ประเด็นร้อนในวงการโทรคมนาคมช่วงนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการเดินหน้าประมูลไลเซ่นส์ 3G ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ท่ามกลางเสียงท้วงติงหลากหลาย จากฟากเอกชน และภาครัฐอย่างกระทรวงไอซีที และการเสนอแนวความคิดของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แต่กทช.ก็ยังยืนยันเดินหน้าประมูล 3G ตามกำหนดเดิมคือสัปดาห์ที่ 2ของเดือน ธ.ค.52
เสียงท้วงติงแรกบนเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นสาธารณะร่างข้อสรุปข้อเสนอการจัดสรรคลื่นความถี่ ไอเอ็มที หรือ 3G and beyond เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2552 ที่หนักแน่นของศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นได้แสดงความคิดเห็นอย่างดุเดือดโดยเฉพาะประเด็นที่ทรูซึ่งเป็นบริษัทไทยต้องแข่งขันกับบริษัทที่มีรัฐวิสาหกิจต่างชาติถือหุ้นใหญ่
‘ผู้เล่นต่างชาติแต่ละคนมีน้ำหนัก 100 ก.ก. ส่วนฝ่ายไทยนี่ มีน้ำหนัก 50 ก.ก.ท่านบอกว่า ไม่เป็นไรหรอก แบกเท่ากัน เขาประมูลใส่เข้าไปอีก 50 ก.ก. แบกบนหลังแล้ววิ่งแข่ง แต่คนที่หนัก 50 ก.ก.ถ้าแบก 50 ก.ก. ขึ้นหลังแล้ววิ่งแข่ง ตรงนี้เรียกว่า Level Playing Field หรือเปล่า”
เขาย้ำว่าการประมูลไลเซนส์ 3G ของ กทช.ไม่ได้พูดถึงประโยชน์ที่จะเกิดกับคนไทยและประเทศเท่าที่ควรแต่ประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือประมูลคลื่นจะได้เท่าไหร่ และตัดพ้อว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมนี้ปัจจุบันมีความอ่อนแออยู่แล้ว เพราะว่าขาดความสมดุล ขาดการแข่งขันที่เท่าเทียมและเป็นธรรม แล้วเอกชนไทยก็ถูกเก็บไปทีละรายเพราะเงินทุนหนาสู้ต่างชาติไม่ได้ สุดท้ายอุตสาหกรรมนี้ ก็จะไม่มีที่ให้เอกชนไทยยืน
ศุภชัยย้ำว่าจะเสนอให้ กทช. ปรับรูปแบบวิธีประมูลใบอนุญาต 3G เป็นแบบบิวตี้คอนเทสต์แทนที่พิจารณาเปรียบเทียบในด้านต่างๆ แทนการประมูลแข่งขันราคาตามที่ กทช.กำหนดไว้ เพราะการประมูลแข่งขันราคา เป็นการกำหนดแนวทางที่ผู้ที่ให้ราคามากได้ประโยชน์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคภายหลังอย่างมาก
ด้านเจ้ากระทรวงไอซีทีอย่าง ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี ที่หน่วยงานในสังกัดเดือดร้อนหนักจากการประมูล 3G ไม่ว่าทีโอทีและ กสท ที่จะสูญเสียส่วนแบ่งรายได้เพราะเอกชนย้ายลูกค้าหนีจากสัมปทาน ซึ่งส่งผลกระทบกับรายได้ที่ส่งเข้ารัฐปีละกว่า 3 หมื่นล้านบาท ออกแรงล็อบบี้นายอภิสิทธิ์เพื่อขอให้ช่วยชะลอการประมูล 3G ออกไปก่อนเพราะเห็นว่าแนวทาง กทช.กีดกันหน่วยงานรัฐ และทำความเสียหายให้รัฐอย่างมาก อีกทั้งยังออกปากว่าการรีบเร่งประมูล 3G ในขณะที่มี กทช.ตัวจริงอยู่เพียง 3 คนเป็นมารยาทที่เหมาะสมหรือไม่
แม้แต่นายกรัฐมนตรีก็ได้ฝากการบ้านกับ กทช.ในการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ บทบาทขององค์กรอิสระต่อการพัฒนาประเทศที่ กทช. ว่าการประมูล 3G หากดำเนินการอย่างรอบคอบอาจจะเป็นจังหวะที่ดีในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมโทรคมนาคมให้สมดุล แก้ไขปัญหาเก่าที่ยังรุงรังมาจนถึงปัจจุบันรวมถึงการพิจารณาทบทวนการตั้งราคาการประมูลโดยให้ดูจากตัวอย่างความล้มเหลวในต่างประเทศที่มีการตั้งราคาสูงเกินไปจนไม่มีเงินลงทุนสร้างเครือข่าย และราคาประมูลไม่ควรสูงจนปิดโอกาสผู้ประกอบการไทย รวมทั้งเน้นว่าควรเปิดให้มีการแข่งขันมากที่สุดเพราะประโยชน์จะตกไปถึงประชาชนอย่างแท้จริง ส่วนการเดินหน้าที่รวดเร็วถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะไทยล้าช้ามามากแล้วแต่ก็ไม่ควรรีบเร่งโดยที่ไม่ฟังอะไรเลย
ท่ามกลางเสียงท้วงติงรอบด้าน แต่ในมุม กทช.อย่าง พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธาน กทช.พร้อมแรงหนุนจากเศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ กรรมการ กทช.ที่ย้ำว่าโจทย์บางข้อที่นายกฯฝากมา กทช.ไม่จำเป็นต้องตอบเพราะไม่ใช่หน้าที่ ทำให้เห็นว่ายากที่ กทช.จะเปลี่ยนใจ คงเดินหน้าประมูล 3G ตามแผนเดิม โดยเงื่อนเวลาสำคัญคือหากมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้เมื่อไหร่ ก็เท่ากับเป็นกม.และหมดทางต้านหรือชะลอการประมูลได้