xs
xsm
sm
md
lg

ต้องเตรียมรับมือวิกฤตเศรษฐกิจรอบสอง!

เผยแพร่:   โดย: สิริอัญญา

เมืองไทยของเรากำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายทางเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง แต่ขณะนี้คนไทยยังตีกันเองไม่เลิก หลายหน่วยงานยังทะเลาะเบาะแว้งและขัดแย้งกัน จนแทบจะบริหารบ้านเมืองไปไม่ได้

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องบอกกล่าวเตือนภัยให้คนไทยทั้งหลายได้เตรียมตัวเตรียมใจเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่

จะต้องหยุดทะเลาะ หยุดขัดแย้ง หยุดแตกแยกกันไว้สักพักหนึ่ง แม้นักการเมืองก็ต้องหยุดโกง หยุดบ้าบอคอแตก และหยุดแก้รัฐธรรมนูญเอาไว้ก่อน หาไม่แล้ววิกฤตคราวนี้จะทำเอาบ้านเมืองและทุกภาคส่วนของสังคมยับเยินป่นปี้ จนยากที่จะแก้ไขให้ฟื้นคืนดีได้อีก

วิกฤตทางเศรษฐกิจรอบที่แล้วที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2551 เป็นวิกฤตที่ไม่ได้เกิดจากประเทศไทย เพราะเกิดขึ้นและเริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกา ที่ฟองสบู่ทางเศรษฐกิจแตกระเบิดเถิดเทิงแล้วส่งผลกระทบไปทั่วทั้งโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ต้องใช้เงินและทรัพยากรครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติเพื่อบรรเทาเบาบางวิกฤตนั้น แม้ในบ้านเมืองของเราที่ได้รับผลกระทบชั้นปลายแถว แต่ความหนักหน่วงของวิกฤตก็รุนแรงไม่แตกต่างอันใดกับเมื่อครั้งวิกฤตปี 2540

มันเกิดขึ้นในขณะที่รัฐบาลปัจจุบันเพิ่งตั้งไข่ใหม่ๆ และยังผสมโรงด้วยการป่วนบ้านป่วนเมืองเพื่อไม่เปิดโอกาสให้รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาของประเทศชาติ แต่ถึงกระนั้นก็ต้องยอมรับกันว่ารัฐบาลได้รับมือกับวิกฤตรอบนั้นให้ผ่านพ้นไปด้วยดี

แต่แลกมาด้วยการทุ่มเทเงินทองและทรัพยากรครั้งใหญ่ที่สุดและมากกว่าเมื่อครั้งวิกฤตปี 2540 เสียอีก แม้กระทั่งการเอาเงินไปแจกแก่ประชาชนก็ต้องฝืนใจและจำใจทำ ท่ามกลางเสียงติฉินนินทาของผู้ที่ไม่เข้าใจ และในวันนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามาตรการทั้งหลายที่รัฐบาลได้ใช้ไปนั้นได้ผล และสามารถหยุดยั้งวิกฤตไม่ให้ลุกลามบานปลายจนกระทั่งเศรษฐกิจไทยเริ่มตั้งตัวได้

แม้ว่าตั้งตัวได้ แต่ยังคงเปราะบางยิ่งนัก หากประมาทพลาดพลั้งและเผชิญหน้ากับคลื่นลมแรงทางเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง โชคก็อาจไม่ดีเหมือนรอบที่ผ่านมา

วันนี้ไม่ต้องเถียงกันหรอกว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยจะเป็นไปในรูปตัว L หรือตัว V หรือตัว W หรือตัว M เพราะนักเศรษฐศาสตร์นั้นย่อมมีข้อโต้เถียงกันได้ไม่มีวันจบสิ้น ก็เหมือนๆ กับนักกฎหมายนั่นแหละ ลงไม่ได้โต้ไม่ได้เถียงกันแล้วก็ดูเหมือนว่าจะไร้คุณค่าหมดราคาไปเสียเลย

เพราะไม่ว่าจะเถียงกันไปในทางไหน ความจริงมันก็เห็นกันอยู่ชัดๆ ว่ารัฐบาลนี้ได้หยุดยั้งวิกฤตทางเศรษฐกิจเอาไว้ แต่สภาวการณ์ยังคงเปราะบางยิ่งนัก หากจะเผชิญหน้ากับวิกฤตรอบใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงเป็นปัญหาที่บรรดาผู้ทรงปัญญาวิชาคุณทั้งหลายจะต้องร่วมจิตร่วมใจกันคิดอ่านป้องกันแก้ไข ไม่ใช่เอาแต่โต้เถียงกันเพื่อความเพลิดเพลินบันเทิงใจ

