xs
xsm
sm
md
lg

ADBทุบ!จีดีพีปีนี้ติดลบ3.2%"กรณ์"ลุ้นระทึกงบ53ทันใช้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - เอดีบีปรับประมาณการจีดีพีไทยติดลบเพิ่มเป็น 3.2% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบ 2% จากช่วงครึ่งปีแรกที่เศรษฐกิจหดตัวมากกว่าที่คาดไว้ ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังขยับฟื้นได้จากการทุ่มเงินลงทุนของภาครัฐ แต่ปีหน้าจีดีพีจะกลับเป็นบวก 3% ธปท.ยันศรษฐกิจไทยขณะนี้ไม่มีสัญญาณเกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์และภาคครัวเรือน พยายามดูแลเงินบาทไม่ให้ผันผวนหลังบาทวานนี้แข็งค่าต่อปิดที่ 33.62 ขณะที่ ครม.ระงับทูลเกล้าฯ ร่าง พ.ร.บ.งบปี 53 หลังถูกร้องศาล รธน. "กรณ์" แอบลุ้นศาลเร่งตัดสินทันใช้สิ้นเดือน


นายฌอง ปิแอร์ เวอร์บิสท์ ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ประจำประเทศไทยเปิดเผยว่า เอดีบีได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปีนี้เป็นหดตัวร้อยละ 3.2 จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 2 โดยเศรษฐกิจไทยหดตัวอย่างแรงร้อยละ 5.9 ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว และหดตัวลงไปอีกร้อยละ 1.8 ในไตรมาสแรกของปีนี้ ก่อนที่จะหดตัวน้อยลงร้อยละ 2.3 ในไตรมาสที่สอง โดยรวมแล้วผลผลิตทางเศรษฐกิจลดลงร้อยละ 6 ในครึ่งแรกของปีนี้ จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เป็นการหดตัวที่รุนแรงลำดับต้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ แม้ว่าจะมีสัญญาณบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดในช่วงครึ่งปีแรกไปแล้ว แต่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้ดีเพียงใด ขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายและการลงทุนของรัฐบาลตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัจจัยเสี่ยงต่อการดำเนินการตามโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจคือการสะดุดหยุดชะงักทางการเมือง ประมาณการดัชนีราคาผู้บริโภคได้มีการปรับลดลงเป็นติดลบในปีนี้ ก่อนที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะเริ่มค่อยๆ กลับมาในปีหน้า โดยคาดว่าในปี 2553 เศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งหนึ่ง โดยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3 ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการใช้จ่ายตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งจะมีส่วนในการกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน การบริโภคภาคเอกชนทำให้การจ้างงานที่ดีขึ้นและราคาสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น
โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับที่สอง หรือที่เรียกว่าแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ซึ่งเป็นแผนการลงทุนภาครัฐมูลค่า 1.43 ล้านล้านบาทในช่วงปีงบประมาณ 2553 ถึง 2555 โดยจะเริ่มในเดือนตุลาคม 2552 นี้ แผนปฏิบัติการดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าประมาณร้อยละ 5 ของจีดีพีในแต่ละปี รัฐบาลคาดว่าโครงการทั้งหมดจะก่อให้เกิดการจ้างงาน 1.5 ล้านอัตรา ช่วยกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชนและก่อให้เกิดการฟื้นตัวในภาคอุตสาหกรรมเช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ และวัสดุก่อสร้าง
นายฌอง ปิแอร์ เวอร์บิสท์ กล่าวอีกว่า ภาครัฐจะต้องเป็นผู้นำการลงทุนเนื่องจากภาคเอกชนยังเพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก แต่ก็มีความเสี่ยงหากดูจากระดับการลงทุนภาครัฐในช่วงที่ผ่านมาซึ่งค่อนข้างต่ำ โครงการเมกกะโปรเจกต์ซึ่งได้เริ่มเปิดตัวตั้งแต่ปี 2548 ไม่ได้มีการลงทุนตามกำหนดการ เนื่องจากการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยครั้งและความตึงเครียดทางการเมือง โครงการส่วนหนึ่งในเมกกะโปรเจกต์ได้รับการบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง หากมีความไม่สงบทางการเมืองเกิดขึ้นอีก จะทำให้การลงทุนภาครัฐล่าช้า และจะทำให้ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจและผู้บริโภคลดลง และจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจซึ่งจะต่ำกว่าคาดการณ์
สำหรับแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งนั้น เป็นการใช้เงินนอกงบประมาณเป็นหลัก โดยการออกพันธบัตรรัฐบาลและการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน การกู้ยืมเงินของรัฐบาล จะทำให้อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 58 ในปี 2555 จากร้อยละ 37.4 ในปี 2551 สำหรับงบประมาณของปี 2553 จะลดลงจากงบประมาณของปี 2552 แต่เมื่อรวมงบฯ ไทยเข้มแข็งเข้าไปด้วยแล้ว จะมีการขาดดุลสูงถึงร้อยละ 7.4 ของจีดีพี
"ปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งหากเกิดการสะดุดหยุดชะงักด้วยเหตุผลใดก็ตาม จะทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณ และการลงทุนภาครัฐหยุดชะงักไปด้วย การสร้างความเข้มแข็งให้กับอุปสงค์ภายในประเทศสำคัญมาก ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่เข้มแข็ง"
ด้านทิศทางดอกเบี้ยภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนเมษายน 2552 ไปอยู่ที่ร้อยละ 1.25 หากเศรษฐกิจฟื้นตัวและมีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ธปท.อาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครึ่งปีหลังของ 2553 อย่างไรก็ดี ปัญหาของภาคธุรกิจอยู่ที่การเข้าถึงสินเชื่อไม่ได้อยู่ที่ต้นทุน ซึ่งรัฐบาลพยายามแก้ปัญหานี้โดยให้สถาบันการเงินภาครัฐปล่อยสินเชื่อมากขึ้น และมีการให้การค้ำประกันสินเชื่อสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและผู้ส่งออก

