xs
xsm
sm
md
lg

ไลเซ่นส์ 3G ใบละหมื่นล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ชูชาติ พรมประสิทธิ์
ASTVผู้จัดการรายวัน – ประธาน กทช.ลั่นไลเซ่นส์ 3G ไม่น่าเกินใบละหมื่นล้านบาท ยันตัวเลขแสนล้านไม่ถูกต้อง เพราะตอบคำถามเรื่องการผลักภาระมายังผู้บริโภคไม่ได้ มั่นใจประชุมบอร์ด 21 ต.ค.ได้ราคากลางแน่ เชื่อส่งกฤษฎีกาตีความจะช่วยแก้ปัญหา

พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่ากทช.จะมีการประชุมในวันที่ 21 ต.ค.เพื่อสรุปราคากลางหรือราคาใบอนุญาต 3G อีกครั้งหลังจากการประชุมเมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมานายสุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการกทช.ติดภารกิจไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย แต่ที่ประชุมได้มีการหารือกันในเบื้องต้นถึงราคากลางสำหรับใบอนุญาต 3G จำนวน 3 ใบที่ได้ความถี่ 10 เมกะเฮิรตซ์และ 1 ใบที่ได้ความถี่ 15 เมกะเฮิรตซ์ โดยคาดว่าราคาใบอนุญาตแต่ละใบไม่น่าจะเกิน 1 หมื่นล้านบาท หรืออาจสูงกว่าเล็กน้อยสำหรับใบอนุญาตที่ได้ความถี่ 15 เมกะเฮิตซ์

‘ที่บอกว่าใบอนุญาต 3G มูลค่าแสนล้านบาท คงเป็นไปไม่ได้ และการเทียบอายุสัมปทานที่เหลือของบริษัทเอกชน คำนวณย้อนกลับมา ก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง ในการหารือกันเบื้องต้นราคากลางใบอนุญาตอาจประมาณ 6-7 พันล้านบาทหรือไม่เกินหมื่นล้านบาท ประเภทที่บอกเป็นแสนล้านมันไม่ถูกต้องแต่ข้อสรุปสุดท้ายต้องรอการประชุมบอร์ดกทช.ในวันที่ 21 ต.ค.’

ทั้งนี้การประมูล 3G ต้องคำนึงถึงการมีประโยชน์ต่อสังคมทั้งหมด และอุตสาหกรรมในภาพรวม รวมถึงผู้ใช้บริการด้วย ดังนั้นไม่ควรคิดเพียงในมิติของรายได้จากบริษัท ทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม ที่จะหายไปในอนาคตเท่านั้น เพราะหากราคาใบอนุญาตแพงระดับเป็นแสนล้านบาท ก็คงไม่มีคนสนใจประมูล และไม่ตอบคำถามเรื่องการป้องกันผู้ได้รับใบอนุญาตผลักภาระมาที่ผู้บริโภคในรูปค่าบริการที่แบกต้นทุนใบอนุญาตที่แพงลิบลิ่ว ในขณะเดียวกันทีโอทีและกสทก็ไม่ควรกังวลในเรื่องส่วนแบ่งรายได้ที่จะหายไปจากบริษัทสัมปทานเดิม เพราะเชื่อว่าตลดาผู้ใช้บริการ 3G ไม่ได้เติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่บริษัทเอกชนก็มีข้อจำกัดในเรื่องการลงทุนและขยายโครงข่าย

‘บอร์ด กทช.จะหารือถึงความเห็นที่แตกต่างจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากรัฐบาลเพื่อมาทำรายละเอียดใหม่และประกาศบนเว็บไซต์ในวันที่ 22 ต.ค.ก่อนที่จะทำประชาพิจารณ์ในวันที่ 5 พ.ย.’ พล.อ.ชูชาติกล่าวและย้ำว่ากทช.จะส่งหนังสือไปถามกฤษฎีกาเพื่อความแน่ใจว่าสามารถเปิดประมูล 3G ได้ โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 วรรค 2

**เอไอเอสชี้อย่าหวั่นไหว

นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร เอไอเอสกล่าวว่าเอไอเอสจะใช้บริษัท AWN หรือ Advanced Wireless Network ในการเข้าร่วมประมูลใบอนุญาต 3G จากกทช.พร้อมทั้งยืนยันเรื่องการถ่ายโอนลูกค้าจากบริษัทรับสัมปทานไปบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตใหม่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะ1.บริษัทไม่สามารถบังคับลูกค้าได้หากต้องการที่จะใช้ 3G และ2.หากเอไอเอสไม่ดำเนินการดังกล่าว ก็จะเสียเปรียบคู่แข่งทันที เพราะโอเปอเรเตอร์ทุกรายก็จะออกโปรโมชันเพื่อจูงใจลูกค้าใช้บริการ 3G ใหม่แน่นอน และก็สามารถดึงลูกค้าข้ามค่ายได้ง่ายๆ เพราะเรื่องการคงสิทธิเลขหมาย (number portability) ก็กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นด้วย