วิกฤตทางเศรษฐกิจรอบใหม่ที่ก่อเค้าและใกล้ระเบิดแล้วนี้ก็เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาอีกนั่นแหละ และจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเช่นเดิม แต่อาจจะหนักหนาสาหัสกว่าเดิมหลายเท่า

เหตุที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่ในสหรัฐฯ ก็เป็นวิบากกรรมของสหรัฐฯ เอง ที่ทั้งรัฐบาลและประชาชนต่างกระตุ้นเศรษฐกิจกันตามวงจรชีวิตแห่งโลกทุนนิยม หรือลัทธิบริโภคนิยม จนเกิดหนี้สินล้นพ้นตัว

หากเปรียบเทียบเป็นคนธรรมดาหรือนิติบุคคลธรรมดาแล้วก็กล่าวได้ว่าสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศและชาวอเมริกันทั้งประเทศขณะนี้ตกอยู่ในภาวะล้มละลายแล้ว เป็นหนี้สินล้นพ้นตัวจนไม่มีทางที่จะชำระหนี้สินได้อีกเลย

และได้รับผลกระทบจากการทุ่มเทเงินทองและทรัพยากรจำนวนมหาศาลไปในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจรอบที่แล้ว จึงซ้ำเติมให้ระบบเศรษฐกิจย่ำแย่หนักลงไปกว่าเก่า จนเจ้าหนี้รายใหญ่ๆ ไม่ไว้ใจ ถึงกับต้องเรียกหนี้คืนด้วยวิธีการขายคืนพันธบัตรและตราสารต่างๆ อย่างไม่หยุดยั้ง

ในกลางปีนี้ จีนก็ได้ถอนเงินฝากในรูปของการขายพันธบัตรคืนเป็นเงินกว่า 800,000 ล้านบาท และลูกหนี้ไม่มีเงินจ่าย ต้องไปอ้อนให้อังกฤษและญี่ปุ่นเข้าไปรับซื้อหนี้แทน แล้วภาวะอย่างนี้ก็ได้ส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐต่อไปด้วย ทำให้จำนวนหนี้ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นและค่าใช้จ่ายทั้งหลายก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

มาตรการแก้ไขวิกฤตทางเศรษฐกิจแบบโลกทุนนิยมนั้นไม่มีอะไรมาก คือเร่งใช้จ่าย เพิ่มหนี้ และกระตุ้นการบริโภคกัน จนท้องแตกไปตามๆ กัน เพราะฉะนั้นบรรดาหนี้เสียหนี้สูญจึงเพิ่มพูนขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง

ขณะนี้สถาบันการเงินตามรัฐต่างๆ ทั่วประเทศร่วม 400 แห่งกำลังใกล้เจ๊งเต็มทีแล้ว สถาบันการเงินเหล่านี้มีทรัพย์สินรวมกันกว่า 400,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของยอดหนี้ที่จีนเป็นเจ้าหนี้ของสหรัฐฯ อยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งมีจำนวนถึง 748,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

คนฝากเงินก็พากันไปถอนเงิน ในขณะที่สถาบันการเงินเหล่านั้นไม่มีปัญญาจ่ายคืนให้แก่ผู้ฝากเงิน สภาพเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นโดยทั่วไป แต่มันเกิดขึ้นในขณะที่รัฐบาลกลางได้ใช้จ่ายเงินไปแทบสิ้นประดาตัวแล้ว และจะก่อหนี้ใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหนี้เก่าที่มีอยู่เจ้าหนี้เขาก็ไม่ไว้วางใจ กำลังทวงถามไถ่ถอนกันจ้าละหวั่น

ดังนั้นจึงเป็นที่คาดหมายกันได้แล้วว่า 400 สถาบันการเงินจะเจ๊งเป็นเงินถึง 400,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และจะกลายเป็นระเบิดลูกโซ่ที่ระเบิดตูมตามไม่หยุดไม่หย่อน จนพังพินาศไปทั้งระบบ

เพราะสถาบันการเงินทั้ง 400 แห่งนี้ ด้านหนึ่งก็มีผู้ฝากเงินที่จะต้องได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากการถอนเงินฝากไม่ได้ แล้วจะเกิดภาวะขาดสภาพคล่อง และความไม่สามารถชำระหนี้หรือดำเนินธุรกิจต่อไปได้ตามมาอีกต่อหนึ่ง

