xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจส่งสัญญาณฟื้นตัวชัด สิ่งทอ-เครื่องหนังขาดแรงงาน 3 หมื่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน –เผยแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมไทยฟื้นตัวชัดเจน ต่างชาติเริ่มสั่งออเดอร์ แต่กลับประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เพราะผู้ถูกเลิกจ้างไม่สนกลับมาทำงานโรงงาน ระบุภาคสิ่งทอ และเครื่องหนัง ขาดแคลนแรงงานหนัก ต้องการด่วนกว่า 2-3 หมื่นราย ขณะที่แผนสร้างผู้ประกอบการใหม่ในปีหน้า เล็งรับเข้าอบรมกว่า 7 พันคน ตั้งเป้าออกมาเป็นเถ้าแก่ใหม่ 15-20% แนะภาคธุรกิจบริการแนวโน้มเติบโตสูง

นายปราโมทย์ วิทยาสุข อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจสถานการณ์ของผู้ประกอบการธุรกิจไทยทั้งภาคผลิตและบริการ มีสัญญาณชัดเจนว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัว ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งแบบตัว “U” หรือตัว “V” เนื่องจากเวลานี้ หลายโรงงานเริ่มมีออเดอร์ต่างชาติกลับมาสั่งซื้ออีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ตอนนี้หลายอุตสาหกรรม กลับประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานฝีมือ เนื่องจากแรงงานที่ถูกเลิกจ้างออกไปเมื่อช่วงต้นปี ไม่สนใจจะกลับมาทำงานโรงงานอีกครั้ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสิ่งทอ และเครื่องหนัง ขาดแรงงานด่วนถึงกว่า 2-3 หมื่นคนทีเดียว เพื่อจะมาผลิตสินค้าในทันออเดอร์ส่งในช่วงเทศกาลปลายปี

ทั้งนี้ กสอ. ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริมผู้ประกอบการ ในส่วนของการสร้างผู้ประกอบการใหม่ หรือโครงการ NEC ในปีหน้า (2553) วางเป้าว่าจะมีผู้สนใจร่วมโครงการกว่า 7,000 ราย และจากค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา ในจำนวนที่ผ่านหลักสูตรสามารถออกไปเป็นผู้ประกอบการได้กว่า 15-20% ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงกว่ามาตรฐานสากล

สำหรับการสร้างผู้ประกอบการในปีหน้า จะปรับเปลี่ยนรูปแบบโดยเจาะจงในรายอาชีพให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น สาขาอาหาร ช่าง และบริการ เป็นต้น เพื่อให้การอบรมในแต่ละด้านสามารถลงลึกและเข้มข้นมากยิ่งขี้น

นายปราโมทย์ ระบุด้วยว่า ในประเทศที่เจริญแล้ว อัตราจำนวนของธุรกิจเอสเอ็มอี จะอยู่ในอัตรา 1 ต่อ 12-15 ของจำนวนประชากร กล่าวคือ ในประชากร 12-15 คน จะมี 1 คนที่เป็นเจ้าของธุรกิจเอง แต่สำหรับประเทศไทยมีจำนวนธุรกิจเอสเอ็มอีประมาณ 2 ล้านกว่าราย จากจำนวนประชากรกว่า 60 ล้านคน ตัวเลขนี้ ชี้ให้เห็นว่า ค่าเฉลี่ยของเอสเอ็มอีไทยยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยสากลอยู่มาก

ทั้งนี้ จากตัวเลขภาคการผลิตทั่วโลก มีอัตราการเติบโตประมาณ 3% แต่สำหรับภาคธุรกิจบริการแล้ว เติบโตเป็น 3 เท่าของภาคการผลิต เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกในปัจจุบันอยากใช้ชีวิตแบบสะดวก สบาย ง่าย และเร็ว ดังนั้น จากข้อมูลดังกล่าวจึงชี้ให้เห็นว่า โอกาสที่จะประสบความสำเร็จโดยเป็นเจ้าของธุรกิจยังมีอีกมาก โดยเฉพาะในธุรกิจภาคบริการ มีแนวโน้มจะเติบโตได้อย่างดี
กำลังโหลดความคิดเห็น