xs
xsm
sm
md
lg

แดง-เขียว-กากี-น้ำเงินสุมหัว วางแผนชั่วบึ้ม-สังหารเหลือง เสี้ยม 19 ก.ย.ก่อสงครามปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"ศอ.รส."วางแผนรักษาความสงบ ปิด 3 เส้นทางโดยรอบทำเนียบฯ บ้าน"ป๋าเปรม" ห้ามม็อบเสื้อแดงเข้าใกล้ ระดมสรรพกำลัง ตำรวจ-3 เหล่าทัพ คุมสถานการณ์ พร้อมขอแรงทุกฝ่ายช่วยสอดส่องมือที่ 3 ก่อเหตุ "เทือก"เปิดพื้นที่อำนวยความสะดวกสื่อเต็มที่ "สุริยะใส" เตือนให้ระวังแผนก่อวินาศกรรม ด้านหน่วยความมั่นคงเผยพบแดง-เขียว-กากี-น้ำเงิน เคลื่อนไหวใต้ดินผนึกกำลังเล่นแผนชั่วบึ้มป่วนกรุงและลอบสังหารแกนนำพันธมิตรฯรอบสองหวังเรียกแขกชนม็อบแดงก่อสงครามประชาชน 19 กันยาฯ

หลังจากที่ ครม.เห็นชอบ ประกาศ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 18-22 ก.ย. 52 ในเขตพื้นที่ดุสิต เพื่อใช้เป็นเครื่องมีอในการควบคุมการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ที่จะมีขึ้นในวันที่ 19 ก.ย.นี้

เมื่อเวลา 16.30 น. วานนี้ (17 ก.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ณ ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมีผู้บัญชาการเหล่าทัพ นำโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รักษาราชการแทน ผบ.ตร. และหน่วยงานด้านความมั่นคง ร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง

หลังเสร็จสิ้นการประชุม และได้มีการเผยแพร่เอกสาร สรุปผลการประชุม ที่ระบุว่า ตามที่ ครม.เห็นชอบประกาศ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคง ระหว่างวันที่ 18-22 ก.ย. 52 ในเขตพื้นที่ดุสิตนั้น ศูนย์อำนวยการรักษาความมั่นคงสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ขอยืนยันว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะไม่กระทบสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทั้งพี่น้องประชาชนโดยทั่วไปและพี่น้องประชาชนที่จะมาเข้าร่วมชุมนุม ทั้งนี้จะมีการใช้กฎหมาย 13 ฉบับ ร่วมกับกฎหมายที่ใช้อยู่ในสถานการณ์ปกติ เป็นข้อกำหนดในการปฏิบัติงาน

ส่วนผลการประชุมคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรได้อนุมัติโครงสร้างอัตรากำลังของ ศอ.รส. และแผนการปฏิบัติงาน โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.โครงสร้างอัตรากำลังของ ศอ.รส.แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือส่วนควบคุมอำนวยการ และส่วนกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย โดยส่วนควบคุมอำนวยการ ประกอบด้วยผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จากหน่วยงานในสายงาน กอ.รมน. ทำหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลการปฏิบัติของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยให้เป็นไปตามนโยบาย กล่าวคือ รอบคอบ เหมาะสม โปร่งใส ตรวจสอบได้ ตามขอบเขตของกฎหมาย และหลักการประชาธิปไตย ซึ่งการสั่งการในการปฏิบัติขั้นตอนต่าง ๆ จะมีฝ่ายกฎหมายร่วมให้ข้อพิจารณาในทุกประเด็น

สำหรับส่วนกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นการบูรณาการกำลังจากพลเรือน ตำรวจ ทหาร

"ทั้งนี้ เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านนอกสถานที่ราชการ จะมีเพียงโล่กระบอง ละอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนเท่านั้น ไม่พกพาอาวุธอื่นใดเพิ่มเติม"

