xs
xsm
sm
md
lg

โวยประชาพิจารณ์กม.ค้าปลีกสุดอืดแฉเหตุคนรับผิดชอบมัวแต่ทัวร์นอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-โชห่วยโวยยกร่างกฎหมายค้าปลีกสุดอืด หลัง “พาณิชย์” ถ่วงเวลาจัดทำประชาพิจารณ์ ทั้งๆ ที่ “พรทิวา” สั่งให้ทำให้เสร็จภายใน 2 เดือนนับจากก.ย.ที่ผ่านมา ปูดเหตุ “วีระศักดิ์” ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล ไม่มีเวลาทำ เพราะมัวแต่จัดทริปบินเที่ยวต่างประเทศ ขณะที่นักวิชาการติงร่างพ.ร.บ.มีช่องโหว่หวั่นเอื้อทุจริต

รายงานข่าวจากสมาคมผู้ค้าปลีก-ส่งไทย แจ้งว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการร้านค้าปลีกขนาดกลางและเล็ก (โชห่วย) ในต่างจังหวัด ได้พยายามสอบถามความคืบหน้าการจัดทำประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง พ.ศ. ... ไปยังกระทรวงพาณิชย์เป็นจำนวนมาก เพราะต้องการเดินทางไปร่วมฟังประชาพิจารณ์และแสดงความคิดเห็นในการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะจัดที่ไหน เมื่อไร ทั้งๆ นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนับจากเดือนก.ย.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ตามกำหนดการจัดทำประชาพิจารณ์กฎหมายค้าปลีก ทราบว่ากระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดดำเนินการรวม 9 ครั้งทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น อุบลราชธานี ขอนแก่น พิษณุโลก ชลบุรี ระยอง สุพรรณบุรี และตรัง เป็นต้น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งโชห่วย ค้าปลีก ค้าส่ง รายใหญ่ นักวิชาการ ภาครัฐและเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้มีความเหมาะสม และทุกฝ่ายยอมรับได้

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ได้เปิดประชาพิจารณ์ครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา นับจากวันนี้ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้นว่าจะไปจัดประชาพิจารณ์อีก 8 ครั้งที่เหลือในจังหวัดใด และเมื่อมีการสอบถามเหตุผลก็ได้รับคำตอบว่า ที่ยังไม่สามารถดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์ในต่างจังหวัดได้ เพราะนายวีระศักดิ์ จินารัตน์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่เป็นผู้รับผิดชอบการยกร่างกฎหมายค้าปลีก ยังไม่ได้มีนโยบายในเรื่องนี้ จึงต้องรอให้สั่งการมาก่อน

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า สาเหตุที่นายวีระศักดิ์ยังไม่สามารถเข้ามาดูแลการจัดทำประชาพิจารณ์การยกร่างกฎหมายค้าปลีกอย่างจริงจัง เนื่องจากไม่มีเวลา เพราะเวลาส่วนใหญ่จะถูกใช้ไปกับการเดินทางไปต่างประเทศ โดยพบว่าตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา จะเดินทางไปต่างประเทศทุกเดือนเฉลี่ยเดือนละ 2-3 ครั้ง เช่น เม.ย.ไปประเทศจีน เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส เดนมาร์ก เดือนพ.ค.ไปรัสเซีย โปแลนด์ เดือนมิ.ย.ไปจีนครั้งที่ 2 อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ เดือนก.ค.ไปเยอรมนี ออสเตรีย เดือนส.ค.ไปบราซิล ชิลี อาร์เจนตินา และจีนครั้งที่ 3 ส่วนเดือนส.ค.ไปสหรัฐฯ และเดือนก.ย.ไปอิตาลี ฝรั่งเศส ล่าสุดวันที่ 30 ก.ย.-7ต.ค.จะไปรัสเซีย และอุซเบกิสถาน นอกจากนี้ ในเดือนต.ค.นี้ ยังมีแผนจะเดินทางไปโอมาน การ์ตา ดูไบอีก

“นางพรทิวาได้สั่งการให้เร่งจัดทำประชาพิจารณ์กฎหมายค้าปลีกให้เสร็จภายใน 2 เดือน คือ ต้องทำในเดือนก.ย.-ต.ค. แต่คนที่รับผิดชอบกลับไม่เคยอยู่เมืองไทย ขณะที่กรมการค้าภายในที่รับผิดชอบโดยตรง ตัวอธิบดีก็ได้รับการแต่งตั้งไปเป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์ ทำให้เกิดช่องว่างเกิดขึ้น และคงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำประชาพิจารณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนตามกำหนด กฎหมายค้าปลีกก็คงต้องชะลอการเข้าสู่การพิจารณาของครม.ต่อไป และคงเสร็จไม่ทันภายในปีนี้แน่นอน”รายงานข่าวระบุ

สำหรับประเด็นที่จะจัดทำประชาพิจารณ์ จะพุ่งเป้าใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การกำหนดประเภทธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง ที่ต้องขออนุญาตในการประกอบธุรกิจว่าจะมีอะไรบ้าง 2.การออกใบอนุญาตจะมีวิธีการอย่างไร เป็นแบบรวมศูนย์ไว้ที่ส่วนกลาง หรือกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดเป็นผู้พิจารณา 3.มาตรการส่งเสริมและพัฒนาค้าปลีกรายย่อย ควรจะมีอะไรบ้าง 4.โทษปรับตามกฎหมาย จะมีการปรับปรุงโทษอาญา และโทษปรับอย่างไร


ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่าเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ค้าปลีกฯ ของกรมการค้าภายในที่ทำประชาพิจารณาที่ผ่านมานั้นเห็นว่ายังมีข้อบกพร่องอยู่มาก ควรมีการพิจารณาในเรื่องของข้อกฎหมายและความเป็นไปได้ทางปฏิบัติก่อนมีการบังคับใช้ เพราะเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการออกกม.นี้ควรจะเป็นไปเพื่อให้ธุรกิจค้าส่งทั้งระบบของไทยมีมูลค่ามากกว่าแสนล้านนี้ สามารถทำธุรกิจร่วมกันได้มากกว่าจะเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น และกีดกันกลุ่มอื่นให้ออกนอกระบบไป ซึ่งเป็นการกีดกันทางการค้าที่ทั่วโลกไม่ยอมรับ

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของนิยามของประเภทธุรกิจที่จะต้องขออนุญาตไว้ 4 ประเภท ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ห้างค้าปลีกค้าส่งขนาดใหญ่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อซึ่งไม่ได้ให้คำนิยามให้ชัดเจนว่าแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร ทำให้เกิดช่องว่างสำหรับผู้ปฎิบัติ ซึ่งอาจจะเป็นช่องโหว่ให้มีการทุจริตการขออนุญาตได้เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น