xs
xsm
sm
md
lg

ปฏิจจสมุปบาท กับลัทธิแก้กรรม (4)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

หลักธรรมเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท

ในเมื่อเราเข้าใจเรื่อง อิทัปปัจจยตา หรือหลักเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยงกันตามธรรมชาติแล้ว และเข้าใจเรื่อง อัตตา และ อนัตตา แล้ว ทำไมพระพุทธเจ้าจึงต้องสอนธรรมเรื่อง ปฏิจจสมุปบาท ด้วย และทำไมธรรมเรื่องปฏิจจสมุปบาทจึงสำคัญนัก

ท่านพุทธทาสได้กล่าวไว้ว่า

“เรื่องปฏิจจสมุปบาทนี้ ถ้าผู้ใดเข้าใจ ก็อาจจะปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของตนได้ .....มันเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่ต้องเข้าใจเรื่องนี้......ยังเป็นหน้าที่ที่ช่วยให้ผู้อื่นเข้าใจด้วย ข้อนี้เป็นพุทธประสงค์”

คำกล่าวของท่านพุทธทาสช่วยให้เราเข้าใจความสำคัญของหลักธรรมนี้ได้ชัดเจนมาก

ถ้าเราตั้งคำถามว่า “พระพุทธเจ้าตรัสรู้เรื่องอะไร” ก็ต้องตอบว่า “เรื่อง (หรือหลักธรรม)ที่สำคัญที่สุดที่ท่านตรัสรู้คือ ปฏิจจสมุปบาท”

คำว่า ปฏิจจ แปลว่า อาศัย สมุปบาท แปลว่า พร้อมกัน แปลความรวมกันได้ว่า “สิ่งที่เกิดขึ้นโดยอาศัยซึ่งกันและกัน และสามารถก่อเกิดขึ้นพร้อมกัน”

เมื่อเรียนรู้และเข้าใจธรรมข้อนี้ ก็จะช่วยทำให้เราเข้าใจการก่อเกิดของอัตตาและทุกข์ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

และจะช่วยทำให้เราเข้าใจได้ว่า “การลดละอัตตาและทุกข์ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ” เพราะแม้เราจะเข้าใจว่า อะไรคือ อัตตา แล้ว เราก็ยังสามารถตกหลงอยู่ในโลกของอัตตาได้ เพราะการก่อเกิดอัตตา (หรือตัวกูของกู) สามารถก่อเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยหลายทางซึ่งอาศัยส่งเสริมซึ่งกันและกัน และทุกเหตุปัจจัยสามารถแสดงออกได้ และเมื่อปัจจัยหนึ่งแสดงออก ปัจจัยอื่นๆ ก็ขยายตัวไปพร้อมๆกัน

พระพุทธเจ้าพบว่า เหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดอัตตาและทุกข์นั้นมีถึง 12 เหตุปัจจัยด้วยกัน เริ่มด้วย

1. อวิชชา 2. สังขาร 3. วิญญาณ 4. นามรูป 5. สฬายตนะ 6. ผัสสะ 7. เวทนา 8. ตัณหา 9.อุปาทาน 10. ภพ 11. ชาติ 12. ชรา มรณะ

ทั้ง 12 เหตุปัจจัยดังกล่าว เชื่อมโยงเป็นวงจรที่เสริมสร้างและขยายอัตตาให้เพิ่มพูนขึ้น

ดังนั้น ทุกเหตุปัจจัยดังกล่าว จึงทั้งเชื่อมโยงกันและส่งเสริมซึ่งกันและกันตลอดเวลา

แต่การทำความเข้าใจเรื่องนี้นับว่าเป็นเรื่องยากยิ่งเรื่องหนึ่ง ถ้าตีความผิด ก็สามารถนำสู่ความเข้าใจที่ผิดได้

อย่างเช่น มีการตีความว่า ‘วิญญาณ ทำให้เกิด นามรูป หรือสรรพสิ่งต่างๆ ในโลกที่เรามองเห็น’ ซึ่งเท่ากับว่าแนวคิดเรื่องปฏิจจสมุปบาทกลายเป็นแนวคิดที่อธิบายการกำเนิดจักรวาล โลก และสรรพสิ่งไปด้วย

