xs
xsm
sm
md
lg

มาร์คžใช้ประชามติชี้ขาดให้ส.ส.รณรงค์เองแก้-ไม่แก้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ จะไม่ร่วมลงชื่อในการแก้ไขรัฐธรรมนูญกว่า 100 คนว่า เวลานี้ยังไม่ถึงขั้นที่จะไปลงชื่ออะไร ตอนนี้เป็นเรื่องของสภาฯที่จะดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ตามที่วิป 3 ฝ่ายตกลงกันไว้เท่านั้น
นายอภิสิทธิ์ ยืนยันว่าตนกับ ส.ส.ในพรรคไม่มีอะไรขัดแย้ง พรรคเปิดโอกาส ให้สมาชิกแสดงความคิดเห็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเท่าที่อภิปรายในวันประชุมพรรคก็มีความเห็นเหมือนเดิม รอให้สภายกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็จะถึงขั้นการทำประชามติ ซึ่งพรรคก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ นี่เป็นแนวทางที่กำหนดไว้
ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าให้ประชามติเป็นตัวกำหนดว่าจะแก้หรือไม่แก้ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า แต่ละพรรค แต่ละคน มีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระ โดยเฉพาะในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ เคยสนับสนุนอย่างไรไว้ ก็ต้องยืนยันอย่างนั้น เช่น อย่างตนที่พูดมาตลอดว่า มีความเห็นว่าเขตใหญ่ดีกว่าเขตเล็ก จะให้ตนไปรณรงค์ว่าเขตเล็กดีกว่าเขตใหญ่ตนก็ไม่ทำ ตนก็จะบอกว่า เขตใหญ่ดีกว่าอย่างไรเท่านั้นเอง
ผู้สื่อข่าวย้ำว่าหากพรรคใดต้องการในประเด็นใดใน 6 ประเด็นก็จะต้องไปรณรงค์ในการทำประชามติ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ใช่ครับ แต่ละคนสามารถไปบอกกับประชาชนได้ว่าตัวเองคิดอย่างไร ประชาชนจะเป็นคนตัดสิน สิ่งที่เราได้พูดในพรรคคือว่า ในกระบวนการที่เหมาะสมในการสมานฉันท์คือ ถ้าเรายึดว่าประชาชนตัดสินใจอย่างไร เราก็มาช่วยกันทำให้เป็นไปตามเจตนารมย์ของประชาชน ก็น่าจะเป็นเริ่องที่เหมาะสม
ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ จะรณรงค์ในแนวทางเดียวกันหรือต่างคคน ต่างรณรงคค์ นายกรัฐมนตร กล่าวว่า คิดว่าจะรอดูตัวร่างให้เรียบร้อยก่อน และพรรคจะมีปรึกษากันอีกครั้งหนึ่ง ว่าจะดำเนินการอย่างไร เมื่อถามว่าแสดงว่าเป็นไปได้ว่าจะคว่ำหรือไม่คว่ำการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องอยู่ที่การรณรงค์ตอนทำประชามติ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าประชาชนบอกไม่แก้ จะแก้ได้อย่างไร อันนี้คือหลักของประชามติ คือ ต้องการไปสอบถามว่าจะแก้ดีหรือไม่ ถ้าประชาชนบอกไม่แก้ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องเดินหน้าแก้อยู่แล้ว การทำประชามตินี้ก็เป็นเหตุผลถึงที่มีการพูดกันว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ผ่านประชามติมาจะแก้ไขก็ต้องผ่านประชามติ
นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าแสดงคัดค้านแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เกี่ยวกับพรรค แต่ทำในนามส่วนตัว เพราะเห็นว่าการแก้ไขดังกล่าว ล้วนเอื้อประโยชน์กับนักการเมืองทั้งสิ้น ประชาชนทั้งประเทศไม่ได้ประโยชน์อะไร ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยเรียกร้องให้กลับมาใช้รธน.40 นั้น ถือเป็นการถอยหลังเข้าคลอง เพราะมีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ประโยชน์เพียงคนเดียว และใช้ช่องว่างของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อประโยชน์ของพ.ต.ท.ทักษิณ อย่างที่ผ่านมา ทำให้ประเทศแทบล่มสลาย
ดังนั้นหากมติมหาชนให้แก้ผมถึงจะยอมรับ จากนี้ผมจะรณรงค์และประชาสัมพันธ์ ขึ้นคัตเอาต์ให้ทั่วฝั่งธนฯ และจะขยายไปยังภาคประชาชน ให้ร่วมคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญให้ถึงที่สุด
