xs
xsm
sm
md
lg

พธม.ลั่นชุมนุมใหญ่ ต้านรัฐบาลแก้รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - พันธมิตรฯ ประกาศชุมนุมใหญ่ทันทีหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วันที่ 7 ตุลาคม 2551 ไม่สูญเปล่า ขณะที่ พท.กลับลำไม่แก้ รธน. ตามคำสั่ง นช.แม้ว อ้างไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน แต่หันเดินหน้าปลุกผี รธน.ปี 40 มาใช้ใหม่ ด้านประธานวิปรัฐบาลนัดหารือวิป 3 ฝ่ายวันนี้ ส่วนวิปวุฒิสภา ชี้เป็นเกมของฝ่ายค้าน รับที่สุดไม่สามารถแก้ได้แน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (7 ต.ค.) ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์รัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี สั่งใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม โดยปราศจากอาวุธของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนทำให้มีผู้เสียชีวิต พิการและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก กลุ่มพันธมิตรฯ ได้รวมตัวกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ตั้งแต่เวลา 06.00 น. เพื่อทำบุญอุทิศสวนกุศลให้กับวีรชนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551
จากนั้นได้เคลื่อนขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ ได้ขึ้นเวทีขอมติ โดยระบุว่าประชุมแกนนำพันธมิตรฯ มีความเห็นว่า ควรมาถามพี่น้องทุกคนว่าเราจะชุมนุมกันอีกครั้งเพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรรมนูญหรือไม่ หากพี่น้องเห็นว่าควรชุมนุมอีกครั้งขอให้ร้องเสียงยาวๆ เพื่อตอบรับ โดยพี่น้องพันธมิตรฯ ได้ใช้มือตบและตอบรับเป็นเสียงยาว และเมื่อนายพิภพ ถามว่า มีใครที่ไม่เห็นด้วยให้มีการชุมนุมให้ตอบรับ ซึ่งก็ไม่มีใครส่งเสียงตอบรับแต่อย่างใด ดังนั้น นายพิภพจึงระบุว่า แกนนำพันธมิตรฯ จะมีการประชุมกันอีกครั้งเพื่อกำหนดวันว่า จะร่วมตัวชุมนุมเพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งเมื่อไหร่
ในช่วงเย็นของวันเดียวกันกลุ่มพันธมิตรฯได้จัดงาน 7 ตุลา ต้องไม่สูญเปล่า ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยในช่วงค่ำ นายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรฯ ได้เป็นตัวแทนแกนนำพันธมิตรฯ ขึ้นเวทีประกาศว่า แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯได้กำหนดวันชุมนุมใหญ่เพื่อคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนถึงที่สุด หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วันที่ 7 ตุลา 2551 ไม่สูญเปล่า และจะคงชัยชนะไว้ตลอดกาล
ขณะที่นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ กล่าวว่า วันนี้ได้หนุ่มน้อยหน้ามล รูปหล่อ น่ารัก นิสัยดีมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่แค่ปลดตำรวจ ที่สั่งยิงพวกเรายังไม่กล้า ตำรวจที่กลั่นแกล้งพวกเราควรถูกโยกย้ายจึงจะเหมาะสม คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็ชี้มูลชัดเจนแล้วยังจะไม่กล้าปลด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ออกจาก ผบ.ตร. แต่ย้ายไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อีก
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าพรรคการเมืองจะไม่ทำให้ผิดหวัง และถ้าแก้รัฐธรรมนูญ เมื่อไหร่เจอกัน แน่จริงแก้เลย รัฐธรรมนูญฉบับจับโจรการเมืองแก้ไปทำไม ใช้เลือกตั้งแค่ครั้งเดียวแก้ทำไม ให้นักการเมือง 200 กว่าคนไปที่ชอบที่ชอบก่อนแล้วค่อยแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้นขอให้ทุกคนต่อสู้ต่อไปอย่าอย่าท้อถอย ยืนยันว่าพรรคการเมืองใหม่จะไม่มีการทุจริตคอรัปชั่น ถ้ามีแขวนคอที่สนามหลวงได้เลย

