xs
xsm
sm
md
lg

รัฐไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

ได้ข่าวว่ามีผู้คิด “สถาปนารัฐไทย” ขึ้นใหม่ แสดงว่า รัฐไทยปัจจุบันไม่เป็นที่พึงประสงค์อีกต่อไปแล้ว ลักษณะหนึ่งที่มีการกล่าวถึงกันก็คือ การมีระบอบ “อมาตยาธิปไตย” คือข้าราชการยังคงมีอำนาจครอบงำระบอบการเมือง-การปกครองอยู่

ระบอบอมาตยาธิปไตยเกิดขึ้นมานมนานแล้ว ตั้งแต่มีการจัดตั้งระบบราชการขึ้น ระบบราชการเป็นตัวกำหนดบทบาทสถานภาพของบุคคล ให้สิทธิพิเศษ และส่งเสริมคุณค่าที่สำคัญในการจรรโลงสังคม

ระบอบอมาตยาธิปไตยเป็นรากฐานสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ และในบางสมัยก็มีอำนาจมากกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เสียอีก ในปี 2475 ระบอบนี้เองก็เป็นฝ่ายโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

นับแต่นั้นมา อำนาจทางราชการก็เป็นส่วนกำหนดอำนาจทางการเมืองด้วย ตำแหน่งที่สำคัญๆ ทางราชการโดยเฉพาะตำแหน่งที่คุมกำลังทหารจึงเป็นเครื่องส่งเสริมอำนาจทางการเมือง ดังที่สมัยหนึ่งตำแหน่งทางทหารที่ก่อให้เกิดการขึ้นสู่ตำแหน่งทางการเมืองจึงได้แก่ ผู้บังคับการกรมทหาราบที่ 1?ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ?แม่ทัพกองทัพภาคที่ 1?ผู้บัญชาการทหารบก?นายกรัฐมนตรี

รัฐไทยเป็นตัวกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เนื่องจากภาคเอกชนของไทยเป็นส่วนของสังคมที่มีคนเชื้อสายจีนเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่มีบทบาททางการเมืองเพราะถูกกดไว้ เมื่อ 70-80 ปีที่แล้ว คนจีนที่ยังเป็นคนต่างด้าว ไม่มีสิทธิทางการเมือง จึงต้องอิงอยู่กับข้าราชการ ต่อมาบุตรหลานของคนจีนได้รับการศึกษาสูงขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงเข้ารับราชการจนเติบโตเป็นอธิบดี เป็นปลัดกระทรวง ผู้ซึ่งอยู่นอกระบบราชการก็ทำธุรกิจสมัยใหม่ มีบทบาทสำคัญทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ

การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้รัฐไทยเปลี่ยนไปด้วย คือ ไม่ใช่รัฐที่มีคนเชื้อชาติเดียวกุมอำนาจแบบญี่ปุ่น การเติบโตของรัฐโดยเฉพาะนับแต่สมัยแห่งการพัฒนาเป็นต้นมา ทำให้เกิดการขยายตัวของระบบราชการ และของรัฐวิสาหกิจมากมาย

การลดบทบาทลงของตระกูลขุนนางเก่าๆ ทำให้อำนาจที่เคยรวมศูนย์ต้องกระจายตัวมากขึ้น แม้แต่ในหมู่คณะทหารอำนาจก็มักจะกระจายอยู่กับคน 2-3 คน แทนที่จะรวมตัวอยู่กับคนคนเดียว แต่ที่มีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดก็คือ ในระดับท้องถิ่นที่อำนาจศูนย์กลางควบคุมได้ไม่ถึง ทำให้เกิดผู้มีอิทธิพลในจังหวัดต่างๆ อันเป็นที่มาของนักการเมืองที่มีอิทธิพลในจังหวัดต่างๆ และเมื่อมีพรรคการเมืองเกิดขึ้น ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นนี้เอง ก็เข้ามาเป็นนักการเมืองระดับชาติ

เมื่อมีการกระจายอำนาจ และให้มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น โครงสร้างทางอำนาจจึงซับซ้อนขึ้น เพราะนักการเมืองท้องถิ่นเกิดขึ้นมากมาย และเป็นฐานเสียงที่สำคัญของนักการเมือง และพรรคการเมือง

การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างอำนาจ ทำให้รัฐไทยเปลี่ยนไปด้วย กล่าวคือ อำนาจไม่ได้กระจุกตัว แต่กระจายตัวออกไป นอกจากนั้นการมีองค์กรเอกชน อาสาสมัครทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณภาพของโครงสร้างทางอำนาจในลักษณะการคาน และถ่วงดุลกัน

ในสมัยทักษิณ ยุทธศาสตร์ที่สำคัญก็คือ การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางอีกครั้งหนึ่ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ในสมัยพรรคไทยรักไทย ทักษิณได้ทำให้รัฐกลายเป็นของส่วนตัว ด้วยการใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงกฎหมาย และนโยบายให้เอื้อต่อผลประโยชน์ของตนถึงกับอาศัยอำนาจรัฐในเวทีการต่อรองกับต่างประเทศหาประโยชน์ด้วย

ในทางการเมือง และการบริหารได้มีการตัดบทบาทของนักการเมืองระดับท้องถิ่น โดยให้มีกองทุนส่งเงินถึงมือประชาชนโดยตรง มีการโยกย้ายข้าราชการตำรวจ และฝ่ายปกครองที่เป็นพรรคพวกตน จนหน่วยงานที่เป็นกลไกสำคัญของรัฐ เช่น กรมตำรวจกลายเป็นเขตอำนาจของทักษิณอย่างเด็ดขาด

พลังที่มีผลต่อรัฐไทยในการเปลี่ยนแปลงมักจะมาจากภายนอก ในสมัยก่อนกระแสแรงกดดันจากตะวันตกเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐไทยปรับตัวให้ทันสมัย แต่เราก็ยังสามารถเลือกรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นได้ นอกจากนั้นก็ยังประวิงเวลา ตลอดจนค่อยๆ เรียนรู้วิธีการของตะวันตกได้ ต่างกับยุคที่เราต้องเผชิญกับกระแสโลกาภิวัตน์ที่รวดเร็ว รุนแรง และเราต้องเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การเงิน การธนาคารให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และมาตรฐานของโลก รัฐไทยมีอิสระน้อยลง เพราะมีข้อตกลงระดับสากลพหุภาคี และทวิภาคีที่จำกัดการดำเนินงานทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองอย่างเสรี มีการย้ายถิ่นและมีแรงงานต่างชาติมากขึ้น ดังนั้นสังคมไทยจึงต่างไปจากในสมัยก่อนที่คนจีนผู้อพยพเป็นกำลังในการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่แรงงานต่างชาติล้วนแต่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ และเป็นภาระทางสังคม

การสถาปนารัฐไทยขึ้นใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีพื้นฐานที่สลับซับซ้อนมากขึ้น หลังสมัยทักษิณองค์กรอิสระมีบทบาทสำคัญในการทลายปราการต่างๆ ที่ระบอบทักษิณสร้างไว้ ทำให้ลดความเข้มข้นทางอำนาจลง แต่แม้ว่าอำนาจที่มีอยู่ตามองค์กรต่างๆ จะหมดหรือลดลง แต่ก็มีการนำเอาการเคลื่อนไหวทางมวลชนมาเป็นเครื่องมือแทน และการใช้มวลชนเคลื่อนไหวทางการเมืองนี้ ก็จะเป็นการบ่อนทำลายเสถียรภาพของรัฐบาลทุกชุด

สถาบันเดียวที่ยังเป็นสถาบันหลักในการรวมศูนย์จิตใจของประชาชน ก็คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ จึงไม่น่าแปลกใจที่สถาบันนี้ตกเป็นเป้าของการบ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ หลัง พ.ศ. 2475 มีความสำคัญเชิงวัฒนธรรมต่อรัฐมากกว่าทางด้านการเมือง ความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมนี้ ยังทำให้รัฐไทยสามารถจรรโลงความเป็นปึกแผ่นไว้ได้

ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ ทางออกของรัฐไทยมีอยู่ทางเดียวคือ การพัฒนาประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยเป็นระบอบการเมืองที่สามารถประสานประโยชน์ของคนในสังคมที่ซับซ้อน และหลากหลายไว้ โครงสร้างทางอำนาจเราเปลี่ยนไปในทางที่จะรองรับระบอบประชาธิปไตยได้แล้ว แต่กระบวนการประชาธิปไตยยังไม่สมบูรณ์พอ ทั้งนี้เป็นภารกิจสำคัญที่ทุกๆ ฝ่ายต้องช่วยกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น