xs
xsm
sm
md
lg

แด่...ท่านที่เกษียณอายุงาน!

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

ผ่านไปแล้วหนึ่งสัปดาห์เต็มๆ ที่เหล่าบรรดา “ผู้เกษียณราชการ” เมื่ออายุครบ 60 ปี ตามวาระที่จะต้องเกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน ทุกปี นอกเหนือจากนั้น ก็น่าจะมีจากภาคเอกชนเช่นเดียวกันที่เกษียณอายุ เมื่ออายุครบ 60 ปี

ทั้งนี้ ในสังคมยุคปัจจุบัน ปรากฏว่า มีข้าราชการจำนวนมากเช่นเดียวกันที่ “ลาออกก่อนเกษียณ” หรือมักเรียกกันว่า “เออร์รี่รีไทร์ (Early Retire)” โดยในปี 2552 ปรากฏว่ามีข้าราชการลาออกก่อนเกษียณอายุจำนวนมาก เริ่มตั้งแต่อายุเพียง 30 ปลายๆ และกลางอายุ 40 ปีขึ้นไป

เหตุผลของการลาออกก่อนเกษียณนั้น ส่วนใหญ่มักจะสบโอกาสในการดำเนินธุรกิจของตนเอง หรือไม่ก็เปลี่ยนสายงานสู่ “ภาคเอกชน” ที่เชื่อมั่นว่าโอกาสจะมีสูงกว่า ในกรณีของการเจริญเติบโตในสายงาน กอปรกับสำคัญที่สุด คือ “เงินเดือน-ค่าตอบแทน” ที่สูงกว่าแน่นอน

นอกนั้น มักจะประสบปัญหาด้านสุขภาพ จึงขอโอกาสพักผ่อน เพื่อบำรุงรักษาร่างกายช่วงบั้นปลายชีวิต ทั้งนี้ เป็นกรณีที่แปลกเช่นเดียวกัน ที่มีผู้ขอลาออกก่อนเกษียณด้วยอายุเพียง 40 กว่าๆ เท่านั้น ด้วยปัญหาด้านสุขภาพจริงๆ

“การลาออกก่อนเกษียณ (Early Retirement)” ได้เริ่มมาประมาณ 4-5 ปีแล้ว ซึ่งช่วงแรกไม่ได้รับการยอมรับเลย จนถึงขั้นขนาดที่มองเป็นกรณี “ตลก!” ด้วยซ้ำ ที่จะต้องขอลาออกก่อนเกษียณ และไม่สำคัญเท่ากับว่าเป็นเรื่อง “แปลก!” แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป “การลาออกก่อนเกษียณ” ค่อยๆ ได้รับ “การยอมรับ” มากยิ่งขึ้น จนได้รับ “การนิยม” เพิ่มมากขึ้น โดยมีบรรดาข้าราชการลาออกก่อนเกษียณจำนวนนับหลักหลายพันคน จากกระทรวงและกรมต่างๆ ภายในปี 2552

หลังจากวันที่ 30 กันยายนผ่านไปแล้ว ท่านข้าราชการทั้งหลายจำนวนมากที่อายุครบ 60 ปี ในปีที่เกษียณ น่าจะรู้สึกแปลกๆ กับการตื่นนอนขึ้นมา เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่แน่นอน คงตื่นนอนเวลาปกติที่เคยตื่นตอนเช้าตรู่ เนื่องด้วย “ความเคยชิน” และแน่นอนเช่นเดียวกัน ที่ต้องถามตนเองว่า “ตื่นมาทำไมแต่เช้า?” เพราะไม่จำเป็นต้องเร่งรีบเดินทางออกจากบ้าน

ข้าราชการหลายพันท่านที่รับราชการมายาวนานอย่างต่ำก็ 20 กว่าปี สูงสุดก็เกือบ 40 ปี ที่ต้องขอชมเชยว่า “รับใช้ชาติบ้านเมือง-รับใช้ประชาชน” มาอย่างยาวนาน สร้างคุณค่าและประโยชน์แก่หน่วยงาน องค์กร และสังคม ในเชิงมหภาค

ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว พี่น้องข้าราชการที่รับราชการมายาวนาน ได้ทุ่มเทเกือบทั้งชีวิตในการทำงาน อาจจะประสบความสำเร็จมากบ้างน้อยบ้าง ในระดับหนึ่งมีประสิทธิภาพประสิทธิผลบ้างไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ เราคงจะวัดผล ประเมินผล และ/หรือเล็งผลเลิศ ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี คงไม่น่าจะเป็นไปได้ เนื่องด้วยการปฏิบัติราชการที่เป็น “กลไก-ฟันเฟื่อง” เสมือน “เครื่องจักร” คงเป็นไปไม่ได้ เพราะข้าราชการก็เป็น “มนุษย์” ที่ไม่สามารถทำงานด้วยประสิทธิภาพประสิทธิผลเต็มลูกสูบทุกวันได้

