xs
xsm
sm
md
lg

23. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

“ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ” ได้กลายมาเป็น ทางเลือกหลัก ของสังคมไทยแทนที่ “อุดมการณ์ทางการเมือง” ในยุคหลัง “สงครามกลางเมือง” ที่ความแตกแยกทางความคิดครั้งใหญ่ของสังคมไทย จบลงด้วยความพ่ายแพ้อย่างยับเยินของฝ่ายซ้าย ทั้งในทางอุดมการณ์และในทางขบวนการปฏิบัติ ขณะที่ระบบการเมืองไทยเองก็ได้เปลี่ยนผ่านจาก ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ (ประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการของอำมาตยาธิปไตย) ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ไปสู่ ระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ (ประชาธิปไตยรัฐสภาของนายทุน) หรือระบอบธนาธิปไตย (money-politics) ในสมัยรัฐบาล พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ ในปี 2531

ในทางเศรษฐศาสตร์ ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจนั้นขึ้นอยู่กับทรัพยากร 3 อย่างเป็นสำคัญ คือ

(1) ทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ถนน โรงงาน เครื่องจักร ระบบโทรคมนาคม เป็นต้น

(2) ทรัพยากรมนุษย์ เช่น ความบากบั่นในการทำงาน คุณภาพของการศึกษา

(3) ทรัพยากรด้านเทคโนโลยี เช่น องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี

สรุปก็คือ การที่ประเทศกำลังพัฒนาจะเติบโตทางเศรษฐกิจจนมีฐานะที่มั่งคั่งได้ จะต้องอาศัยการลงทุนทางด้านสาธารณูปโภค การศึกษา และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และเทคโนโลยีเป็น เงื่อนไขจำเป็น ที่สำคัญ แต่แค่นั้นยังไม่เพียงพอที่จะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาประสบความสำเร็จในการสะสมความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจได้ เพราะจะต้องคำนึงถึง ปัจจัยเชิงสถาบัน ต่างๆ ด้วย เช่น ความสูญเปล่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากความไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการ กฎระเบียบของทางราชการที่เปิดช่องให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน รวมทั้งรัฐบาลที่มาจาก “โจรใส่สูท”ที่ก่อให้เกิด “ความล้มเหลวทางสถาบัน” อันเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงของประเทศนั้น

ระบบการเมืองที่แม้จะมีหน้าฉากเป็น “ประชาธิปไตย” ก็ตาม หากมันเป็นระบบที่ผู้บริหารสูงสุดสามารถฉกฉวยผลประโยชน์ของชาติเข้ากระเป๋าตัวเองได้อย่างหน้าตาเฉย จนมีผลทำให้การพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศนั้น ต้องสะดุดหรือชะงักงันแล้ว ระบบนั้นย่อมมีปัญหาอย่างแน่นอน ซึ่งมันจะปรากฏออกมาให้เห็นในรูปของกฎระเบียบที่บิดเบี้ยว การคอร์รัปชันโกงบ้านกินเมืองกันอย่างมโหฬาร และสถาบันต่างๆ ที่อ่อนแอ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง มันก็สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางชนชั้น หรือการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรมในประเทศนั้นด้วย

เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า การเปลี่ยนย้ายจากระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบหรือ ประชาธิปไตยกึ่งเผด็จการของอำมาตยาธิปไตย ไปสู่ระบอบประชาธิปไตยเต็มใบหรือ ประชาธิปไตยรัฐสภาของนายทุนนั้น ในขณะเดียวกันก็เป็นกระบวนการผสมผสาน “ทุน” กับ “ประชาธิปไตย” เข้าด้วยกันโดยที่ระบบรัฐสภาได้เปิดช่องทางสู่อำนาจทางการเมืองให้แก่พวกนายทุนท้องถิ่นในต่างจังหวัด ในฐานะที่พวกเขาได้กลายมาเป็นฐานการเมืองระดับชาติสำหรับการจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากระบบการเลือกตั้งของไทยนั้น ตั้งอยู่บนฐานของการซื้อสิทธิขายเสียง ภายใต้พรรคธุรกิจการเมืองซึ่งมีนักธุรกิจกรุงเทพฯ ที่ผันตัวมาเป็นนักการเมืองเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ โดยต้องพึ่งพาความร่วมมือของพวกนายทุนท้องถิ่นในเขตต่างจังหวัดให้เป็นหัวคะแนน

ในขณะที่พวกนายทุนต่างจังหวัดที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองผ่านพรรคการเมืองหลังปี 2516 ต่างก็ล้วนมีพฤติกรรมแบบเจ้าพ่อหรือผู้มีอิทธิพลที่ต้องการเข้ามามีบทบาททางการเมืองเพื่อหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นสำคัญ ทำให้เจ้าพ่อหรือผู้มีอิทธิพลกับการเมืองแบบประชาธิปไตยรัฐสภาของนายทุนกลายเป็นสิ่งที่แยกขาดจากกันไม่ได้สำหรับประเทศไทย