ธปท.ยันไม่เห็นฟองสบู่อสังหาฯ
เอดีบีได้เผยแพร่รายงานในหัวข้อ ''Asian Development Outlook 2009 Update" ซึ่งระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะขยายตัวร้อยละ 3.9 ในปีนี้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงขึ้นจากการคาดการณ์เมื่อเดือนมี.ค.ที่ร้อยละ 3.4 ส่วนปี 2553 นั้น เอดีบีคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียจะขยายตัวร้อยละ 6.4 จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวร้อยละ 6
ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้จะแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะในจีนและอินเดีย ซึ่งช่วยหนุนแนวโน้มการฟื้นตัวได้เป็นอย่างดี และยังชี้ด้วยว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอินโดนีเซียและเวียดนามก็เป็นไปอย่างแข็งแกร่ง แม้ว่าปัจจัยแวดล้อมของเศรษฐกิจโลกจะย่ำแย่ลง แต่เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียก็ยังมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัว และขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียยังพิสูจน์ให้เห็นด้วยว่า มีความยืดหยุ่นมากขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ร่วงลง
โดยสาเหตุหนึ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่นๆในโลกเพราะภาคการเงินของประเทศเหล่านี้ที่มีความแข็งแกร่ง นอกจากนี้ บริษัทขนาดใหญ่ในประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียส่วนใหญ่จะมีจุดยืนทางการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถรับมือกับวิกฤตการเงินโลกได้ดี ส่งผลให้มีการใช้นโยบายทางการเงินต่อไปได้
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(เอดีบี)ออกมาเตือนเศรษฐกิจเอเชีย จีน รวมถึงไทยว่าอาจจะเกิดปัญหาฟองสบู่ได้ หากมีมาอัดฉีดปริมาณเงินเข้าสู่ระบบ ประกอบกับมีการใช้นโยบายการเงินผ่านอัตราดอกเบี้ยต่ำว่าเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณส่อเค้าให้เห็นว่าจะเกิดปัญหาฟองสบู่ในแต่ละภาคของเศรษฐกิจ ซึ่งดัชนีชี้วัดตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์หรือภาคครัวเรือนก็ไม่ได้แสดงว่ามีปัญหาแต่อย่างใด
แม้สภาพคล่องในระบบมีจำนวนมากและอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ธปท.ไม่ได้มีแค่เครื่องมือด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงอย่างเดียว แต่ธปท.จะใช้เครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่ดูแลแต่ละภาคธุรกิจ ซึ่งธปท.ได้ติดตามและดูแลเรื่องนี้มาตลอด เพื่อดูแลให้เกิดความสมดุลในระบบเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจคงไม่ได้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรไม่ว่าจะเป็นแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐ การนำเข้าที่หดตัวเยอะกว่าการนำเข้า จึงจะกลับสู่ภาวะสมดุลได้ ทั้งนี้ ธปท.จะพยายามดูแลเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนมากเกินไปและเกาะกลุ่มประเทศประเทศคู่ค้าคู่ขาย

