหาที่เกิดขึ้น 2 ประเด็นคือ การปฏิรูปรถไฟ ซึ่งขณะนี้กระทรวงกำลังเตรียมเสนอแผน ซึ่งต้องลงทุนระบบรางอีกมากหากมีปัญหาเช่นนี้จะไปไม่รอด

ส่วนปัญหาเฉพาะหน้าให้คณะกรรมการรถไฟไปดูว่า จะมีวิธีการเปิดบริการเร็วที่สุดได้อย่างไรโดยไม่เสียหลักการ คือ ไม่ยอมตามข้อต่อรองที่ไม่ให้เอาผิดกับคนทำผิด หากทำผิดก็ต้องยอมรับผลการกระทำนั้น

ส่วนประเด็นที่ว่า พนักงานไม่กล้าวิ่งเพราะรถมีปัญหา นายกฯ กล่าวว่าหากมีปัญหาจริงก็ไม่เป็นความผิด แต่ขณะนี้กำลังตรวจสอบคือ เรื่องการลางาน ระบบบริการที่ต้องแจ้งล่วงหน้า เหตุผลในการปล่อยผู้โดยสารทิ้งกลางทาง

นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงเรื่องที่มีการขู่ว่าหากไม่ทำตามข้อเรียกร้องจะปิดสถานีหัวลำโพงว่า ไม่เคารพกฎหมาย กฎระเบียบ ปัญหาจะมากขึ้นเรื่อยๆ ทำได้ครั้งหนึ่งก็จะทำอีก อยากบอกว่ามีข้อเรียกร้องอะไรให้มาพูดคุยกัน ไม่ใช่มาทำให้พี่น้องประชาชนเดือดร้อน คำอธิบายในการหยุดรถก็ไม่ตรงกัน ตกลงปัญหาอยู่ที่ตัวระบบ ปัญหาตัวรถจักร พนักงานลา หรืออะไรกันแน่ ควรมาพูดกันอย่างตรงไปตรงมา

“เราให้ความเป็นธรรมแน่นอน ไม่ต้องกลัวว่าจะไปกลั่นแกล้งหรืออะไร แต่ว่าจะมาบอกว่า ขอถ้าใครผิดแล้วไม่ให้ผิด เราคงไปยอมอย่างนั้นไม่ได้ การมาต่อรองถ้าเอาผิดจะปิดมากขึ้น จะมาต่อรองในลักษณะนี้ไม่ได้ ผมบอกไปแล้วว่า งานนี้จะต้องมีการไปดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา ไม่สามารถไปโอนอ่อนข้อเรียกร้องที่จะไม่ให้เอาผิดหรืออะไรได้” นายกรัฐมนตรี กล่าวและเชื่อว่า หากความขัดแย้งไม่ลุกลามบานปลายออกไป ทำอย่างที่คุยกับรัฐมนตรีได้ อีก 2 วัน การเดินรถจะกลับมาเป็นปกติ แต่หากปัญหาไม่คลี่คลายก็พร้อมเชิญทุกฝ่ายมาพูดคุย

ส่วนข้อเสนอให้ที่ปลดผู้ว่าการ รฟท. โดยหยุดรถกดดันนั้น นายกรัฐมนตรี ตอบว่า จะใช้วิธีการอย่างนี้ไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้บริหารมีส่วนต้องรับผิดชอบกับปัญหาที่เกิดขึ้นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลก็ต้องพิจารณา ถ้าจะให้รัฐบาลลงโทษฝ่ายบริหาร เพราะฝ่ายพนักงาน สหภาพฯหยุดตามใจชอบอันนี้ก็ไม่ได้

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า คิดว่ามีประเด็นที่มีข้อขัดแย้งกันอยู่ในภายในการรถไฟฯ ที่ต้องหาทางยุติให้ได้ รัฐบาลให้รมว.คมนาคม เป็นผู้เข้าดูปัญหาทั้งหมด เป็นเรื่องภายในที่กระทรวงคมนาคมต้องแก้ไข ชั้นต้นจะเรียกผู้บริหารทั้งหมดมาพูดคุย แล้วดูทั้งระบบว่าต่อไปจะทำอย่างไรแล้วทำรายงานเสนอต่อครม.คาดว่าไม่กี่วันคงรู้ผล