การทำงานของข้าราชการ เป็นกรณีที่แปลกเช่นเดียวกัน ที่เมื่อปฏิบัติภารกิจและหน้าที่ทุกเมื่อเชื่อวัน เรียกว่า “ซ้ำแล้วซ้ำเล่า-ซ้ำซาก” มาอย่างยาวนานหลายสิบปี ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการ “จมปลักอยู่กับที่” ไม่ว่า ในบรรยากาศหน่วยงาน กฎเกณฑ์ระเบียบข้อบังคับ ธรรมเนียมประเพณี ค่านิยม นโยบายเป้าหมายเดิมๆ คำว่า “เช้าชามเย็นชาม” จึงเกิดขึ้น เนื่องด้วยเป็น “งานกิจวัตร” ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า “Routinization”

อย่างไรก็ตาม ตลอดช่วงระยะเวลานับสิบกว่าปีและมากกว่านั้น ความจริงที่เราต้องยอมรับว่า “จะดี-จะเลว!” มากน้อยเพียงไร กับการทำงานของข้าราชการ ก็ยังเป็นกลไกฟันเฟื่องสำคัญ มิฉะนั้น ระบบราชการคงจะอยู่ไม่ได้มายาวนานนับร้อยกว่าปี ส่อนัยถึงความสำคัญของ “ระบบราชการ” ที่ยังคงทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผลไม่มากก็น้อย!

บรรดาข้าราชการที่เกษียณอายุราชการมาได้หนึ่งสัปดาห์เต็มๆ ซึ่งน่าเชื่อว่า แทบทุกท่านต้อง “ใจหาย!” จนยังไม่สามารถตระหนักได้ว่า “เกษียณแล้ว!” และแน่นอนที่มากไปกว่านั้น คือ “เหงา!” เนื่องด้วยเคยเดินทางออกจากบ้าน 5 วันต่อสัปดาห์ จมอยู่กับที่ทำงาน โต๊ะทำงานวันละไม่ต่ำกว่า 7-8 ชั่วโมง วันๆ มีแต่ทำงาน ประชุม สนทนาพูดคุยกับผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน

นอกเหนือจากนั้น ยังต้องประสบกับอุปสรรค ปัญหา ก่อให้เกิดการท้อถอย เลยเถิดไปจนถึง “ดีใจ-เสียใจ” ทุกเมื่อเชื่อวัน ดังนั้น “เหตุการณ์ประจำวัน” ที่เหล่าบรรดาข้าราชการประสบพบเจอเป็นระยะเวลาหลายสิบปี และแล้ววันดีคืนดี “สภาพชีวิต” ประจำวันที่หายวับไปกับตา ทันทีทันใด แน่นอนที่ทุกคนคงต้องเกิดอาการ “ใจหาย-เหงา-สับสน-วังเวง” จนอาจถึงขั้น “ฟุ้งซ่าน” และอาจปรับตัวไม่ได้!

คำถามสำคัญ “ปรับตัวได้หรือไม่ได้!” นั้น คงจะหาคำตอบไม่ได้ เนื่องด้วยในที่สุดแล้ว “ต้องปรับตัวให้ได้!” เพราะไม่มีทิศทางใด หนทางใด และแน่นอนที่สุดคือ “หลีกหนีไม่พ้น” เพราะไม่สามารถหวนกลับสู่สถานะและสภาวะเดิมได้!

ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี ของการรับราชการนั้น ก็ต้องยอมรับว่า ท่านข้าราชการเกษียณทั้งหลายได้อุทิศและสร้างคุณประโยชน์ต่อหน่วยงาน องค์กร สังคมมาโดยตลอด ดังที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น อย่างน้อยที่สุด ท่านทั้งหลายได้ทุ่มเทกับการทำงานใน “การรับใช้-บริการสังคม” ประเมินแล้วน่าจะสูงถึงร้อยละ 75-80 ทีเดียว ส่วนหวังผลเต็มร้อยนั้นไม่น่าจะได้

ประเด็นสำคัญที่กล่าวถึง “การทำงาน” ของท่านข้าราชการเกษียณแล้ว ว่าปฏิบัติงานมาอย่างลุ่มๆ ดอนๆ ในกรณีของความสัมฤทธิผลในการทำงาน ที่ท่านทั้งหลายก็ได้อุทิศทุ่มเทมามากเพียงพอแล้ว ถึงเวลาที่ท่านทั้งหลายต้อง “ตระหนัก-ปรับตัว” และไม่สำคัญเท่ากับ “ความภาคภูมิใจ” ด้วย “การสะท้อนเหตุการณ์” ต่างๆ ที่ท่านได้ปฏิบัติมาโดยตลอด พร้อม “อมยิ้ม!”

นอกเหนือไปมากกว่านั้น ท่านต้อง “คิดข้างหน้า-มองไปข้างหน้า” พร้อม “วางแผน” ว่า “จะทำอะไร” สำหรับ “อนาคต” อีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 15-20 ปีทีเดียว ด้วยการสร้างคุณค่า คุณประโยชน์แก่ตัวท่านเอง ครอบครัว ลูกหลาน ชุมชน และสังคมขนาดใหญ่

ท่านต้องตระหนักว่า ท่านยังมีความคิด สติปัญญา ที่สามารถทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมได้ มิใช่ว่าต้องสังกัดองค์กรถึงจะทำประโยชน์ได้ “บุคคลทั่วไป ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็สามารถทำประโยชน์ได้ ด้วยการเริ่มจากตนเอง!”

