xs
xsm
sm
md
lg

อภิสิทธิ์-กรณ์-ไตรรงค์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
สมการการเมือง
โดย
พาณิชย์ ภูมิพระราม

“ภายใต้ความสำเร็จของประเทศยังมีความไม่สมดุลอยู่” นั่นคือ บทสรุปของ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในระหว่างการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "ดุลยภาพของสถาบันกับการพัฒนาประชาธิปไตย” เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา

ความไม่สมดุลภายใต้ความสำเร็จของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประการ ได้แก่ 1.การกระจายรายได้ 2. การใช้และการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3. การพัฒนาเมืองและชนบท และ4.ปัญหาค่านิยมและศีลธรรมที่เสื่อมลง

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพยายามแก้ปัญหาความสมดุลดังกล่าว โดย 3 บทบาทใหญ่ๆได้แก่ 1.ให้คำปรึกษา 2. สนับสนุน 3. ตักเตือน ผ่านพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท

ภาพรวมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยนั้น หากพิจารณาจากตัวเลขทางเศรษฐกิจ จะพบว่าในช่วง 63 ปีที่ผ่านมา คือตั้งแต่ พ.ศ.2489-2552 ประเทศไทยมีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างดี เป็นที่น่าสังเกตสัดส่วนภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนเกษตรกรรมกลับลดลงและผลผลิตของเมืองสูงขึ้น ในขณะที่ผลผลิตชนบทลดลง

ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจไทย สามารถพิจารณาจากการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลกของ World Economic Forum (WEF) เมื่อเร็วๆนี้ โดย Professor Xavier Sala-i-Martin นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังของโลกด้านเศรษฐศาสตร์พัฒนา (Development Economics) จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) ซึ่งทำหน้าที่ Chief Advisor of the Global Competitiveness Network ผลการวัดขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ปรากฏว่า ผลการจัดอันดับตกลงจาก อันดับที่ 34 ในปีที่แล้วมาเป็นอันดับที่ 36 ในปีนี้

การเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจคือ การเปลี่ยนแปลงอันดับของประเทศเพื่อนบ้านแถบเอเชีย โดยเฉพาะสิงคโปร์ขยับจากอันดับ 5 เป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมากว่า สิงคโปร์ สามารถพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันได้รวดเร็ว ภายใต้สถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตการเงิน ปี 50

ส่วนประเทศอื่นๆ เช่นไต้หวันเลื่อนจากอันดับที่ 17 เป็น 12 ของโลก มาเลเซียตกลงจากอันดับที่ 21 เป็น 24 ของโลก จีน เลื่อนขึ้นจากอันดับที่ 30 เป็น 29 ของโลก บรูไนจากอันดับที่ 39 เป็นอันที่ 32 ของโลก

ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยนั้น สถาบันศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทีดีอาร์ไอ ได้เป็นผู้ดำเนินการรวบรวม และประมวลตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้โดยในการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน 133 ประเทศ ของ World Economic Forum ในปีนี้ จะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ 3 กลุ่ม คือกลุ่มข้อกำหนดพื้นฐาน กลุ่มเสริมประสิทธิภาพ กลุ่มนวัตกรรมและระดับการพัฒนา

ในรายงานดังกล่าวระบุว่า สิ่งที่ด้านบวกของประเทศไทย คือ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาค ความมีประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน และขนาดของตลาดทั้งตลาดภายในประเทศ และตลาดต่างประเทศ

นั่นหมายความว่า ปัจจัยอื่นอีก 9 ปัจจัยที่กำหนดปัจจัยหลักทั้ง 3 กลุ่ม ล้วนแต่อยู่ในสภาพที่ค่อนข้างต่ำนี่คือความไม่สมดุลอย่างหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจ-การเมืองไทยที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันรัฐบาลกำลังเผชิญจุดแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ 2 ประการคือ วิกฤติเศรษฐกิจ และความเสี่ยงทางด้านการเมือง

ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยกำลังถูกลดทอนจากการขาดเสถียรภาพที่ยืดเยื้อ

คำถามที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงบุคคลในรัฐบาลมีนัยสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยหรือไม่ ??

คำถามที่รุนแรงกว่านั้นคือ รัฐบาลอภิสิทธิ์ มียุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศในการเพิ่มขีดความสามรถการแข่งขันของประเทศหรือไม่ ??

