xs
xsm
sm
md
lg

27. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

มันเป็น โศกนาฏกรรมของสังคมการเมืองไทย มาโดยตลอดที่ ภาคประชาชนหรือฝ่ายพลังประชาธิปไตย เป็นได้แค่ แนวหน้า ผู้เสี่ยงตายในการยืนหยัดต่อสู้ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อประชาธิปไตยเสมอมาโดยพวกตนไม่เคยได้กุมอำนาจรัฐ เพราะพวกตนไม่เคยมีพรรคการเมืองที่เป็นพรรคมหาชนที่มีฐานสนับสนุนจากมวลมหาประชาชนทั่วทั้งประเทศมาก่อน มันเป็นเช่นนี้ตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 จนมาถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 แม้จนกระทั่งมีการผลักดัน “การปฏิรูปการเมือง”จากภาคประชาชนจนก่อเกิดรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งตอนนั้นเชื่อกันว่า มีความเป็นประชาธิปไตยที่สูงยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดๆ ที่ผ่านมา

แต่แล้ว กลุ่มนักเลือกตั้ง (นักการเมืองอาชีพ) กลุ่มนี้ต่างหาก คือ ผู้ที่เป็นฝ่ายชุบมือเปิบเข้าไปเสวยผลพวงแห่งชัยชนะในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของภาคประชาชนทุกครั้งเสมอ เพราะภาคประชาชนหรือพลังฝ่ายประชาธิปไตย ไม่เคยมีพรรคการเมืองเป็นของตัวเองเพื่อเป็นฐานกำลังที่จะนำไปสู่การยึดกุมอำนาจรัฐอย่างชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยได้ ด้วยเหตุนี้ กลุ่มนักเลือกตั้งกลุ่มนี้จึงเป็นนักฉวยโอกาสที่เข้ามาปล้นชัยชนะได้ทุกครั้ง โดยการที่พวกเขาสามารถเข้าไปยึดกุมอำนาจรัฐผ่านการเลือกตั้งที่ซื้อเสียงเข้ามาได้ กลุ่มนักเลือกตั้งกลุ่มนี้จึงอยู่ดีกินดีเป็นอย่างยิ่ง และสามารถโกงกินบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่ที่สุดในระบอบประชาธิปไตย

เมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ส่วนเกินทางเศรษฐกิจของสังคมไทยได้เพิ่มพูนขึ้นอย่างมากมายมหาศาล อันเนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องนานนับปีมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงบูมทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจฟองสบู่ ทำให้อำนาจในการจัดสรรส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากกระบวนการกำหนด และบริหารนโยบายของรัฐของกลุ่มนักเลือกตั้งกลายเป็นช่องทางในการก่อให้เกิดการปล้นชาติกินเมืองอย่างมโหฬารอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน แม้ในยุคพลังอำมาตยาธิปไตยเป็นใหญ่

จะเห็นได้ว่า กลุ่มนักเลือกตั้งพวกนี้ “หน้าหนา” เป็นอย่างยิ่งอย่างผิดธรรมดา เนื่องจากพวกเขาสามารถ “เสพสุข” ร่วมกับกลุ่มพลังอำมาตยาธิปไตยในระบอบเผด็จการก็ได้ และยังสามารถ “เปลี่ยนธาตุแปรสี” กลายเป็นผู้สนับสนุนระบอบรัฐสภาอย่างสุดจิตสุดใจอย่างหน้าตาเฉยก็ได้ เมื่อฝ่ายพลังประชาธิปไตยภาคประชาชนประสบความสำเร็จในการต่อสู้ขับไล่เผด็จการทหาร

หลักการใหญ่ๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่เน้นความเป็นประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมของประชาชน ความโปร่งใสทางการเมือง และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสันติวิธีนั้น น่าสนใจมาก เพราะ

(1) เน้นเรื่องสิทธิของประชาชนในด้านต่างๆ มากขึ้น รวมทั้งสิทธิชุมชนเด็ก และคนพิการ

(2) มีการระบุถึงแนวนโยบายที่รัฐต้องดำเนินการด้วย เช่น การปฏิรูปการศึกษา การสนับสนุนเศรษฐกิจเสรี

(3) มีการตั้งองค์กรอิสระตรวจสอบมากถึง 6 องค์กร โดยมีเป้าหมายที่จะควบคุมมิให้นักการเมืองที่บริหารประเทศทำการทุจริต

