ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – ชาวสงขลาตั้งเวทีเสวนาเจาะลึกแผนพัฒนารัฐดันสร้าง “โรงไฟฟ้าจะนะ 2” ชี้ถือเป็นต้นธารของโครงการพัฒนานิคมอุตฯ ขนาดใหญ่ ที่จะตามมาด้วยท่าเรือน้ำลึก รวมทั้งสะพานเศรษฐกิจเชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน โดยมี “ปิโตรเคมี” เป็นอุตสาหกรรมพระเอก ซึ่งต่อไปจะกลายเป็นมาบตาพุดแห่งที่ 2 ระบุชัดในอนาคตคนเมืองหาดใหญ่และเมืองสงขลาจะได้รับผลกระทบจากมลพิษและโรคภัยไม่ต่างจากคนระยอง
ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน อ.จะนะ จ.สงขลา จัดเวทีเสวนาเรื่อง นโยบายพลังงานเชื่อมโยงกับความเป็นไปของจะนะบ้านเรา “จำเป็นหรือ? ต้องมีโรงไฟฟ้าจะนะ 2” ณ ห้องประชุมใหญ่ โรงพยาบาลจะนะ เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยมีประชาชนในพื้นที่และจากเมืองหาดใหญ่และสงขลาเข้าร่วมจำนวนมาก วิทยากร ประกอบด้วย ผศ.ประสาท มีแต้ม นักวิชาการจากรั้ว มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่(มอ.หาดใหญ่) นายศุภกิจ นันทะวรการ จากมูลนิธินโยบายสุขภาวะ นายปิยะโชติ อินทรนิวาส จากศูนย์ข่าว ASTV ผู้จัดการหาดใหญ่ น.ส.สมพร เพ็งค่ำ จากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และ น.ส.ภาวิณี ไชยภาค จากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ส่งผลกระทบกับสุขภาวะชุมชน (HIA) พื้นที่จะนะ โดยงานนี้มีการถ่ายทอดเสียงผ่านวิทยุชุมชนสงขลาร่วมใจ คลื่น FM 95.5 MHz ด้วย
ผศ.ประสาทเปิดเผยว่า ขณะนี้ในภาคใต้มีโรงไฟฟ้าเกือบ 50% ของทั้งประเทศ แต่โรงไฟฟ้าที่ทำงานมีเพียงครึ่งเดียว ขณะที่พนักงานยังได้รับเงินเดือนเต็ม ดังนั้นวันนี้จึงมีโรงไฟฟ้าของรัฐที่นอนกินเงินเดือนฟรีๆ ประมาณ 27% หากคิดถึงการใช้ไฟฟ้าของคนทั้งภาคใต้ที่มีไม่เกิน 2,000 เมกะวัตต์ จึงยังน้อยกว่าที่มีการผลิตได้ในพื้นที่อยู่มาก
“การพัฒนาโรงไฟฟ้าเราไม่ปฏิเสธ เพราะมีประโยชน์แน่นอน แต่อยากถามว่าที่ผ่านมามีเพียงพอแล้วหรือยัง เมื่อเทียบกับการสูญเสียเงินของประชาชนไปโดยไร้ประโยชน์ เพราะไฟฟ้าที่ผลิตได้เกินจำนวนความต้องการจำนวนมากนั้น ภาระที่เกิดขึ้นก็ตกอยู่ที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ” ผศ.ประสาทกล่าว
นายศุภกิจกล่าวว่า การที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อ้างว่า จำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าจะนะแห่งที่ 2 เพราะโรงไฟฟ้าขนอมที่นครศรีธรรมราชหรือที่กระบี่กำลังจะหมดอายุ ไม่อย่างนั้นจะมีปริมาณไฟฟ้าไม่เพียงพอ เรื่องนี้ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะกฟผ.มีแผนพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น
ส่วนเรื่องที่ในช่วง 3 วันของเดือนสิงหาคม 2552 ทั้งมีก๊าซหายไปจากระบบทั้งที่ส่งมาจากพม่าและอ่าวไทยประมาณ 10,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท ถือว่าเยอะมากเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าจะนะ แต่ทุกฝ่ายกลับนิ่งเฉย ไม่มีการให้คำตอบที่ชัดเจนแก่ประชาชน หากรัฐบาลยังตอบไม่ได้ว่าก๊าซหายไปไหน แน่นอนว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าอีกกี่โรงก็ไม่เพียงพอ แล้วจะสร้างโรงไฟฟ้าไปทำไมอีก