* * *

ในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 เมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ประกาศว่าจะไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป เพราะพล.อ.เปรมได้ดำรงตำแหน่งมาแล้วถึง 8 ปี 5 เดือน โอกาสจึงกลายเป็นของ พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่นให้เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2531 รัฐบาล พล.ต.ชาติชายนี้ถือว่า เป็นรัฐบาลพลเรือน ชุดแรกนับตั้งแต่ พ.ศ. 2519 เป็นต้นมา ที่ปกครองตามระบอบพรรคการเมืองโดยแท้จริง โดยที่รัฐบาล พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ตั้งคณะรัฐมนตรีที่มาจากพรรคการเมืองทั้งหมด ยกเว้นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวเท่านั้น ที่ไม่ได้มาจากพรรคการเมือง

การบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย (ได้มีการเลื่อนยศจากพลตรีเป็นพลเอกเป็นกรณีพิเศษ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2531) ดำเนินไปภายใต้แนวโน้มใหม่ของการบูมทางเศรษฐกิจในประเทศไทย อันเนื่องจากการแห่เข้ามาลงทุนโดยตรงในประเทศไทยของบริษัทญี่ปุ่น จนทำให้เกิดความคาดหวังว่า ไทยกำลังพัฒนาไปสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (Nic) ตัวรัฐบาลพล.อ.ชาติชายเองก็ได้เริ่มวิธีการบริหารแบบใหม่อย่างที่ไม่มีรัฐบาลชุดก่อนเคยทำ เช่น การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร โดยจัดให้ไปประชุมคณะรัฐมนตรีนอกทำเนียบฯ ไปตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีได้เห็นและสัมผัสปัญหาของต่างจังหวัด

จึงกล่าวได้ว่า การจัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร สามารถสร้างผลในทางจิตวิทยาในการทำให้รัฐบาล พล.อ.ชาติชายมีภาพลักษณ์ดีขึ้น แม้รัฐบาลชุดนี้จะถูกสื่อและนักวิชาการวิจารณ์ว่า มีการกระทำทุจริตคอร์รัปชันเป็นอย่างมากก็ตาม แต่รัฐบาลพล.อ.ชาติชายบริหารประเทศได้เพียง 2 ปีครึ่ง ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกองทัพก็รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 คณะทหารนำโดย จปร.รุ่น 5 ก็ได้กระทำการยึดอำนาจเพื่อโค่นรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นผลสำเร็จ

การรัฐประหารครั้งนี้ จะว่าไปแล้วมีเหตุผลักดันมาจากความทะเยอทะยานของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก และนายทหาร จปร.รุ่น 5 คือ พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ที่มีความปรารถนาจะมีบทบาททางการเมืองแต่ไม่ต้องการที่จะตั้งพรรคการเมืองและลงสมัครรับเลือกตั้ง หากแต่ต้องการที่จะขึ้นสู่อำนาจทางอ้อม จึงเลือกที่จะใช้วิธีรัฐประหารเหมือนอย่างที่พวกนายทหารรุ่นพี่ของพวกเขาได้เคยทำมาแล้ว ความขัดแย้งที่สั่งสมระหว่างฝ่ายรัฐบาลพลเรือนกับฝ่ายกองทัพก็มาจากความทะเยอทะยานของฝ่ายกองทัพ ที่ไม่ยอมสยบต่ออำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เป็นด้านหลัก

เหตุผลที่คณะรัฐประหารซึ่งเรียกตัวเองว่า “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)” ได้ใช้เป็นข้ออ้างในการที่ต้องเข้ามายึดอำนาจนั้น ถือว่าเป็น “สูตรตายตัว” ของการรัฐประหารเลยก็ว่าได้คือ อ้างว่ารัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีการคอร์รัปชันอย่างมาก มีการรังแกข้าราชการประจำ มุ่งทำลายสถาบันทหาร ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารยึดอำนาจครั้งนี้ มีขึ้นท่ามกลางความคาดไม่ถึงของสังคมหรือปราศจากความรู้สึกร่วมของคนส่วนใหญ่ ซึ่งไม่เห็นว่า สถานการณ์ของบ้านเมืองตกอยู่ในภาวะวิกฤตถึงขนาดทำให้กองทัพมีความชอบธรรมเข้ามายึดอำนาจได้ ด้วยเหตุนี้เองการรัฐประหารครั้งนี้จึงถือได้ว่า เป็นการถอยหลังเข้าคลองของการเมืองไทยครั้งสำคัญ เพื่อผ่อนคลายกระแสความไม่พอใจจากประชาชน และกระแสไม่ยอมรับจากนานาประเทศ คณะ รสช.จึงจำต้องแต่งตั้งให้นายอานันท์ ปันยารชุน มาเป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ ทำการบริหารประเทศภายใต้เงาของคณะ รสช.ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2534

ภารกิจหลักของรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหประชาชาติ และอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ผู้ผันตัวเองไปเป็นนักธุรกิจในกลุ่มบริษัทสหยูเนียน คือ การรักษาการในช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ และจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยนำบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถ และมีภาพลักษณ์ดีสำหรับชนชั้นกลางมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยไม่มีนักการเมืองเข้าร่วม แม้ว่ารัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน จะเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่ก็ได้เริ่มนโยบายใหม่ๆ ออกมาจำนวนไม่น้อย และยังมีความกล้าหาญที่จะไม่อนุมัตินโยบายที่ฝ่ายทหารเรียกร้องต้องการทำให้ได้รับการตอบรับจากสังคมเป็นอย่างมาก

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2534 เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างขึ้นได้ถูกนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ถูกวิจารณ์เป็นอย่างมากว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ปูทางให้แก่คณะทหาร เพราะมีมาตราที่สนับสนุนเผด็จการอยู่หลายมาตรา เช่น การยอมให้ข้าราชการดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ การให้อำนาจอย่างมากแก่วุฒิสมาชิก

และที่สำคัญที่สุด คือ การเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งหมายถึงการเปิดทางแก่นายทหารในคณะ รสช.ที่จะมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ องค์กรประชาธิปไตยต่างๆ กลุ่มนักวิชาการ ขบวนการนักศึกษา สหภาพแรงงาน และพรรคการเมืองต่างๆ แทบทุกพรรคต่างก็คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยมุ่งประเด็นไปที่เรื่องนายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งเป็นหลัก

ในทางการเมือง พรรคการเมืองที่กองทัพหนุนหลัง ก็ปรากฏโฉมออกมาอย่างชัดเจนโดยใช้ชื่อว่า พรรคสามัคคีธรรม โดย น.ต.ฐิติ นาครทรรพ ผู้ใกล้ชิดของ พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล เป็นผู้ประสานงานทำการรวบรวมเอาอดีต ส.ส.จากพรรคจากกลุ่มต่างๆ มารวมกัน โดยให้ณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค ในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2534 ขณะที่การชุมนุมต่อต้านรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ได้เกิดขึ้นที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2534 โดยมุ่งโจมตีในประเด็นที่ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นการเปิดทางให้นายทหารในคณะ รสช.ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ดังนั้น พล.อ.สุจินดา คราประยูร และพล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล จึงต้องออกมาให้สัตย์ปฏิญาณว่า เมื่อรัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ จะไม่มีใครในคณะ รสช.เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญจึงผ่านวาระที่สามได้ด้วยคะแนน 262 ต่อ 7

ผลของการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 เป็นไปตามคาด คือ พรรคสามัคคีธรรมได้เสียงมากเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อรวมเสียงจากพรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคราษฎร แล้วทำให้ได้ 195 เสียงเป็นเสียงสนับสนุนให้ณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรมเป็นนายกรัฐมนตรี แต่โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาได้ออกมาประกาศว่า นายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหนึ่งในบัญชีดำผู้ไม่สามารถขอวีซ่าเดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาได้ เนื่องจากพัวพันกับการค้ายาเสพติด ทำให้นายณรงค์ วงศ์วรรณ มีมลทินไม่สามารถที่จะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้โดยชอบธรรม

เมื่อเป็นเช่นนี้ พรรคทั้ง 5 จึงได้เชิญพล.อ.สุจินดา คราประยูร มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยอ้างว่าได้พยายามจะให้มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เมื่อเป็นเช่นนี้ พล.อ.สุจินดา จึงอ้างอย่างหน้าตาเฉยว่า จำเป็นที่จะต้อง “เสียสัตย์เพื่อชาติ” โดยลาออกจากตำแหน่งในกองทัพเพื่อเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2535

แต่คณะ รสช.คาดผิดที่คิดว่า ประชาชนจะยอมรับการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร หนึ่งในผู้นำรัฐประหารที่ร่วมมือกับกลุ่มนักการเมืองน้ำเน่าที่ได้เสียงข้างมากเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีตามกติกาใหม่แบบมัดมือชกที่พวกเขาร่างกันเองได้ (ยังมีต่อ)

                                                     www.suvinai-dragon.com
กำลังโหลดความคิดเห็น