อย่างไรก็ตามทีโอทีหรือกสท ก็ไม่ควรกังวลมากเกินไปเรื่องการถ่ายโอนลูกค้าไปยังบริษัทใหม่ที่ให้บริการ 3G เพราะจะทำให้ส่วนแบ่งรายได้หายไปทันที เพราะการถ่ายโอนลูกค้าไม่สามารถทำได้รวดเร็วประเภทชั่วข้ามคืน เนื่องจากโอเปอเรเตอร์ต้องใช้เวลาพอสมควรในการวางโครงข่าย 3G เพราะหากโอนลูกค้าจำนวนมากในขณะที่โครงข่ายไม่พร้อมที่จะรองรับก็จะเกิดปัญหาในการให้บริการ และคาดว่ากว่าที่จะโอนย้ายลูกค้าไปได้หมด ก็คงอาจจะหมดอายุสัมปทานเก่าพอดี เพราะกว่าที่เอไอเอสจะมีคุณภาพโครงข่ายอย่างในปัจจุบันก็ใช้เวลาเป็น 10 ปี

ถึงแม้เอไอเอสจะมี AWN ติดตั้งขยายโครงข่าย 3G และมีฐานลูกค้าแล้วก็ตาม แต่ทีโอทีก็ยังได้ประโยชน์จากส่วนแบ่งรายได้ของเอไอเอสที่จะรับมาจากAWN ในเรื่องต่างๆไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าระบบสื่อสัญญาณ ค่าเช่าใช้ ค่าโรมมิ่ง ค่าเชื่อมโครงข่าย (IC) รวมทั้งอุปกรณ์สถานที่เสาอากาศในการติดตั้งสถานีฐาน

**กมธ.เรียก กทช.ชี้แจง

ด้านนายสมชาย แสวงการ ประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เปิดเผยว่าเมื่อวานนี้(15ต.ค.52) เวลาประมาณ 15.00 น.กรรมาธิการฯได้มีการหารือและมีมติรับเรื่องการคัดค้านการประมูลใบอนุญาต 3G จากสหภาพแรงงานฯบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) โดยที่ประชุมจะทำการเชิญประธานและเลขาธิการ กทช.เข้าชี้แจงรายละเอียดในวันที่ 22 ต.ค.52 ซึ่งกทช.จะต้องเข้ามารายงานผลเรื่องวิทยุชุมชนแก่วุฒิสภาอยู่แล้ว

สำหรับเรื่องที่กทช.จะต้องเข้าชี้แจงต่อกรรมมาธิการฯคือ เรื่องที่สหภาพฯทีโอที และกสทร้องเรียนมาได้แก่ เรื่องบทบาทหน้าที่ของกทช. ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 47 วรรค 2 ระบุเอาไว้ว่าหน้าที่การจัดสรรความถี่เป็นของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึงประเด็นที่ กทช.ชุดปัจจุบันมีตัวจริงเพียง3 คนอีก 3คนจับฉลากออกไปแล้วปัจจุบันทำหน้าที่รักษาการเพื่อรอการสรรหากทช.ใหม่ ดังนั้นการดำเนินการประมูลใบอนุญาต 3G เหมาะสมและควรทำหรือไม่ รวมถึงประเด็นเรื่องความรัดกุมในการรับฟังคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และสุดท้ายประเด็นเรื่องการถือครองหุ้นของต่างชาติในบริษัทที่จะเข้าร่วมประมูล

นอกจากนี้กรรมาธิการฯจะมีการหารือร่วมกับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันถึงจุดประสงค์ของมาตราที่ 47 วรรค 2 ว่ามีความเข้มงวดขนาดไหน ซึ่งการหารืออาจจะแล้วเสร็จไม่ทันการประมูล 3G แต่ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวกรรมาธิการฯมีหน้าที่เป็นเพียงหน่วยงานตรวจสอบ จึงไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงกทช.ได้เพราะเป็นองค์กรอิสระ ดังนั้นกทช.ควรจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างรอบคอบเพราะหากรีบร้อนอาจจะเกิดข้อผิดพลาดในภายหลังหากเรื่องที่ถูกคัดค้านมีมูลขึ้นมา.
กำลังโหลดความคิดเห็น