ส่วนประเด็นคำถามที่ว่าพนักงานต้องบีบให้ผู้ว่าฯ ออกจากตำแหน่ง และยังมีปัญหาแอร์พอร์ตลิงค์ นายสุเทพ กล่าวว่า ก็ดี ครั้งนี้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฯ จะได้ชำระสะสางปัญหาเหล่านี้เสียที

**ยืนกรานไม่เจรจาสหภาพฯ

ในช่วงเช้าของวานนี้ (19 ต.ค.) กระทรวงคมนาคม ได้เรียกประชุมหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม รวมทั้งบอร์ดการรถไฟฯ เพื่อหารือมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีพนักงานการรถไฟฯ หยุดเดินรถ และในช่วงบ่ายนายโสภณ ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสภาพการเดินรถที่สุราษฎร์ธานีและหาดใหญ่

นายโสภณ ซารัมย์ รมว.กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กำลังเร่งหาข้อสรุปเพื่อยุติปัญหาใน 1-2 วันนี้ ส่วนการ ตรวจสอบกำลังดูการลาของพนักงานซึ่งนายกฯ ให้ความสนใจประเด็นนี้

“กระทรวงและผู้บริหารรถไฟไม่ได้มีเจตนาต่อสู้กับสหภาพฯ เพื่อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ แต่เหตุที่เกิดขึ้นขณะนี้ประชาชนเดือดร้อน เราต้องปฏิบัติตามกติกา และจะไม่ยอมให้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้หมักหมมต่อไป ต้องดูไปตามผิดถูก ถ้าฝ่ายบริหาร นักการเมืองที่มอบนโยบายทำผิดจริงก็ต้องออก พนักงานทำผิดก็ต้องรับผิดชอบ ต้องมีความเป็นธรรม และต้องเท่าเทียมกันตามกฏกติกา และกฏหมาย” รมว.คมนาคม กล่าว

นายโสภณ กล่าวว่า จะไม่ยอมให้เหตุการณ์หยุดเดินรถเกิดขึ้นอีก ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการ 4 ชุดเพื่อรวบรวมข้อมูลของ ร.ฟ.ท. ทั้งทรัพย์สิน, โครงสร้างพื้นฐาน, จำนวนพนักงาน และรายได้ ผลตอบแทน กฎระเบียบ คาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 3 สัปดาห์ก่อนจะเสนอครม.เศรษฐกิจ พิจารณาแผนยกเครื่องการรถไฟฯ ทั้งหมด และจะเปิดเผยข้อมูลต่อสังคมด้วย

ในช่วงบ่าย นายโสภณ พร้อมด้วยนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟฯ พร้อมคณะเดินทางไปที่สถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี เพื่อตรวจดูสภาพการขนถ่ายผู้โดยสารและแก้ปัญหาให้เดินรถได้เร็วที่สุด

นายโสภณ กล่าวย้ำถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า หากใครทำผิดก็ต้องรับผิด สหภาพฯต้องเข้าใจว่า หากเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ ลาออกแล้วตนเองทำผิด แต่เรียกร้องไม่ให้เอาผิดนั้นเป็นไปไม่ได้ ถ้าผิดถึงขั้นปลดก็ต้องปลด

“ผมได้รับปากกับนายกรัฐมนตรีไปแล้วว่าภายในวันสองวันนี้ต้องเรียบร้อยยืนยันว่าตนเองอยู่ฝ่ายรถไฟ อยู่ฝ่ายประชาชน อย่าไปมองว่าอยู่ฝ่ายผู้ว่าฯ แต่ความเป็นธรรมต้องมีให้ทุกคน” นายโสภณ กล่าว

จากนั้น คณะของนายโสภณ ได้เดินทางไปตรวจสภาพหัวรถจักรที่สถานีชุมทางหาดใหญ่เพื่อดูว่าส่วนไหนซ่อมได้ ส่วนไหนเก่ามากต้องปลดระวาง ซึ่งส่วนหนึ่งกำลังอยู่ระหว่างซื้อหัวรถจักรมาทดแทน

ขณะที่นายโสภณ และคณะเดินตรวจสภาพหัวรถจักรอยู่นั้น กลุ่มสร.รฟท. จำนวนหนึ่งได้ถือป้ายประท้วงตะโกนขับไล่รมว.คมนาคมและผู้ว่าฯ การรถไฟฯ ให้ออกไป