ปิด 3 เส้นทาง -ตั้งด่านสกัด

2. แผนการปฏิบัติงานที่ 2 ขั้นตอน คือ ขั้นการป้องกันเหตุรุนแรง และขั้นการคลี่คลายสถานการณ์ โดยขั้นการป้องกัน จะครอบคลุมภารกิจการจัดตั้งจุดตรวจ ด่านตรวจและสายตรวจป้องกันการพกพาอาวุธ มีการตรวจสอบพื้นที่และเส้นทางที่คาดหมายว่ากลุ่มผู้ชุมนุมจะใช้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชั้นต้น รวมถึงจัดกำลังดูแลสถานที่ราชการสำคัญ ป้องกันการเผชิญหน้าของกลุ่มมวลชนต่างๆ พร้อมที่จะเข้ายับยั้งเหตุความรุนแรงในทุกรูปแบบ

"เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้น ศอ.รส. จึงขอประกาศกำหนดในการห้ามใช้เส้นทาง 3 เส้นทางคือ 1. บริเวณทำเนียบรัฐบาล ได้แก่ ถนนนครปฐม (แยกเทวกรรม – สะพานชมัยมรุเชฐ) ถนนลูกหลวง (แยกเทวกรรม-จุดตัดกับถนนราชดำเนินนอก) และเส้นทางคู่ขนานของถนนราชดำเนิน ฝั่งติดรั้วทำเนียบรัฐบาล และประกาศกำหนดห้ามใช้เส้นทาง 2 เส้นทาง บริเวณสโมสรทหารบก ได้แก่ เส้นทางคู่ขนานถนนศรีอยุธยาฝั่งติดกับสโมสรทหารบก (แยกสี่เสาเทเวศร์-แยกหอประชุมกองทัพบก) และ 3.ซอยสามเสน 12 (ปากซอยด้านถนนสามเสน – สุดซอยด้านถนนราชสีมา) เพื่อสงวนเส้นทางดังกล่าวไว้สำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงาน"

สำหรับขั้นตอนการคลี่คลายสถานการณ์นั้น จะกระทำต่อเมื่อมีการสร้างสถานการณ์ความรุนแรง ให้เกิดขึ้นหรือมีความพยายามที่จะฝ่าฝืนข้อห้ามต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ได้ออกประกาศกำหนดไว้ โดยจะใช้มาตรการตามหลักสากล จากเบาไปหาหนัก ควบคู่ไปกับการชี้แจง การปฏิบัติในทุกขั้นตอนโดยคำนึงถึงหลักการประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ

จากการประเมินสถานการณ์ของหน่วยงานด้านความมั่นคง ได้รับรายงานว่า การชุมนุมครั้งนี้จะมีการเคลื่อนขบวนไปชุมนุมที่บ้านพักของบุคคลสำคัญ สถานที่ราชการ ที่ทำการของรัฐ ที่ตั้งหน่วยทหาร

ช่วยกันสอดส่อง ระวังมือที่สาม

ดังนั้นอาจมีกลุ่มผู้ไม่หวังดี ฉกฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ ปล่อยข่าวลือ-ข่าวลวง ที่นำไปสู่ความรุนแรงได้ ศอ.รส.จึงขอความกรุณาจากทุกฝ่าย ร่วมกันสอดส่องดูแล สังเกตสิ่งผิดปกติ รวมถึงพฤติกรรมของกลุ่มบุคคลที่อาจก่อให้เกิดเหตุร้ายความรุนแรงขึ้น หากพบเห็นกรุณาแจ้งเจ้าพนักงานใกล้ตัวท่านทราบ ตลอดจนขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนทุกแขนง เข้ามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ และสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ ในการชุมนุม นำเสนอข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริงให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและ ป้องกันความตื่นตระหนกต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

"ศอ.รส.ขอเรียนยืนยันว่า แม้จะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงฯ แต่การชุมนุมโดยสันติ ปราศจากอาวุธ ยังคงกระทำได้ตามสิทธิเสรีภาพในรธน. ซึ่งต้องไม่เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมที่เกินขอบเขต และขัดต่อข้อบังคับที่ประกาศไว้ อีกทั้งจะต้องไม่กระทำการใดๆ ที่จะเป็นการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรง และสร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง ผู้ใดฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามมาตรา 18 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่น บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อมั่นว่า การชุมนุมทางการเมืองในวันที่ 19 ก.ย. นี้ ทุกฝ่ายยังมีความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง และจะไม่ทำสิ่งใดๆ ที่ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติ"

แดง-เขียว-กากี-น้ำเงินแท็กทีม
วางแผนชั่วเติมไฟสงครามปชช.