ที่กล่าวเช่นนั้น หมายความว่า หลายๆ ท่านข้าราชการเกษียณ อาจจะมีเป้าหมายในการดำเนินชีวิตหลังเกษียณที่แตกต่างกัน บางท่านอาจไม่ต้องการทำอะไรเลย นอกจากพักผ่อน ท่องเที่ยว ทำกิจกรรมภายในบ้าน บางท่านอาจจะไปทำกิจกรรมที่ตนเองปรารถนาที่จะทำมายาวนาน แต่ไม่ได้เริ่มเสียที อาทิ เขียนหนังสือ ทำไร่ทำสวน หรือบวชพระในกรณีของผู้ชาย หรือไม่ก็ไปปฏิบัติธรรม เป็นต้น

หรือบางท่านอาจจะหันเหสู่แวดวงวิชาการ ด้วยการไปเป็นอาจารย์พิเศษ ทั้งสอนหนังสือ หรือเดินสายบรรยาย ในกรณีที่สะสมประสบการณ์มาอย่างมากมาย และดำรงตำแหน่งระดับสูง ที่น่าเชื่อว่า จากประสบการณ์และความรู้ อาจจะเป็นประโยชน์แก่ชนรุ่นหลังได้

ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว อยากจะแนะนำว่า “สมควรกำหนดกิจกรรม” มิใช่ “นั่ง-นอน” อยู่เฉยๆ กับบ้าน เนื่องด้วย จะส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจที่อาจจะอ่อนแอลง หรือเลยเถิดไปจนถึงสภาพสมองที่อาจเป็น “อัลไซเมอร์” หรือ “สมองเสื่อม” ก็เป็นได้ เพราะไม่ได้ใช้ มิได้เคลื่อนไหวแต่ประการใด!

ระยะเวลาเวลาอีกอย่างน้อย 15-20 ปี กับ “ชีวิตอิสระ” นั้น นับว่าทรงคุณค่าอย่างมากสำหรับข้าราชการเกษียณ ที่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างอิสรเสรี ได้ดำเนินกิจกรรมที่สามารถสร้างคุณประโยชน์แก่ตนเอง ครอบครัว ลูกหลาน สังคมได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมยุคใหม่นั้น “องค์กรเอกชน-องค์กรอิสระ” ที่ผุดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก ในการที่ท่านสามารถเดินเข้าไปเสนอตนเอง พร้อมทั้งได้รับการตอบแทนได้

หรือบางท่านอาจสนใจ “การเมือง” ไม่ว่าในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ ก็ยังสามารถที่จะก้าวเดินสู่ “เวทีการเมือง” ได้เช่นเดียวกัน ด้วยการนำเสนอตนเองต่อชุมชน สาธารณชนของท่าน ด้วยสารพัดวิธีการ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ “สาธารณประโยชน์” โดยต้องตั้งใจและทำใจว่า อย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่า 3 ปี อย่างต่อเนื่อง เพื่อพิสูจน์ “ความจริงใจ-ความตั้งใจ” สู่สาธารณชน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเพียงหนึ่งสัปดาห์นั้น ขอแนะนำว่า “อยู่เฉยๆ” ด้วยการ “ทบทวน-ตั้งสติ-พักผ่อน” พร้อม “กำหนดเป้าหมาย-กิจกรรม” ว่าภายใน 2-3 เดือนภายหน้านั้นจะดำเนินกิจกรรมอะไร

แต่ข้าราชการที่เกษียณอายุราชการแล้ว ขอย้ำว่า ท่านได้ทำคุณประโยชน์มามากพอแล้ว ถึงเวลาที่ท่านจะได้พักผ่อน ดำเนินชีวิตอิสระอย่างมีคุณค่า แต่ไม่ควรปล่อยให้ชีวิตว่างเปล่า เพราะท่านจะ “เหงามากยิ่งขึ้น” จนในที่สุดจะ “หงอย!”

ดังนั้น พักผ่อนเพียง 1-2 เดือน แล้วเริ่มเคลื่อนไหวดำเนินกิจกรรม ด้วยการเริ่มต้นจากบ้านกับครอบครัวของท่าน แล้วค่อยๆ ขยายผลให้กว้างออกไป แต่ต้องขึ้นอยู่กับความตั้งใจ สมรรถนะ และศักยภาพของตัวท่านเอง!

“อิสรเสรีภาพ” บรรเจิดอยู่ต่อหน้าท่านแล้ว ไม่มีนาย ไม่มีลูกน้อง จึงเป็นห้วงเวลาที่ท่านกำหนดชีวิตของตนเองได้อย่างมีความสุข!
กำลังโหลดความคิดเห็น