“ถ้ามีการสร้างโรงไฟฟ้าจะนะแห่งที่ 2 เชื่อว่าพื้นที่นี้กำลังจะถูกพัฒนาให้เหมือนกับมาบตาพุดที่ จ.ระยอง เพราะมีการเริ่มต้นเหมือนกันจากการสร้างโรงแยกก๊าซ โรงไฟฟ้า และการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกกำลังจะตามมา ตามแผนสร้างสะพานเศรษฐกิจเชื่อมระหว่างขลา-สตูล ซึ่งตอนนี้มีการกำหนดพื้นที่สำหรับนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไว้แล้วประมาณ 10,800 ไร่” นายศุภกิจกล่าวและว่า
ใน จ.สงขลามีรายงานฉบับสมบูรณ์การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการศูนย์อุตสาหกรรมของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) จัดทำโดยบริษัทเอสจีเอส เอนไวรอนเมนทอล เซอร์วิสเซส จำกัด ไว้แล้วเมื่อเดือน กรกฎาคม 2541 โดยโครงการดังกล่าวมีเนื้อที่ประมาณ 2,400 ไร่ ตั้งอยู่ชายทะเลบริเวณบ้านปึก ต.นาทับ อ.จะนะ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มโรงงาน 3 ประเภทคือ 1.อุตสาหกรรมยางและการแปรรูปสัตว์น้ำ 2.อุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ ยางรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ และ 3.อุตสาหกรรมเคมีขั้นต้น เช่น การผลิตกรดอะซิติก เมทานอล หรืออะเวตะดีไฮต์ และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และไฮโดรเจน เป็นต้น
ทั้งนี้จะเกิดอะไรขึ้นหลังจากมีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในพื้นที่ คำตอบคือ 1.ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดมลพิษทางเสียงและอากาศ ซึ่งนับได้ว่าเป็นสิ่งที่ร้ายแรงที่สุด เพราะมีผลต่อสุขภาพของคนในชุมชน ดั่งจะเห็นตัวอย่างได้จากจังหวัดระยองที่มีสถิติความเสี่ยงสูงสุดต่อการป่วยเป็นมะเร็งทุกชนิด
2.ผลกระทบต่ออาชีพ ด้านการเกษตรและการประมง 3.ผลกระทบด้านสังคม ก่อให้เกิดความแตกแยกในชุมชน เพราะการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จในการดำเนินโครงการ และการเสนอผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มอิทธิพลในท้องถิ่น รวมทั้งจะมีแรงงานนอกพื้นที่มากขึ้น ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาอย่างมากมาย
ด้านนายปิยะโชติกล่าวว่า ขอมองในฐานะสื่อมวลชนที่ติดตามความเคลื่อนไหวมาต่อเนื่อง โครงการปิโตรเคมีต้องมีเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในพื้นที่จะนะ และก็จะต้องมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ตามมาด้วย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ และอุตสาหกรรมการเกษตร เนื่องจากว่ากลุ่มนักลงทุนได้เข้ามากว้านซื้อที่ดินนานกว่า 10 ปีแล้ว ดังนั้นในอนาคตการพัฒนาของจะนะอาจจะไม่ต่างจากมาบตาพุด และอาจจะแถมด้วยการยกเมืองสมุทรปราการมาไว้ที่นี่ด้วย
“ผมขอยืนยันว่าอุตสาหกรรมจะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน และปัญหาต่างๆ ก็จะตามมา สำหรับเมืองหาดใหญ่และเมืองสงขลาต่อไปก็คงไม่ต่างจากเมืองระยองหรือเมืองชลบุรีที่อยู่คู่กับนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ต่อไปคนเมืองหาดใหญ่และสงขลาก็จะต้องผจญกับปัญหามลพิษและโรคภัยต่างๆ ไม่ต่างจากคนระยอง” นายปิยะโชติกล่าว