ถ้าคิดแบบนี้ก็กลายเป็นว่า ลัทธิพุทธศาสนา คือลัทธิที่ยกย่องอวิชชา และกลายเป็นลัทธิวิญญาณนิยม เพราะอวิชชาคือที่มาของสังขารและวิญญาณ ซึ่งเท่ากับ อวิชชา และ การก่อเกิดวิญญาณ คือรากที่มาของการสร้างสรรพสิ่งในโลกนี้

ตีความแบบนี้ทำให้ผู้เข้าใจหลงติดลัทธิวิญญาณ คิดว่า วิญญาณ หรือ จิต มีอำนาจยิ่งใหญ่เหนือฟ้าเหนือดิน

หรือทำให้หลงเชื่อว่า คำว่า อนัตตา คือความไม่มีอะไรเลยจริง เพราะรากของทุกอย่างคืออวิชชา ถ้าหมดสิ้นอวิชชาแล้ว ทุกอย่าง (สรรพสิ่ง) ก็จะสูญหายไป หรือจบสิ้นแบบไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย

ดังนั้น การทำความเข้าใจเรื่องนี้จึงยุ่งยากมาก จนท่านพุทธทาสถึงกับพูดว่า “ตีความกันผิดๆ มานับพันปี”

ที่สำคัญ แม้แต่พระอรหันต์ ที่ถือว่าเป็นผู้รู้จริง รู้แจ้ง ก็อาจตีความเรื่องปฏิจจสมุปบาทแตกต่างกัน เช่น ท่านพุทธทาสก็ตีความหลักธรรมเรื่องนี้แตกต่างจากท่านพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งมีฐานะเป็นที่เคารพมากเพราะคือผู้แต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรค

พุทธเจ้าเคยเตือนพระอานนท์ว่า “ปฏิจจสมุปบาทเป็นเรื่องลึก.........แต่ผู้ศึกษาธรรมไม่แทงตลอดในเรื่องตามที่พระองค์สอน จิตจึงยุ่งเหมือนกลุ่มด้ายยุ่ง”

ผมเองก็ตีความเรื่องนี้แตกต่างจากท่านพุทธทาสไปบ้าง ท่านผู้อ่านก็ต้องอ่านอย่างไตร่ตรองและพิจารณาให้ดีเพราะผมเองก็ตีความผิดได้

อวิชชา คือ อะไร

อวิชชา คือ ความรู้ผิดๆ ที่มีอิทธิพลยิ่งใหญ่ ครอบโลกมาตั้งแต่ยุคโบราณ อย่างน้อยก็ย้อนไปตั้งแต่กำเนิดลัทธิพราหมณ์ ที่เสนอฐานคิดว่า ทั้งหมด หรือ พรหมมัน สามารถแยกออกเป็นหน่วยย่อยๆ (หรืออาตมัน) ได้ นี่ไม่ต่างนักกับความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อว่าธรรมชาติจะประกอบด้วยหน่วยพื้นฐานที่เล็กที่สุดที่แยกต่อไปไม่ได้คือ อะตอม

ความเชื่อเรื่อง อาตมัน และ อะตอม นี้เองคือที่มาของการมองโลกแบบแยกเป็นชิ้นๆ เป็นหน่วยๆ และเป็นที่มาของคำถามพื้นฐานว่า What is it? ซึ่งเป็นคำถามพื้นฐานของวิชาทุกวิชาทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์

อิทธิพลของการคิดแบบนี้คือที่มาของแนวคิดเรื่อง ปัจเจกชนนิยม หรือลัทธิที่ถือว่าตัวเองเป็นศูนย์กลาง ลัทธิใครเก่ง ใครดี หรือใครที่มีความสามารถก็คือผู้ชนะ

