ศูนย์ข่าวขอนแก่น-เลขาธิการสภาอุตฯขอนแก่นชี้ภาวะเศรษฐกิจปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งเริ่มมีการจ้างงาน ออเดอร์สินค้าทยอยสั่งเข้ามาใหม่ ส่งผลให้อัตราการว่างงานในพื้นที่ลดลง อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักศึกษาจบใหม่ยังน่าเป็นห่วง เพราะตลาดแรงงานแคบ ซ้ำจบมาไม่ตรงกับความต้องการสถานประกอบการ
นายวิฑูรย์ กมลนฤเมธ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยถึงสถานการณ์ปัญหาการว่างงานในจังหวัดขอนแก่นในขณะนี้ว่าเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น โดยภาพรวมอัตราการว่างงานลดลง เมื่อช่วงต้นปีเคยคาดการณ์ไว้ว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้จะมีผู้ว่างงานร่วม 20,000 คน จาก 3 กลุ่มหลักคือ กลุ่มที่ถูกเลิกจ้างจากบริษัทห้างร้านและโรงงานในส่วนกลางกลุ่มคนว่างงานในท้องถิ่นและกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ แต่พอย่างเข้าไตรมาส 3 ปรากฏว่ามีตัวเลขผู้ว่างงานจริงราวๆ1.1 หมื่นคน น้อยกว่าที่ประเมินไว้
สาเหตุที่อัตราการว่างงานลดลง สะท้อนให้เห็นว่าสภาพคล่องทางเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตหลายแห่งยอดคำสั่งซื้อได้กลับเข้ามาใหม่ หลังจากเมื่อก่อนสิ้นปี 2551 ออเดอร์สินค้าจากต่างประเทศถูกยกเลิกอันเป็นผลพวงจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก จนต้องลดสายการผลิตและเลิกจ้างพนักงาน
โรงงานบางแห่งเตรียมปิดกิจการเพราะออเดอร์ไม่มีเข้ามาเลยตั้งแต่ต้นปี แต่จู่ๆก็ประ
กาศรับพนักงานกะทันหันเพราะคู่ค้ามีคำสั่งซื้อเข้ามา เป็นสัญญาณบ่งบอกว่ากำลังซื้อในตลาดโลกกำลังกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
“จริงๆแล้วภาคอุตสาหกรรมในขอนแก่นมีปัญหาแรงงานไร้ฝีมือมีไม่พอ ขาดแคลนด้วยซ้ำ ส่วนหนึ่งหยุดเพื่อกลับไปทำนา ที่เหลือย้ายเข้าไปทำงานในโรงงานที่กรุงเทพฯหรือเขตปริมณฑล ซึ่งได้ค่าจ้างสูงกว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่งชี้ให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยกำลังฟื้นตัว ส่วนตัวเลขผู้ว่างงานในตลาดตอนนี้น่าจะอยู่ที่ราว 9พันคน”นายวิฑูรย์กล่าวและว่า
ปัญหากลุ่มคนว่างงานที่น่าเป็นห่วงมากในปัจจุบันคือกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ ซึ่งแต่ละปีผลิตออกมาจำนวนมาก มากกว่าตำแหน่งงานที่ต้องการ ที่สำคัญสถานศึกษาผลิตออกมาได้ไม่ตรงต่อความต้องการของตลาดแรงงาน ไม่สอดรับกับสถานการณ์ความต้องการของสถานประกอบการ ทำให้นักศึกษาจบใหม่ประสบกับปัญหาว่างงานกันมาก โดยเฉพาะระดับปริญญาตรี ส่วนหนึ่งจึงต้องชะลอการว่างงานของตัวเองด้วยการเรียนต่อ
นายวิฑูรย์แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่าคนไทยยังมีค่านิยมส่งเสริมให้บุตรหลานเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยมากกว่าที่จะให้เรียนในสายวิชาชีพ จึงส่งผลให้คนที่จบปริญญาตรีออกมาหางานทำได้ยากกว่า เพราะตำแหน่งงานในตลาดมีน้อย ขณะที่สายวิชาชีพยังมีความต้องการอยู่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ที่จบวิชาชีพด้านช่างตลาดยังรองรับได้อีกมาก