นช.แม้วสั่งพท.ถอนตัวแก้รธน.
ด้าน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย แถลงว่าพรรคเพื่อไทย ได้ประชุมแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเสนอ รวมถึงไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ เพราะขณะนี้บ้านเมืองมีวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนเดือดร้อน ดังนั้นการนำเงิน2 พันล้านบทไปทำประชามติในการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น ถือว่าไม่คุ้มและไม่ควรทำ และไม่มีประเด็นใดที่เป็นประโยชน์กับประชาชนเลย การที่พรรคประชาธิปัตย์อ้างเรื่องการทำประชามตินั้น ไม่ได้มีความจริงใจแต่อย่างใด แต่เป็นการอ้างเพื่อซื้อเวลาให้ล่วงไปเพื่อให้อยู่ในอำนาจให้นานที่สุด
พรรคเพื่อไทยไม่เคยยอมรับรัฐธรรมนูญ ปี 50 เพราะมาจากการปฏิวัติ และยืนยันว่ารัฐธรรมนูญ ปี40 ซึ่งเป็นของประชาชน ยันยันว่าพรรคเพื่อไทยจะดำเนินการทุกทางเพื่อนำรัฐธรรมนูญ ปี40 กลับมาใช้ เพื่อเป็นของขวัญ เป็นขวัญกำลังให้กับประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่าแสดงว่าพรรคเพื่อไทยจะถอนตัวจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ใช่เพราะพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เมื่อถามย้ำว่าการหารือวิป 3ฝ่ายเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะยังเกิดขึ้นหรือไม่ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า การหารือวิป3 ฝ่ายจะไม่ล่ม แต่พรรคเพื่อไทยจะไม่ให้การสนุบสนุน เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็นไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ดังนั้นจะเสียเงินเพื่อทำประชามติเพื่ออะไร ทั้งนี้ยอมรับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ให้ข้อเสนอแนะในเรื่องดังกล่าวด้วย
ส่วนหากเสียงส่วนใหญ่ของวิป3 ฝ่ายมีมติเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคจะทำอย่างไร ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องของเขา พรรคเพื่อไทยจะใช้เรื่องนี้เป็น นโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งหน้าว่าจะนำรัฐธรรมนูญ ปี 40 กลับมาใช้ ยืนยันว่า มติครั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศว่าจะมีการชุมนุมหากมีแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะพันธมิตรฯกับพรรคเพื่อไทยถือเป็นน้ำกับน้ำมันเข้ากันไม่ได้อยู่แล้ว ส่วนการที่ตนยินดีกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล หัวหน้าพรรค การเมืองใหม่นั้น เพราะต่อไปจะไม่มีการปิดสนามบิน หรือยึดทำเนียบรัฐบาล

วิปรัฐบาลถามพท.จริงใจสมานฉันท์หรือไม่
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล กล่าวว่า ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องท่าที ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส. พรรคเพื่อไทย และตัวแทนวิปฝ่ายค้าน ที่แถลงร่วมกันว่าจะถอนตัวจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ เพราะไม่มั่นใจว่าเป็นมติของ วิปฝ่ายค้านจริงหรือไม่ จึงยังไม่ให้น้ำหนักกับคำแถลงดังกล่าว อย่างไรก็ตาม จะหารือในที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย วันนี้ นี้ (8 ต.ค.) อีกครั้ง เพื่อให้เกิดความชัดเจน
นายชินวรณ์ กล่าวว่า หากการแถลงท่าทีดังกล่าวเป็นจริง และที่ยอมรับว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีส่วนในการแสดงความเห็น ต้องตั้งคำถามว่าฝ่ายค้าน มีความจริงใจนำไปสู่แนวทางสมานฉันท์อย่างแท้จริงหรือไม่ และคำแถลงของ ร.ต.อ.เฉลิม สอดรับกับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงที่ต้องการนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ ให้ยุบสภา และให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับประเทศ เพราะหากเป็นเช่นนี้ ประชาชนคงรู้ว่า ฝ่ายใดมีความจริงใจเรื่องการปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง.-