รายงานข่าวจากหน่วยงานความมั่นคง ระบุว่า จากการติดตามสถานการณ์ก่อนจะมีการชุมนุมของคนเสื้อแดงพบว่า ขณะนี้ทั้งเสื้อแดง สีเขียวซึ่งหมายถึงทหาร สีกากีซึ่งก็คือ ตำรวจ และ สีน้ำเงิน พรรคภูมิใจไทยถือเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวที่มีเป้าหมายเดียวกันแล้ว โดยแกนนำเสื้อแดงบางกลุ่ม กลุ่มนายทหารที่มีอำนาจบารมีในวงการเมืองบางคน นายพลตำรวจเสื้อแดงทั้งเกษียณอายุไปแล้วและกำลังรับราชการอยู่บางส่วน และ สมาชิกพรรคภูมิใจไทยบางกลุ่มได้กำหนดแผนเคลื่อนไหวไว้ 3 แผนด้วยกัน

ทั้ง 3 แผนดังกล่าวคือการสร้างสถานการณ์ที่จะนำไปสู่ความรุนแรง ก่อให้เกิดความปั่นป่วนต่อบ้านเมือง เพื่อให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ หรือไม่ก็ให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมาทำสงครามกับประชาชนฝ่ายตรงข้าม

“หากแผน 1 ไม่สำเร็จก็จะมีแผน 2 และ 3 ตามมา แต่แผนที่น่าห่วงที่สุด คือ การวางระเบิดป่วนกรุงเหมือนที่เคยเกิดขึ้นช่วงรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ใหม่ๆ การลอบสังหารแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอีกครั้งโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ยังเป็นเป้าหมายแรกเพราะถือว่าเรียกให้คนเสื้อเหลืองออกมาได้มากที่สุด หากทำไม่ได้ก็เล็งเป้าหมายไปที่นายสมศักดิ์ โกศัยสุข จากนั้นเมื่อเหลืองโกรธแค้นออกมาปะทะกับม็อบแดงก็จะเข้าทางตำรวจและทหารกลุ่มนี้จะใช้ทหารออกมากดดันรัฐบาลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจ”

เปิดโอกาสสื่อเกาะติดสถานการณ์

ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตำรวจต้องเตรียมติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะการตั้งด่านตรวจอาวุธ ต้องไม่ประมาท เพราะถ้าคนมาชุมนุมมากๆ จะอาจมีมือที่ 3 มาก่อเหตุให้บ้านเมืองเสียหาย ให้กับภาพพจน์ของประเทศ หรือทรัพย์สินของบุคคลอื่น หรือของทางราชการได้

"รัฐบาลจะต้องใช้มาตรการที่เข้มแข็ง ที่จำเป็น เพื่อที่ยับยั้งไม่ให้เกิดอะไรที่ร้ายแรงต่อบ้านเมือง ที่กังวลใจมากก็คือ คนที่ฉวยโอกาสก่อให้เกิดความรุนแรง ก่อให้เกิดความวุ่นวาย ไม่รู้ว่าเขาจะคิดอะไรบ้าง เพราะฉะนั้น รัฐบาลจึงต้องจัดตั้งด่านในการตรวจอาวุธ วัตถุระเบิด เท่าที่จะทำได้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสุจริตชนที่สัญจรไปมาบริเวณรอบๆ เขตดุสิตยุ่งยากบ้าง ก็ต้องกราบขออภัยไว้ด้วย เพราะสิ่งที่ทำไปนั้นเพื่อปกป้องส่วนรวม ไม่อยากให้เกิดเหตุที่ไม่พึ่งปรารถนา" นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า ในการปฏิบัติการครั้งนี้ จะแจ้งสื่อให้ทราบทุกระยะ ว่าจะทำอะไรตอน ไหนอย่างไร และจะให้สื่อได้อยู่ในทุกจุดที่เป็นจุดปฎิบัติการของเจ้าหน้าที่ เพื่อให้เป็นพยานว่าเจ้าหน้าที่ตั้งใจที่จะปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ต้องการใช้ความรุนแรง แต่หากเกิดความรุนแรงขึ้น ก็เป็นเพราะการกระทำของผู้มาชุมนุม โดยสื่อจะต้องบันทึกภาพ และเสียงได้อย่างชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐทำอะไรบ้าง