นายโสภณ เน้นย้ำว่า จะไม่มีการเจรจากับทางสหภาพฯรถไฟแต่อย่างใด แต่จะคุยกับผู้บริหารรถไฟเท่านั้น จากนั้นรัฐมนตรีและคณะรีบขึ้นรถกลับกรุงเทพฯ ทันที

**บอร์ดตั้ง กก.สอบพนักงานลาหยุด

ในวันเดียวกันนี้ บอร์ดร.ฟ.ท.ได้ประชุมและมีมติให้บอร์ดร.ฟ.ท.ซึ่งเป็นผู้แทนอัยการสูงสุด ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการลาหยุดของพนักงาน สอบสวนถึงสาเหตุการหยุดงานว่ามีการลาหยุดจริงหรือไม่ รวมทั้งมติที่จะเตรียมนำเสนอเรื่องการขอปรับเพิ่มพนักงานและการขอเว้นมติครม.ที่กำหนดให้ รฟท.รับพนักงานเพิ่มได้ร้อยละ 5 ของพนักงานที่ออกไปเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในวันที่ 20 ต.ค.นี้

**อ้างสูญรายได้ 16 ล้านบาท

ด้านนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ร.ฟ.ท.ยังคงเดินรถทั่วประเทศยกเว้นสายใต้ที่ให้บริการถึงสถานีสุราษฎร์ธานี ส่วนขบวนรถที่ต่อจากสถานีสุราษฎร์ธานี และขบวนรถท้องถิ่นหยุดวิ่งรวมแล้ว 30 ขบวน ทั้งนี้ ล่าสุดมีพนักงานลาหยุดแล้วทั้งหมด 241 คน จาก 2,200 คน โดยพบว่ามีการยุดงานแบบผิดปรกติที่สถานีหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ที่หยุดไป 49 คน จากที่มีทั้งหมด 121 คน แบ่งเป็นพนักงานขับรถ 24 คน และช่างเครื่องอีก 25 คน และคิดมูลค่าความเสียหายจนถึงวันที่ 19 ต.ค. 2552กว่า 16 ล้านบาท แบ่งเป็นสูญเสียรายได้จากการเดินรถโดยสารกว่า 10 ล้านบาท และขนส่งสินค้าอีกกว่า 6 ล้านบาท

**ส่งฝ่าย กม.แจ้งความพนักงานขับรถ

ส่วนที่สถานีหัวลำโพง ฝ่ายบริหารร.ฟ.ท.ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมาย นำโดยนายวิรัช จันฑรัตน์ หัวหน้ากองสอบสวน สำนักงานอาณาบาล เข้าร้องทุกข์กับ พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ รองผู้บังคับการกองปราบปราม กรณีพนักงานสหภาพ ร.ฟ.ท.หยุดเดินรถ ทำให้รถไฟไม่สามารถวิ่งให้บริการได้ถึงปลายทางทำให้ร.ฟ.ท.ได้รับความเสียหายมูลค่าไม่ต่ำกว่า 15 ล้านบาท

นอกจากนี้ ทางบริษัทที่จ้างให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ขนส่งสินค้าจากภาคใต้มาส่งที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี จะดำเนินการฟ้องร้องตามมา เนื่องจากสินค้าไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องดังกล่าว โดยจะถึงขั้นไล่ออกหรือไม่ คงต้องว่ากันไปตามพยานหลักฐาน

ในเบื้องต้นสถานีรถไฟที่กระทำผิดซึ่งหน้า ได้แก่ สถานีรถไฟหาดใหญ่ สงขลา สถานีรถไฟทุ่งสง นครศรีธรรมราช สถานีรถไฟปากน้ำโพ นครสวรรค์ และสถานีรถไฟชุมพร พร้อมมอบหลักฐานเป็นซีดีภาพถ่ายพนักงานที่หยุดงานประท้วง

พ.ต.อ.สุพิศาล กล่าวว่า ยังไม่สามารถแจ้งข้อกล่าวหาใดได้ ขอเวลาศึกษา พ.ร.บ.รถไฟ โดยจะตั้งชุดทำงานไปสอบสวนร่วมกับตำรวจรถไฟว่า ร.ฟ.ท. ได้รับความเสียหายอย่างไรบ้าง พนักงานที่ก่อเหตุเป็นใครและมีจำนวนเท่าใด ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง

** “สาวิทย์” ยืนกรานต้องปลอดภัย

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพ รฟท. กล่าวว่า ทุกวันนี้พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนผู้โดยสารเป็นหลัก ไม่ใช่การเอาผิดคาดโทษกัน ดังนั้นหากอุปกรณ์หรือหัวรถจักรไม่พร้อมที่จะให้บริการก็จะไม่ฝืน แม้ก่อนออกปฏิบัติงานจะมีการตรวจสอบแล้วก็ตาม

ส่วนกรณีที่กระทรวงคมนาคมมีแนวคิดที่จะนำพนักงานที่เกษียณอายุเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ขับรถไฟนั้นตนเองไม่เห็นด้วย แนวทางที่ดีควรจะพัฒนาบุคลากรใหม่ ๆ เข้ามาโดยการปลดล็อกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2541 ที่จำกัดการรับพนักงานที่ร้อยละ 5 จากพนักงานที่เกษียณอายุทั้งหมด

ส่วนกระแสข่าวที่ว่ากลุ่มสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย จะชุมนุมกันบริเวณสถานีรถไฟกรุงเทพ หรือหัวลำโพงเพื่อกดดันผู้บริหารนายสาวิทย์ ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง

นายสาวิทย์ กล่าวว่า จนถึงขณะนี้สหภาพ รฟท.ไม่ได้ประกาศให้หยุดเดินรถไฟ แต่จะออกขบวนรถเมื่อมีการตรวจสอบว่าสภาพรถและอุปกรณ์อยู่ในมาตรฐานความปลอดภัยเท่านั้น ยื่นคำขาดขอหารือกับฝ่ายบริหารเพื่อให้มีการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการจัดหาหัวรถจักรใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพเก่าและชุดรุดมาก รวมทั้งจะต้องกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการจัดหาอะไหล่ที่จำเป็นรวม 12 รายการ เพราะเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานาน

ส่วนกรณีที่มีพนักงานนัดหยุดงานพร้อมเพรียงจำนวนมากที่สถานีหาดใหญ่และสถานี ปากน้ำโพนั้น ส่วนเหนึ่งเป็นผลมาจากความไม่พอใจที่มีการโยกย้ายระดับผู้ช่วยพนักงานประจำ สถานีทั้ง 2 แห่งออกไปจากพื้นที่ โดยทั้ง 2 คนเป็นกรรมการและอนุกรรมการของ สหภาพ รฟท.ด้วย แต่ปัญหาหลักนั้นไม่ต้องการให้พนักงานตกเป็นแพะรับบาปเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ทั้งที่ความจริงเกิดจากความไม่พร้อมของอุปกรณ์และขบวนรถต่างๆ

**แจ้งดำเนินคดี พนง.รถไฟหยุดวิ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากศูนย์ข่าวหาดใหญ่ว่า ตลอดวานนี้ (19 ต.ค.) ว่า การรถไฟในพื้นที่ภาคใต้เกือบทุกขบวนยังคงหยุดเดินรถงดให้บริการประชาชนต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 โดยเฉพาะขบวนรถท้องถิ่นยังหยุดวิ่งทุกขบวน ยกเว้นรถเส้นสายยาวสายใต้ไปกลับกรุงเทพฯที่ยังเปิดให้บริการ แต่วิ่งรับส่งผู้โดยสารแค่สถานีรถไฟสุราษฎร์ธานีเท่านั้น

ขณะเดียวกัน มีรายงานข่าวว่า ได้มีผู้โดยสารราว 7 คนได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ สภ.หาดใหญ่ เพื่อเอาผิดกับพนักงานรถไฟที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่ทำให้ได้รับความเดือดร้อน

ขณะที่ทาง สร.รฟท. สาขาหาดใหญ่ ยังคงยืนยันตามมติเดิมคือ จะไม่นำรถจักรออกทำขบวนอย่างเด็ดขาด หากยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนจากผู้บริหารการรถไฟ ในเรื่องการปรับปรุงซ่อมแซมหัวรถจักรให้อยู่สภาพที่สมบูรณ์ ส่วนหัวรถจักร 21 คัน ขณะนี้ยังคงจอดอยู่ภายในโรงรถจักรหาดใหญ่ เพื่อรอการซ่อมบำรุง