ความเชื่อแบบอวิชชานี้สามารถมีอิทธิพลกว้างขวางมาก เพราะแม้แต่นิยาย ละคร ภาพยนตร์ ก็สอนให้ผู้คนหลงใหลในความเชื่อเหล่านี้ หนังทุกเรื่องมีพระเอก มีนางเอก มีผู้ร้าย แต่ในที่สุดพระเอกก็จะสามารถเอาชนะผู้ร้ายได้ และได้นางเอกไปครอง

เราเกิดมา ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม เราจะตกหลงอยู่ในโลกของอวิชชาไม่มากก็น้อย แม้แต่การศึกษาก็สอนแบบอวิชชา แยกวิชาออกเป็นสาขา และสอนให้เราต้องเอาชนะ ต้องเป็นที่หนึ่งหรือเรียนเก่ง เพราะคนเก่งเท่านั้นจึงจะเอาตัวรอดได้

อะไร คือ สังขาร

สังขาร
คือ ความสามารถของจิตมนุษย์ในการคิดค้นหรือปรุงแต่งสิ่งต่างๆ ให้เป็นเรื่องเป็นราว

แต่เนื่องจากมนุษย์ปัจจุบันล้วนตกหลงอยู่ในโลกแห่งอวิชชาที่ชื่นชอบและอธิบายโลกแบบอัตตา จิตหรือการปรุงแต่งจึงพุ่งไปที่การสร้างภาพตัวตนแห่งเราขึ้นมา

อย่างเช่น ในสมัยที่เราเป็นเด็ก เด็กผู้ชายอยากเป็น Superman อยากเป็นนายกฯ หรือ เด็กผู้หญิงก็อยากเป็นนางสาวไทย นี่คือภาพฝันที่เริ่มก่อตัวขึ้น นี่คือที่มาแรกเริ่มแห่งวิญญาณ

อะไร คือ วิญญาณ

วิญญาณ
ก็คือ ภาพฝันที่ค่อยๆ ก่อร่างขึ้น จนชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ราวกับเรารู้ว่า “ตัวเราคือ ใคร ชื่ออะไร ชอบอะไร และอยากจะเป็นอะไร” นี่คือที่มาของคำว่า “ตัวกู ของกู”

อะไร คือ นามรูป

นามรูป
คือ การเข้าใจธรรมชาติว่าสามารถแยกเป็นชิ้นๆ ได้ แต่ละชิ้นล้วนมีชื่อเฉพาะ หรือมีนามเรียกว่าอย่างไร

ความเชื่อนี้ ยิ่งเสริมความเชื่อ “เราเป็นใคร” และ “ตัวเราแตกต่างและแยกจากสิ่งที่อื่นๆที่อยู่รอบข้างเราได้อย่างไร” และเสริมความเชื่อว่า “เราต้องทำทุกอย่างเพื่อตัวเรา หรือเอาสิ่งต่างๆ มาใช้เพื่อประโยชน์แห่งตัวเรา”

อะไร คือ สฬายตนะ

สฬายตนะ
คือ อวัยวะแห่งความรับรู้ของมนุษย์ นั่นคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะเหล่านี้ถูกวิญญาณที่หลงอยู่ในนามรูปไปเกาะติด ทำให้ไม่ว่า ตา หู จมูก และใจ จะกระทบกับสิ่งใด เราจะสามารถบอกได้ว่าสิ่งที่เรากระทบล้วนแยกได้ และแยกออกจากตัวเราได้ และบอกได้ว่า “อะไรเป็นอะไร”

อะไร คือ ผัสสะ

ผัสสะ
ก็คือ การกระทบสิ่งต่างๆ โดยมีตัวเราเป็นศูนย์กลาง เมื่อเราคิดว่าตัวเราแยกออกจากสิ่งต่างๆ เวลาเราสัมผัสอะไร เราที่ยิ่งคิดถึงความเป็นตัวเราราวกับว่า “เราคือศูนย์กลางของทุกสิ่ง” เราจึงหลงมองและวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ด้วยมุมมองจากตัวเราเท่านั้น ความคิดเรื่องตัวกูของกูและจะทำทุกอย่างเพื่อตัวเองจึงหนักแน่นขึ้น