ตร.เตรียมกำลัง 55 กองร้อยคุมม็อบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุมคณะกรมการอำนวนการักษาความมั่นคงภายใน พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึง กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่จะนำมาดูแลกลุ่มผู้ชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย. ว่าจะมีจำนวน 55 กองร้อยโดยแยกเป็น ทำหน้าที่จริง 30 กองร้อย ส่วนอีก 25 กองร้อย จะเป็นกำลังเสริมที่สามารถเรียกมาได้ตลอด 24 ช.ม. โดยกำลังเจ้าหน้าที่มาจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค1 , ภาค2 , ภาค 7 , กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และตำรวจตระเวนชายแดน รวม 5,200 นาย โดยกำลังที่จัดไปดูแลสถานที่สำคัญอาทิ บ้านพักประธานองคมนตรี สำนักงานป.ป.ช. อาคารรัฐสภา และทำเนียบรัฐบาล ก็ใช้ใน 55 กองร้อยตรงนี้ อย่างไรก็ตามหากกลุ่มผู้ชุมนุมมีการชุมนุมในลักษณะดาวกระจายทางเจ้าหน้าที่ก็จะต้องมีการปรับแผนเรื่องการใช้กำลังอีกครั้ง

ทางด้านพ.ต.อ. ปิยะ อุทาโย รองผู้บังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาลในฐานะโฆษกศูนย์ปฏิบัติการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า การทำงานครั้งนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันระหว่างทหาร ตำรวจ และพลเรือน ภายใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนขอให้ความมั่นใจว่า ตำรวจมีความเตรียมพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยพื้นที่เขตดุสิตมี การตั้งด่านตรวจรวม 20 จุด โดยเน้นที่ทางแยกสำคัญต่างๆ 7 จุด โดยรอบสถานที่ สำคัญ ซึ่งจะมีกำลังเจ้าหน้าที่ ตำรวจทหารและเจ้าหน้าที่เทศกิจมาร่วมเป็นเจ้าหน้าที่ ในการตรวจแต่ละจุด ส่วนในพื้นที่โดยรอบและทั่วไปใน กทม.จะมีการตั้งด่านตรวจ พื้นที่สน.ละ 2 จุดใน 88 สถานี โดยเป็นกำลังตำรวจอย่างเดียว การตรวจตามจุดต่างๆนั้นก็จะเป็นการตรวจที่เน้นความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะนายกรัฐมนตรีมีความเป็น ห่วงอย่างมากในเรื่องอาวุธจึงจำเป็นที่จะต้องเน้นเรื่องการตรวจอาวุธต่างๆ ที่จะเข้ามาทำให้ประชาชนเดือดร้อน

เชื่อตำรวจไม่กล้าใส่เกียร์ว่าง

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะปฏิบัติราชการแทนโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุม กอ.รมน. ว่าที่ประชุมเห็นชอบโครงสร้างและแผนปฏิบัติงาน 2 ส่วน คือ การควบคุมบังคับบัญชาโดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ และ การจัดกำลังรักษาความสงบ ซึ่งการปฏิบัติงาน และการออกคำสั่งทุกขั้นตอนมีความชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษ ร จากทางฝ่ายนโยบาย ซึ่งมีฝ่ายการเมือง คือ นายสุเทพ เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง ดังนั้นจะไม่เกิดปัญหาเกียร์ว่างจากผู้ใต้บังคับบัญชาหากเกิดการฟ้องร้องจากการปฏิบัติหน้าที่