ความเห็นของ ดร.ปัทมาวดี ซูซูกิ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับการเข้ามานั่งเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี ของ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ดูจะตอบคำถาม 2 ข้อดังกล่าวข้างต้นอย่างชัดเจน

“ ในแง่ตัวบุคคลหากเปลี่ยนแปลง ก็ไม่น่าจะเห็นความแตกต่าง เพราะไม่แน่ใจว่าที่ผ่านมา การกำกับดูแลทิศทางนโยบายทางด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้นอยู่ที่ใครกันแน่ ระหว่างนายกอร์ปศักดิ์ นายอภิสิทธิ์ หรือนายไตรรงค์”

ดร.ซูซูกิ ตอกย้ำในสิ่งที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ขาดหายว่า สิ่งที่อยากเห็นก็คือ การที่รัฐบาลมีทีมเศรษฐกิจที่ทำงานอย่างมีความเป็นทีมมากขึ้น จากปัจจุบันที่เห็นความเป็นทีมไม่ชัด โดยเฉพาะบทบาทของนายกอร์ปศักดิ์ เพราะจะเห็นภาพเพียงนายอภิสิทธิ์ กับนายกรณ์ (กรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง) เท่านั้น และแม้มีทีมที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจอยู่ แต่ก็เหมือนไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่

"การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจขณะนี้ต้องการคน 2-3 แบบ คือ 1.ต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล และ 2. ต้องเป็นมือประสาน ไม่เฉพาะประสานงานกับฝ่ายการเมืองเท่านั้น แต่รวมถึงการประสานกับภาคราชการและท้องถิ่นด้วย” คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์กล่าวย้ำ

ในความหมายของ ดร.ซูซูกิแล้ว การที่ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี เข้ามาทำหน้าที่รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่มีความแตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่ นายกอร์ปศักดิ์ ทำหน้าที่

วัย 65 ของไตรรงค์ หากเป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ระดับปริญญาเอก ก็ถือว่า เขี้ยวลากดิน เพราะผ่านการสอน การทำวิจัย และคิดค้น และบริหารงานมาพอสมควร

แต่ไตรรงค์ไม่ได้เลือกเส้นทางนั้น

ไตรรงค์ยอมรับโดยดุษฎีว่า เขาไม่ได้พกความชำนาญด้านการบริหารงานเศรษฐกิจมหภาคที่มีความซับซ้อนมากกว่าในอดีตมาด้วย

ภายหลังกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ มีมติให้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ไตรรงค์ให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า เขาเป็นนักการเมืองต้องพร้อมเสมอ ถ้าไม่พร้อม ก็ไม่ต้องอาสามารับใช้ประชาชน เมื่อบ้านเมืองมีปัญหาให้ช่วยอะไรได้ก็ต้องช่วย และเชื่อว่า จะไม่มีปัญหาในการประสานกับพรรคร่วมรัฐบาล

แปลไทยเป็นไทยก็คือ หน้าที่หลักของเขา เป็นเรื่องของการประสานงานกับรัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจ มากกว่าการสร้างทีมเศรษฐกิจ หรือการวางและกำกับดูแลยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจของประเทศ

ประสานและขอความร่วมมือกับ นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม นายโสภณ ซารัมภ์ รมว.คมนาคม และนายชุมพล ศิลปอาชา รมว.ท่องเที่ยว และการกีฬา

รวมทั้ง นายกรณ์ จาติกวนิช และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คนวัย 45 ปี
ต้องยอมรับความว่า “ทีมเศรษฐกิจ” ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่มีตัวตน

ขณะที่ ไตรรงค์ ก็ไม่ได้ถูกคาดหวังว่า จะมาทำหน้าที่แกนกลางประสานสร้างทีมเศรษฐกิจรัฐบาลอภิสิทธิ์

แม้ว่าก่อนหน้านี้ จะทำหน้าที่ประธานคณะทำงานของพรรคมาก่อน รวมทั้งจะมีความพยายามระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล โดยรวมพลกันทุกวันศุกร์ เพื่อให้โฆษกกระทรวงด้านเศรษฐกิจ มาแถลงผลงาน

คณะกรรมการโฆษกด้านเศรษฐกิจ กลาเป็นผักชีโรยหน้าทันทีที่ไม่มี “ทีมยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ” ของรัฐบาล

วัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โอฬาร พิทักษ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์ โฆษกกระทรวงพาณิชย์ และ ภูมิสันต์ เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา โฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์ ได้ร่วมกันแถลงข่าวครั้งแรก เมื่อศุกร์ที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา

แต่เนื้อหาสาระไม่มีอะไรมากกว่าไปกว่าการแนะนำตัวกับสื่อ

จุดอ่อนด้านเศรษฐกิจที่สำคัญนอกเหนือจากทีมเศรษฐกิจแล้ว ก็คือ การบริหารเศรษฐกิจมหภาคด้านซัพพลาย (Supply side management)

โครงการไทยเข้มแข็ง ที่มีมูลค่ามหาศาล เป็นนโยบายที่มุ่งเน้นกระตุ้นด้านดีมานด์ของระบบเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น