ทางด้านบรรยากาศที่สถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี ในช่วงเช้าของวันเดียวกันนี้ เป็นไปด้วยสับสนวุ่นวายเมื่อพนักการรถไฟนำผู้โดยสารจากต้นทางกรุงเทพฯ มาปล่อยไว้ที่สถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี ทำให้มีผู้โดยสารตกค้างอยู่ที่สถานีเป็นจำนวน

ขณะที่ จ.ชุมพร หลังเกิดเหตุการณ์รถไฟขบวนล่องใต้ทิ้งผู้โดยสารไว้ที่สถานีรถไฟในพื้นที่ อ.ละแม อ.หลังสวน และ อ.เมือง จ.ชุมพร มีผู้โดยสารได้รับความเดือดร้อนร่วม 2,000 คนบรรยากาศทั่วไปที่สถานีรถไฟชุมพรเช้าวานนี้เป็นไปอย่างเงียบเหงา มีเพียงผู้โดยสารจำนวนหนึ่งที่เดินทางมาเพื่อขอคืนตั๋วโดยสารเท่านั้น

ส่วนบรรยากาศที่สถานีชุมทางทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เป็นไปด้วยความเงียบเหงา ห้องขายตั๋วมีพนักงานมาทำงานเพียงคนเดียว เพื่อที่จะขายตั๋วให้ผู้โดยสารที่จะมาจองตั๋วล่วงหน้า

**หน.โรงซ่อมยันหัวรถจักรเสียจริง

นายวัย พรหมเศษ หัวหน้าช่างโรงซ่อมรถหาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวยืนยันว่า สาเหตุที่รถไฟไม่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้เนื่องจากไม่มีอะไหล่ ในการบำรุงซ่อมแซมหัวรถจักร โดยขณะนี้มี 20 คันที่อยู่ระหว่างการซ่อมแซม หากมีการซ่อมแซมแล้วเสร็จก็จะเปิดบริการให้ประชาชนได้ตามปกติ

นายวัย กล่าวว่า จากการตรวจสอบของฝ่ายการช่าง พบว่า ทุกคันระบบ VIGILANCE เสียใช้งานไม่ได้ ระบบดังกล่าวเป็นระบบป้องกันด้านความปลอดภัยให้กับขบวนรถและพนักงานขับรถไฟ เป็นระบบเซฟตี้สากลที่รถจักรทั่วประเทศต้องมี นับเป็นอุปกรณ์หลักเกี่ยวกับความปลอดภัย เพราะควบคุมทุกอย่างตั้งแต่หัวขบวนจนถึงท้ายขบวนรถ

**แฉผู้บริหารสั่ง พขร.ทิ้งผู้โดยสาร

นายวิรุฬ สะแกคุ้ม ประธาน สร.รฟท. สาขาหาดใหญ่ เปิดเผยว่า ความชัดเจนในการเปิดเดินรถไฟในภาคใต้น่าจะทราบผลไม่เกินวันพุธ ซึ่งจนถึงขณะนี้มีพนักงานรถจักรตามสถานีรถไฟต่างๆ ในภาคใต้ขอลาหยุดประจำสัปดาห์และลาป่วยเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 80 ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่สามารถให้บริการรถไฟได้

นายวิรุฬ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้มีกลุ่มผู้ไม่หวังดีอาศัยสถานการณ์นำความเดือดร้อนของประชาชนมาเป็นประเด็นให้ร้ายกลุ่มสหภาพฯ หลังจากที่ได้หยุดการเดินรถเพื่อเรียกร้องให้ผู้บริหารการรถไฟฯแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับระบบรักษาความปลอดภัยหัวรถจักรเพื่อกดดันและต้องการสร้างสถานการณ์ให้ร้ายกลุ่มสหภาพฯ