"ตัวเลขกลุ่มผู้ชุมนุมที่ทางรัฐบาลประเมินไว้คาดว่าประมาณ 2-3 หมื่นคนเป็นอย่างน้อย แต่ก็มีการระดมคนกันอย่างต่อเนื่องทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ผ่านเครือข่ายสื่อสารมวลชน" นายปณิธานกล่าว

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก กล่าวว่า ในการปฏิบัติงานจะมี 2 ขั้นตอน คือ การป้องกันเหตุร้าย และ การคลี่คลายสถานการณ์ หากเกิดเหตุการณ์ฝ่าฝืน เช่น ห้ามพกพาอาวุธ ห้ามเข้าสถานที่ราชการ และ ห้ามใช้เส้นทางบางจุดเป็นต้น โดยจะมีการดำเนินการเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ 5 ขั้นตอน คือ 1. เจรจา 2. ผลักดัน 3.ควบคุมแกนนำ 4. ฉีดน้ำ และ 5. ใช้แก๊สน้ำตา กระบอก และ กระสุนยาง โดยทุกขั้นตอนจะประกาศเครื่องเสียงเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจ

หวั่นแผนก่อวินาศกรรม

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรฯ เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ (ก.ม.ม.) กล่าวว่า การชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในวันที่ 19 ก.ย.นี้ จะเป็นแค่ภาพลวงตา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทุ่มเทความสนใจไปที่การชุมนุมหน้าบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จนเปิดช่องให้กลุ่มก่อความไม่สงบ ที่เป็นหน่วยจรยุทธ์ ปฏิบัติการป่วนเมืองในหลายๆ จุดที่มีการเตรียมการกันไว้แล้วล่วงหน้า

แผนปฏิบัติการป่วนเมืองครั้งนี้ อาจมีกำลังเจ้าหน้าที่นอกรีต ทั้งตำรวจและทหารบางคน ที่เป็นเครือข่ายระบอบทักษิณ และเคยปฏิบัติการป่วนเมืองในเหตุการณ์ระเบิด กทม. 9 จุด ในช่วงปีใหม่ 2550 และล่าสุด การปาระเบิดสังหารที่บ้านเก่าของนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งน่าจะเป็นคนกลุ่มเดียวกัน

"ผมอยากเตือนนายกรัฐมนตรี และฝ่ายความมั่นคงว่าศักยภาพของตำรวจและทหารบางส่วนในขณะนี้ไว้ใจไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพราะปรากฎการณ์ ที่ ก.ต.ช.เลื่อนเลือก ผบ.ตร.ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยพาะการเลื่อนครั้งหลังสุด ที่อ้างเรื่องข้อมูลพิเศษของบุคคลพิเศษนั้น ทำให้คนในระบอบทักษิณ ใช้เป็นข้ออ้างในการปล่อยข่าว ปลุกขวัญ และล่อลวงนายตำรวจ และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองบางส่วน ให้เข้าใจว่า รัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะตัวนายกฯ เริ่มไม่เป็นที่โปรดปรานของบุคคลพิเศษ"

ในทางจิตวิทยา อาจส่งผลให้ตำรวจและทหารระดับคุมกำลังบางส่วนสับสนหรือเปลี่ยนใจมาอยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล และอาจร่วมปฏิบัติการป่วนเมืองไปในที่สุด ซึ่งสถานการณ์ อาจจบไม่สวยเหมือนช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา

ส่วนที่แกนนำ นปช. ออกมาประกาศว่า จะชุมนุมแค่วันเดียวไม่ยืดเยื้อนั้นก็เป็นเพียงกลยุทธ์เพื่อหลบเลี่ยงการถูกถอนประกันเท่านั้น เพราะหากเกิดความวุ่นวายแกนนำก็จะอ้างว่า ไม่เกี่ยวข้อง และไม่มีส่วนรู้เห็น และหากสถานการณ์พลิกผันได้เปรียบ แกนนำก็จะลากยาวจนกว่าจะโค่นรัฐบาลนี้ได้สำเร็จ

