เชียงราย – เปิดกรณีศึกษาโชวห่วยแม่สาย ใต้เงาเทสโก้ โลตัส จากอดีตที่เคยรุ่งเรืองของ “บุญศรีซุปเปอร์สโตร์” ของนิติศาสตรบัณฑิตรั้วรามคำแหง ที่กลับบ้านเกิดมาปลุกปั้นกิจการของตัวเอง วันนี้ต้องปิดกิจการค้าปลีก หันมาขายก๋วยเตี๋ยวแทนเพื่อให้อยู่รอด หลังห้างยักษ์เข้ามาปักธงได้เพียง 3 ปีเท่านั้น
การลุกฮือขึ้นมาต่อต้านการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ "เทสโก้ โลตัส" ของบรรดานักธุรกิจชายแดนไทย-พม่า ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อปี 2548 ได้เงียบหายไปกับสายลม ราวกับว่าไม่เคยมีสิ่งใดเกิดขึ้น ทุกวันนี้ “โลตัส สาขาแม่สาย” ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านป่าเหมือด หมู่ 9 ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย ห่างจากเขตเทศบาล ต.แม่สาย ประมาณ 5 กิโลเมตร ที่เริ่มเปิดมาตั้งแต่ต้นปี 2549 ยังคงเปิดให้บริการคนแม่สาย – ชาวพม่า ที่ข้ามฝั่งมาเดินห้างฯซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างคึกคักทุกวัน
ส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการสยบกระแสต่อต้านห้างยักษ์บนแผ่นดินแม่สายคราวนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีผลมาจากการที่ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังคงยิ่งใหญ่ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเป็นประธานในพิธีเปิดเทสโก้ โลตัส สาขาแม่สาย ด้วยตัวเอง ทำให้แนวร่วมของกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ชายแดนแม่สาย ซึ่งเป็นคนภาครัฐหายไปกับสายลมและแสงแดด
ตลอดเวลาร่วม 3 ปีที่โลตัสแม่สาย เปิดให้บริการ ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า ได้ก่อผลกระทบข้างเคียงต่อผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยในท้องถิ่นถ้วนหน้า
หนึ่งใน กรณีศึกษาที่เกิดขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจนคือ “บุญศรีซุปเปอร์สโตร์” ห้างสรรพสินค้าขนาดเล็ก ที่เคยตั้งอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอแม่สาย ติดกับถนนพหลโยธิน ห่างจากชายแดนไทย-พม่า ประมาณ 1 กิโลเมตร บนอาคารเลขที่ 122/6 หมู่ 8 ต.แม่สาย อ.แม่สาย เป็นกิจการที่ “วีระวัฒน์ ปัญญางาม” นักกฎหมายจากรั้วรามคำแหง ที่กลับบ้านเกิดหลังเรียนจบ แล้วก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2534 ซึ่งถือว่า ในช่วงนั้นห้างบุญศรีฯ เป็นห้างท้องถิ่นเก่าแก่ของแม่สายที่ทันสมัยที่สุด ขณะที่ร้านค้าปลีกอื่น ๆ ล้วนเป็นโชวห่วยเล็ก ๆ ในห้องแถวเท่านั้น
วันนี้ ซูเปอร์สโตร์แห่งนี้ได้แปลงสภาพกลายเป็น “ร้านขายก๋วยเตี๋ยว ทองใหญ่” ไปแล้ว หลังโลตัสสาขาแม่สาย เริ่มเปิดให้บริการไม่นาน “วีระวัฒน์” ต้องตัดสินใจลดพื้นที่ขายของซูเปอร์สโตร์ จากที่มี 4 คูหาใหญ่ ที่เคยวางจำหน่ายสินค้าทั่วไป ให้เหลือเพียงแค่ 2 คูหาใหญ่ นำส่วนที่เหลือใช้มาเปิดร้านก๋วยเตี๋ยว ธุรกิจที่ตัวเองไม่คุ้นเคยมาก่อน เพื่อลดต้นทุนหรือลดกิจการของตัวเองให้เล็กลง เพื่อให้อยู่รอดให้ได้
นาย“วีระวัฒน์” บอกว่า ปัจจุบันชีวิตประจำวันของเขาต้องเปลี่ยนไป จากเดิมเคยเป็นเถ้าแก่ ร่วมกับภรรยาคอยดูแลลูกน้องภายในซูเปอร์สโตร์ ที่เคยมีราว 10 คน จำหน่ายสินค้า เช็กสต๊อก เช็กบัญชี สินค้าเข้าและออก ต้องหันมาตื่นเช้าตั้งแต่ตี 5 เพื่อซื้อสินค้าในตลาด นำมาปรุงเป็นก๋วยเตี๋ยวจำหน่ายในแต่ละวัน โดยต้องเป็นคนปรุงน้ำซุปหรือทำสูตรที่เรียนมาจากพี่เขย จากนั้นจึงให้ลูกน้องในร้านที่เหลืออยู่เพียงประมาณ 8 คนในขณะนี้ตักและปรุงเสิร์ฟลูกค้าที่มาใช้บริการไปจนถึงเวลาค่ำ 19.30 น.จึงปิดร้าน
