xs
xsm
sm
md
lg

พาหัวใจกลับบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
     ว่ากันว่ามนุษย์ทุกคนมี ‘ปีก’ และ ‘ราก’ เพียงแต่เรามองไม่เห็น
     ช่วงวัยหนึ่งคนเรามักตื่นเต้นกับปีกที่นำพาตัวเองไปค้นพบความตื่นตาตื่นใจของโลก พาไปผจญกับแง่มุมของชีวิต การดิ้นรนขวนขวาย ความทะเยอะทะยาน และพร้อมปะทะกับแรงเฆี่ยนตีจากความเป็นจริง แต่ในอีกจังหวะชีวิตที่ค้นพบว่าบางสิ่งหล่นหาย หลายคนโหยหารากที่เคยหลงลืม ไม่อยากปะทะ ต้องการแรงยึดเหนี่ยวบางชนิดที่หาไม่ได้บนท้องฟ้า

     ขณะที่บัณฑิตใหม่จากหลายๆ มหาวิทยาลัยกำลังชื่นมื่นกับความสำเร็จในเทศกาลรับปริญญา อีกด้านหนึ่งของความสุข พวกเขากำลังจะต้องเผชิญกับการต่อสู้แข่งขันเพื่อแสวงหาโอกาสที่จะผลักดันตัวเองขึ้นไปยังจุดที่สังคมเรียกว่าประสบความสำเร็จ หลายคนทำได้ แต่มากกว่านั้นพ่ายแพ้

     เราทุกคนรู้กันดี ด้วยความพิกลพิการของการพัฒนาประเทศที่ดำเนินต่อเนื่องมากว่า 4 ทศวรรษ กระทั่งโครงสร้างทางสังคมบิดเบี้ยว ความเจริญ (ถ้าเราจะเรียกว่าอย่างนั้น) โอกาสทางการศึกษา ทางเศรษฐกิจ การขยับสถานะ ฯลฯ ต่างกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ตัวการศึกษาเองก็ออกไปทางสั่งสอนผู้คนให้ฉีกขาดจากรากเหง้าของตน ผู้คนจากต่างจังหวัดจึงหลั่งไหลเข้ามาแออัดยัดทะนานในกรุงเทพฯ เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีกว่า

     หากยังจำกันได้ วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำให้หนุ่มสาวจากต่างจังหวัดจำนวนมากมายที่มุ่งหน้ามาที่นี่เพื่อโอกาสทางการศึกษาและหน้าที่การงานต้องถอยหลังกลับบ้าน โชคดีที่ภาคชนบทในขณะนั้นยังแข็งแรงเพียงพอจะรองรับการกลับบ้านและซับคราบไคลความพ่ายแพ้ แต่ถึงตอนนี้หลายคนเริ่มไม่แน่ใจว่าภาคชนบทจะยังค้ำจุนได้เหมือนในอดีตหากเกิดวิกฤตรุนแรง

     จากผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ประจำเดือนมิถุนายน 2552 พบว่า ผู้มีอายุ 15 ปีขึ้นไปมีจำนวนทั้งสิ้น 52.79 ล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนหรือผู้มีอายุระหว่าง 15-24 ปี เป็นกลุ่มที่มีอัตราการว่างงานค่อนข้างสูงคือ ร้อยละ 5.9
 
     หากเปรียบเทียบกับในช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2551 กลุ่มเยาวชนมีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 (จากร้อยละ 5.2 เป็นร้อยละ 5.9)

     สำหรับระดับการศึกษาของผู้ว่างงาน พบว่า ผู้ที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงที่สุด คือร้อยละ 3.2 รองลงมาเป็นผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 2.1 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 2.0 และประถมศึกษาร้อยละ 0.7 ตามลำดับ น่าสังเกตว่าอัตราบัณฑิตตกงานค่อนข้างสูงกว่าผู้ที่มีการศึกษาไม่สูงนัก