เช่นกรณีเช้าวานนี้ (19 ต.ค.) มีการเปิดขายตั๋วรถไฟเส้นทางกรุงเทพ-สุราษฎร์ธานี ที่มีกำหนดจะส่งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี เวลา 09.00 น แต่ปรากฏว่าขบวนรถไฟได้จอดทิ้งผู้โดยสารที่สถานีรถไฟสวี จ.ชุมพร ทำให้ผู้โดยสารต้องขนย้ายขึ้นรถด่วนขบวนที่ 83 กรุงเทพ-ตรัง ซึ่งมีกำหนดถึงสุราษฎร์ธานี เวลา 09.40 น.ทำให้ผู้โดยสารต้องขนถ่ายสัมภาระอย่างทุลักทุเล

นายวิรุฬ กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้โดยสารแสดงความไม่พอใจพนักงานขับรถไฟ ที่เชื่อว่าการที่ไม่ยอมไปส่งที่สถานีปลายทางเป็นเพราะกลุ่มสหภาพฯ ต้องการประท้วงปัญหาภายในองค์กร ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนทั้งที่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับกรณีดังกล่าวไม่เกี่ยวกับสหภาพฯ แต่เป็นเรื่องของฝ่ายบริหารการรถไฟที่มีคำสั่งออกมาให้หยุดรถขบวนดังกล่าว

“จากการสอบถามพนักงานขับรถไฟระบุว่าได้รับคำสั่งจากฝ่ายบริหารให้นำรถไฟจอดรอที่สถานีรถไฟสวี เพื่อรอการขยายย่านหรือการเปลี่ยนช่องการเดินรถไฟที่บริเวณสถานีสุราษฎร์ธานี โดยไม่ทราบว่าเมื่อมาจอดที่สถานีกลับมีรถมารอขนถ่ายผู้โดยสารออกจากขบวนรถโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งที่อยู่ระหว่างการรอคำสั่งให้เดินรถไปยังสถานีปลายทาง ทำให้สหภาพฯ ต้องข้อสังเกตว่าคำสั่งดังกล่าวมีนัยยะแฝงอื่นๆ อยู่ เนื่องจากสิ่งที่สหภาพฯ ปฎิบัติมาโดยตลอด คือ การเปิดจำหน่ายตั๋วและขบวนรถได้แล่นออกจากสถานีต้นทางแล้วรถทุกขบวนจะต้องส่งผู้โดยสารถึงสถานีปลายทางจะไม่มีการลอยแพผู้โดยสารเด็ดขาด" นายวิรุฬ กล่าว

"สังศิต"หนุนฉวยจังหวะปฏิรูปรถไฟ

รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานและผู้อำนวยการโครงการปริญญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาธรรมาภิบาล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม กล่าวว่า จุดที่น่าพิจารณาสำหรับเหตุการณ์นี้ รวมถึงเหตุการณ์ที่เขาเต่า ก็คือ เมื่อพนักงานการรถไฟเอง รวมทั้งผู้บริหารในการรถไฟต่างเห็นตรงกันว่า อุปกรณ์และบุคลากรบางส่วน ไม่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ และอาจนำมาซึ่งอุบัติเหตุได้ ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับรัฐบาลที่จะเข้ามาพัฒนาการรถไฟครั้งใหญ่ ครั้งเรื่องของคน ระบบการจัดการ รวมไปถึงตัวรถ การเดินรถ และอุปกรณ์ต่างๆ

ด้าน นายเกริกกล้า สนธิมาศ ประธานสมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย ในฐานะคณะกรรมการตรวจรับผลการศึกษาโครงการศึกษาเพื่อปรับปรุงโครงสร้างการขนส่งทางรถไฟของประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้ต้องมองลึกลงไปว่าในอนาคตจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งการศึกษาดังกล่าวจะแบ่งเป็น 3 ระดับคือ 1.จะต้องมีการปรับปรุงเรื่องกฎระเบียบให้สอดคล้องกับการพัฒนา 2.เปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการ และ 3.ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างสมบูรณ์แบบ

“เรื่องการเดินรถนั้น ก็ทำได้ในรูปแบบของ บขส หรือ รฟม. ที่ให้ภาคเอกชนมาดำเนินการ โดยกรมรถไฟเองก็อาจจะมีรถของตัวเองด้วย แต่ก็ต้องแข่งกับเอกชน ซึ่งหากทำเช่นนั้นก็เชื่อว่าพนักงานการรถไฟคงไม่กล้าหยุดเดินรถอีก” นายเกริกกล้า กล่าว.

กำลังโหลดความคิดเห็น