อะไร คือ เวทนา

เวทนา
คือ สภาวะจิตที่สามารถแยกแยะว่า “อะไรดี อะไรไม่ดี” หรือ “อะไรสวย อะไรงาม” โดยเอาตัวเองหรือผลประโยชน์ของตัวเองเป็นศูนย์ในการตัดสินใจ จึงเกิดความรู้สึกชอบหรือไม่ชอบสิ่งต่างๆ ขึ้น อย่างเช่น เกิดความคิดว่า คนนี้เป็นคนดี คนนี้งาม เพราะเขาคอยช่วยเหลือเรา แต่อีกคนหนึ่งไม่ดี จึงไม่ชอบหน้ามันเลย

อะไร คือ ตัณหา

ตัณหา
คือ ความอยากได้ อยากกิน อยากลิ้มรสในสิ่งที่ตัวเราหรือตัวกูของกูชอบ ยิ่งได้สิ่งที่ชอบ ก็ยิ่งอยากจะสะสมหรือให้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่า ไม่รู้จักคำว่า “พอ” สักที

ในเวลาเดียวกัน ถ้าไม่ชอบสิ่งใด ก็จะหาทางทำลายสิ่งที่ไม่ชอบ หรือกระทำต่อสิ่งไม่ชอบในทางไม่ดี แต่กลับจะรู้สึกดีๆ หรือมีความสุขที่ได้กระทำไม่ดีต่อสิ่งนั้น เพราะยิ่งกระทำๆได้มาก ก็ยิ่งสุขและสนุกมาก จึงอยากทำอีก

อะไร คือ อุปาทาน

อุปาทาน
คือ การหลงยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ติดผู้หญิง ติดกามตัณหา ติดเหล้า ติดบุหรี่ รวมทั้งการหลงเชื่อ “สิ่งนี้สิ่งนั้นเป็นของเรา” เราต้องรักษาเอาไว้ให้ได้

อะไร คือ ภพ

ภพ
ก็คือ การหลงติดอย่างมากๆ อยู่กับที่ใดหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น เช่น หลงติดเหล้า หลงติดผู้หญิงคนหนึ่งอย่างถอนตัวไม่ขึ้น หรือหลงติดอำนาจอย่างมัวเมาจนกลายเป็นคนบ้าอำนาจ ถือว่าเป็นการหลงติดที่เริ่มต้นมาจากตัณหา (ส่วนตัว) และขยายตัวจากอุปทานอีกทีหนึ่ง

การติดหลงอย่างงมงายนี้ แสดงออกได้หลายแบบ เช่น เชื่อว่า “นิพพาน คือสิ่งสูงสุด” จึงอุทิศชีวิตทั้งชีวิตเพื่อมุ่งนิพพาน หรือหลงติดความเชื่อแบบชาตินิยมอย่างสุดๆ จนยอมตายเพื่อสิ่งที่ตนหลงชอบ หรือทำลายทุกอย่างที่อยู่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตนหลงติดอย่างมัวเมา

อะไร คือ ชาติ

ชาติ
คือ การก่อเกิดวิญญาณ ที่ซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ ซ่อนอยู่ภายใน ติดนามรูป ติดเวทนา ติดตัณหา ติดอุปทาน ติดภพ หลงติดแบบฝังราก

ถ้าอธิบายแบบฝรั่งก็คือ จิตของมนุษย์จะมีส่วนประกอบสามส่วน

ส่วนแรกเรียกว่า Conscious แต่มีส่วนที่ลึกกว่าเรียกว่า Sub-conscious

ส่วนที่เรียกว่า Sub-conscious นี้ สามารถเก็บบันทึกเรื่องราว ทัศนคติ ความเชื่อ ความแค้น ความโกรธ ตั้งแต่เรายังเล็กๆ จนเติบใหญ่ นี่หมายความว่าลัทธิแบบอัตตาที่ก่อตัวขึ้นมาสามารถซ่อนอยู่ภายในตัวเรา ซ่อนลึกอยู่ใน Sub-conscious จนยากที่จะถอดออกจากกันได้ บางครั้งเราคิดว่าเราก้าวพ้นแล้ว แต่ที่แท้จริง ‘อำนาจแห่งอัตตา’ ยังดำรงหรือซ่อนอยู่ภายใน