     คือข้อเท็จจริงที่บัณฑิตต้องเผชิญด้วยปีกของแต่ละคนในเมืองหลวงแห่งนี้

 
     ถึงกระนั้น ใช่ว่าบัณฑิตหนุ่มสาวทุกคนจะเพลิดเพลินกับปีก พวกเขาอีกไม่น้อยค่อยๆ ตระหนักว่าถึงมีปีกก็ไม่ได้แปลว่ารากต้องขาด พวกเขาบินกลับบ้าน บางคนตัดสินใจกลับไปพัฒนาบ้านเกิด บางคนตัดสินใจกลับบ้านไปซุกตักความคุ้นเคยเพราะเหนื่อยล้าชีวิตกรุงเทพฯ พร้อมๆ กับรู้ว่าชีวิตไม่จำเป็นต้องกระเสือกกระสนมากมายก็มีความสุขได้ และอีกบางคนกลับไปพักฟื้นเรี่ยวแรงเพื่อหวังจะกลับมาลงสนามอีกสักตั้ง

     ...นี่คือเรื่องราวของคนหนุ่มสาวเหล่านั้นที่สามารถสะท้อนอะไรได้มากมายกว่าแค่การที่คนคนหนึ่งเดินทางกลับบ้าน ที่เราขอทำหน้าที่ส่งผ่านไปยังบัณฑิตใหม่


   มาให้บ้านเกิด

     “ก่อนหน้านี้ ผมไม่รู้อะไรเกี่ยวกับแม่กลองเลย แต่พอได้รู้จักกับวิถีชีวิตของผู้คนที่แม่กลองมากขึ้น ความคิดของผมก็เริ่มเปลี่ยนไป มันเกิดจิตสำนึกบางอย่าง”

     เป็นคำบอกกล่าวจาก สุทธิลักษณ์ โตกทอง หรือ อาร์ต หนุ่มน้อยจากเมืองแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม บัณฑิตคณะศิลปะศาสตร์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา หนึ่งในบัณฑิตผู้ได้รับทุนจากโครงการสำนึกรักชุมชนคนรุ่นใหม่ ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

     ก่อนจะบอกเล่ารายละเอียดว่า นำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาจากรั้วมหาวิทยาลัย กลับมาพัฒนาบ้านเกิดด้วยวิธีไหน อาร์ตย้อนความไปไกลก่อนหน้านั้น ถึงปัจจัยสำคัญที่บ่มเพาะ ‘จิตสำนึก’ รักและผูกพันบ้านเกิดอย่างแข็งแรง กระทั่งแสงสีในเมืองหลวงยังไม่อาจสั่นคลอนความตั้งใจ นั่นคือ สมัยเรียนมัธยมปลาย เขาได้เข้าร่วมกิจกรรมกับ กลุ่มเยาวชนรักแม่กลอง ได้ทำความรู้จักสายน้ำแห่งนี้ตั้งแต่ต้นสายถึงปลายทาง

     นับแต่นั้น สำนึกรักบ้านเกิดไม่เคยจางหาย เมื่อถึงวันที่ได้กลับมา สิ่งที่อาร์ตนำติดตัวมาด้วย คือความสามารถด้านการออกแบบ และเขาใช้สิ่งนั้นเพื่อ...

     “ตอนนี้ ผมรับหน้าที่ทำเว็บไซต์ให้กับกลุ่มเยาวชนรักแม่กลองครับ เป็นความตั้งใจที่อยากให้เว็บไซต์นี้ เป็นพื้นที่เชื่อมโยงคนแม่กลองไว้ เพราะอย่างตอนที่กลุ่มเยาวชนรักแม่กลองได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว พอแต่ละคนก็เรียนจบ ม.ปลาย กระจัดกระจายแยกย้ายกันไปเรียนต่อ จนถึงตอนนี้ เมื่อผมได้กลับมาทำงานที่บ้าน เราก็เริ่มกลับมาติดต่อกันอีก เลยอยากจะทำเว็บไซต์ขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนข่าวสาร ประสานงานกัน อยากให้เป็นพื้นที่สำหรับเด็กแม่กลองได้มาพูดคุยกันว่าแม่กลองมีอะไรดีๆ บ้าง”

     หากถามว่า อะไรคือสิ่งสำคัญที่ยึดโยงคนแม่กลองรุ่นใหม่เหล่านี้ ให้กลับมาลงหลักปักฐานที่บ้านเกิดตนเอง อาร์ตยังย้ำอย่างหนักแน่นว่า