(4) มีการตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลจัดการเลือกตั้งแทนรัฐบาล โดยคาดหวังให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดการเลือกตั้งให้เป็นกลางและบริสุทธิ์ยุติธรรม

(5) สภาผู้แทนมี 500 คนมาจากการเลือกตั้งแบ่งเขต 400 คน โดยให้เป็นการแบ่งเขตเบอร์เดียว และมี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน โดยจัดสัดส่วนจากคะแนนเสียงรวมทั่วทั้งประเทศให้แก่พรรคที่มีคะแนนเสียงเกิน 5% ของผู้มาลงคะแนนเสียง

(6) วุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยไม่สังกัดพรรค มีจำนวน 200 คน

ในตอนที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ถูกประกาศใช้ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 นั้น ฝ่ายพลังประชาธิปไตยภาคประชาชน ล้วนตั้งความหวังไว้สูงมากว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำความรุดหน้าครั้งใหญ่มาสู่สังคมการเมืองไทยอย่างแน่นอน โดยที่แทบไม่มีผู้ใดเลยที่เฉลียวใจว่า ผลพวงจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นี้ คือ การก่อตัวของระบอบทักษิณ ซึ่งจะกลายมาเป็น “ฝันร้าย” ของสังคมไทยเป็นเวลาหลายปีหลังจากนั้น

* * *

หลังเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540 เป็นต้นมา วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศก็ยิ่งทรุดหนักมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนค่าเงินบาทตกลงถึง 41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2540 ก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นอย่างมาก มีการชุมนุมประท้วงที่ถนนสีลมโดยกลุ่มชนชั้นกลางเพื่อต่อต้านรัฐบาลและขับไล่นายกรัฐมนตรี ในที่สุด พล.อ.ชวลิต ก็ต้องยอมประกาศลาออกในวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540 หลังจากที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียง 11 เดือนเศษเท่านั้น

จากนั้นการเมืองก็เกิดการ พลิกขั้ว เมื่อพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านได้เดินเกมใต้ดินผลักดันให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลแทนได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อสามารถดึงบางส่วนของพรรคที่เคยร่วมรัฐบาลให้ถอนตัว และหันมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์แทนได้ นายชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จึงได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540

แม้ว่าการกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ในครั้งนี้จะไม่ค่อยสง่างามนัก แต่ดูเหมือนว่าชนชั้นกลางไทยในขณะนั้น พร้อมจะให้โอกาสพรรคประชาธิปัตย์ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ รัฐมนตรีคลังกับนายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ จากพรรคประชาธิปัตย์ถูกสังคมไทยขณะนั้นมองว่าเป็น “ดรีมทีม” ทางเศรษฐกิจเลยทีเดียว รัฐบาลชวน หลีกภัย ได้ออกมาตรการ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2541 ควบคุมธนาคารและสถาบันการเงินที่ขาดทุนจนไม่อาจจะดำเนินการต่อไปได้

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และตั้งบริษัทมาดูแลทรัพย์สินที่เสียหายเหล่านี้ โดยคัดเลือกกิจการที่เป็นหนี้เสียที่ยังพอดำเนินการต่อไปได้ออกมาขายทอดตลาดให้บริษัทต่างประเทศเข้ามารับซื้อในราคาที่ถูกมาก มิหนำซ้ำรัฐบาลชุดนี้ยังได้ใช้เงินทุนไปประกันหนี้เสียของสถาบันการเงินเป็นจำนวนถึง 1.4 ล้านล้านบาท และนำเอากิจการที่เป็นหนี้เสียเหล่านี้ไปขายในราคาที่ต่ำมากให้แก่บริษัทต่างประเทศ ทำให้รัฐต้องแบกภาระขาดทุนของสถาบันการเงินเหล่านี้เป็นจำนวนมาก

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกแต่ประการใดที่รัฐบาลชวน หลีกภัย จะถูกสังคมวิจารณ์ว่าเป็น รัฐบาลที่ “อุ้มคนรวยไม่ช่วยคนจน” เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับท่าทีของรัฐบาลที่เข้าไปโอบอุ้มสถาบันการเงินอย่างทุ่มเททุกอย่างให้แล้ว การปฏิบัติตัวของรัฐบาลชวน หลีกภัย ต่อความเดือดร้อนของภาคประชาชนถือว่าแย่มาก

ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลได้ส่งตำรวจเข้าไปปราบปรามและทุบตีคนงานโรงงานไทยซัมมิท ออโตพาท ที่ถนนบางนา-ตราด โดยอ้างว่า คนงานประท้วงปิดถนนขวางเส้นทางการจราจร ต่อมารัฐบาลได้สั่งจับกุมสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปัญญาชนสยามและผู้นำชาวบ้านหลายสิบคนที่ประท้วงความไม่ชอบธรรมในการก่อสร้างท่อส่งก๊าซระหว่างประเทศไทย-พม่าของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งทำลายป่าไม้และสภาพแวดล้อมอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังมีการเผชิญหน้ากันระหว่างรัฐบาลกับชาวบ้านในกรณีผลักดันการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จากนั้นรัฐบาลสั่งให้ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมของชาวบ้านที่ทำการประท้วงโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กำหนดจะสร้างขึ้นที่ตำบลบ่อนอก และบ้านกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

แต่ที่น่าประณามที่สุดก็คือ ฝ่ายรัฐบาลได้ปล่อยให้ตำรวจใช้สุนัขตำรวจออกมาไล่กัดชาวไร่มันสำปะหลังจากจังหวัดนครราชสีมาที่ประท้วงอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล จนมีชาวบ้านบาดเจ็บหลายคน ความแล้งน้ำใจต่อคนจนของรัฐบาล ชวน หลีกภัย นั้นได้พุ่งถึงขีดสุดเมื่อรัฐบาลได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมต่อต้านโครงการเขื่อนปากมูลของสมัชชาคนจนที่นำโดย น.ส.วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ และแกนนำชาวบ้าน

เท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาล ชวน หลีกภัย ยังแสดงท่าทีไม่สนใจเรื่องการปฏิรูปการเมืองเลย ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐบาลชุดนี้ไม่ยอมผลักดันกฎหมายลูก ไม่เร่งร้อนในการตั้งองค์กรอิสระ มีความพยายามในการเลี่ยงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เพราะไม่ยอมยุบสภา เพื่อจะได้มีการเลือกตั้งใหม่ และรัฐบาลใหม่ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยเร็ว แต่กลับบริหารประเทศแบบถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ แถมนายกรัฐมนตรียังทำตัวลอยตัวอยู่เหนือปัญหา เพราะไม่กระตือรือร้นในการแก้ปัญหาและมักจะคอยรายงานของทางราชการเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลชวน หลีกภัย จึงดันทุรังบริหารประเทศมาจนถึงการประชุมรัฐสภาวันสุดท้าย เมื่อมีการปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลจึงได้ออกกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 เพื่อจะได้อ้างว่า รัฐบาลได้ยุบสภาตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แล้ว ทั้งๆ ที่เหลือเวลาเพียง 8 วัน สภาผู้แทนราษฎรก็จะสิ้นอายุตามเงื่อนไขอยู่ดี

ภาพลักษณ์ที่ตกต่ำลงเป็นอย่างมากของพรรคประชาธิปัตย์ และนายชวน หลีกภัย ในตอนนั้นทำให้เป็นที่คาดการณ์กันได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทยที่เพิ่งก่อตั้งในวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 จะเป็นตัวเก็งหรือผู้นำรุ่นใหม่ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป และก็เป็นไปตามคาดจริงๆ เพราะในห้วงยามนั้น ชาวไทยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชาวไทยในระดับรากหญ้า ล้วนเป็นฝูงชนที่เปล่าเปลี่ยว อ้างว้าง และกำลังหลงทาง พวกเขาต้องการ ใครก็ได้ที่จะมาเป็น “ผู้นำของพวกเขา” ที่มอบความรัก ความอบอุ่น ความเอื้ออาทร และความหวังเกี่ยวกับอนาคตให้แก่พวกเขา ไม่ว่า “ผู้นำ” คนนั้นจะพาพวกเขาไปทางไหน แม้เป็นหนทางที่จะนำไปสู่หุบเหวหรือนรก พวกเขาล้วนยินยอมพร้อมใจทั้งนั้น

ไม่ต้องเป็นที่สงสัยเลยว่า คนไทยที่เป็นชาวรากหญ้าเหล่านี้ได้ค้นพบ “ผู้นำของพวกเขา” แล้วในบุคคลที่มีชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยังมีต่อ)


                                                      www.suvinai-dragon.com
กำลังโหลดความคิดเห็น