ปัญหาลูกหนี้รายใหม่ไม่เกิดซ้ำรอยปี40
ด้านนายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.กล่าวว่า แม้ยอดสินเชื่อโดยรวมในช่วง 7 เดือนแรกหดตัวถึง 2.12 แสนล้านบาท แต่สัดส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ล่าสุดในเดือนส.ค.อยู่ที่ระดับ 5.9% ถือว่าทรงตัวเมื่อเทียบกับรายไตรมาส แต่หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนเพิ่มขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม ปัญหาลูกค้ารายใหม่ไม่น่าสร้างปัญหาให้แก่ธนาคารพาณิชย์นัก ซึ่งต่างกับช่วงวิกฤตปี 40 เพราะขณะนี้ยอดการส่งออกยังมีอยู่และภาคธุรกิจที่เป็นลูกค้าสถาบันการเงินเริ่มได้รับคำสั่งซื้อใหม่เข้ามาแล้ว จึงเชื่อว่าจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้
นักบริหารเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดวานนี้ที่ระดับ 33.62-33.64 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าต่อเนื่องจากเปิดตลาดช่วงเช้าที่อยู่ระดับ 33.71-33.74 บาทต่อดอลลาร์ โดยการปรับตัวแข็งค่าของเงินบาทเป็นไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาค หลังจากดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้ง เนื่องจากมีแรงซื้อขายเก็งกำไรในตลาด เพื่อรอผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) นอกจากนี้ ยังมีเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย เช่นเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก ส่วนแนวโน้มเงินบาทวันพรุ่งนี้ มีโอกาสแข็งค่าได้ต่อเนื่อง โดยมีแนวรับที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์

ด่วน ครม.ระงับทูลเกล้าฯร่าง พรบ.งบ53
นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อบ่ายวานนี้ (22 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้นำเสนอต่อ ครม.เพื่อทราบ กรณีที่นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้เข้าชื่อเสนอคำร้องต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอให้ส่งเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 167 วรรค 1 ซึ่งประธานรัฐสภาได้ทำหนังสือแจ้งต่อนายกรัฐมนตรี
"กรณีดังกล่าวเป็นกรณีที่ สลค. พิจารณาแล้ว เห็นว่าเมื่อประธานรัฐสภาได้ส่งคำร้องดังกล่าวของ ส.ส.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จึงต้องระงับการดำเนินการนำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯถวาย จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามกฎหมาย และถ้าร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 ออกไม่ทันงบประมาณใหม่ ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยการงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณ 2552 ไปก่อน" นายศุภชัยกล่าว
ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า อยากศึกษารายละเอียดเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง แต่ก็หวังว่าก่อนสิ้นเดือนนี้ปัญหาจะคลี่คลายได้ อย่างไรก็ตามกรณีที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2553 ไม่ทันใช้ รัฐบาลต้องใช้งบเหลื่อมปีงบประมาณ 2552 ไปก่อน
นายกรณ์กล่าวด้วยว่า ภาวะเศรษฐกิจของไทยยังคงปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังคงสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ แม้ว่าธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB จะมองว่าเศรษฐกิจไทยย่ำแย่ก็ตาม พร้อมยืนยันว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยจะไม่เกิดฟองสบู่อีก เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงมีการทยอยปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งการปล่อยสินเชื่อของทางธนาคารช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ยังหดตัวและราคาที่ดินยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งไม่น่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจกลับไปมีปัญหาอีกครั้ง
"นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองที่ดี เนื่องจากเชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในครึ่งปีหลัง ซึ่งเหมาะแก่การลงทุน" รมว.คลังกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น