     “ผมไม่รู้ว่าจะไปแก่งแย่งแข่งขันกันอยู่ในกรุงเทพฯ ทำไม กลับมาอยู่บ้านเราดีกว่า อบอุ่นกว่ากันตั้งเยอะ ในกรุงเทพฯ ต้องแย่งกันอยู่ แล้วเชื่อไหมครับ คนที่เรียนจบจากกรุงเทพฯ พอกลับมาที่บ้านเกิดตัวเอง กลายเป็นคนโง่ไปเลย เพราะไม่รู้อะไรเกี่ยวกับบ้านเกิดตัวเองเลย ไม่รู้ว่าอาชีพปลูกตาล ขายตาลของพ่อแม่เราที่อัมพวา ส่งลูกหลานเรียนจบปริญญาตรีกันได้ยังไงตั้งหลายคน ตัวเราปาดตาล เก็บตาลก็ไม่เป็น"

     “การเรียนรู้รากเหง้าของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญมาก มันทำให้เราเป็นตัวของตัวเอง อย่างเช่น อาชีพขายตาล ถ้าเราศึกษาให้ลึก จะรู้ว่ามันมีอะไรเชื่อมโยงอีกมาก มันเป็นอาชีพที่ได้ทั้งความสุข ความแข็งแรง ได้พูดคุยถามไถ่กันเวลาไปเก็บตาล ไม่เหมือนชีวิตในกรุงเทพฯ ทำอะไรก็ต้องเร่งรีบ ผมเลยไม่อยากอยู่ ไม่เหมือนบ้านเรา  ไม่ต้องเร่งรีบ อยู่แบบนี้ดีกว่า เรียบง่าย แต่ยั่งยืนกว่ากันเยอะ”

     'เรียบง่าย แต่ยั่งยืน'...คือวิถีและแนวทางของบัณฑิตหนุ่มคนนี้ และเพราะเหตุนี้ เขาจึงหันหลังให้เมืองหลวง แล้วมุ่งหน้ากลับสู่ ‘แพรกหนามแดง’ ตำบลเล็กๆ ของจังหวัดสมุทรสงคราม
                ..........

   คืนรัง

     ชไมพร หมู่ขจรพันธุ์ เพิ่งลาออกจากงานที่ทำมาได้ 2 ปี เธอกำลังจะกลับบ้าน

     “เราคิดมาตั้งนาน ตั้งแต่สมัยเรียนแล้วว่าทำไมทุกคนต้องมากระจุกกันอยู่ที่กรุงเทพฯ บ้านตัวเองอยู่ที่ไหนทำไมไม่ไปอยู่ที่นั่น อยู่กรุงเทพฯ ค่าใช้จ่ายก็เยอะ แออัด รถติด เป็นคนที่ไม่ชอบรถติดเลย มันไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องมาเสียเวลาเดินทางนานๆ ถ้าเราอยู่ที่อื่น เราเอาเวลาตรงนั้นไปทำอย่างอื่นได้เยอะแยะ หรืออย่างย่านธุรกิจมากๆ อะไรก็จะเป็นธุรกิจไปหมด เป็นเงินเป็นทองหมด”

     เป็นความเหนื่อยล้าสะสมที่พอกพูนขึ้นตามระยะเวลาจนเธอไม่คิดจะแบกหามมันไว้ต่อไป วันหนึ่งเธอถามตัวเองว่า

     “เรามาอยู่ทำไม ถ้าเป็นไปได้คือไม่อยากจะอยู่แล้ว”

     จะเพราะระบบการศึกษาหรืออะไรก็ตามแต่ แต่มันทำให้มีค่านิยมในสังคมต่างจังหวัดทำนองว่า คนที่ไปเรียนกรุงเทพฯ แต่สุดท้ายกลับมาทำงานที่บ้านก็คือพวกที่ไปไหนไม่รอด ชไมพรรู้ดีว่าค่านิยมแบบนี้มีอยู่ แต่เธอไม่ได้ใส่ใจ