ส่วนลูกจ้างภายในร้านก็ไม่ต้องไปจัดหาที่ไหนมาเพิ่มเติม แต่ใช้ลูกจ้างในซูเปอร์สโตร์เดิมที่เหลืออยู่นั่นเอง ที่ต้องเปลี่ยนหน้าที่มาเป็นเสิร์ฟก๋วยเตี๋ยวแทน เหลือเพียง 1 คนไว้คอยเก็บเงิน
นายวีระวัฒน์ กล่าวว่า เขาเป็นคนแม่สายโดยกำเนิด แต่ไปจบการศึกษาปริญญาตรีวิชาเอกนิติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปี 2527 และทำงานที่กรุงเทพฯ ในฐานะพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งมาโดยตลอด จึงไม่เคยมีกิจการใดเป็นของตัวเอง เมื่อได้กลับคืนสู่ภูมิลำเนาจึงไม่เดินตามธุรกิจครอบครัวคือรับเหมาก่อสร้าง แต่หันไปเปิดร้านค้าสะดวกซื้อแทน เพราะในปี 2534 ชายแดนแม่สายไม่มีร้านค้าทันสมัย จึงอาศัยประสบการณ์ที่เคยอยู่กรุงเทพฯ มานานซื้อตึกแถว 3 ชั้น 2 คูหา ตั้งอยู่หน้าที่ว่าการอำเภอแม่สาย เปิดมินิมาร์ทชื่อ "บุญศรีมินิมาร์ท"
ยุคนั้นเราเป็นเจ้าแรกที่นำการค้ามาตรฐานมาใช้คือ ซื้อสินค้าตามราคาที่ระบุเอาไว้ ใช้เครื่องคิดเงินแบบใหม่ สินค้าภายในร้านก็มีเหมือนทั่วไป ต่อมาเมื่อประมาณ 7-8 ปีก่อนกิจการเริ่มขยายตัวจึงซื้อตึกเพิ่มอีก 2 คูหารวมเป็น 4 คูหา และเปลี่ยนชื่อเป็น "บุญศรีซุปเปอร์สโตร์" โดยมีสินค้ามากกว่า 2,000-3,000 รายการ ครั้งหนึ่งเราเคยติดอันดับยอดขายสูงสุดอันดับ 9 ของภาคเหนือ ในกลุ่มสินค้าประเภทรีจอยส์ แพนทีน ฯลฯ ด้วย
ปรากฏว่า เมื่อมีห้างสรรพสินค้าใหญ่มาอยู่ใกล้เมืองแม่สาย ก็ทำให้ยอดขายของเราลดฮวบทันที 50% เพราะซูเปอร์สโตร์ของเราเน้นลูกค้าเหมือนห้างสรรพสินค้าใหญ่ เรามีรถเข็นสำหรับเดินซื้อครั้งละมากๆ คนที่จะซื้อสินค้าเพียงเล็กน้อยเขาจะซื้อใกล้บ้านแต่ถ้าซื้อมากๆ ในอดีตต้องที่บุญศรีฯ ส่วนร้านค้าอื่นๆ ที่ตั้งต่อๆ กันมาและเริ่มทันสมัยเหมือนเราในช่วงหลังๆ เราก็พอสู้ได้เพราะเป็นธุรกิจในระดับเดียวกันหรือมวยรุ่นเดียวกัน
“แต่เดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเดิมเพราะเราตั้งอยู่ใกล้ห้างฯ ใหญ่ ผู้คนตัดสินใจเดินผ่านเราไป จึงต้องยุบซูเปอร์สโตร์ ที่เคยเพิ่ม 2 คูหาออกไปเสีย และเปิดเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว โดยตั้งโต๊ะบริการ 14 โต๊ะ จำหน่ายก๋วยเตี๋ยวซี่โครงหมู่ตุ๋น ฯลฯ ชามละ 25 บาทแทน”
นายวีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ลูกจ้างที่อยู่กับซูเปอร์สโตร์บางส่วนก็อยู่กับร้านมานาน ดังนั้น เมื่อตั้งร้านก๋วยเตี๋ยว และเขาต้องทำหน้าที่เองเป็นส่วนใหญ่ ก็ไม่อยากจะไปปลดลูกจ้างออกเพราะความผูกพัน บางคนอยู่มานานจนเราต้องให้เงินเดือนตั้งแต่ 3,000-6,000 บาท ก็ต้องจ้างให้เขาอยู่ต่อ แต่ให้เขามาช่วยร้านก๋วยเตี๋ยวเราแทน ส่วนลูกค้าช่วงนี้ก็ถือว่าพอใช้ได้ เพราะเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยวผู้คนไปเยือนแม่สายกันมาก แต่เราก็ต้องหาประสบการณ์กันต่อไป ซึ่งยอมรับว่าช่วงแรกๆ เหนื่อยมากเพราะเราไม่ชำนาญถึงขั้นล้มป่วยเป็นไข้หลายวัน
นี่คือกรณีศึกษาหนึ่งของโชวห่วยท้องถิ่นชายแดน อ.แม่สาย ซึ่งเคยมีกิจการที่กำลังเติบโตและประสบความสำเร็จในฐานะนักธุรกิจท้องถิ่น แต่กลับต้องเกิดภาวะชะงักงันขึ้นหลังจากไม่สามารถไปสู้รบปรบมือเชิงธุรกิจกับกลุ่มทุนใหญ่ได้
อย่างไรก็ตาม ผลของการปรับตัวก็ถือว่าทำได้ดีไม่น้อย เพราะปัจจุบันร้านก๋วยเตี๋ยวทองใหญ่ขึ้นชื่อเรื่องสูตรต้นตำรับที่เอร็ดอร่อยไม่แพ้เจ้าเก่า โดยเฉพาะก๋วยเตี๋ยวซี่โครงหมูตุ๋น และอื่นๆ
แต่ก็ไม่มีใครให้คำตอบได้ว่า นักธุรกิจทั่วไปที่มีกิจการค้าปลีกค้าส่ง ที่ต้องต่อสู้กับห้างใหญ่-ทุนยักษ์ อีกมากหน้าหลายตา จะโชคดีในการปรับตัวได้เหมือนกับ “วีระวัฒน์” หรือไม่ ท่ามกลางกระแสรุกคืบเข้ามาของห้างสรรพสินค้าต่างชาติ