ด้าน นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ส.ส.นครนายกฯพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนไม่เอาด้วยที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง ที่สำคัญรัฐธรรมนูญได้ผ่านความเห็นชอบจากการทำประชามติมาแล้วแม้จะมาจาก คมช.ก็ตาม
ผมเป็น 1 เสียงและมีคนเห็นด้วยกับผม เรามีกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ถ้าแก้อย่างนี้ผมไม่เอา ถ้าคิดจะสมานฉันท์ก็ต้องเคารพสิทธิ ผมไม่เซ็นต์ญัตตินี้ ไม่ลงชื่อ คนในพรรคอึดอัดกันเยอะมาก เพราะแก้อย่างนี้ไม่ใช่แก้ปัญหาบ้านเมือง แต่แก้เพราะไปตกลงกับพรรคร่วมรัฐบาล เราจะเอาเหตุผลอะไรไปอภิปรายในสภา ทำอย่างนี้จะยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกอย่างยิ่งใหญ่และจะเกิดกลียุค
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงหลังการประชุมคณะปฏิบัติการการเมืองของพรรคว่า ที่ประชุมเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่จริงใจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะกลับไปกลับมาตามความต้องการของกลุ่มต่างๆ เช่นกลุ่มพันธมิตรฯและพรรคร่วมรัฐบาล การตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ การทำประชามติล้วนเป็นการซื้อเวลาพรรคเพื่อไทยเห็นท่าทีอย่างที่จึงไม่เอาด้วย
นายพร้อมพงศ อ้างว่าได้ทราบว่าการที่พรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นเป็น 2 ฝ่าย โดยกลุ่มหนึ่งไม่อยากแก้ไข แต่อีกกลุ่มที่เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคอยากให้แก้ไข เพราะทราบว่าพรรคประชาธิปัตย์ อาจถูกยุบจากกรณีเงินบริจาค 258 ล้านบาทและเงินสนับสนุนจาก กกต. 29 ล้านบาท ที่อนุกรรมการกกต.จะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมกกต.ชุดใหญ่ในต้นเดือนพ.ย. ทำให้ล่าสุด นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่แปลกออกไป เหมือนกับอยากให้ มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม. 237 ห้ามยุบพรรคการเมือง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกังวล ทั้งนี้หาก กกต.ตัดสินให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์จริง กระบวนการต่างๆจะต้องใช้เวลาอีกนาน ถ้ารัฐบาลตัดสินใจแก้รัฐธรรมนูญก็จะทันก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยยุบพรรคประชาธิปัตย์
นายพร้อมพงศ์ กล่าวอีกว่า พรรคเพื่อไทยยังมีจุดยืนที่ชัดเจนว่าไม่เอารัฐธรรมนูญปี 50 ดังนั้นทุกกระบวนการของสภาฯที่กำลังจะทำในขณะนี้เราจะไม่ไปร่วม ปล่อยให้รัฐบาลดำเนินการไปเอง พรรคเพื่อไทยจะออกไปรณรงค์ต่อประชาชน ในการนำรัฐธรรมนูญ 40 กลับมาใช้ ไม่ยอมรับในทุกสิ่งทุกอย่างของรัฐธรรมนูญ 50 เพราะมีการยุบพรรคที่ประชาชนศรัทธาไปถึง 2 ครั้ง นอกจากนี้พรรคจะจัดสัมมนาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนต.ค.เป็นต้นไป
ด้านนายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้กลุ่มส.ว. ที่เคยลงชื่อกันยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบที่แล้วจะเริ่มหารือเพื่อเคลื่อนไหวเข้าชื่อกันเพื่อยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็นอีกครั้ง โดยจะไม่รอมติวิป 3 ฝ่ายเพราะชัดเจนแล้วว่านายกรัฐมนตรี ไม่มีความจริงใจในการสร้างความสมานฉันท์ เพียงแต่ต้องการซื้อเวลาให้เป็นรัฐบาลออกไปนานๆเท่านั้น ดังนั้นส.ว.และส.ส.อีกจำนวนหนึ่งจะเดินหน้าเคลื่อนไหวกันเอง
ส่วนตัวฟันธงมานานแล้วว่ารัฐบาลไม่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น แต่ที่ผ่านมาก็รอดูมานาน จนถึงวันนี้พรรคเพื่อไทยก็เห็นตรงกันว่ารัฐบาลไม่จริงใจ จึงถอนตัว เราจึงไม่รอมติของวิป 3 ฝ่าย โดยจะล่าชื่อส.ส.และส.ว.จำนวน 125 หรือ 1ใน 5 ของสมาชิกรัฐสภา ยื่นญัตติอีกครั้ง ซึ่งรายชื่อจำนวนนี้มีอยู่แล้วและมั่นใจว่าจะไม่มีการถอนชื่อเหมือนครั้งที่แล้ว เพราะจะมีการพูดคุยทำความเข้าใจกันมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น