     “เราคิดนะ แต่ก่อนอยู่ต่างจังหวัด พอเรามองมาที่กรุงเทพฯ รู้สึกนะว่าเราไม่มีโอกาสเท่าคนกรุงฯ อย่างสิบกว่าปีที่แล้วข่าวสารต่างๆ อย่างทุนการศึกษา การประกวด เราจะไม่มีโอกาส หรือสมัยก่อนเราอยากจะเรียนบัลเล่ต์ เรียนเปียโน ต่างจังหวัดไม่มีนะ แต่กรุงเทพฯ มี เราก็รู้สึกว่าอยากมากรุงเทพฯ ไม่รู้หรอกว่าจะมาอยู่ตลอดหรือเปล่า แค่รู้สึกว่ากรุงเทพฯ มันมีโอกาสให้เรามากกว่า

     “คนเหมือนกัน ทำไมโอกาสไม่เท่าเทียมกัน ก็เพราะคนมันกระจุกกันอยู่นี่ไง ไม่ไปไหนสักที เราถึงรู้ว่า อ๋อ ทำไมถึงต้องมีสำนึกรักษ์บ้านเกิด จริงๆ นะ ใช่ว่ากรุงเทพฯ มันมีทุกอย่าง แต่ถ้าเรารักบ้านเรา เราต้องกลับไปนะ ต้องช่วยกันกลับไป กลับกันไปเยอะๆ แล้วบ้านเราก็จะพัฒนาขึ้นไง อะไรที่เราเคยขาดโอกาส แต่รุ่นน้อง รุ่นลูกหลานเราก็จะมีโอกาสนั้น ถ้าเราจะเป็นส่วนหนึ่งที่ขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาต่างๆ ขึ้นมา”

     ไม่ใช่แค่ความเหนื่อยล้า เรื่องราวจากชไมพรบอกเล่าในตัวเองว่า ปีก ไม่ว่าจะบินไปไกลแค่ไหน สุดท้ายก็มักจะบินกลับมาหารากเหง้าของตัวเอง บนฟ้าถึงจะสนุกเสรี แต่นานเข้าก็เคว้งคว้าง

     “ช่วงหลังก็คิดถึงบ้านด้วย กลับไปอยู่บ้านก็อบอุ่นดี แต่ก่อนเราจะไม่ได้คิดถึงตรงส่วนนี้เลย สนุก ได้มีอะไรทำหลายๆ อย่าง ได้อยู่ในที่ที่ไม่จำเจอย่างที่เราเคยอยู่ มันก็สนุก แต่พอมาถึงจุดหนึ่ง อาจเป็นเพราะเราทำงานด้วยหรือช่วงวัยที่เราโตขึ้น มันทำให้เรารู้สึกว่าถ้าได้ไปอยู่ใกล้ๆ ที่บ้านคงจะดี อยู่ใกล้ครอบครัว พ่อแม่ก็อายุมากแล้ว การที่หลายๆ คนต้องติดอยู่ที่กรุงเทพฯ เหมือนกับว่าเราพยายามเอาอะไรไปปรุงแต่งชีวิตเรามากไปหรือเปล่า ยึดติดกับอะไรมากเกินไปหรือเปล่า”
               .............

   กลับบ้านตั้งหลัก

     ไม่ใช่ปีกทุกปีกจะสมหวังกับการโบยบินดิ้นรนบนท้องฟ้าเมืองหลวง ถ้าอ่อนล้ากลางครันก็ร่วงคลุกฝุ่นเอาง่าย แต่บางปีกโชคดี มีรวงรังให้กลับไปฟื้นฟูเรี่ยวแรง ตั้งหลัก แล้วกลับมาสู้อีกหน แม้ว่าใจจริงไม่อยากจากมา

     นุชนารถ มีสุข บัณฑิตจบใหม่ จากเอกบรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรจน์ ประสานมิตร ก็เป็นหนึ่งในบัณฑิตนับหมื่นนับแสน ที่ต้องการประกอบอาชีพในกรุงเทพฯ ที่ยังไม่สมหวัง

     “หลังจากเรียนจบเมื่อเดือนมีนาคม ก็ออกจากหอและขนของกลับบ้าน เพราะว่าสู้ค่าใช้จ่ายของที่นี่ไม่ไหว กลับไปตั้งหลักก่อน คิดว่าถ้าได้งานทำแน่นอนแล้วก็จะกลับมาอยู่ที่กรุงเทพใหม่ นี่ก็ไปๆ มาๆ กรุงเทพอยู่ทุกสัปดาห์ เข้ามาหางาน”