นักเศรษฐศาสตร์ทุกคนรู้ และเข้าใจสถานการณ์ จึงไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์มากนัก แต่หากต้องบริหารเศรษฐกิจในระยะกลาง และระยะยาวแล้ว การรวบรวมโครงการจากข้าราชการประจำกระทรวงการคลัง และกระทรวงอื่นๆ เพื่อนำมาผูกมัดเป็นก้อนๆ สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น..ไม่เพียงพอ

ต้องพิจารณาด้านการผลิตของระบบเศรษฐกิจคบคู่กันไปด้วย

ยิ่งกว่านั้น การผลิตคิดค้น นโยบายใหม่ๆ ให้ทันยุค Creative Economy ก็เป็นสิ่งที่ขาดแคลนเหลือเกินในรัฐบาล หากจะหวังพึ่งให้ ไตรรงค์ สุวรรณคีรี ที่ทิ้งรายละเอียดด้านเศรษฐศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2529 ที่ลงสมัครส.ส.สมัยแรกแล้ว

ยิ่งเป็นไปได้ยาก !!

เนื่องจากทฤษฎีและโมเดลทางเศรษฐศาสตร์เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก
แม้ไตรรงค์ มีความรู้จบปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี 2510 ปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ และปริญญาเอก สาขาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2518 (ทุนมูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์)

แต่นั่นคงห่างไกลจากสถานการณ์ปัจจุบันเกินไป

ไตรรงค์เลือกอีกเส้นทางหนึ่งของการเป็นนักการเมือง นั่นคือเส้นทางผู้ทรงอิทธิพล ของกลุ่มทศวรรษใหม่ ไม่ใช่เส้นทางนักวางกลยุทธ์

ไม่เช่นนั้น ไตรรงค์ คงได้รับการวางตัวเป็น รมว.คลังของรัฐบาลประชาธิปัตย์ไปนานแล้วแต่ไตรรงค์เพียงแค่นั่งเก้าอี้ในกระทรวงการคลังแค่ รมช.สมัย ธารินทร์ นิมมานเหมินท์ นั่งว่าการฯเท่านั้น

ที่สำคัญ คนของไตรรงค์ ที่เคยพกอาวุธหวังจะปิด นสพ.ไทยโพสต์ ในสมัยหนึ่ง ล้วนแต่ตอกย้ำ ”ความเป็น ไตรรงค์” ว่า ไม่ใช่นักวางแผนด้านเศรษฐกิจอย่างแน่นอน

ใครที่คิดว่าไตรรงค์มาเป็นรัฐมนตรี จะทำให้ทิศทางเศรษฐกิจไทย มีแผนงานและยุทธศาสตร์ที่สมดุลมากกว่านี้

คิดผิดถนัด!!

กระนั้นจุดแข็งของไตรรงค์ ด้าน ความสัมพันธ์กับพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งบรรหาร ศิลปอาชา เฉลิม อยู่บำรุง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ แม้กระทั่งอดีตกลุ่ม 16 ทำให้ไตรรงค์ ถูกหวังในการประสานงานกับพรรคร่วมรัฐบาลในการดำเนินนโยบายตามแนวทางของ อภิสิทธิ์ และกรณ์ มากกว่า นักคิดค้น นักสร้างสรรค์นโยบาย อะไรทำนองนั้น แต่จะขัดแข้งขัดขากับ “ผู้จัดการรัฐบาล” สุเทพ เทือกสุบรรณ หรือไม่.. ต้องอยู่ที่การวางขอบเขตอำนาจหน้าที่

นอกจากนี้ กระบวนการผลิตนโยบาย ด้วยความร่วมมือกับข้าราชการ ยังเป็นข้อเด่นของขุนพลประชาธิปัตย์ทุกคน ไม่เว้นแม้กระทั่ง ไตรรงค์ รวมทั้งความเป็นระบบของนโยบายรัฐบาล โดยไม่ขัดแย้งกับแนวคิดและนโยบายของข้าราชการประจำ น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้ไตรรงค์ กลมกลืนกับ “ความเป็นผู้อาวุโสของรัฐมนตรีเศรษฐกิจ” ในรัฐบาลได้ไม่ยาก

โดยข้อเท็จจริงแล้ว โอกาสทางการเมือง เศรษฐกิจ และความล้มเหลวของนโยบายในอดีต ของขุนพลเศรษฐกิจประชาธิปัตย์มีมากเกินกว่า จะให้โอกาสครั้งที่สอง แม้กระทั่งอุปสรรคกีดขวางก็ไม่ได้มีมากอย่างที่เข้าใจกัน

เพียงแต่อภิสิทธิ์ และกรณ์ จะจูงมือ ไตรรงค์มาวางตรงไหน และเพื่ออะไร??

มองในแง่ยุทธศาสตร์แล้ว มีปัญหาจริงๆ!!
กรณ์ จาติกวณิช
ไตรรงค์ สุวรรณคีรี
กำลังโหลดความคิดเห็น