วิปวุฒิฯชี้เป็นเกมฝ่ายค้านเลิกแก้รธน.
ด้านนายวิทยา อินาลา ส.ว.นครพนม เลขานุการวิปวุฒิ กล่าาว่าการประกาศถอนตัวไม่ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ถือเป็นเกมการเมืองระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาลมากกว่า แต่หากฝ่ายค้านถอนตัวออก คงทำให้เรื่อง การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 3 ฝ่ายในรัฐสภา ต้องสะดุดลง หรือถ้าจะเดินต่อ ก็คงเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะลำพังอาศัยเพียงเสียงของรัฐบาลและ ส.ว. ที่จะลงมติเกินกึ่งหนึ่งที่ 311 เสียง ก็คงไม่ถึง อีกทั้ง ส.ว.เป็นอิสระ ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง คงยากที่จะไปบังคับ ซึ่งตนกำลังพยายามติดต่อกับวิปวุฒิและตัวแทนวิปวุฒิ เพื่อหารือถึงเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะกำหนดเดิม วันที่ 8 ต.ค. เวลา 10.00 น. จะมีการประชุมร่วมวิป 3 ฝ่ายกับฝ่ายกฎหมายของสองสภา พิจารณาการ ยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ทำให้ตอนนี้จึงไม่ทราบว่า ต้องเลื่อนประชุมหรือไม่ หากวิปฝ่ายค้านถอนตัว
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่ฝ่ายค้านจะถอนตัวออกไป ทราบว่า มีส.ส.และส.ว. ส่วนหนึ่ง เตรียมเข้าชื่อกันเพื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 6 ประเด้น เข้ามาเองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ซึ่งตรงนี้จะเป็นการสอดรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือไม่ นอกจากนี้ สภายังมีร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ประชาชน 7 หมื่นกว่าคนชื่อเสนอ ค้างอยู่ในระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาอยู่แล้วซึ่งยังไม่ได้มีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณา

ทำประชามติก่อนตามกฤษฎีกาเสนอ
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงท่าทีที่ชัดเจนของพรรคประชาธิปัตย์ ในเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ในพรรคประชาธิปัตย์ทุกคนสามารถแสดงความเห็นได้แม้แต่นายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน ซึ่งทั้งสองต้องการให้พรรคคุยกันในเรื่องนี้ให้ชัดเจนทุกประเด็น เพราะการจะไปทำประชามติ ส.ส.ก็ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้ว่าตัวเองคิดอย่างไร คิดว่าคงต้องประชุมกันอีกหลายครั้งกว่าจะถึงเวลาทำประชามติ
ส่วนกรณีที่ ชมรม ส.ส.ร.50 ออกมาโจมตีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายสุเทพ กล่าวว่า เป็นธรรมดาเพราะส.ส.ร.เป็นคนร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา เขาก็คงเกิดความ รู้สึกผูกพัน และคงไม่อยากให้ใครไปปรับปรุงหรือแก้ไข แต่รัฐธรรมนูญก็เหมือน กฎหมายอื่นๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่แตะต้องไม่ได้ ถ้ามันไม่สามารถที่จะสนองตอบ ความต้องการของประชาชนได้ หรือเห็นว่ายังไม่เหมาะสม สมบูรณ์ก็สามารถแก้ไขได้ ซึ่งแนวทางแก้ไขที่พรรคร่วมรัฐบาลได้ตกลงกันก็คือการให้ประชาชนตัดสินด้วยการทำประชามติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว
ส่วนที่ทางคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่าต้องทำประชามติก่อนยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น นายสุเทพ กล่าวว่า เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าควรทำประชามติก่อนเข้าสู่สภาก็ให้ทุกพรรคไปพิจารณา ทุกอย่างอยู่ที่เหตุผล
ขณะนี้เราต้องถือว่าต้องดำเนินการตามที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอ ความเห็นมา ที่จะให้ทำประชามติก่อน เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ทรงภูมิ ความรู้ และเข้าใจตัวบทกฎหมายต่างๆ ได้ดี ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฏีกา เป็นความเห็นที่รัฐบาลเชื่อถือ จากนี้รัฐบาลก็ต้องแจ้งไปที่พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลาย และวิป 3 ฝ่ายว่าความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นอย่างนี้ ซึ่งผมคิดว่า ทุกคนก็น่าจะรับได้

