xs
xsm
sm
md
lg

คสศ.หวังเชื่อมการค้าพม่าทะลุบิมส์เทก หนุนเปิดด่านกิ่วผาวอก/สะพานเชื่อมน่าน-อุตรดิตถ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พัฒนา สิทธิสมบัติ
เชียงราย– คณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ/หอการค้า 10 จังหวัดเหนือ ยกมือหนุนเปิดด่านถาวร “กิ่วผาวอก” หวังเชื่อมเส้นทางการค้าเข้าตองยี-มัณฑะเลย์ ทะลุบิมส์เทก พร้อมดันรัฐจัดงบสร้างสะพานเชื่อมน่าน-อุตรดิตถ์

รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ ได้จัดประชุมครั้งที่ 3/2552 ขึ้นที่ จ.น่าน เพื่อพิจารณาประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ และติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน รวมถึงพิจารณาโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ของ คสศ.และหอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ โดยมีนายวีรวิทย์ วิวัฒนวานิช ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธาน

นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธาน คสศ.หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ นอกจากจะมีการหารือกันในภาพรวมของจังหวัดต่างๆ แล้ว คสศ.ยังมีมติในการผลักดันใน 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ การผลักดันให้มีการยกฐานะด่านกิ่วผาวอก หรือด่านอรุโณทัย ชายแดนไทย-พม่า อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ให้เป็นจุดผ่านแดนถาวร เนื่องจากเห็นว่าด่านกิ่วผาวอก มีภูมิศาสตร์ที่สามารถเชื่อมกับถนนสายสำคัญๆ ภายในประเทศพม่าคือเมืองต่วน-ตองยี ศูนย์กลางของรัฐฉาน และจากเมืองตองยี สามารถเชื่อมไปยังเมืองมัณฑะเลย์ และถนนสายต่างๆ ภายในประเทศพม่า

รวมทั้งเชื่อมไปถึงชายแดนพม่า-บังกลาเทศ เพื่อต่อไปยังประเทศอินเดียหรือกลุ่มประเทศบิมส์เทก (BIMSTEC) ที่ประกอบด้วย บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย ไทย พม่า เนปาล และภูฏาน ได้ใกล้ที่สุด เนื่องจากด่านกิ่วผาวอกไปยังเมืองตองยีใช้ระยะทางอีกเพียงประมาณ 150 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันถนนภายในประเทศพม่าจากเมืองตองยีได้รับการพัฒนาไปมากสามารถเชื่อมโยงไปจุดอื่นๆ ได้ง่าย

นายพัฒนา กล่าวอีกว่า คสศ.ได้จัดตั้งคณะทำงานการค้าชายแดนในทุกจุดของ 10 จังหวัดภาคเหนือซึ่งเป็นจังหวัดสมาชิก (ยกเว้น จ.เชียงราย และ อ.แม่สอด จ.ตาก เนื่องจากมีการพัฒนาที่ก้าวหน้าและมีหน่วยงานองค์กรภาครัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องคอยทำหน้าที่อยู่แล้ว)และได้ดำเนินการตรวจสอบศักยภาพเบื้องต้นแล้ว

ดังนั้น แนวทางการผลักดันคือ คสศ.ก็จะนำเสนอเรื่องนี้ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบมติดังกล่าวต่อไป และในส่วนของตนซึ่งเป็นประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านด้านประเทศพม่าของสภาหอการค้าไทย ก็จะอาศัยช่องทางนี้ผลักดันหารือกับเอกชนในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลักดันร่วมกันด้วย
โครงข่ายถนนเชื่อมด่านกิ่วผาวอกสู่พม่า และทะลุถึงกลุ่มประเทศบิมส์เทกในอนาคตด้วย
สำหรับสภาพของด่านกิ่วผาวอกในปัจจุบันคือหลังจากที่ประเทศไทยมีการปิดด่านและหันกลับมาเปิดใหม่ ปรากฏว่าด่านในฝั่งประเทศพม่าไม่มีการเปิดอีกเลย ดังนั้น เมื่อทุกฝ่ายเห็นความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าวร่วมกันการผลักดันก็มีความเป็นไปได้สูง

นายพัฒนา กล่าวด้วยว่า สำหรับปัญหาด้านความมั่นคง ซึ่งหลายฝ่ายอาจกังวลกันนั้น ตนเห็นว่าหากเปิดเป็นจุดผ่านแดนถาวรก็จะมีการค้าขายสินค้าทั้งขาเข้าและออก ซึ่งก็จะทำให้มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น ตำรวจ ทหาร ด่านศุลกากร ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ด่านตรวจพืช ฯลฯ ไปประจำอยู่ที่จุดดังกล่าว ทำให้มีการส่งกำลังเข้าไปดูแลมากขึ้นและทำให้ปัญหาด้านความมั่นคงลดลง เช่นเดียวกับความกังวลด้านปัญหายาเสพติดเพราะหากมีเจ้าหน้าที่ไปประจำการมากขึ้นการควบคุมดูแลก็จะมีมากขึ้นตามมา

ทั้งนี้ หากมีการเปิดเป็นจุดผ่านแดนถาวรจริงในฝั่งประเทศพม่าก็คงจะมีการเปิดร่วมด้วย ซึ่งจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไทย-พม่า ให้มีความกระชับแน่นแฟ้นมากขึ้น รวมทั้งได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการค้าระหว่างกลุ่ม GMS ลุ่มแม่น้ำโขงกับกลุ่มประเทศบิมสเทกได้อีกด้วย

"เชื่อว่าเมื่อมีการเปิดด่านกิ่วผาวอกเป็นจุดผ่านแดนถาวรจะมีการขนส่งสินค้าระหว่างกลุ่ม GMS กับบิมสเทกมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์จากการนำเข้าวัตถุดิบจากกลุ่มบิมส์เทก เข้ามาแปรรูปหรือบรรจุหีบห่อเพื่อการส่งออก คาดว่ามูลค่าการค้าด้านนี้จะเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล เพราะมีภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม" นายพัฒนา กล่าวและว่า โดยในปี 2552 ที่ผ่านมามูลค่าการค้าผ่านด่านกิ่วผาวอกมีการส่งออกเพียงจำนวน 807,837.73 บาท และไม่มีการนำเข้าเลย ซึ่งทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อมีการยกระดับด่าน

ประธาน คสศ.หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ กล่าวต่อว่า สำหรับมติของ คสศ.อีกเรื่องคือการผลักดันให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำน่านเชื่อมระหว่าง อ.นาหมื่น จ.น่าน กับ อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ เพราะสามารถเชื่อมระหว่างภาคเหนือตอนบนกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ใกล้ขึ้น อันจะเป็นการเชื่อมภาคการท่องเที่ยวผ่าน สปป.ลาว-เวียดนาม ได้ด้วย ซึ่ง จ.น่าน ก็มีการผลักดันเรื่องนี้อยู่แล้วและมีการคำนวณการใช้งบประมาณอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านบาท และเพื่อความรวดเร็วก็จะเสนอให้มีการใช้งบประมาณไทยเข้มแข็งเข้าไปดำเนินการ
กำลังโหลดความคิดเห็น