ในอีกด้านหนึ่ง สถาบันการเงินทั้ง 400 แห่งนี้ก็มีลูกหนี้ที่ได้รับสินเชื่อไปในการประกอบธุรกิจและในกิจการต่างๆ แม้กระทั่งเงินกู้ส่วนบุคคล ที่เมื่อสถาบันการเงินขาดสภาพคล่องแล้วก็จะไม่มีวงเงินใช้สอยอีกต่อไป หรือไม่ก็ถูกเร่งรัดเรียกหนี้สินคืน และทำให้กระแสของเงินที่หมุนเวียนต้องหยุดชะงักตามไปด้วย

เป็นสภาพเดียวกันกับการปิด 56 สถาบันการเงินเมื่อครั้งเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ในประเทศไทย ซึ่งเกิดผลกระทบทั้งด้านผู้ฝากเงินและกระทบทั้งด้านผู้ประกอบการและผู้ใช้สินเชื่อที่ต้องได้รับผลกระเทือน กระทั่งล้มละลายไปตามๆ กัน

แต่เหตุการณ์ปิดสถาบันการเงิน 56 แห่ง ในครั้งนั้นจะเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยแค่หยิบมือเดียวเมื่อเทียบกับการล่มสลายของ 400 สถาบันการเงินของสหรัฐฯ แรงระเบิดและผลกระทบที่ต่อเนื่องนั้นเทียบกันไม่ได้

มันจะส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วนและทุกมลรัฐในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวนี้ดูเหมือนว่ารัฐบาลกลางก็จะรู้ตัวดี ดังนั้นจึงต้องจำใจทำในสิ่งที่สหรัฐฯ ไม่เคยทำมาก่อนนับตั้งแต่สถาปนาสหรัฐอเมริกา

นั่นคือการเลิกโครงการเกราะป้องกันการโจมตีจากอวกาศที่จะดำเนินการในยุโรป การลดค่าใช้จ่ายทางการทหาร ที่ถึงกับต้องชะลอการตัดสินใจทางการทหารในหลายภูมิภาคของโลก แม้กระทั่งในภาคแปซิฟิก ฝ่ายทหารของสหรัฐอเมริกาก็วิตกกังวลว่าจะไม่สามารถพัฒนาได้ทันกับความเติบใหญ่ทางแสนยานุภาพทางนาวีของจีน ซึ่งจะคุกคามต่อปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ในภาคแปซิฟิกในอนาคต

ก็ในธนบัตรสหรัฐฯ นั้น แม้ไม่มีเงินสำรองหนุนหลัง แต่ก็มีของหนุนหลังอยู่อย่างหนึ่งนั่นคือแสนยานุภาพทางการทหาร ดังที่พิมพ์ไว้ในธนบัตรนั้นเองว่า In God We Trust โดยความหมายที่แท้จริงก็คือ In Gun We Trust

ดังนั้นเมื่อจำเป็นและจำใจที่จะต้องหยุดโครงการและปฏิบัติการมากหลายทางการทหาร เพื่อรับมือกับวิกฤตครั้งใหม่ก็ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อภาคการเงินและคุณค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย ซึ่งตรงจุดนี้จะเป็นสิ่งที่แก้ไขให้ฟื้นคืนดีได้ยากที่สุด

ประเทศไทยของเราแม้อยู่ปลายลมทอร์นาโดทางเศรษฐกิจลูกนี้ แต่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบย่อมไม่พ้น ดังนั้นในภาวะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเปราะบางนัก จึงเป็นเรื่องที่จะต้องเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน โดยรัฐบาลต้องเป็นผู้นำในการเตือนภัยและเตรียมการระวังภัยในครั้งนี้

สำหรับรัฐบาลเอง จำเป็นที่จะต้องทบทวนแผนการใช้เงินตามงบประมาณและโครงการเงินกู้ต่างๆ โดยต้องชำเลืองมองเค้าเมฆใหญ่แห่งวิกฤตที่กำลังคืบคลานใกล้เข้ามาทุกทีด้วย

เพราะถ้าหากมัวแต่กระตุ้นเศรษฐกิจ มัวแต่ทุ่มงบประมาณ และใช้จ่ายเงินเกินตัว แถมยังกระตุ้นให้ประชาชนเพิ่มการบริโภคให้มากขึ้น ก่อหนี้สินให้มากขึ้นแล้ว เมื่อวิกฤตนั้นมาถึงก็จะสิ้นไร้เรี่ยวแรงในการรับมือ และเมื่อนั้นความล่มสลายทางเศรษฐกิจของทั้งประเทศและภาคธุรกิจตลอดจนประชาชนก็จะมาถึง.
กำลังโหลดความคิดเห็น