เปิดทางส.ส.ปชป.โชว์ความเห็นเต็มที่
ผู้สื่อข่าวถามว่าจนถึงขณะนี้แล้วการแก้ไขรัฐธรรมนุญจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลก็ระแวง เนื่องจากเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์แบ่งแยกกันเดิน แล้วสุดท้ายก็จะไปอาศัยมือกลุ่มพันธมิตรฯและชมรม ส.ส.ร. 50 เพื่อไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ นายสุเทพ กล่าวว่า ตนขอชี้แจงสื่อและประชาชนให้เข้าใจที่กล่าวหาว่า พรรคประชาธิปัตย์แบ่งแยกกันเล่นนั้นไม่เป็นความจริง เรื่องรัฐธรรมนูญนี้ คนในพรรคประชาธิปัตย์จะเปิดให้สมาชิกแสดงความเห็นกันได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในช่วงที่ยังไม่ตกผลึกนี้ แต่ละฝ่ายก็สามารถเคลื่อนไหว ผลักดันแนวทางของตัวเองที่คิดว่าน่าจะถูกต้องเหมาะสมเพื่อให้ส่วนใหญ่ยอมรับได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า ในพรรคประชาธิปัตย์ คนใด คนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งจะไปครอบงำคนทั้งพรรคได้ เพราะพรรคอยู่กันด้วยเหตุผล
ส่วนกรณีของพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ก่อนที่ตนจะไปเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล ทุกครั้ง ตั้งแต่เริ่มต้นก็ได้บอกแล้วว่าตนจะไปพูดคุยกับเขาเรื่องอะไร และเมื่อได้ผล อย่างไรก็จะกลับมารายงานให้ทราบ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการไปเจรจาข้างนอก ไม่ว่าจะเป็นวิปวุฒิหรือวิปฝ่ายค้าน ก็ต้องเคารพในสิ่งที่ได้พูดจากันไว้และมาแจ้งให้พรรคทราบ
สำหรับผมยังไม่เห็นว่าในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมดจะมีอะไรที่เป็นเรื่องที่ไม่ลงตัวกัน แต่ทั้งหมดนี้ทุกฝ่ายก็ยอมรับกันอยู่แล้วว่า ต้องถามประชาชน จะมีประโยชน์อะไรถ้าจะไปเถียงกันในประเด็นใด ประเด็นหนึ่ง จะมาเอาแพ้ เอาชนะกันตอนนี้ทำไม เพราะหากไปถามประชาชนแล้ว เกิดประชาชนไม่เอาประเด็นที่เราถกเถียงกัน ทุกอย่างมันก็จบ แล้วเราจะทะเลาะกันไปก่อนทำไมให้มันเหนื่อย

ประธานวุฒิฯงงความเห็นกฤษฎีกา
นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ในฐานะประธาน วิปวุฒิ กล่าวว่าตนยังไม่เห็นรายละเอียดที่คณะกรรมการกฤษฎีกาบอกว่าควรทำประชามติหลังยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก่อนเข้าสภา แต่ยังสงสัยว่าจะขัดรัฐธรรมนูญได้อย่างไร เมื่อขั้นตอนนี้เป็นเพียงการรวบรวมความเห็นมาประกอบการตัดสินใจ ไม่ใช่ขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ส่วนท่าทีในวิปวุฒิ ก็ยังเห็นต่างกันอยู่ ระหว่างทำประชามติก่อนร่างเข้าสภาและทำหลังจากสภาผ่านวาระ 1 ไปแล้ว และจะทำถึงประชามติหรือแค่ประชาพิจารณ์ อย่างไรก็ดี เมื่อนายกฯเห็นว่า ให้ทำประชามติ ผลการประชามติออกมาอย่างไร ก็จะมีผลต่อสภา เพราะสมาชิกรัฐสภาก็จะต้องทำตามเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ไม่เช่นนั้นจะเกิดความขัดแย้ง
แต่ผมยังมองว่า ควรทำประชามติหลังจากรับหลักการในวาระแรกไปแล้ว เพราะถ้าทำประชามติไปก่อนแต่ความเห็นของประชาชนยังไม่ตกผลึก อาจทำให้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีปัญหาหรืออุปสรรคได้ แต่ถ้าทำเมื่อผ่านการพิจารณาในวาระแรกแล้ว ครม.สามารถขอให้ทำประชามติได้ และประชาชนก็จะมีข้อมูลเพียงพอที่จะพิจารณา สามารถไปถามได้รายมาตรา และนำผลมาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ในการพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 หากประชาชนให้ส่วนใดตก ตอนโหวตวาระ 3 สภาก็โหวตให้ตกตามความเห็นของประชาชน 
ผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเริ่มออกมาส่งเสียงคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญ นายนิคม กล่าวว่า เป็นจุดยืนของพันธมิตรฯตั้งแต่ต้น ก็คงต้องทำความเข้าใจกัน เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีส่วนที่เกิดในวงการเมืองด้วย คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาศึกษาหาทางงออก ก็เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญมี 6 ประเด็นเร่งด่วน ซึ่งมีเหตุผล ฉะนั้นต้องยอมรับในเสียงส่วนใหญ่
กำลังโหลดความคิดเห็น