     เพราะแถวบ้านไม่มีงานตรงกับที่เธอจบมา นั่นทำให้ชีวิตหลังการศึกษาของเธอ ยังคงวนเวียนอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นครั้งคราว เพื่อแสวงหาโอกาสทางอาชีพที่คิดว่าดีกว่า

     “โอกาสของงานมันกระจุกอยู่ในกรุงเทพ งานบรรณารักษ์ส่วนมากก็จะมีแต่ในเมือง ตามต่างจังหวัดแทบจะไม่มี อย่างงานตามสถานศึกษาที่นี่ก็จะรับวุฒิปริญญาโท หรือไม่ก็ต้องมีวุฒิครูประกอบถึงจะทำงานได้ จากที่เมื่อก่อน งานที่เราสมัครทั้งหมดจะเป็นงานบรรณารักษ์ แต่ตอนนี้ก็มีไปสมัครอย่างอื่นบ้าง เพราะถ้าจะให้หาแต่งานที่ตรงสายที่เรียนมาคงยาก”

     โดยส่วนลึกแล้ว เธอบอกว่า ใจของเธอไม่ได้มีความต้องการที่จะกลับมากรุงเทพฯ เลย เธอต้องการจะอยู่กับพ่อกับแม่ที่บ้าน และต้องการใช้วิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาประกอบอาชีพ แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ความฝันและความเป็นจริงมักจะขัดแย้งกันเสมอ

     “จริงๆ ถ้ามีงานอยู่ที่แถวบ้าน ก็จะอยู่ที่บ้านนี่แหละ ถึงเงินเดือนจะน้อย แต่มันก็คุ้มกว่า ไม่ต้องเสียค่าหอ ค่ากิน แต่ในความเป็นจริงมันไม่มีเลย เพราะโดยส่วนตัวแล้ว คิดว่าถ้ามีงานที่บ้านรอให้ไปทำ บัณฑิตทุกคนก็คงอยากไปทำงานที่บ้านกันมากกว่า เพราะเดี๋ยวนี้ รายได้ก็ได้พอๆ กับกรุงเทพฯ แต่โอกาสก้าวหน้าอาจจะมีไม่เท่า"

     ในสภาพเศรษฐกิจเช่นทุกวันนี้ ตลาดแรงงานมีตัวเลือกมากกว่าเมื่อก่อนหลายเท่า นั่นทำให้ผู้จ้างงานสามารถเลือก และกำหนดค่าตอบแทนให้กับลูกจ้างได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น เมื่อก่อนใครๆ ก็บอกว่า คนที่ทำงานในกรุงเทพฯ นั้น จะมีรายได้ที่ดีกว่าทำงานในต่างจังหวัดแน่นอน แต่ในวันนี้ อาจจะไม่ใช่ดังที่ว่าเสมอไป

     “ถึงแม้ได้งานที่กรุงเทพฯ รายได้ที่ได้มาก็อาจจะไม่เพียงพอ อาจจะต้องให้ที่บ้านช่วยบ้าง แต่ทั้งหมดเป็นเพราะเราต้องการประสบการณ์ในการทำงาน จะได้มีประสบการณ์ไปสมัครงานที่อื่น เพื่อนๆ ที่ได้งานกันก็ได้ไม่ถึงหมื่นกันหมด”

     บัณฑิตจบใหม่ไฟแรง ทุกคนต่างอยากฝันให้ไกลไปให้ถึง แต่ระหว่างทางที่ไต่เต้าไปสู่ฝันที่วางไว้ในโลกของความจริงย่อมมีความเจ็บปวดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะโลกภายนอกรั้วมหาวิทยาลัยนั้น โหดร้าย ด้วยการงานที่แข่งขันเพื่อเม็ดเงินในการสร้างชีวิตและครอบครัว แต่อย่างน้อยทุกคนก็มีบ้านเกิดรออยู่...

                      ************

                     เรื่องโดย : ทีมข่าวคลิก
                     ภาพโดย : ทีมภาพคลิก

กำลังโหลดความคิดเห็น