นอกจากที่กล่าว จิตยังประกอบด้วยสิ่งที่เรียกว่า Super-conscious ซึ่งมีบทบาทซ่อนภาพฝัน (เกี่ยวกับ) อนาคตไว้ และคอยกระตุ้นให้เราพยายามก้าวไปถึงฝัน หรือทำให้เราฝันค้างอยู่ในใจ ฝันค้างนี้มีอิทธิพลต่อการกำหนดพฤติกรรมของเราได้ตลอดเวลาด้วย

อะไร คือ ชรา มรณะ

ชรา มรณะ
คือ ปรากฏการณ์การสิ้นไปสูญไปทางธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อสิ่งที่เรารักและหวงแหนสิ้นไป จะยิ่งสร้างอัตตาให้ขยายใหญ่ได้ อย่างเช่น เราหลงเงิน หลงอำนาจ แต่ทั้งเงินทั้งอำนาจก็สิ้นสูญไป เราก็ต้องทำทุกอย่างเพื่อจะเอาคืนมา หรือผู้หญิงบางคนหลงติดในความงามของตน พอแก่ชรา ก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งความสวยความงามที่มีอยู่

ที่สำคัญ วงจรทั้ง 12 ประการนี้เกื้อกูลกัน และกระตุ้นหรือเสริมซึ่งกันและกันตลอดเวลา

ตัวอย่างเช่น ปัจจัยเรื่อง ชรา มรณะ ก็สามารถกระตุ้น อวิชชา ตัณหา และอื่นๆ ได้ในเวลาพร้อมกัน หรือกล่าวว่า “สิ่งหนึ่งก่อตัวหรือเกิด ก็จะกระตุ้นสิ่งอื่นๆ หรือปัจจัยอื่น ให้ก่อตัวและขยายตัวตาม”

ดังนั้น การแก้ปฏิจจสมุปบาท ณ จุดหนึ่งจุดใด ไม่ได้ต้องแก้ทุกจุดพร้อมๆ กันไป หรือต้องสร้างวงจรแห่งเหตุปัจจัยใหม่ทั้งชุดขึ้นมา และเปลี่ยนเส้นทางชีวิตใหม่จึงจะก้าวผ่านปฏิจจสมุปบาทได้

นี่คือ ‘บทเสนอ’ ของพระพุทธเจ้า เรื่องอริยมรรคมีองค์แปดประการ กล่าวคือ ต้องเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตใหม่ และต้องใช้ชีวิตภายใต้วงจรชีวิตใหม่ 8 ประการ นั่นคือใช้ทั้ง 1. วิชชา เข้าใจโลกแห่งอนัตตา โลกแห่งอนิจจัง และโลกแห่งทุกขัง หรือใช้คำว่า คิดชอบ 2. ต้องดำริชอบ 3. วาจาชอบ 4. ปฏิบัติชอบ 5. พยายามชอบ 6. เลี้ยงชีพชอบ 7. สติชอบ 8. สมาธิชอบ

ที่สำคัญ พระพุทธองค์ตระหนักรู้ว่า

แต่ละบุคคล หรือคนใดคนหนึ่ง จะก้าวผ่านลัทธิอัตตาได้ยาก

พุทธองค์จึงตั้งชุมชนสงฆ์ขึ้น เพื่อสร้างเงื่อนไขแวดล้อมที่งดงาม และเพื่อให้บรรดาผู้ปฏิบัติธรรมต่างช่วยเสริมซึ่งกันและกัน ก็จะทำให้ก้าวพ้นเรื่องอัตตาและทุกข์ได้ (ยังมีต่อ)

กำลังโหลดความคิดเห็น