รัฐบาลจะต้องเร่งสื่อสารกับประชาชนผู้บริสุทธ์ เพื่อไม่ให้หลงเข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้ เพราะอาจตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่ถูกออกแบบไว้เพื่อสร้างสถานการณ์วุ่นวายตามประกาศิตดูไบ

"ขวัญชัย"คุยนำ 2 หมื่น
บุกบ้านป๋าที่โคราช


นายขวัญชัย ไพรพนา ประธานชมรมคนรักอุดร กล่าวถึงการเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มเสื้อแดงว่า ในวันที่ 18 ก.ย.นี้ ชมรมคนรักอุดร และกลุ่มคนเสื้อแดงในพื้นที่ภาคอีสาน 19 จังหวัด จะมาร่วมกันที่หน้าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ประมาณ 2 หมื่นคน เพื่อเดินเท้าไปที่หน้าบ้านไร้กังวล ถ.สืบศิริ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นบ้านพักของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ซึ่ง ทางกลุ่มคนเสื้อแดง ต้องการแสดงพลังให้ชาวโคราชเห็นว่า พล.อ.เปรม อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติ เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 49

จากนั้นในวันที่ 19 ก.ย. จะเดินทางเข้าร่วมกับกลุ่มเสื้อแดง ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า กทม. เพื่อรำลึกครบรอบ 3 ปี การปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งการชุมนุมในครั้งนี้ จะไม่ปักหลักยืดเยื้อ และไม่จำเป็นที่จะไล่รัฐบาล เพราะขณะนี้ภายในรัฐบาลก็ระส่ำระสายอยู่แล้ว ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการแต่งตั้ง ผบ.ตร. คนใหม่ ก็เลื่อนออกไปถึง 2 ครั้ง ฉะนั้นการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงครั้งนี้ รัฐบาลไม่ต้องกังวล และไม่นานรัฐบาลเองก็จะแตก และยุบสภาไปเอง

ตร.ภาค 3
จัดกำลังอารักขาบ้านป๋า


พล.ต.ต.ฉัตรกนก เขียวแสงส่อง ผบก.ภ.จว.นครราชสีมา กล่าวว่า ตามที่กลุ่มคนเสื้อแดง จะเดินทางมาชุมนุมที่หน้าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี แล้วเดินเท้าไปที่หน้าบ้านพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ ถนนสืบศิริ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ทางตำรวจภูธร จ.นครราชสีมา และตำรวจภูธรภาค 3 มีการจัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดปราบจลาจล ชุดรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ ตามแผนกรกฏ 52 เอาไว้รับมือกลุ่มแล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่ยินยอมให้ผู้ชุมนุมเข้าถึงบ้านพล.อ.เปรม ได้ เนื่องจากในวันที่ 18 ก.ย. นี้ ที่บ้านไร้กังวล ของพล.อ.เปรม จะมีการทำพิธีมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียน จึงจะต้องมีการป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวาย กับบุคคลสำคัญอย่างแน่นอน

มทภ.2 เตือนชุมนุมได้อย่างสงบ

ด้านพล.ท.วิบูลย์ศักดิ์ หนีพาล แม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวว่า พล.อ.เปรม มีกำหนดการเดินทางไปมอบทุนการศึกษามูลนิธิ พล.อ.เปรม ซึ่งเตรียมไว้ 3 เดือนแล้ว ส่วนการดูแลรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นกำลังหลัก

ส่วนที่คนเสื้อแดงไปชุมนุมที่หน้าบ้านแม่ทัพ สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย

ทางด้าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ปฏิเสธให้ความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองขณะนี้ เพราะไม่อยู่ในฐานะที่จะแสดงความคิดเห็นได้ ส่วนเรื่องการดูแลบริเวณบ้านพัก พล.อ.เปรม ที่สี่เสาเทเวศร์ เป็นหน้าที่ของรัฐบาล
กำลังโหลดความคิดเห็น